เส้นทางอาชีพนักวิจัยไม่เป็นเส้นตรง


 

 

          วช. จัดประชุม Research Expo 2012 และเชิญผมไปร่วมอภิปรายเรื่อง แนวคิดในการพัฒนานักวิจัยและเส้นทางอาชีพช่วงบ่ายวันที่ ๒๗ ส.ค. ๕๕   เป็นการบ้านว่าผมจะไปพูดอะไรดีที่เป็นประโยชน์   เพราะผมมีความเสี่ยงที่จะไปพูดแล้วไร้สาระ   เนื่องจากดูชื่อผู้ร่วมอภิปรายอีก ๓ ท่านแล้ว ท่านมี “สาระ” อยู่ในกำมือ ในรูปของภารกิจโดยตรงเกี่ยวกับการพัฒนานักวิจัย    คือท่านหนึ่งเป็นเลขาธิการ วช.   อีกท่านหนึ่งเป็นเลขาธิการ สวทน.   และอีกท่านหนึ่งเป็นผู้อำนวยการโครงการ NRU ของ สกอ.   ส่วนผมมีภารกิจเป็น “กองเชียร์” เท่านั้นไม่มีภารกิจใดเป็นชิ้นเป็นอัน

 

          ผมจึงเตรียมไปพูดแบบ “ไร้สาระแต่มีสาระ” หรือไปตอบคำถามแบบที่คำถามไม่ตรงคำตอบได้มีโอกาสทำงานแบบนี้สนุกอย่าบอกใคร

 

          ผมเตรียมไปบอกที่ประชุมว่าระบบการพัฒนานักวิจัยต้องใช้ยุทธศาสตรเดินสองขาอย่าเดินขาเดียวเพราะมันจะกระโดกกระเดกไม่เป็นธรรมชาติและไม่ค่อยได้ผลสองขานี้คือ (๑) ระบบพัฒนานักวิจัย  (๒) ระบบไม่พัฒนานักวิจัย (โดยตรง)

 

          ระบบพัฒนานักวิจัยผมไม่พูดยกให้อีก ๓ ท่านพูดเพราะท่านพูดได้ดีกว่าผมจะพูดการพัฒนานักวิจัยด้วยระบบไม่พัฒนานักวิจัย  ซึ่งมองอีกมุมหนึ่งก็คือการพัฒนาให้คนไทยมีเลือดนักวิจัยทั้งชาตินั่นเอง  

 

          โลกสมัยใหม่ประเทศที่จะเจริญก้าวหน้าทันประเทศอื่นได้พลเมืองต้องเป็น “นักวิจัย” ทั้งชาติ

 

          และเราไม่ต้องคิดหลักการดำเนินการเรื่องนี้เองมีคนคิดให้แล้วว่าหลักการดำเนินการให้พลเมืองเป็นนักวิจัยทั้งชาติคือ “การเรียนรู้แห่งศตวรรษที่ ๒๑”   เพื่อให้พลเมืองมี “ทักษะแห่งศตวรรษที่ ๒๑”เลือดนักวิจัยมันรวมอยู่ในทักษะแห่งศตวรรษที่ ๒๑  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง รวมอยู่ใน Learning and Innovation Skills  ซึ่งประกอบด้วย  4C ได้แก่ Critical Thinking, Creativity, Communication และ Collaboration   ตัว C ที่เป็นหัวใจของเลือดนักวิจัยคือ Critical Thinking กับ Creativity  โดยต้องเติมตัว I – Inquiry อีกตัว

 

          มองอีกมุมหนึ่ง การจัดการศึกษาที่ถูกต้อง คือพื้นฐานของการพัฒนานักวิจัย    เวลานี้ระบบการศึกษาในภาพใหญ่ ไม่เอื้อ    แต่ก็มีโรงเรียน และมาตรการพิเศษที่พยายามสร้างนักเรียนที่มีพื้นฐานนี้    โดยผมตั้งข้อสงสัยว่า แนวทางพิเศษไม่ใช่ทางแก้ปัญหาแท้จริง    จะเกิดผลแท้จริง ต้องจัดให้การศึกษาทั้งหมดเดินถูกทาง    เมื่อการศึกษาเดินถูกทาง พลเมืองไทยจะเป็นคนที่เห็นคุณค่าของงานวิจัย

 

          เพราะคนส่วนใหญ่ไม่เห็นคุณค่าของการวิจัย   นโยบายสนับสนุนการวิจัยของไทยจึงเป็นเพียงนโยบายหลอกๆ    อยู่เพียงในกระดาษ ไม่มีการปฏิบัติ อย่างที่เป็นอยู่ในเวลานี้

 

          หากจะให้ระบบวิจัยของประเทศไทยเข้มแข็งนอกจากมีนักวิจัยที่เก่งและจำนวนเพียงพอแล้วยังต้องมีนักจัดการงานวิจัยที่เก่งและมีจำนวนเพียงพอด้วย

 

          มาที่ชื่อเรื่อง “เส้นทางอาชีพนักวิจัยไม่เป็นเส้นตรง”    ผมเตรียมไปบอกที่ประชุมว่าไม่ว่าเส้นทางอาชีพใดๆก็ไม่เป็นเส้นตรงทั้งสิ้นหรือกล่าวใหม่ว่าเส้นทางชีวิตหรือเส้นทางอาชีพของคนที่เดินเป็นเส้นตรงจะไม่รอบรู้เพียงพอสำหรับทำงานในโลกแห่งชีวิตจริงที่เต็มไปด้วยความซับซ้อนสับสนการพัฒนานักวิจัยจึงต้องพัฒนาโดยเปลี่ยนหรือหมุนเวียนงานเพื่อให้มี “ปัญญาปฏิบัติ” (phronesis) เสริมความรู้เชิงทฤษฎี ในเรื่องที่เกี่ยวข้อง    ตราบใดที่ระบบพัฒนานักวิจัยของเรายังเป็นระบบเส้นตรง    นักวิจัยจะไม่เก่งพอ    และระบบวิจัยจะไม่เชื่อมโยงกับชีวิตจริงของสังคมและเศรษฐกิจ

 

          ข้างบนนั้นคือแนวความคิดที่บันทึกไว้เมื่อวันที่ ๒๔ ส.ค.   ในการอภิปรายจริงในวันที่ ๒๗ ผมใช้ pptช่วยการทำความเข้าใจ   อ่านและฟังได้ที่นี่ และการอภิปรายมี ๒ รอบ    ใน narrated pptนี้เฉพาะรอบแรกเท่านั้น

 

 

 

วิจารณ์ พานิช

๒๔ ส.ค. ๕๕ปรับปรุง ๒๗ ส.ค. ๕๕

หมายเลขบันทึก: 504168เขียนเมื่อ 1 ตุลาคม 2012 12:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 ตุลาคม 2012 12:08 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท