Archanwell
รศ.ดร. พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

จังหวัดตากมีอำนาจจำกัดสิทธิในเสรีภาพเดินทางผ่านด่านตรวจห้วยหินฝน แม่สอด สำหรับคนใน ทร.๓๘/๑ และแรงงานที่มีหนังสือเดินทางอันเป็นผลมาจากการพิสูจน์สัญชาติหรือไม่ ?


ข้อเท็จจริง

องค์กรเครือข่ายส่งเสริมสิทธิแรงงานข้ามชาติ ค้านจังหวัดตากออกระเบียบห้ามแรงงานที่มีหนังสือเดินทางและมีใบผ่อนผันการจัดทำทะเบียนประวัติทร.๓๘/๑ เดินทางออกนอกพื้นที่ ชี้ละเมิดสิทธิมนุษยชน จี้ยุติคำสั่งและทำประชาพิจารณ์ให้รอบด้านก่อนออกคำสั่งดังกล่าว ด้านสภาทนายความ ระบุเป็นระเบียบที่ผิดกฎหมายและขัดต่อรัฐธรรมนูญเข้าข่ายความผิดปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ขณะที่ตัวแทนแรงงานข้ามชาติแฉมีเจ้าหน้าที่รีดไถแรงงานครั้งละ ๒๐๐ บาทก่อนจะปล่อยให้ผ่านด่านทั้งๆ ที่มีเอกสารครบ

สืบเนื่องจากกรณีที่นายมงคล สัณฐิติวิฑูร รองผู้ว่าราชการจังหวัดตาก ปฏิบัติหน้าที่ราชการแทนผู้ว่าราชการจังหวัด ได้มีหนังสือสั่งการลงวันที่ ๓๐ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๕๕ ให้เจ้าหน้าที่ด่านตรวจห้วยหินฝน อำเภอแม่สอด ตรวจสอบเอกสารการเดินทางของแรงงานข้ามชาติที่ได้รับการผ่อนผันจัดทำทะเบียนประวัติ (ทร.๓๘/๑) และแรงงานที่ได้รับการพิสูจน์สัญชาติมีหนังสือเดินทางว่า หากจะผ่านด่านดังกล่าวจะต้องมีหนังสือรับรองการเปลี่ยนนายจ้าง หรือสถานที่ทำงานด้วย ซึ่งจากเดิมแรงงานข้ามชาติทั้งสองกลุ่มสามารถใช้เอกสารที่มีเดินทางออกนอกพื้นที่ได้โดยไม่ต้องขออนุญาต ทำให้แรงงานจำนวนมากไม่สามารถเดินทางผ่านด่านได้และได้รับผลกระทบจากแนวนโยบายดังกล่าว

ด้วยสาเหตุปัญหาดังกล่าว องค์กรเครือข่ายส่งเสริมสิทธิแรงงานข้ามชาติ Migrant rights promotion working group (MRPWG) จึงได้ร่วมมือกับสภาทนายความและภาคีเครือข่ายจึงได้ร่วมกันจัดงานเสวนา ในหัวข้อ “สิทธิในการควบคุมในการเดินทางของแรงงานข้ามชาติ” ขึ้น ที่โรงแรมเซ็นธารา แม่สอดฮิลล์ อ.แม่สอด จ.ตาก โดยมีหน่วยงานทั้งภาครัฐ เอกชน ภาคประชาชน นายจ้าง ลูกจ้างเข้าร่วมรับฟังการเสวนาจำนวนมาก

นายมงคล สัณฐิติวิฑูร รองผู้ว่าราชการจังหวัดตาก กล่าวว่า คำสั่งที่เกิดขึ้นเป็นเพราะเราได้รับเรื่องร้องเรียนจากสภาอุตสาหกรรมจังหวัดตากว่ามีแรงงานจำนวนมากที่ผ่านการพิสูจน์สัญชาติ โดยนายจ้างและสถานประกอบการเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายให้ หลบหนีและลาออกภายหลังจากได้รับการพิสูจน์สัญชาติแล้วเสร็จ จึงทำให้ผู้ประกอบการจำนวนมากในจังหวัดตาก ขาดแคลนแรงงาน จึงร้องเรียนมายังจังหวัด จนกลายเป็นที่มาของการออกคำสั่งดังกล่าว

ขณะที่นายชัยวัฒน์ วิทิตธรรมวงศ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดตาก ได้ให้เหตุผลถึงการยื่นเรื่องให้จังหวัดออกข้อเสนอดังกล่าวว่า สถานประกอบการจำนวนมากได้รับผลกระทบจากการหลบหนีไปทำงานที่อื่นที่ได้ค่าจ้างแพงกว่า ซึ่งมีสถานประกอบการบางแห่ง เคยมีพนักงานถึง 300 คน ปัจจุบัน เหลือเพียงแค่ 90 คน จนทำให้เขาไม่สามารถประกอบการกิจการได้ และต้องปิดบริษัทไป สิ่งที่เกิดขึ้นสร้างความเสียหายให้กับเศรษฐกิจ

ต่อมา ได้มีการเปิดเวทีให้ตัวแทนแรงงานข้ามชาติ หน่วยงานภาคประชาชน และเอกชน ได้แสดงความคิดเห็นเพื่อสะท้อนปัญหาที่เกิดขึ้น เกี่ยวกับคำสั่งดังกล่าว โดยตัวแทนแรงงานข้ามชาติ รายหนึ่ง กล่าวว่า คำสั่งนี้เป็นคำสั่งที่ไม่ชอบธรรม เพราะมีหลายกรณีที่ลูกจ้างถูกปฏิบัติอย่างไม่ชอบธรรมจากนายจ้าง จนทำให้เกิดการกลั่นแกล้ง ไม่เซ็นใบอนุญาตออกนอกพื้นที่ให้ นอกจากนี้ หากลูกจ้างแสดงเจตจำนงลาออก นายจ้างก็ไม่ยอมเซ็นใบลาออก เพื่อให้ลูกจ้างไปหานายจ้างใหม่ได้ จึงทำให้เกิดปัญหากับต่อคำสั่งจากหนังสือดังกล่าว เพราะลูกจ้างไม่สามารถมีเอกสารมาแสดงตนต่อเจ้าหน้าที่ที่ตรวจสอบ พร้อมกันนี้อีกหลายปัญหาที่เกิดขึ้นจากนโยบายนี้ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเรื่องเจ้าหน้าที่เรียกรับเงินในด่านตรวจซึ่งแรงงานบางคนต้องจ่ายเงินครั้งละ ๒๐๐ บาทเพื่อทำการตรวจเอกสาร ทั้งๆ ที่ความจริงไม่จำเป็นต้องจ่ายเงินแม้แต่บาทเดียว หรือแม้กระทั่งปัญหาที่นายจ้างทำสัญญาจ้างงานกับลูกจ้าง ๒ ปี แต่เมื่อบริษัทไปไม่รอดเปิดโรงงานได้ 6 เดือนก็ปิดบริษัทหนีแรงงาน ทำให้แรงงานหลายคนเคว้ง ไม่มีคนมาเซ็นเอกสารให้ ทำให้ไม่สามารถดำเนินการทางด้านธุรกรรมอะไรได้และไม่สามารถไปหางานทำใหม่ได้

ตัวแทนแรงงานข้ามชาติยังเปิดเผยถึงปัญหาอีกว่า ไม่เฉพาะกรณีของการเดินทางออกนอกจังหวัดเท่านั้น แต่การเดินทางไปหาหมอที่โรงพยาบาลของผู้ป่วยติดเชื้อซึ่งเป็นแรงงานข้ามชาติ ยังได้รับผลกระทบต่อคำสั่งในครั้งนี้ด้วย เพราะแรงงานต้องใช้เวลานานในการตรวจเอกสารทั้งๆ ที่หนังสือทุกอย่างครบจนทำให้พลาดการรับวัคซีนหรือยาที่สำคัญไป จึงอยากให้เจ้าหน้าที่ปรับปรุงแนวทางปฏิบัติให้ถูกต้อง ชัดเจนและเป็นธรรม นอกจากนี้แล้ว แรงงานยังสะท้อนความคิดเห็นอีกว่า คำสั่งดังกล่าวนี้ เป็นคำสั่งที่บีบบังคับทางอ้อมที่สนับสนุนให้เกิดการเคลื่อนย้ายแรงงานนอกพื้นที่อย่างผิดกฎหมาย เพราะตัวกฎหมายที่ใช้บังคับเขา เคร่งครัดและไม่เป็นธรรม

นายบัณฑิต แป้นวิเศษ กรรมการเครือข่ายปฏิบัติการเพื่อแรงงานข้ามชาติ (ANM) กล่าวว่า กรณีที่รองผู้ว่าราชการจังหวัดตาก และประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดตากให้เหตุผลของการออกระเบียบและคำสั่งดังกล่าวนี้เพราะแรงงานเคลื่อนย้ายไปทำงานในพื้นที่ชั้นในที่ได้ค่าตอบแทนที่สูงกว่าจนทำให้ไม่มีแรงงานทำงานในพื้นที่นั้น ตนอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งสองฝ่ายกลับไปทบทวนว่าการจ้างงานในจังหวัดของตนเองนั้นมีสภาพอย่างไร และการจ้างงานและการจ่ายค่าแรงแรงงานนั้นเป็นไปตามที่กฏหมายกำหนดหรือไม่และนายจ้างเองได้ปฏิบัติตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานแล้วหรือยัง เพราะตนเคยได้รับเรื่องร้องเรียนจากแรงงานด้วยว่าโรงงานหรือสถานประกอบการบางแห่งยังจ้างค่าแรงให้แรงงานแค่วันละ 90-80 บาทเท่านั้น ถ้าคุณไม่ได้ดำเนินการตามสิ่งเหล่านี้อย่างถูกต้องก็ไม่ใช่ความผิดของแรงงานที่จะต้องไปแสวงหาคุณภาพชีวิตที่ดีกว่า

กรรมการเครือข่ายปฏิบัติการเพื่อแรงงานข้ามชาติ (ANM) กล่าวอีกว่า ตนไม่อยากให้การออกคำสั่งของหน่วยงานของรัฐในครั้งนี้นั้นเป็นการฟังเหตุผลจากนายทุนที่ต้องการผลประโยชน์ของตนเพียงด้านเดียว แต่ควรจะมีการฟังข้อมูลจากทุกฝ่ายให้รอบด้านก่อนที่จะมีการออกคำสั่งนี้ ตนอยากเรียกร้องให้จังหวัดตากยุติการออกคำสั่งนี้ และเปิดเวทีประชาพิจารณ์เรื่องนี้ให้รอบคอบโดยเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายทั้งตัวแทนแรงงานข้ามชาติ และภาคประชาชนเข้าร่วมแสดงความคิดเห็นในการทำประชาพิจารณ์ก่อนที่จะมีการออกคำสั่งอย่างหนึ่งอย่างใดที่จะกระทบสิทธิของทุกใยเช่นนี้ ทั้งนี้ทุกฝ่ายต้องหันกลับมาพิจาณาตัวเองให้รอบคอบก่อนที่จะมีการออกคำสั่งด้วยไม่ว่าจะเป็นนายจ้างเองที่ต้องพิจารณาตัวเองว่ายังใช้วิธีการจ้างงานด้วยการกดขี่และขุดรีดแรงงานหรือไม หรือแม้กระทั้งลูกจ้างเองก็จะต้องมานั่งพูดคุยกันว่าหากนายจ้างดำเนินการทุกอย่างอย่างถูกต้องตามกฏหมาย เขาก็ไม่สมควรที่จะหนีออกจากที่เดิมเพื่อไปทำงานที่ใหม่ ทั้งนี้หากรัฐและหน่วยงานทีเกี่ยวข้องยังดื้อดึงในการออกคำสั่งนี้อยู่จะกลายเป็นการเพิ่มความกดดันในการทำงานให้เกิดขึ้นในพื้นที่และจะเป็นการผลักให้แรงงานเข้าไปสู่กระบวนการค้ามนุษย์ และจะทำให้สถานการณ์การค้ามนุษย์ของประเทศไทยจะยิ่งล้มเหลวมากยิ่งขึ้น

ขณะที่นายสุรพงศ์ กองจันทึก ประธานคณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านชนชาติ ผู้ไร้สัญชาติ แรงงานข้ามชาติ และผู้พลัดถิ่น สภาทนายความ กล่าวว่า ตามกฎหมายแรงงานข้ามชาติที่ผ่านการพิสูจน์สัญชาติ และมีหนังสือเดินทางถือเป็น ผู้เข้าเมืองโดยชอบด้วยกฎหมาย มีสิทธิเดินทางภายในราชอาณาจักร ตามกฎหมายระยะเวลาที่วีซ่ากำหนด โดยไม่ต้องขออนุญาต ส่วนแรงงานข้ามชาติที่ได้รับการผ่อนผันจัดทำทะเบียนประวัติ (ทร.๓๘/๑) มีสถานะเป็นผู้หลบหนีเข้าเมืองผิดกฎหมาย แต่ได้รับการผ่อนผันให้อยู่ในพื้นที่ควบคุม เพื่อทำงานได้ตามระยะเวลาที่รัฐกำหนด การออกนอกพื้นที่ควบคุมต้องขออนุญาตจาก ผู้ว่าราชการจังหวัดเฉพาะ ๖ กรณี คือ ๑. เพื่อปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ ๒. เพื่อเป็นพยานศาล ๓. ได้รับหมายเรียกจากพนักงานสอบสวน ๔. มีหนังสือเรียกจากหน่วยงานของรัฐในสังกัดกระทรวงแรงงาน ๕. เพื่อรักษาพยาบาล ๖.ได้รับอนุญาตให้เปลี่ยนสถานที่ทำงาน และในส่วนกรณีของคนรับใช้ในบ้านสามารถเดินทางติดตามนายจ้างไปทำหน้าที่รับผิดชอบ ออกนอกจากจังหวัดได้โดยไม่ต้องขออนุญาต

ประธานคณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านชนชาติ ฯ กล่าวว่า หนังสือคำสั่ง และแนวปฏิบัติของจังหวัดตาก ไม่เป็นไปตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ และระเบียบ และแนวปฏิบัติของรัฐ ซึ่งมีแนวทางการดำเนินการเป็นแนวเดียวกันทั้งประเทศ จังหวัดตากไม่มีอำนาจเป็นอิสระที่จะกระทำนอกเหนือจากที่กำหนด ตนจึงอยากเรียกร้องให้จังหวัดตากยกเลิกหนังสือสั่งการ และแนวปฏิบัติที่ผิดกฎหมายทันที และปฏิบัติตามระเบียบกฎหมายที่กำหนดไว้อย่างเคร่งครัด มิฉะนั้นอาจต้องรับผิดหากมีความเสียหายเกิดขึ้น และอาจมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๕๗  ฐานเจ้าหน้าที่ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ หรือปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ นอกจากนี้แล้วยังจะเป็นส่วนที่ช่วยส่งเสริมให้กระบวนการค้ามนุษย์ในประเทศไทยพุ่งสูงขึ้นจนทำให้เราถูกกีดกันทางการค้าอย่างถาวรจากประเทศสหรัฐอเมริกาได้ อย่างไรก็ตาม ตนจะนำเรื่องนี้เข้าไปหารือกับฝ่ายกฎหมายของกระทรวงแรงงาน และเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง เพื่อหาทางออกในเรื่องนี้อย่างเป็นรูปธรรมและเป็นธรรมให้ได้โดยไว

ความเห็นของ อ.แหวว

ความเห็นในประการแรก ก็คือ หนังสือสั่งการของจังหวัดตามลงวันที่ ๓๐ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๕๕ ให้เจ้าหน้าที่ด่านตรวจห้วยหินฝน อำเภอแม่สอด ตรวจสอบเอกสารการเดินทางของแรงงานข้ามชาติที่ได้รับการผ่อนผันจัดทำทะเบียนประวัติ (ทร.๓๘/๑) และแรงงานที่ได้รับการพิสูจน์สัญชาติมีหนังสือเดินทางว่า หากจะผ่านด่านดังกล่าวจะต้องมีหนังสือรับรองการเปลี่ยนนายจ้าง หรือสถานที่ทำงานด้วย ย่อมมีผลเป็น “การสร้างเงื่อนไขในการใช้สิทธิเดินทาง” ดังนั้น ความชอบด้วยกฎหมายของหนังสือสั่งการนี้ย่อมเป็นไปตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องที่สูงกว่า ในที่นี้ ในส่วนที่เกี่ยวกับกฎหมายไทยเอง ก็คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.๒๕๕๐ และ พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.๒๕๒๒ หากผู้ใช้สิทธิเดินทางมีสถานะบุคคลเป็นคนต่างด้าว นอกจากนั้น ในส่วนที่เป็นกฎหมายระหว่างประเทศนั้น ก็คือ ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (Universal Declaration on Human Rights = UDHR) ค.ศ.๑๙๔๘/พ.ศ.๒๔๙๑ และ กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางแพ่ง/พลเมืองและทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights = ICCPR)  ค.ศ.๑๙๖๖/พ.ศ.๒๕๐๙ นอกจากนั้น หากแรงงานดังกล่าวเป็นคนที่รอการพิสูจน์สัญชาติหรือได้รับการพิสูจน์ความเป็นสัญชาติของประเทศอาเซียน หนังสือสั่งการนี้ย่อมจะต้องไม่ขัดต่อกฎบัตรอาเซียน ค.ศ.๒๐๐๗/พ.ศ.๒๕๕๐ ตลอดจนความตกลงภายใต้กรอบอาเซียน

เราพบว่า มาตรา ๔ แห่ง รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.๒๕๕๐ บัญญัติว่า “ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคของบุคคลย่อมได้รับความคุ้มครอง” ในขณะที่มาตรา ๓ แห่งรัฐธรรมนูญนี้บัญญัติว่า “การปฏิบัติหน้าที่ของรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล รวมทั้งองค์กรตามรัฐธรรมนูญและหน่วยงานของรัฐ ต้องเป็นไปตามหลักนิติธรรม” เราจึงพบต่อไปว่า มาตรา ๒๖ แห่งรัฐธรรมนูญเดียวกันนี้บัญญัติว่า “การใช้อำนาจโดยองค์กรของรัฐทุกองค์กร ต้องคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์สิทธิและเสรีภาพ ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้” และมาตรา ๒๗ แห่งรัฐธรรมนูญเดียวกันบัญญัติว่า “สิทธิและเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญนี้รับรองไว้โดยชัดแจ้ง โดยปริยายหรือโดยคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ย่อมได้รับความคุ้มครองและผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล รวมทั้งองค์กรตามรัฐธรรมนูญ และหน่วยงานของรัฐโดยตรงในการตรากฎหมาย การใช้บังคับกฎหมาย และการตีความกฎหมายทั้งปวง”

ดังนั้น ในส่วนที่เกี่ยวกับหนังสือสั่งการกำหนดเงื่อนไขในการเดินทางผ่านด่านห้วยหินฝนนี้ คำถาม ก็คือ มีเหตุผลใดที่จะต้องจำกัดเสรีภาพของ “แรงงานข้ามชาติที่ได้รับการผ่อนผันจัดทำทะเบียนประวัติ (ทร.๓๘/๑) และแรงงานที่ได้รับการพิสูจน์สัญชาติมีหนังสือเดินทาง” ? และการจำกัดเสรีภาพนี้มิได้เกิดจากเหตุผลที่มีกฎหมายรัฐธรรมนูญยอมรับ หนังสือสั่งการนี้ก็ย่อมขัดต่อกฎหมายรัฐธรรมนูญ และหากหนังสือสั่งการนี้ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิทธิในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ตลอดจนเสรีภาพของบุคคลดังกล่าว หนังสือสั่งการนี้ก็จะไม่มีผลเพียงขัดต่อกฎหมายรัฐธรรมนูญและกฎหมายลูกบทที่เกี่ยวข้อง แต่ยังมีผลต่อต่อหลักกฎหมายระหว่างประเทศที่ผูกพันประเทศไทยในเรื่องสิทธิมนุษยชนอีกด้วย

ดังนั้น เรื่องจริงที่เกิดขึ้นนี้ จึงเป็นเรื่องของการพิสูจน์ว่า ข้อนโยบายที่ออกโดยจังหวัดตากนั้น ชอบด้วยกฎหมายไทยหรือกฎหมายระหว่างประเทศหรือไม่ ? ผู้บันทึกจึงขอให้เหล่าผู้เขียนวิทยานิพนธ์หรือผู้วิจัยที่สนใจสร้างความเชี่ยวชาญด้านสิทธิในสถานะบุคคลตามกฎหมาย จึงโปรดให้ความสนใจที่ทำงานพิสูจน์ข้อนโยบายที่สร้างโดยจังหวัดตากเมื่อวันที่ ๓๐ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๕๕ ซึ่งเราควรจะมีหนังสือสั่งการตัวจริงมาศึกษากันว่า มีเนื้อหาสาระอย่างไร เป็นไปตามข่าวนี้หรือไม่

ในประการที่สอง ผู้บันทึกมีความสงสัยว่า อะไรคือนัยยะทางข้อเท็จจริงของด่านห้วยหินฝน ในทางข้อเท็จจริง การเดินทางผ่านด่านห้วยหินฝนนั้น มีนัยยะทางข้อเท็จจริงอย่างไร ? ด่านนี้เป็นด่านระหว่างพื้นที่ภายในประเทศไทย หรือเป็นด่านระหว่างพื้นที่ระหว่างประเทศไทยและประเทศพม่า ? เรื่องนี้เป็นการพิสูจน์ข้อเท็จจริงของพื้นที่ จังหวัดตากคงต้องให้เหตุผลให้ได้ว่า ทำไมจึงต้องมีการเลือกปฏิบัติในการผ่านด่านห้วยหินฝนในเรื่องของสิทธิเดินทางระหว่างคนที่ “ใช่” หรือ “มิใช่” แรงงานข้ามชาติที่ได้รับการผ่อนผันจัดทำทะเบียนประวัติ (ทร.๓๘/๑) และแรงงานที่ได้รับการพิสูจน์สัญชาติมีหนังสือเดินทาง ในข่าวที่หนังสือพิมพ์บ้านเมืองให้มา ไม่มีรายละเอียดในเรื่องนี้

ในประการที่สาม ผู้บันทึกเห็นว่า เรื่องนี้ควรได้รับความสนใจจากกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคมอย่างมาก ทั้งนี้ เพราะแรงงานที่น่าจะได้รับผลกระทบ ก็น่าจะเป็นแรงงานที่รอการพิสูจน์สัญชาติพม่า หรือแรงงานที่ได้รับการพิสูจน์สัญชาติพม่าแล้ว ซึ่งในกรณีหลัง รัฐบาลพม่าอาจใช้หลักกฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วยการให้ความคุ้มครองทางทูตที่จะคุ้มครองคนสัญชาติของตนที่ได้รับความเสียหายในประเทศไทย จึงเสี่ยงที่จะเกิดข้อพิพาทระหว่างรัฐไทยและรัฐเจ้าของสัญชาติของแรงงานนั้น และด้วยหลักกฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วยการต่างตอบแทน รัฐบาลพม่าก็อาจจะมีการกระทำอันเป็นการจำกัดเสรีภาพของคนสัญชาติไทยที่ไปเป็นแรงงานในประเทศพม่า ซึ่งในปัจจุบันก็เริ่มมีมากขึ้น ในบรรยากาศการเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศไทยอันเป็นผลมาจากการเกิดขึ้นของประชาคมอาเซียน จึงปฏิเสธมิได้ว่า หนังสือสั่งการจังหวัดตากฉบับนี้อาจกระทบต่อบรรยากาศของการแรงงานอาเซียน หากกระทรวงแรงงานฯ ไม่มีแนวคิดที่ชัดเจนในเรื่องนี้ และทำความเข้าใจกับจังหวัดต่างๆ ที่มีแรงงานอาเซียน ก็อาจมีประเด็นที่ลุกลามมากขึ้นในการเจรจาเพื่อการจัดการแรงงานอาเซียนในอนาคต

ในประการที่สี่ ผู้บันทึกเสนอให้สภาทนายความและคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติมีท่าทีเชิงรุกในการทำความเข้าใจกับจังหวัดตากสำหรับ ๒ เรื่องนี้ที่เกิดขึ้น ซึ่งอาจจะเป็นต้นแบบมีจังหวัดที่มีแนวคิดแบบเหยี่ยวที่จะมีการกระทำที่นำไปสู่การละเมิดสิทธิมนุษยชน กล่าวคือ (๑) การกระทำที่อาจเป็นการละเมิดนายเงียโจ งามยิ่ง อดีตคนไร้รัฐไร้สัญชาติที่ต่อมา ได้รับการลงรายการสัญชาติไทยและต่อมา ก็ได้รับการเลือกตั้งเป็นผู้ใหญ่บ้าน แต่ยังไม่ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้ใหญ่บ้านอย่างถูกต้องตาม พ.ร.บ.ลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ.๒๕๔๗ กรณีนี้ย่อมเป็นการละเมิดคนสัญชาติไทยเอง และ (๒) กรณีที่เกิดขึ้นจากหนังสือสั่งการที่กำลังกล่าวถึงนี้ ซึ่งน่าจะเป็นการละเมิดคนสัญชาติของประเทศอาเซียน เราคงสงสัยว่า แนวคิดระหว่างประเทศนิยมน่าจะยังไม่ปรากฏตัวในกลไกการบริหารจังหวัด โดยเฉพาะเป็นจังหวัดที่เป็นด่านหน้าของการทำงานอาเซียน

-----------

ข้อเท็จจริงจากหนังสือพิมพ์บ้านเมือง เมื่อวันที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๕ เวลา ๒๑.๑๕ น.

http://www.banmuang.co.th/2012/09/%e0%b9%81%e0%b8%a3%e0%b8%87%e0%b8%87%e0%b8%b2%e0%b8%99%e0%b8%82%e0%b9%89%e0%b8%b2%e0%b8%a1%e0%b8%8a%e0%b8%b2%e0%b8%95%e0%b8%b4/

-----------

 

หมายเลขบันทึก: 504071เขียนเมื่อ 30 กันยายน 2012 15:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 กันยายน 2012 16:22 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขอบคุณมากนะคะ ช่วยชาติ จรวจสอบ ความถูกต้อง นะคะ

ขอบคุณค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท