ภาษาสันสกฤตอย่างง่าย บทที่ 11


-ธาตุหมวดที่ 4 ในปัจจุบันกาล


ธาตุหมวด 4 หรืือ ทิวาทิคณะ (ทิวฺ + อาทิ, คือ ธาตุที่มี √ทิวฺ เป็นตัวอย่าง, ไม่ได้เป็นต้น เพราะหมวดสี่ เริ่มต้นด้วย √อณฺ ธาตุ) เมื่อจะใช้ในปัจจุบันกาล มีหลักอย่างนี้

 

     1) ปัจจัยประจำหมวด ในปัจจุบันกาล คือ ย (ya) ซึ่งไม่มีเสียงเน้น เมื่อเติมเข้าไปที่ธาตุ การเน้นเสียง (accent) จะไปตกอยู่ที่สระต้นธาตุ (หมายความว่า สระตัวแรกของธาตุนั้นๆ) เช่น

     √นหฺ nah > nah + ya     ได้เค้าเป็น นหฺย náhya (ผูก, พัน)

     √ลุภฺ lubh > lubh + ya   ได้เค้าเป็น ลุภฺย lúbhya (โลภ อยากได้)

     (เรื่องระดับเสียงยังไม่ต้องสนใจ แต่จำๆ ไว้ก็ดี)

     จากนั้นก็นำเค้าไปเติมปัจจัยบอกบุรุษ สำหรับปัจจุบันกาล ก็ได้ นหฺยติ, ลุภฺยติ เป็นต้น

     ง่ายจัง...

 

     2) ธาตุบางตัว ยังถกเถียงกันว่าเป็นรูปใด ฝรั่งจะอ้างประวัติศัพท์จากภาษาในตระกูลอินเดีย-ยุโรป ส่วนอินเดียก็อ้างตำราโบราณ รูปธาตุบางตัวในแต่ละตำราจึงอาจไม่ตรงกัน เช่นธาตุที่ลงท้ายด้วย อา, เนื่องจากเสียงอา อาจเลื่อนเป็น อิ อี ได้ ดังนั้น นักไวยากรณ์อินเดียจึงอาจบอกว่า รูปธาตุเดิมนั้นลง เอ บ้าง ลง ไอ บ้าง ลง โอ บ้าง ก็ว่ากันไป เช่น

        ฝรั่ง                        อินเดีย     กริยา

√ธา                       √เธ         ธยติ         ดูดนม

√หู หรือ √หฺวา         √หฺเว       หฺวยติ      ร้องเรียก

√คา                       √ไค        คายติ       ร้องเพลง

ธาตุเหล่านี้ควรจะจำรูปทั้งสองแบบไว้ เพราะเวลาเปิดพจนานุกรม จะได้หาเจอ (หาหมวดธาตุ หรือการแจกรูปพิเศษอื่นๆ)

 

     3) ธาตุ √ทฺฤศฺ (ดู, เห็น) เมื่อนำมาใช้ในปัจจุบันกาล จะเปลี่ยนไปใช้ธาตุ √ปศฺ แทน เป็น ปศฺย > ปศฺยติ

 

     4) ธาตุหมวด 4 ส่วนมากลงท้ายด้วยพยัญชนะ ไม่ค่อยมีอะไรยกเว้นให้ยุ่งยาก. แต่พวกที่ลงท้ายด้วยสระ มักจะแจกรูปพิเศษ (เปลี่ยนสระ ก่อนลง ย) หรือแจกรูปปกติ (ลง ย ได้เลย) แต่แจกในอีกรูปแบบหนึ่ง (เต อิเต อนฺเต แทนที่จะเป็น ติ ตสฺ อนฺติ, ไว้ค่อยเรียนในบทต่อๆ ไป อิๆๆๆๆ)

 

    5) ธาตุจำนวนมาก มีอุปสรรคนำหน้า เช่น อา อว นิ วิ ปริ ฯลฯ คล้ายๆ กับ up, down, on ที่ตามหลังกริยาในภาษาอังกฤษนั่นแหละ เมื่ออุปสรรคนำหน้า ถ้าสนธิได้ ก็ต้องสนธิกับธาตุ (ภาษาพระเวทอาจแยกอุปสรรคกับตัวธาตุ ห่างกัน ไม่สนธิ) และมีความหมายที่แตกต่างจากธาตุเฉยๆ เช่น √รุหฺ แปลว่า งอก, ขึ้น, แต่ อา√รุหฺ แปลว่า ปีนขึ้น ขึ้นรถ (ต้องจำ)

    การเขียนอุปสรรคกับธาตุนั้น ส่วนมากจะใช้แบบนี้ √รุหฺ – อา หมายถึง ธาตุ รุหฺ เติมปัจจัย อา ข้างหน้า (ไม่ใช่ข้างหลังนะ)

 

     6) อา เมื่อเป็นอุปสรรคนำหน้าธาตุ แปลว่า สู่ แก่ ที่ (ความหมายไม่ค่อยชัดเจนเท่าไหร่หรอก ลองอ่านไปสักพักจะพอจับความได้) แต่อาเมื่อใช้กับนาม โดยมากจะหมายถึง ไปสู่, กระทั่ง, ถึง แต่บางครั้งใช้ร่วมกับกับอปาทานการก (ใช้กับกรรมการกก็มี แต่น้อยมาก) หมายถึง จาก

** คำนี้ดูให้ดีๆ เพราะเมื่ออยู่ในประโยค สนธิกับคำข้างหน้า ข้างหลัง แล้วจะดูยาก**

 

ศัพท์

ธาตุ (กริยาแสดงด้วยอักษรโรมัน เพื่อความชัดเจน และสะดวกในการพิมพ์)

√อสฺ              √as          ásyati        ขว้าง, เหวี่ยง

√กุปฺ              √kup        kúpyati       โกรธ (+ gen.)

√กฺรุธ             √krudh      krúdhyati    โกรธ (+ gen.)

*√คมฺ - อา       √gam -ā   āgácchati   มา

√ตฺฤ              √tṛ           tárati         ข้าม

√นศฺ              √naś        náśyati       ทำลาย

√ปศฺ              √paś        páśyati       เห็น

√รุหฺ              √ruh      róhati      ลุกขึ้น, งอก

√รุหฺ - อา        √ruh -ā  āróhati    ปีน, ขึ้นไปบน

√ลิขฺ              √likh      likháti      เขียน

√ลุภฺ              √lubh  lúbhyati อยากได้ (+dat., loc.)

√ศุษฺ              √śuṣ      śúṣyati    แห้ง

√สฺนิหฺ             √snih     sníhyati   รัก (+gen., loc.)

*√หู หรือ √หฺวา  √hvā      (hváyati) เรียก

* คือธาตุแจกรูปพิเศษ

อักษรสีแดง คือเสียงเน้นที่สระต้นธาตุ อันเนื่องจากปัจจัยประจำหมวดไม่มีเสียงเน้น

อักษรสีเขียว คือ ตัวปัจจัยประจำหมวดธาตุ, ถ้ามีเสียงเน้นที่ปัจจัยแล้ว ก็ไม่มีเสียงเน้นที่อื่นอีก, คำหนึ่งมีเน้นที่เดียว

อุปสรรคหน้าธาตุ ไม่มีเสียงเน้น

 

ประเด็นที่ควรทราบก็คือ ตัวธาตุจะไม่มีเสียงเน้น แต่เมื่อประกอบเป็นศัพท์แล้ว จะมีเสียงเน้นขึ้นมา ที่ใดก็ที่หนึ่ง ไม่เน้นเสียงไม่ได้

* ตำราบางเล่มอาจจะไม่บอกหมวดธาตุ แต่ให้ดูจากกริยาสำเร็จ ซึ่งสังเกตหมวดธาตุได้จากปัจจัยที่เติมข้างหลังธาตุ ดังนี้

- หมวด 1  ลงปัจจัย a ซึ่งไม่มีเสียงเน้น การเน้นเสียงจึงอยู่ที่สระต้นธาตุ (เช่น róhati)

- หมวด 6  ลงปัจจัย á ซึ่งมีเสียงเน้น การเน้นเสียงจึงคงอยู่ที่ปัจจัย (เช่น likháti)

- หมวด 4 ลงปัจจัย ya ซึ่งไม่มีเสียงเน้น การเน้นเสียงจึงอยู่ที่สระต้นธาตุ (เช่น ásyati) และ

- หมวด 10 ลงปัจจัย áya  ซึ่งมีเสียงเน้น การเน้นเสียงจึงคงอยู่ที่ปัจจัย (เช่น coráyati)

นอกจากนี้การดูหมวดธาตุ ยังดูได้จากการทำคุณ หรือไม่ทำคุณด้วย

 

แบบฝึก

1. บอกหมวดของธาตุทั้งหมดในบทนี้ และแจกรูปเอกพจน์ บุรุษที่ 1 ปัจจุบันกาล (ยืดเสียงอะ ก่อนลงปัจจัยบอกบุรุษ)

2. อธิบายว่า เหตุใดกริยาแต่ละตัวจึงมีเสียงเน้นแตกต่างกัน

หมายเลขบันทึก: 504157เขียนเมื่อ 1 ตุลาคม 2012 10:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 ตุลาคม 2012 21:01 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (19)

ขอบคุผณ ท่ี ท่าน้ข้าไปแวะชม Teen Dads พ่อวัยรุ่น เรื่องนี่ ..... ยั่งไม่มีใครทำ P'Ple ถึ่งจะทำในเมืองไทย แต่ต่างประเทศเข้ามพแล้วค่ะ ทา , Arfrica คนผิดำ มีลูกอายุยังน้อย บ้านเราก็มีมาก มีแม่วัยรุ่น ==> ส่วนใหญ่สามี เป็นพ่อว้ยรุ่นด้วย นะคะ

สวัสดีค่ะท่านหมู วันนี้มาหาความรู้เพิ่มเติมเช่นเดิมค่ะ แม้ไม่ได้ใช้ในการสอนเพราะสอนอนุบาลแต่ไว้ประดับสมองตัวเองนะคะ ขอบคุณค่ะ

ไม่รู้จะทำถูกต้องตามคำสั่งแบบฝึกหัดหรือเปล่านะค่ะ อิอิ..

แบบฝึก

  1. บอกหมวดของธาตุทั้งหมดในบทนี้ และแจกรูปเอกพจน์ บุรุษที่ 1 ปัจจุบันกาล (ยืดเสียงอะ ก่อนลงปัจจัยบอกบุรุษ)

1.) √อสฺ , ธาตุหมวดที่ 4 = อสฺยามิ

2.) √กุปฺ , ธาตุหมวดที่ 4 = กุปฺยามิ

3.) √กฺรุธ , ธาตุหมวดที่ 4 = กฺรุธยามิ

4.) √คมฺ - อา , ธาตุหมวดที่ 1 = คจฺฉามิ

5.) √ตฺฤ , ธาตุหมวดที่ 1 = ตรามิ

6.) √นศฺ , ธาตุหมวดที่ 4 = นศฺยามิ

7.) √ปศฺ , ธาตุหมวดที่ 4 = ปศฺยามิ

8.) √รุหฺ , ธาตุหมวดที่ 1 = โรหามิ

9.) √รุหฺ - อา , ธาตุหมวดที่ 1 = โรหามิ

10.) √ลิขฺ , ธาตุหมวดที่ 6 = ลิขามิ

11.) √ลุภฺ , ธาตุหมวดที่ 4 = ลุภฺยามิ

12.) √ศุษฺ , ธาตุหมวดที่ 4 = ศุษฺยามิ

13.) √สฺนิหฺ , ธาตุหมวดที่ 4 = สฺนิหฺยามิ

14.) √หู ธาตุหมวดที่ 4 = หูยามิ

   √หฺวา  ธาตุหมวดที่  4  =  หฺวายามิ

ไม่รู้ว่าตรงนี้ผิดหรือเปล่า

√รุหฺ , ธาตุหมวดที่ 1 ทำคุณเป็น โรหฺ แล้วต้องลง อะ อีกไหมค่ะ หรือไม่จำเป็นเพราะไม่มีประโยคขึ้นต้นด้วยสระอะตามมา

พอดีไปเปิดพจนานุกรมเจอคำนี้มาคะ แล้วก็แอบเห็นคำบุพบทที่มักตามหลังกริยาตามที่อาจารย์บอกไว้ด้วย

आलिखति { आ- लिख् } = write down อันนี้บุพบทเป็นอะ

แต่พอมาคำข้างล่างนี้บุพบทเป็น วิ เฉยเลย ไม่รู้ว่าหนูเข้าใจถูกหรือผิดอย่างไร

विलिखति { वि- लिख् } = write

เป็นอามิใช่เป็นอะ พิมพ์ผิดคะ อิอิ

สวัสดีครับ พี่ Blank ...Dr. Ple

น่าสนใจมากเลยครับ

จะรออ่านต่อไป อิๆๆ

 

สวัสดีครับ คุณครู Blank หมูจ๋า

ขอบคุณครับที่แวะมาเยี่ยมสม่ำเสมอ

คุณ Blank คุณ ศรี บรมอีศวรี

เปลี่ยนรูปซะแล้ว...

ถูกแล้ว ยกเว้น  √คมฺ - อา  และ   √รุหฺ - อา  ประกอบอุปสรรไม่ถูกต้อง

ให้อ่านทวนวิธีการเติมอุปสรรคอีกที

**การเขียนอุปสรรคกับธาตุนั้น ส่วนมากจะใช้แบบนี้ √รุหฺ – อา หมายถึง ธาตุ รุหฺ เติมปัจจัย อา ข้างหน้า (ไม่ใช่ข้างหลังนะ)**

 

อุปสรรคที่เติมหน้าธาตุ มีมากมายครับ อา ก็มี วิ ก็มี นิ ก็มี ฯลฯ ค่อยๆ เรียนไป

वद् वद् वाग्वादिनी स्वाहा พอดีไปเจอมนต์บทนี้มา คำว่า วทฺ นี้หนูคุ้นๆเป็นกริยาแปลว่าพูด แต่ วทฺ ในประโยคนี้ ลักษณะหน้าตาคล้ายกับธาตุซึ่งยังไม่ผ่านกระบวนการทำให้เป็นกริยาสมบูรณ์ อาจารย์เคยบอกว่าเราไม่สามารถนำธาตุมาใช้ได้เลยทันที หนูเลย งง กับคำนี้คะ ขออาจารย์ช่วยอธิบายด้วย อิอิ ขอบคุณคะ

วทฺ ตัวนี้ไม่ใช่ธาตุ แต่เป็นนิบาต ใช้ในภาษาเก่าในฤคเวท น่าจะแปลว่า นั้น เช่นนั้น, ถ้า มักตามด้วย ยทฺ หรือ ยทิ

เป็นคำที่ใช้ในมนต์ ไม่ได้เป็นกริยา

อีกความหมายหนึ่ง คือ เป็นคำเรียกธาตุนั้นเลย เพราะมนต์นี้บูชาพระสรัสวตี (วาคฺวาทินี)

*อย่าลืม แก้เรื่องกริยาเติมอุปสรรคด้วย ;)

*√คมฺ - อา ลองดูแล้วคะ ไม่เข้าใจคะอาจารย์ ยังงงๆมึนๆ ให้อาจารย์ลองแสดงวิธีทำให้หนูดูสักข้อ แล้วเหลืออีกข้อจะลองทำคะ อิอิ

เขียนแบบนี้ "√คมฺ - อา" หมายความว่า ธาตุ คมฺ, ลงอุปสรรค อา (ดูตัวอย่าง ตัวโรมันในตาราง)

= อา + √คม แล้วลงปัจจัย อะ (แปลงรูป)

= อา+คจฺฉ เป็นเค้า เอาไปเติม ปัจจัยบอกบุรุษ

= อาคจฺฉามิ

 

√รุหฺ - อา = อาโรหามิ

หนูก็กลัวพลาดตรงที่อาจารย์บอกว่าบางทีต้องสนธิระหว่างอุปสรรคกับธาตุนี่ละคะ เลยไม่รู้ว่าต้องทำยังไง อิอิ

  1. อธิบายว่า เหตุใดกริยาแต่ละตัวจึงมีเสียงเน้นแตกต่างกัน

1.) √อสฺ , ธาตุหมวดที่ 4 = อสฺยามิ ( ธาตุหมวดที่สี่นี้ไม่มีเสียงเน้น ดังนั้นการเน้นเสียงจึงไปตกอยู่ที่สระต้นธาตุ ในที่นี้คือสระอะ อธิบายแบบนี้ถูกไหมค่ะ )

ตายแล้ว... ผมเขียนตกไปในความเห็น แต่ในบทความเขียนถูกแล้ว

(ผมขอลบความเห็นตรงนั้นนะครับ เผื่อมาดูทีหลัง หรือคนอื่นมาอ่านแล้วจะสับสน)

จำใหม่นะครับ ปัจจัย ย ไม่มีเสียงเน้น, ขอโทษจริงๆ

ประเด็นหลักคือ ตัวธาตุ ไม่มีเสียงเน้นแน่ๆ, ส่วนปัจจัย ถ้ามีเสียงเน้น ก็เน้นเหมือนเดิม

แต่้ถ้าไม่มีเสียงเน้นที่ปัจจัย การเน้นเสียงจะไปตกที่สระต้นธาตุ ....

 

ที่ตอบมายังไม่ถูกต้อง (และบังเอิญลบไปด้วย อิๆๆ)

ผมแ้ก้ให้เลยนะครับ (ให้ดูเครื่องหมายเน้นเสียง a แบบนี้ไม่เน้น, á แบบนี้เน้น)

1.) กุปฺยามิ kúpyāmi = ตัวธาตุไม่มีเสียงเน้น , ปัจจัย ย ไม่มีเสียงเน้น เมื่อลงปัจจัยหลังธาตุแล้วเสียงเน้นจึงไปตกที่สระต้นธาตุในที่นี้คือสระอุหน้า ปฺ (กุปฺ จึงเป็นธาตุหมวด 4)

2.) ตรามิ tárāmi = ตัวธาตุไม่มีเสียงเน้น , ปัจจัย อะ ไม่มีเสียงเน้น เมื่อลงปัจจัยหลังธาตุแล้วเสียงเน้นจึงไปตกที่สระต้นธาตุ ในที่นี้คือสระ อะ หลัง ต (ตฺฤ จึงเป็นธาตุหมวด 1)

3.) โรหามิ róhāmi= ตัวธาตุไม่มีเสียงเน้น ปัจจัย อะ ไม่มีเสียงเน้น เมื่อลงปัจจัยหลังธาตุแล้ว เสียงเน้นจึงไปตกที่สระต้นธาตุในที่นี้คือสระโอ หน้า ร (รุหฺ จึงเป็นธาตุหมวด 1)

4.) สฺนิหฺยามิ sníhyāmi = ตัวธาตุไม่มีเสียงเน้น ปัจจัย ย ไม่มีเสียงเน้น เมื่อลงปัจจัยหลังธาตุแล้ว เสียงเน้นจึงไปตกที่สระต้นธาตุในที่นี้คือสระอิ หลัง น (สฺนิหฺ จึงเป็นธาตุหมวด 4)

สรุป ปัจจัย อะ ของหมวด 1 และปัจจัย 4 ของหมวด 4 ไม่มีเสียงเน้นเลย

 

การประกอบอุปสรรค และํธาตุ

รุหฺ ธาตุหมวด 1 ลงอุปสรรค อา

-รุหฺ เป็นธาตุหมวด 1  ให้ลงปัจจัย อะ (ไม่มีเสียงเน้น) และทำคุณที่สระต้นธาตุ

-ได้เค้าเป็น โรห (รุหฺ > โรหฺ, โรหฺ + อะ = โรห)

-ลงอุปสรรค อา เป็น อาโรห

-ลงปัจจัย เป็น อาโรหามิ..

 

จบบทนี้ครับ...

"กาลี อัษฏกัม"

भुजे वामयुग्मे शिरोsसिं दधाना

वरं दक्षयुग्मेsभयं वै तथैव ।

सुमध्याsपि तुङ्गस्तनाभारनम्रा

लसद् रक्तसृक्कद्वया सुस्मितास्या ॥२॥

(เนื้อหาต่อจากบทแรก)

ทรงถือศีรษะแลดาบในหัตถ์ซ้ายทั้งสอง

พรและการคุ้มครองอยู่ในหัตถ์ขวานั้นแล

ทรงมีวรกายดั่งสิงห์ที่ค้อมลงเพราะถันอันสล้าง

โอษฐ์ฉาบโลหิตฉาน ยังแย้มด้วยพระเมตตา

शवद्वन्द्वकर्णावतंसा सुकेशी

लसत्प्रेतपाणिं प्रयुक्तैककाञ्ची ।

शवाकारमञ्चाधिरूढा शिवाभि-

श्चर्दिक्षुशब्दायमानाsभिरेजे ॥३॥

ทรงเครื่องประดับจากศพในพระกรรณทั้งสอง

ทรงมีพระเกศีงาม พาหุรัดเรืองรองคือศพแลเข็มขัด

ประทับบนอาสน์คือศพ แลส่งเสียงพึงแสยง

ทั่วสี่ทิศด้วยพลังแห่งพระนาง.

विरञ्च्यादिदेवास्त्रयस्ते गुणांस्त्रीन्

समाराध्य कालीं प्रधाना बभूवु: ।

अनादिं सुरादिं मखादिं भवादिं

स्वरूपं त्वदीयं न विन्दन्ति देवा: ॥४॥

สามแห่งเทพอันมีพระพรหมเป็นต้น อาศัยคุณทั้งสามแห่งพระองค์

และบังเกิดในการบูชาพระแม่กาลี เป็นประธาน

ทรงบังเกิดในเบื้องต้น แห่งการสังเวย แห่งทวยเทพ โดยไม่มีเบื้องต้น

เทพทั้งปวงไม่อาจเข้าถึงพระองค์ ผู้มีรูปแห่งตนเอง.

 

(สยองแฮะ...)

แปลได้กระท่อนกระแท่น ทั้งศัพท์และสำนวนไม่คุ้นเคยครับ

พอกล้อมแกล้มนะ...

โห ไพเราะจังคะ กราบขอบพระคุณอาจารย์อีกครั้งคะ

ระดับอาจารย์ยังบอกกระท่อนกระแท่นแล้วอย่างหนูจะเหลือเหรอค่ะ ถ้าต่อไปจะหัดแปลดูเองบ้าง

ถ้ามนตร์สั้นๆ สักวรรค สองวรรค ภาษาไม่ยากครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท