KM (แนวปฏิบัติ) วันละคำ : 577. คลังปัญญาปฏิบัติ


วิธีสร้างคลังปัญญาปฏิบัติ ทำได้ง่าย ด้วยการวางระบบการทำงาน โดยเฉพาะระบบการเขียนรายงาน และการใช้ระบบ ไอที สมัยใหม่

KM (แนวปฏิบัติ) วันละคำ : 577. คลังปัญญาปฏิบัติ

บันทึกนี้ ต่อจากบันทึกที่แล้ว    เป็นวิธีสั่งสม “ปัญญาปฏิบัติ” แบบง่ายๆ    ของหน่วยงานที่ทำงานแบบ “โครงการ” จำนวนมาก    โดยเฉพาะหน่วยงานที่ให้ทุนสนับสนุน

ผมสังเกตว่าหน่วยงานเหล่านี้ “นั่งทับสมบัติ” จำนวนมาก    โดยตนเองไม่ได้เอามาใช้ให้เกิดประโยชน์    หรือไม่รู้วิธีเอามาใช้ให้เกิดประโยชน์

“สมบัติ” ที่ว่านี้คือเอกสารรายงาน    โดยเฉพาะรายงานฉบับสมบูรณ์   หน่วยงาน ส. และหน่วยสนับสนุนทุนทั้งหลาย มีเอกสารรายงานต่างๆ มากมาย เป็นภาระจัดเก็บ   แต่ไม่ค่อยได้เอามาใช้   เจ้าหน้าที่ของหน่วยงานเหล่านั้นก็ไม่รู้คุณค่าของสาระภายในเอกสาร    เป็นการสูญเสียโอกาสเพิ่มพูนปัญญาแก่ตนเอง ทั้งๆ ที่โอกาสอยู่รอบตัว   ซ้ำร้ายหน่วยงานเหล่านั้น ก็พลาดโอกาสใช้ความรู้จากรายงานเหล่านั้น ให้เกิดประโยชน์ต่อการทำงานให้เกิดคุณค่าต่อบ้านเมืองมากขึ้น   ซึ่งที่จริงแล้วไม่ใช่เพิ่มเชิงปริมาณ   แต่เป็นการเพิ่มเชิงคุณภาพ หรือยกระดับขึ้นสู่การทำงานใน “ภพภูมิ” ที่สูงขึ้น (new order)

วิธีสร้างคลังปัญญาปฏิบัติ ทำได้ง่าย ด้วยการวางระบบการทำงาน โดยเฉพาะระบบการเขียนรายงาน   และการใช้ระบบ ไอที สมัยใหม่

หน่วยงานให้ทุน กำหนดเงื่อนไขวิธีเขียนรายงานฉบับสมบูรณ์ ว่านอกจากรายงานตามแบบที่ใช้อยู่เดิมแล้ว    ให้เพิ่มหมวด Knowledge Assets (KA - ความรู้ใช้งาน) ๕ ข้อ   ที่ถือว่าเป็นความรู้ใช้งานหรือปัญญาปฏิบัติที่คิดว่าเป็นประโยชน์และมีความแปลกใหม่ที่สุดเท่าที่พบจากการทำโครงการนั้น    แต่ละข้อเขียนจำกัดความยาวเพียง ๑๐ บรรทัด โดยบอกชื่อบุคคล หน่วยงาน และหมายเลขโทรศัพท์ และ อี-เมล์ สำหรับติดต่อไว้ด้วย   เพราะเมื่อมีผู้สนใจ KA นั้น จะต้องติดต่อขอข้อมูลเพิ่ม   เพราะ “ความรู้ปฏิบัติ” เขียนให้ครบถ้วนใน ๑๐ บรรทัดไม่ได้

หน่วยงานให้ทุน อาจกำหนดให้ เจ้าหน้าที่ ที่รับผิดชอบโครงการนั้น ของหน่วยงาน ต้องเขียน KA ของตน จากการทำงานร่วมกับผู้ทำโครงการ ๓ - ๕ ข้อเติมลงไปด้วย

 หน่วยงานให้ทุน กำหนดโครงสร้างของ “คลังปัญญาปฏิบัติ” ตามภารกิจหลักของหน่วยงาน    ว่ามีกี่หมวดใหญ่หมวดย่อย    แหล่งของ KA ที่เป็น input สู่คลังปัญญาฯ อยู่ที่ไหนบ้าง    และผู้ใช้เป็นใคร อยู่ที่ไหน มีพฤติกรรมการใช้คลังปัญญาฯ และการทำงานอย่างไร ฯลฯ    แล้วนำมาออกแบบ “คลังปัญญาปฏิบัติ” (Phronesis Bank) บน อินเทอร์เน็ต   เปิดให้สมาชิกใช้งาน ๒๔ ชั่วโมง x ๓๖๕ วัน   ให้เป็น “คลังปัญญาเพื่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้” (Interactive Knowledge Base)   คือยิ่งใช้ ยิ่งมีปัญญาปฏิบัติที่ลึกซึ้งเชื่อมโยงยิ่งขึ้น   เพื่อเป้าหมายการทำงานหลักของหน่วยงานที่ highly effective

หน่วยงานใดสนใจแนวทางนี้ ผมขอแนะนำให้อ่านวิธีการเพิ่มเติมจากหนังสือ No More Consultants   หรือหากยังต้องการ consultants ผมขอแนะนำ สคส.

วิจารณ์ พานิช

๒๖ ก.ย. ๕๕

   

หมายเลขบันทึก: 503910เขียนเมื่อ 29 กันยายน 2012 05:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 ตุลาคม 2012 06:19 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท