บทบาทพระพุทธศาสนากับการสร้างสันติภาพโลก


พระพุทธศาสนา นอกจากเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้ชนชาติไทยมีศิลปวัฒนธรรมที่เจริญก้าวหน้ามาในอดีตแล้ว ก็ยังคงเป็นสถาบันหลักของประเทศ และเป็นองค์ประกอบสำคัญของสังคมไทยอยู่แม้ในปัจจุบัน เพียงแต่รอเวลาและรอความสามารถของคนไทยที่จะนำศักยภาพของพระพุทธศาสนาที่มีอยู่อย่างสูง เอามาใช้ให้เป็นประโยชน์ในการร่วมพัฒนาภูมิธรรมภูมิปัญญาของมนุษยชาติให้อารยธรรมของโลกเจริญประณีตยิ่งขึ้น

บทบาทพระพุทธศาสนากับการสร้างสันติภาพโลก

 

๑ พระพุทธศาสนาในฐานะที่ช่วยสร้างสรรค์อารยธรรม

 

                    พระธรรมปิฎกกล่าวว่าชนชาติหนึ่ง ๆ นอกจากมีหน้าที่ต้องพัฒนาประเทศชาติของตนเองแล้ว ก็พึงมีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์และส่งเสริมอารยธรรมโลกด้วย ชนชาติไทยเป็นชนชาติที่เก่าแก่มากชนชาติหนึ่ง มีวัฒนธรรมที่เจริญก้าวหน้าอย่างสูงมาตลอดเวลายาวนาน จึงได้มีส่วนร่วมในการสร้างเสริมอารยธรรมของโลกด้วย แม้ว่าจะอยู่ในขอบเขตที่ไม่กว้างนัก ส่วนร่วมที่ว่านี้ก็คือ ศิลปวัฒนธรรมไทย ซึ่งพัฒนาขึ้นมาจนมีแบบแผนเป็นของตนเอง อย่างที่เรียกว่ามีเอกลักษณ์ของความเป็นไทยเด่นชัด ศิลปวัฒนธรรมไทยเหล่านี้มีรากฐานมาจากพระพุทธศาสนาเป็นส่วนใหญ่

                    พระพุทธศาสนา นอกจากเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้ชนชาติไทยมีศิลปวัฒนธรรมที่เจริญก้าวหน้ามาในอดีตแล้ว ก็ยังคงเป็นสถาบันหลักของประเทศ และเป็นองค์ประกอบสำคัญของสังคมไทยอยู่แม้ในปัจจุบัน เพียงแต่รอเวลาและรอความสามารถของคนไทยที่จะนำศักยภาพของพระพุทธศาสนาที่มีอยู่อย่างสูง เอามาใช้ให้เป็นประโยชน์ในการร่วมพัฒนาภูมิธรรมภูมิปัญญาของมนุษยชาติให้อารยธรรมของโลกเจริญประณีตยิ่งขึ้น

                    เหตุผลสำคัญที่พระพุทธศาสนาที่ช่วยสร้างสรรค์อารยธรรมโลกก็คือ พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาแห่งปัญญา ดังในกรณีประเทศที่พัฒนาแล้วทั้งหลาย ตระหนักแล้วว่า แม้ประเทศชาติจะเจริญก้าวหน้าในด้านวัตถุและระบบต่าง ๆ แล้วอย่างมากมาย แต่ก็ยังเกลื่อนกล่นไปด้วยปัญหานานัปการ ทั้งที่ยังแก้ไม่ได้และที่เกิดประดังขึ้นมาใหม่ ไม่สามารถบรรลุสันติสุขที่แท้จริงได้ เขาจึงคิดว่าวัฒนธรรมและอารยธรรมของเขาเดินผิดพลาด หรือขาดปัจจัยหรือองค์ประกอบสำคัญบางอย่างไป และจึงพากันแสวงหาวิถีทางที่ถูกต้องหรือหาปัจจัยสำคัญที่ขาดนั้น

                    สิ่งที่ขาดไปในอารยธรรมของชนชาติที่พัฒนาแล้วเหล่านี้ก็คือ การพัฒนาจิตใจ และพัฒนาพัฒนาปัญญา ซึ่งถือว่าการพัฒนาทั้งสองด้านนี้ เป็นหลักการของพระพุทธศาสนา ดังนั้นพระพุทธศาสนาจึงอำนวยประโยชน์ มีคุณค่าอย่างยิ่งต่ออารยธรรมของมนุษยชาติเพราะสามารถชี้นำทางที่จะทำให้การพัฒนาอารยธรรมดำเนินไปอย่างถูกต้องสมบูรณ์ ส่งผลให้มวลมนุษย์ประสบสันติสุขและอิสรภาพได้ตามความมุ่งหมาย

                    ในทางตรงกันข้ามประเทศที่ด้อยพัฒนา กลับปล่อยให้พระพุทธศาสนาเสื่อมโทรมหรือสูญหายไปจากประเทศของตน การที่เป็นเช่นนี้เพราะเหตุว่า ประเทศเหล่านี้คอยรับเอาซึ่งความเจริญทางวัตถุ หรือมุ่งพัฒนาประเทศของตนโดยมุ่งเน้นความเจริญทางวัตถุเพื่อให้การพัฒนาประเทศเท่าเทียมกับประเทศพัฒนาทั้งหลาย จึงละเลย ไม่ใส่ใจ หรือทอดทิ้งคุณค่าทางจิตใจ และปัญญาในพระพุทธศาสนาที่ตนมีอยู่แล้ว ไม่รู้จักศึกษานำมาใช้ให้เป็นประโยชน์

                    ดังนั้นทั้งประเทศที่พัฒนาแล้วและประเทศด้อยพัฒนาจะต้องหันมาศึกษาพระพุทธศาสนา นำเอาคุณค่าทางจิตใจและปัญญามาใช้นำทางการจัดระบบชีวิตให้ได้ผลดี และเพียรพยายามสร้างสรรค์ความเจริญก้าวหน้าทางวัตถุ วิทยาการ และระบบต่าง ๆ รวมทั้งนำแนวทางพัฒนาจิตใจและปัญญามาเสริมในองค์ประกอบหรือปัจจัยที่ตนเองขาดไป

                    กล่าวโดยสรุป ชนชาติไทยสามารถมีส่วนร่วมในการเสริมสร้างอารยธรรมของโลก ด้วยการมอบสมบัติอันล้ำค่าของตน ได้แก่ “พุทธธรรม” ให้แก่ชนทุกชาติที่กำลังต้องการ ในฐานะที่พระพุทธศาสนานั้น เป็นส่วนเติมเต็มแห่งอารยธรรมของมวลมนุษย์

 

๒. พระพุทธศาสนาในฐานะที่ช่วยสร้างสันติภาพแก่โลก

 

พระพุทธศาสนาเป็นรากฐานอารยธรรมที่สำคัญของโลกดังที่กล่าวมาแล้ว พระพุทธศาสนายังมุ่งประโยชน์สุข และสันติภาพให้แก่บุคคล สังคม และชาวโลกได้ หากศึกษาในประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนามีทั้งการสร้างสรรค์อารยธรรมและสันติภาพแก่มวลมนุษย์ นั่นคือ พระพุทธศาสนาเกิดขึ้นในประเทศอินเดียหรือชมพูทวีป พระพุทธศาสนาได้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสังคมอินเดีย กล่าวคือ

                    สังคมอินเดียเคยนับถือพระพรหมเป็นเทพเจ้าสูงสุด ผู้สร้างผู้บันดาลทุกสิ่ง มีการบูชายัญเทพเจ้า แล้วก็มีการกำหนดมนุษย์เป็นวรรณะต่าง ๆ โดยชาติกำเนิด เป็นกษัตริย์ เป็นพราหมณ์ เป็นแพศย์ เป็นศูทร แล้วก็ถือว่าพราหมณ์เป็นผู้ที่ติดต่อสื่อสารกับเทพเจ้ากับพระพรหม เป็นผู้รู้ความต้องการของพระองค์ เป็นผู้รับเอาคำสอนมารักษา มีการผูกขาดการศึกษาให้อยู่ในวรรณะสูง คนวรรณะต่ำเรียนไม่ได้ เป็นต้น

                    เมื่อพระพุทธศาสนาเกิดขึ้น ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเรื่องเหล่านี้อย่างมากมาย เช่น เรื่อง วรรณะ ๔ พระพุทธศาสนาไม่ยอมรับ แต่ให้ถือหลักว่า “คนมิใช่ประเสริฐหรือต่ำทรามเพราะชาติกำเนิด แต่จะประเสริฐหรือต่ำทรามเพราะการกระทำ” แล้วก็ไม่ให้มัวหวังผลจากการอ้อนวอนบูชายัญ สอนให้เปลี่ยนการบูชายัญหรือเลิกการบูชายัญ ให้หันมาหวังผลจากการกระทำ นี่คือการ “ประกาศอิสรภาพของมนุษย์

                    เมื่อถือว่ามนุษย์จะดีจะประเสริฐอยู่ในการกระทำ มนุษย์ต้องพัฒนาชีวิตของตน ทั้งพัฒนาพฤติกรรม (ศีล) พัฒนาจิตใจ (สมาธิ) และพัฒนาปัญญา (ปัญญา) ขึ้นไปมนุษย์จึงประเสริฐได้ ดีงามได้ ด้วยการฝึกฝนพัฒนาตน ด้วยการศึกษาเรียนรู้ เพราะฉะนั้นจึงต้องเสริมปัญญา มนุษย์ทุกคนจะต้องได้รับการศึกษา เพราะฉะนั้น พระพุทธศาสนาจึงทำให้เกิดการศึกษาแบบที่เรียกว่า “การศึกษามวลชน

                    ในประเทศอินเดียเราสามารถพูดได้ว่า การศึกษาหลายเป็นการศึกษามวลชนได้เพราะการเกิดขึ้นของพระพุทธศาสนา ก็แสดงว่าพระพุทธศาสนามีความสำคัญต่ออารยธรรมของโลก เพราะว่าเมื่ออินเดียเจริญขึ้นแล้ว อินเดียก็เป็นศูนย์กลางแห่งหนึ่งของอารยธรรมของโลก

                    ในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช ได้นำหลักธรรมในพระพุทธศาสนามาใช้ มีการริเริ่มใหม่ คือการถือหลักการอยู่ร่วมกันอย่างสันติโดยความสามัคคีระหว่างศาสนาต่าง ๆ นั่นคือพระเจ้าอโศกมหาราชได้ให้เสรีภาพในการนับถือศาสนา ทั้ง ๆ ที่พระองค์เป็นราชาในแบบสมัยโบราณที่มีอำนาจเต็มที่ แต่เมื่อนับถือพระพุทธศาสนาก็ถือหลักเมตตา อุปถัมภ์บำรุงทุกศาสนา และให้ศาสนิกชนในศาสนาต่าง ๆ อยู่ร่วมกันด้วยความสามัคคีรักใคร่กลมเกลียวกัน ยอมรับหลักธรรมของกันและกัน ไม่ทะเลาะ ไม่ใช้กำลัง ไม่ใช้ความรุนแรง

                    ในประเทศตะวันตกได้พยายามต่อสู้เพื่อสร้างหลักการแห่งเสรีภาพทางศาสนาขึ้นมาด้วยความยากลำบาก เพราะประเทศตะวันตกนั้นเป็นดินแดนของการรบราฆ่าฟันทางศาสนา มีการข่มเหง เบียดเบียนเพราะนับถือศาสนาต่างกัน (Persecution) และมีสงครามศาสนา (Religious Wars) มากมาย และพวกเขาได้พยายามดิ้นรนที่จะให้เกิดขันติธรรม (Tolerance) ซึ่งต่างจากพระเจ้าอโศกมหาราชที่ใช้หลักการทางพระพุทธศาสนาก่อให้เกิดสันติภาพขึ้นมาในประเทศในสมัยนั้นได้

 

๓. พัฒนาตนให้สมบูรณ์แล้วมุ่งสู่ประโยชน์สุขต่อสังคมและโลก

 

                    พระสงฆ์เป็นชุมชนของผู้ที่ได้อุทิศตัวมุ่งมาสู่การฝึกฝนพัฒนาตน หรือเรียนรู้ตามหลักของไตรสิกขา แต่ในขณะเดียวกันนั้น พระสงฆ์ก็เป็นชุมชนของผู้ที่อุทิศตัวเพื่อประโยชน์สุขของสังคมส่วนรวมอย่างบริสุทธิ์บริบูรณ์

                    ทั้งนี้เพราะว่า ผู้ที่ฝึกฝนพัฒนาตนดีแล้ว สมบูรณ์แล้ว ก็จะไม่มีอะไรต้องทำเพื่อตนเองต่อไปอีก คือเป็นผู้บรรลุประโยชน์ตนแล้ว ทั้งนี้เพราะว่า ประโยชน์ที่แท้จริงของมนุษย์ก็คือการมีชีวิตประกอบด้วยพฤติกรรม (ศีล) จิตใจ (สมาธิ) และปัญญา (ปัญญา) ที่ได้พัฒนาสมบูรณ์แล้ว เมื่อบรรลุประโยชน์ตนแล้วชีวิตที่เหลืออยู่ก็อุทิศให้แก่โลกได้เต็มที่ ดังคติของพุทธศาสนา ซึ่งจะเห็นได้ในการส่งพระสาวกออกไปเพื่อให้การศึกษาแก่ประชาชน ที่ตรัสว่า

                    “จรถ ภิกฺขเว  จาริกํ พหุชนหิตาย พหุชนสุขาย โลกานุกมฺปาย” แปลว่า “เธอทั้งหลายจงจาริกไป เพื่อประโยชน์เกื้อกูลและความสุข แก่ชนจำนวนมาก เพื่อเห็นแก่ประโยชน์สุขของชาวโลกในการประชุมสุดยอดผู้นำชาวพุทธเพื่อการเผยแผ่พุทธศาสนาแห่งโลกครั้งที่ ๒ ในระหว่างวันที่ ๙-๑๑ พฤศจิกายน ๒๕๔๓ ณ พุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม ได้กล่าวสรุปถึงการประชุมกลุ่มที่เกี่ยวกับสันติภาพของโลก โดยมีเป้าหมายดังนี้

๑) ด้านเอกภาพของชาวพุทธ หลังสงครามเย็น ขณะนี้ พวกเรากำลังเผชิญหน้ากัน ระหว่างสงครามการแบ่งเชื้อชาติ และศาสนาซึ่งอาจกล่าวได้ว่า รุนแรงกว่าที่คิด และภาวะวิกฤติด้านสิ่งแวดล้อมและความขาดแคลนแหล่งธรรมชาติ ก็ปรากฏชัดยิ่งขึ้น ปัญหาทั้งหมดนี้มีสาเหตุมาจากตัณหาและโลภะ เทคโนโลยีเป็นสาเหตุของความละโมบและความเกลียดชังกัน อันนำไปสู่การทำลายล้างซึ่งกันและกัน       

                    การกำหนดท่าทีชัดเจนต่อธรรมชาติของมนุษย์และความเข้าใจจุดมุ่งหมายของชีวิต สามารถกำหนดทิศทางของการพัฒนามนุษย์ได้ มนุษย์ทุกคนมีสิทธิเสมอกัน เพื่อได้มาซึ่งความเสมอภาคกัน เราต้องมีเอกภาพ มนุษย์เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติที่มีเหตุและผล บัดนี้ ถึงเวลาที่เราต้องขจัดความละโมบโลภมากแล้วหันมาอยู่ร่วมกันอย่างมีเอกภาพ พระพุทธเจ้าทรงสอนให้มนุษย์แต่ละคนที่เป็นสมาชิกของสังคมพึงระลึกถึงกัน มีน้ำใจประสานกลมกลืนพร้อมที่จะร่วมมือกัน เริ่มตั้งแต่ทางกายเราก็มีเมตตาต่อกัน ปฏิบัติต่อกันด้วยเมตตาช่วยเหลือเอาธุระต่อกัน ทางวาจาเราก็พูดด้วยน้ำใจรักกัน ในจิตใจเราก็คิดปรารถนาดีต่อกัน ในการอยู่ร่วมกันมีของอะไร หรือได้รับสิ่งใดมาก็มาแบ่งปันกัน ในการรักษาสถานภาพของสังคมเราก็รักษาระเบียบวินัย มีศีลเสมอกัน ไม่เบียดเบียนก่อความเดือดร้อนแก่กัน และปฏิบัติตามกฎกติกาของส่วนรวม เราก็มีความเชื่อมั่นยึดถือและเข้าใจหลักการสำคัญของประชาธิปไตยร่วมกัน ตลอดจนเข้าใจร่วมกันในความจริงที่เป็นธรรมชาติของโลกและชีวิตที่จะรองรับความเป็นมนุษย์ของเราไว้ด้วยกัน เพียงเท่านี้ก็อยู่เป็นสุขและพัฒนาได้ดีแน่ บนฐานแห่งความสัมพันธ์ที่ดีงามมั่นคง โดยที่แต่ละคนก็มีความระลึกถึงกันมีน้ำใจประสานร่วมมือต่อกัน สังคมก็ยึดเหนี่ยวเกาะกุมกันอยู่ให้เกิดภาวะที่เรียกว่า เอกภาพ หลักการดังกล่าวนี้ก็คือ หลักสาราณียธรรม ๖ ประการ

                    ๒) ด้านพระพุทธศาสนาและสันติภาพของโลก มนุษย์ในโลกปัจจุบัน อาจภูมิใจในความอิสระของตนเอง แต่พระพุทธเจ้าตรัสว่า เพื่อให้มนุษย์หลุดพ้นจากความทุกข์ จำเป็นต้องให้เขาเรียนรู้ความจริงที่ว่า ถึงแม้เราจะมีอิสระทางกาย แต่ทางใจกลับยังเป็นทาสอยู่ วิธีการที่ทำให้มนุษย์เป็นอิสระทางใจได้ก็คือ การไขปริศนาสิ่งที่มีอิทธิพลต่อความมั่นคงปลอดภัย

                    กล่าวโดยสรุป...สันติภาพที่แท้จริงมิใช่ปรากฏอยู่ภายนอก แต่มันต้องมีในภายในใจเราต่างหาก ชนะใจเราก็คือชนะโลก เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา และอริยสัจ ๔ เป็นวิถีทางที่ดีที่สุดที่จะช่วยให้โลกพบสันติภาพ การปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธองค์ย่อมสามารถบรรลุสิ่งที่พึงประสงค์ได้อย่างแท้จริง

 

 

หมายเลขบันทึก: 504160เขียนเมื่อ 1 ตุลาคม 2012 10:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 ตุลาคม 2012 10:31 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท