พระบรมราชานุสาวรีย์สองพ่อขุน ที่เมืองบางขลัง สุโขทัย


ประกาศนามพ่อขุนผาเมืองและพ่อขุนบางกลางหาว

         เมื่อเอ่ยพระนามพ่อขุนบางกลางหาวและพ่อขุนผาเมือง  ต่างรับทราบถึงวีรกรรมแห่งความกล้าหาญจากการรับฟังและการท่องจำกันมาตั้งแต่เด็กว่า  พ่อขุนบางกลาวหาวเจ้าเมืองบางยางกับพ่อขุนผาเมืองเจ้าเมืองราด  นำทัพมาร่วมพลกันแล้วเข้าตีสุโขทัยคืนมาจากขอมแล้วสถาปนาพ่อขุนบางกลางหาวเป็นพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ปฐมกษัตริย์แห่งอาณาจักรสุโขทัย  ก่อนที่จะมีพ่อขุนรามฯ นามกระเดืองผู้เป็นนักรบขยายอาณาจักรออกไปอย่างกว้างขว้างขณะเดียวกันก็เป็นนักคิดประดิษฐ์อักษรไทยให้ได้ใช้กันจนถึงทุกวันนี้

          ถ้าศึกษาลงไปในรายละเอียดแล้วเราจะพบข้อมูลเพิ่มเติมที่ได้มีนักประวัติศาสตร์ นักวิชาการ ผู้สนใจได้ศึกษา วิเคราะห์ สันนิษฐานจากศิลาจารึก เอกสาร ตำนาน ฯลฯ  พบประเด็นที่น่าสนใจหลายประเด็น เช่น  พ่อขุนบางกลางหาวเป็นใครมาจากไหน เมืองบางยางในปัจจุบันอยู่ที่ไหน  เมืองราดของพ่อขุนผาเมืองอยู่ที่ไหน  เมืองบางขลังในศิลาจารึกอยู่ที่ไหน  ทำไมพ่อขุนผาเมืองไม่ครองกรุงสุโขทัยทั้งๆ ที่ได้เข้ายึดเมืองได้ก่อน และหลังจากพ่อขุนบางกลางหาวขึ้นครองราชย์ครองสุโขทัยแล้วพ่อขุนผาเมืองไปอยู่ไหน ประเด็นต่างๆ เหล่านี้เป็นที่ถกเถียงเพื่อหาข้อสรุป และอยู่ในความสนใจเสมอมา

          อย่างไรก็ตาม  ผลจากการศึกษาของนักประวัติศาสตร์ นักวิชาการ ผู้สนใจ พบข้อสรุปที่ตรงกันว่า  พ่อขุนผาเมืองเป็นบุตรของพ่อขุนศรีนาวนำถม (นำถุม) ชึ่งครองนครสองอัน ได้แก่สุโขทัยและศรีสัชนาลัย พ่อขุนผาเมืองได้ไปครองเมืองราด เมืองลุ่ม  จะเป็นด้วยความเก่งกล้าสามารถของพ่อขุนผาเมืองเองหรือเพราะอิทธิพล บารมีของพ่อขุนศรีนาวนำถมผู้บิดา (ยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจน)  ทำให้พระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ กษัตริย์ขอมที่ครองกรุงยโสธรนครธม ยกพระธิดานาม “สิขรมหาเทวี” ให้อภิเษกกับพ่อขุนผาเมือง และทรงมอบ “พระขรรค์ชัยศรี” และตั้งพระนามให้พ่อขุนผาเมืองว่า “กมรเต็งอัญผาเมือง” และพระนามเต็มว่า “ศรีอินทรบดินทราทิตย์”

          ขณะเดียวกันพ่อขุนผาเมืองก็เป็นเพื่อนกับพ่อขุนบางกลางหาวเจ้าเมืองบางยาง และอาจจะเป็นด้วยความเก่งกล้า สามารถของพ่อขุนบางกลางหาว หรือวิสัยทัศน์ของพ่อขุนนาวนำถม (ไม่ชัดเจนเช่นกัน) ได้ยกพระธิดานาม “นางเสือง” ให้อภิเษกสมรสด้วย  (“นางเสือง” คือแม่ของพ่อขุนราม และคือ “พระแม่ย่า” ที่ชาวสุโขทัยเคารพนับถือ)

          เมื่อพ่อขุนศรีนาวนำถมสิ้นพระชนม์ ขอมสบาดโขลญลำพง ได้ทำการยึดเมืองสุโขทัยและศรีสัชนาลัย  ทำให้พ่อขุนบางกลางหาวและพ่อขุนผาเมืองร่วมมือกันที่จะยึดเมืองคืน  โดยพ่อขุนบางกลางหาวไปเมืองบางยางเพื่อรวบรวมกำลังพลแล้วเข้าตียึดเมืองศรีสัชนาลัย และทั้งสองพ่อขุนได้มารวมพลกันที่เมืองบางขลังก่อนเข้าตีขับไล่ขอมสบาดโขลญลำพงออกจากสุโขทัย  ในการนี้พ่อขุนผาเมืองสามารถเข้าเมืองสุโขทัยได้ก่อนแต่ได้ยอมเสียสละ ได้มอบพระขรรค์ชัยศรีและพระนาม "ศรีอินทรบดินทราทิตย์"   และอภิเษกให้พ่อขุนบางกลางหาวเป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชราชวงค์พระร่วงครองเมืองสุโขทัยสืบมา

          ด้วยวีรกรรมอันทรงคุณค่า ทำให้มีการก่อสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ เพื่อเป็นการรำลึกและเทอดพระเกียรติให้แก่ทั้งสองพระองค์ 

          พระบรมราชานุสาวรีย์พ่อขุนผาเมือง   มี ๓  แห่ง ได้แก่   บริเวณสี่แยกหล่มสัก, อนุสรณ์สถานเมืองราด บ้านห้วยโป่ง ต.บ้านหวาย อ.หล่มสัก, กองพลทหารม้าที่ ๑ ค่ายพ่อขุนผาเมือง

          พระบรมราชานุสาวรีย์พ่อขุนศรีอินทราทิตย์   มี ๓  แห่ง  ได้แก่  ณ วัดคุ้งวารี ต.ย่านยาว อ.สวรรคโลก, วัดกลาง อ.นครไทย, ศาลเสด็จพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ (ศาลเจ้าพ่อขุนศรี) ณ หน่วยพัฒนาการเคลื่อนที่ ๓๔ อ.เมือง จ.พิษณุโลก และกำลังจะดำเนินการก่อสร้างอีกหนึ่งแห่ง โดย อบต.คณฑี  อ.เมือง จ.กำแพงเพชร

ความสัมพันธ์ระหว่างเมืองบางขลังกับสองพ่อขุน

          ศิลาจารึกหลักที่ ๒ วัดศรีชุม ด้านที่ ๑ ตั้งแต่บรรทัดที่ ๒๔ ได้บันทึกถึงการรวมพลของสองพ่อขุนที่เมืองขลัง และได้รวบรวมนักรบเมืองบางขลังเข้าตีเมืองสุโขทัยคืนจากขอมสบาดโขลญลำพง  แต่จารึกไม่ได้บอกว่าเป็นพ่อขุนท่านได้ตีเมืองบางขลังได้  ก่อนที่สองพ่อขุนจะนำพลมาพบกัน  บ้างว่าพ่อขุนบางกลางหาวตีเมืองศรีสัชนาลัยได้แล้วจึงมาตีเมืองบางขลังแล้วยกเมืองบางขลังให้แก่พ่อขุนผาเมือง  บ้างว่าพ่อขุนผาเมืองตีได้เมืองบางขลัง  บ้างว่าพ่อขุนผาเมืองไม่ได้ตี  แต่ผู้ครองเมืองบางขลังไม่ต่อสู้ยินยอมยกเมืองบางขลังให้พ่อขุนผาเมือง  

          อย่างไรก็ตาม  จากหลักฐานศิลาจารึกดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างเมืองบางขลังกับเมืองสุโขทัย เมืองศรีสัชนาลัย  และความสัมพันธ์ระหว่างเมืองบางขลังกับพ่อขุนบางกลาวหาวและพ่อขุนผาเมืองที่ไม่อาจปฏิเสธได้

คุณูปการของหนังสือ บางขลง บางฉลงง บางขลัง

          หลังจากที่ “เมืองบางขลัง” ปรากฏอยู่ในหลักฐานหลายแห่ง  เช่น  จารึกหลักที่ ๒ วัดศรีชุม, จารึกหลักที่ ๓ จารึกนครชุม, พงศาวดารโยนก, หนังสือชินกาลมาลีปกรณ์ , พระราชนิพนธ์ “เที่ยวเมืองพระร่วง” ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว  ประวัติศาสตร์ “เมืองบางขลัง” ได้ถูกรวบรวม ตีพิมพ์เป็นเอกสารวิชาการเล่มแรก โดยสำนักพิมพ์มติชน  ภายใต้การสนับสนุนของบริษัทการบินกรุงเทพจำกัดและบริษัทมติชน จำกัด (มหาชน)  ซึ่งเป็นเอกสารการเสวนาประวัติศาสตร์เมืองบางขลังโดยชมรมเรารักเมืองพระร่วง  นำโดย ดร.มังกร ทองสุขดี เมื่อวันที่ ๒-๓ เมษายน ๒๕๓๙ ใช้ชื่อว่า “บางขลง บางฉลงง บางขลัง” ซึ่งกระตุ้นให้เกิดการตื่นตัว ตลอดจนเกิดการยอมรับอย่างกว้างขวาง

          เอกสารเล่มนี้ได้รวบรวมข้อมูลจากการศึกษาค้นคว้าของนักประวัติศาสตร์ที่มีการอ้างอิงที่มาที่ไปอย่างชัดเจน  และสรุปได้ว่า  “เมืองบางขลังในอดีตนั้นมีอยู่จริง มีความสำคัญ และอยู่ที่นี่...

          จาก “บางขลง บางฉลงง บางขลัง” นำไปสู่การต่อยอดองค์ความรู้ทางด้านประวัติศาสตร์ ศิลปะ วัฒนธรรม ภายใต้การสนับสนุนอย่างดียิ่งจากนายวีระชัย  ภู่เพียงใจ ปลัดจังหวัดอุตรดิตถ์ (อดีตนายอำเภอสวรรคโลก อดีตปลัดจังหวัดสุโขทัย) นายประจวบ คำบุญรัตน์ อดีตผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ (ผู้ล่วงลับ) รศ.ดร.มังกร ทองสุขดี ประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดสุโขทัยและภาคเหนือ จัดเสวนาประวัติศาสตร์เมืองบางขลัง และกิจกรรมต่างๆ รวมถึงการรวบรวมบทความมาจัดพิมพ์หนังสือ ที่นี่...เมืองบางขลัง ๑-๓  หนังสือประวัติศาสตร์เมืองบางขลังฉบับการ์ตูน  การแสดงแสง สี เสียง  เพลงลูกทุ่งและคาราโอเกะ ฯลฯ ทำให้ชุมชนเกิดความเข้มแข็งจนได้รับรางวัลต่างๆ เช่น  รางวัลพระปกเกล้า ปี ๒๕๕๒ ด้านเสริมสร้างเครือข่ายรัฐ เอกชน และประชาสังคม, ปี ๒๕๕๓ สถาบันพระปกเกล้าได้ส่งนักวิจัยมาถอดบทเรียนเพื่อให้เป็นตัวอย่างแก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่น, รางวัลพระปกเกล้าปี ๒๕๕๔ ด้านการเสริมสร้างสันติสุขและความสมานฉันท์  เป็นต้น 

          นำมาสู่การศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับชุมชนโบราณเมืองบางขลังอย่างกว้างขวาง ทั้งภายนอกและภายในตำบล เช่น  วิทยานิพนธ์ปริญญาโท โดยวราพร  คำบุศย์ เรื่อง “การศึกษาพัฒนาการทางวัฒนธรรมของชุมชนโบราณเมืองบางขลังในเขตอำเภอสวรรคโลก และอำเภอทุ่งเสลี่ยม จังหวัดสุโขทัย (ระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๑๘-๒๒)” มหาวิทยาลัยศิลปากร ปีการศึกษา ๒๕๕๓ (๕๐๒ หน้า)

           วิทยานิพนธ์ปริญญาโทของ สุวรรณ  ทรัพศิริกาญจนา เรื่อง “บทบาทขององค์การบริหารส่วนตำบลในการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองประวัติศาสตร์ : กรณีศึกษาองค์การบริหารส่วนตำบลเมืองบางขลัง อำเภอสวรรคโลก จังหวัดสุโขทัย” มหาวิทยาลัยนเรศวร ปีการศึกษา  ๒๕๕๓

           วิทยานิพนธ์ปริญญาเอกโดยมนตรี นุ่มนาม เรื่อง “เครือข่ายความร่วมมือในการบริหารจัดการโครงการประวัติศาสตร์และภูมิปัญญาท้องถิ่นเมืองบางขลัง จังหวัดสุโขทัย” มหาวิทยาลัยศรีปทุม  มี รศ.ดร.ไชยา  ยิ้มวิไล เป็นที่ปรึกษา

          อ.สมถวิล สอนแจ่ม ร.ร.บ้านขอนซุง อ.สวรรคโลก จัดทำหนังสืออ่านเพิ่มเติมสำหรับนักเรียนประถมศึกษาชุด “เมืองบางขลังรากหยั่งบรรพกาล ๑๒ เล่ม”

          อ.พจมาน หาญกล้า ร.ร.มิตรภาพที่ ๓๘ (บ้านหนองเรียง) อ.สรรคโลก จัดทำหนังสือ ชุดตามรอยสวรรคโลก เล่มที่ ๑๓  เรื่อง “เที่ยวเมืองบางขลัง”

          ปัจจุบันได้รับสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) สามแสนบาท ทำการวิจัย เรื่อง “การศึกษาอัจฉริยลักษณ์ชุมชนโบราณเมืองบางขลังเพื่อพัฒนาเส้นทางท่องเที่ยวโดยการมีส่วนร่วมของชุมชน และอบต.เมืองบางขลัง อ.สวรรคโลก จ.สุโขทัย” (ระยะเวลา ๑๘ เดือน) ภายใต้การดูแลของ ผศ.ดร.ชุลีรัตน์ จันทร์เชื้อ ม.ราชภัฎพิบูลสงครามและคณะ

          ดังนั้นจึงถือได้ บางขลงง บางฉลงง บางขลัง”โดยสำนักพิมพ์มติชน เป็นเสมือนดั่งปฐมบทแห่งการศึกษาประวัติศาสตร์เมืองบางขลังยุคใหม่อย่างแท้จริง

พระบรมราชานุสาวรีย์สองพ่อขุน ณ เมืองบางขลัง

          นายสุวิทย์  ทองสงค์ นายก อบต.เมืองบางขลัง ได้หารือร่วมกับกำนันสนิท  ชื่นชอบ, ประธานสภาฯ มาเยือน โพธิ์ทอง, รองประธานสภาฯ บุญมา  พละทรัพย์, พระมหาบุญมี เจ้าอาวาสวัดโบสถ์, อดีตประธานสภาฯ สมเด็จ  หลวงนุช, ประธานประชาคมตำบล ประทวน  ขุมเพชร  เห็นชอบให้ดำเนินการก่อสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์พ่อขุนบางกลางหาวและพ่อขุนผาเมือง โดยมีเหตุผลหลายประการ เช่น

          ๑. มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์รองรับถึงการรวมพลของสองพ่อขุนที่เมืองบางขลัง ตลอดจนเป็นการเชื่อมโยงประวัติศาสตร์สุโขทัย

          ๒. เพื่อเทิดพระเกียรติวีรกรรมอันกล้าหาญของสองพ่อขุน ตลอดจนเป็นศูนย์รวมใจให้ประชาชนคนไทย

          ๓. มีสถานที่เหมาะสม คือหน้าที่ทำการ อบต.บนเนื้อที่ ๑๔ ไร่ ๑ งาน และติดถนนลาดยางสายเมืองเก่าสุโขทัย-ศรีสัชนาลัย

          ๔. เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวจังหวัดสุโขทัย และเมืองบางขลัง ซึ่งเป็นจุดกึ่งกลาง สร้างเป็นจุดแวะพักผ่อน สักการะสองพ่อขุน ซื้อสินค้า ชมโบราณสถาน และพิพิธภัณฑ์ ณ วัดโบสถ์

          ๕. เพื่อส่งเสริมอาชีพ เพิ่มรายได้ให้แก่ประชาชน เปิดตำบลเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ ศิลปะ วัฒนธรรม

          ดังนั้น นายสุวิทย์ ทองสงค์ จึงได้ทำหนังสือพร้อมส่งเอกสาร หลักฐานผ่านนายอำเภอสวรรคโลก ผ่านผู้ว่าราชการจังหวัดสุโขทัยถึงกรมศิลปากร

          กรมศิลปากรได้มีหนังสือแจ้งให้ทราบ ที่ วธ ๐๔๑๔/๓๕ ลงวันที่  ๓๑ มกราคม ๒๕๕๔ ใจความว่า ที่ประชุมคณะกรรมการพิจารณาสร้างอนุสาวรีย์ ในการประชุมครั้งที่ ๑๔/๒๕๕๓ เมื่อวันที่ ๒๔ ธันวาคม ๒๕๕๓ มีมติเห็นชอบในหลักการให้สร้างได้  โดยให้ใช้การเรียกนามพระบรมราชานุสาวรีย์ว่า “พระบรมราชานุสาวรีย์พ่อขุนศรีอินทราทิตย์ (พ่อขุนบางกลางหาว) และพ่อขุนผาเมือง” มอบหมายให้ผู้แทนคณะกรรมการฯ เดินทางมาพิจารณาสถานที่ก่อสร้าง

          วันที่ ๒๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๕ นายโสภิศ พุทธรักษ์ ประติมากรชำนาญการ และนายกิรศักดิ์  จริวัฒนศิรินนท์ สถาปนิกชำนาญการ ตัวแทนคณะกรรมการฯ จากกรมศิลปากรได้เดินทางมาพิจารณาสถานที่ก่อสร้าง

          หนังสือกรมศิลปากร ที่ วธ ๐๔๑๔/๓๔๔๕ ลงวันที่ ๑๐ สิงหาคม ๒๕๕๕  แจ้งว่า คณะกรรมการพิจารณาการสร้างอนุสาวรีย์ฯ ได้รับรายงานผลจากผู้แทนคณะกรรมการฯ ในการประชุม ครั้งที่ ๘/๒๕๕๕ เมื่อวันที่ ๑๓ กรกฎาคม ๒๕๕๕ ที่ประชุมพิจารณาแล้ว เนื่องจาก อบต.เมืองบางขลังมีแผนพัฒนาพื้นที่บริเวณสถานที่ก่อสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ฯ ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว (ผังชุมชนดำเนินการโดยสำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดสุโขทัย ปี ๒๕๕๔) จึงให้ส่งผังแม่บทการใช้พื้นที่ให้กรมศิลปากรเพื่อประกอบการพิจารณาอีกครั้ง  พร้อมทั้งได้แนบรายละเอียดการก่อสร้างของสำนักช่างสิบหมู่ ตลอดจนตัวอย่างมาให้ อบต. เพื่อดำเนินการต่อไป          

          ในส่วนของงบประมาณดำเนินการนั้น  ได้รับการสนับสนุนจากกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ภายใต้การประสานงานของนายกฯ สุวิทย์ ทองสงค์, ส.ส.จักรวาล  ชัยวิรัตนนุกูล และนายเกรียงไกร สมเสนาะ ท้องถิ่นจังหวัดสุโขทัย. 

        

หมายเลขบันทึก: 504475เขียนเมื่อ 4 ตุลาคม 2012 10:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 พฤศจิกายน 2013 08:19 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท