ครูเพื่อศิษย์ส่งเสริมให้ศิษย์สนุกกับการเรียน : 12. เคล็ดลับ (๒) เคล็ดลับจุดไฟแรงจูงใจ (ต่อ)


“ไม่ว่าคุณจะคิดว่าคุณสามารถทำได้ หรือคิดว่าคุณทำไม่ได้ คุณคิดถูกเสมอ”

ครูเพื่อศิษย์ส่งเสริมให้ศิษย์สนุกกับการเรียน  : 12. เคล็ดลับ  (๒) เคล็ดลับจุดไฟแรงจูงใจ (ต่อ)

บันทึกชุดนี้ ได้จากการถอดความ ตีความ และสะท้อนความคิด    จากการอ่านหนังสือ Student Engagement Techniques : A Handbook for College Faculty เขียนโดย ศาสตราจารย์ Elizabeth F. Barkley    ในตอนที่ ๑๑ - ๑๒ นี้ ได้จากบทที่ ๗ ชื่อ Tips and Strategies for Fostering Motivation

ตั้งแต่บันทึกตอนที่ ๑๑ เป็นต้นไป มาจาก Part Two – Tips and Strategies (T/S) ในหนังสือ    ซึ่งประกอบด้วย ๕ บท   แต่ละบทเป็นเคล็ดลับหนึ่งหมวด   รวมทั้ง ๕ หมวดมี ๕๐ เคล็ดลับ    ในบันทึกตอนที่ ๑๒ นี้เป็นหมวด เคล็ดลับจุดไฟแรงจูงใจ (ต่อ) เคล็ดลับที่ ๘ - ๑๓

 

คล. ๘  บูรณาการเป้ามาย กิจกรรม และการประเมิน 

หลักสำคัญคือ นศ. ต้องเห็นคุณค่าของ เป้าหมาย กิจกรรม และการประเมิน ที่จะมีผลต่อชีวิตของตน    และครูต้องจัดให้ทั้ง ๓ ส่วนนี้เชื่อมโยง และ synergy กัน   ซึ่งจะช่วยให้ทั้ง นศ. และครู ออกแรงน้อย ได้ผลมาก

เขาแนะนำโมเดลของการบูรณาการ ๓ แบบ

Backward Design    ประกอบด้วย ๓ ช่วง   ช่วงที่ ๑ ครูกำหนดสิ่งที่ นศ. ควรรู้ เข้าใจ ทำได้   โดยใช้วงกลม ๓ วงตามใน คล. ๗    ช่วงที่ ๒ ครูกำหนดหลักฐาน (evidence) ที่บอกว่า นศ. ได้บรรลุเป้าหมายแล้ว    โดยมีคำแนะนำให้ใช้คำ ๖ คำ คือ (๑) อธิบาย  (๒) ตีความ  (๓) ประยุกต์ (๔) แสดงภาพขยาย (demonstrate perspective)  (๕) แสดงอารมณ์ (empathize)  (๖) แสดงความเห็นหรือความรู้ส่วนของตนเอง (demonstrate self-knowledge)   ช่วงที่ ๓ ออกแบบกิจกรรมเพื่อการเรียนรู้ของ นศ.

Significant learning model   เป็นแนวทางออกแบบการเรียนรู้ ให้เรียนได้ลึกและเชื่อมโยง  รวม ๑๒ ขั้นตอน หรือ ๓ ช่วง ตามหนังสือ Creating Significant Learning Experiences : An Integrated Approach to Designing College Courses  ได้แก่   ช่วงแรก กำหนดองค์ประกอบ ได้แก่ เป้าหมายการเรียน,  การประเมินและ feedback, กิจกรรมการเรียนการสอน   ช่วงที่สอง  ช่วยให้ครูสำรวจว่าหลักสูตรมีความผสมกลมกลืนเป็นภาพรวมที่เข้ากันดี   ช่วงที่สาม กำหนดระบบการให้เกรด  ปัญหาที่อาจเกิดขึ้น การประเมินวิชา และแนวทางปรับปรุง

Learner-Centered Teaching  เป็นแนวทางที่ผู้เเขียนเอามาจาก Weimer และ Blumberg   เพื่อเปลี่ยนการสอนจากสอนแบบ teacher-centered  ไปเป็นแบบ learner-centered    ซึ่งในความเห็นของผม เป็นรูปแบบการเรียนรู้ที่ นศ. เป็นผู้ลงมือทำ นั่นเอง

 

คล. ๙  สร้างกิจกรรมการเรียนรู้ที่ นศ. ต้องดื่มด่ำ

นี่คือเคล็ดลับในการกระตุ้นให้ นศ. เป็นผู้ลงมือทำ (และคิด) เพื่อเรียนรู้ในมิติที่ลึกและเชื่อมโยงโดยไม่รู้ตัว    เขามีตารางให้คำแนะนำประเภทของคำถามที่กระตุ้นความคิด พร้อมตัวอย่าง ที่ผมคิดว่ามีประโยชน์มาก   จึงขอแปลถอดความมาลงไว้

 

ชนิดของคำถาม

เป้าหมาย

ตัวอย่าง

สำรวจ

ตรวจหาข้อเท็จจริงและความรู้พื้นฐาน

มีหลักฐานจากผลการวิจัย สนับสนุน .... อย่างไรบ้าง

ท้าทาย

สำรวจหาข้อสมมติฐาน  ข้อสรุป  และข้อตีความ

มีอย่างอื่นอีกบ้างไหม ที่เราควรทำ

เปรียบเทียบ

ถามเพื่อเปรียบเทียบประเด็นหลัก แนวความคิด หรือประเด็น

เปรียบเทียบระหว่าง .... กับ .... เป็นอย่างไร

วินิจฉัย

แจกแจงหาแรงกระตุ้น หรือสาเหตุ

ทำไม....

ถามหาการดำเนินการ

หาข้อสรุป หรือข้อปฏิบัติ

เพื่อสนองต่อ .... สิ่งที่.... ควรทำคือ ....

เหตุและผล

ถามความสัมพันธ์เชิงเหตุและผลระหว่างแนวความ คิด การกระทำ หรือเหตุการณ์

ถ้า .... เกิดขึ้น จะเกิดอะไรขึ้นตามมา

การขยายผล

ขยายการอภิปราย

มีแนวทาง หรือความคิด เพิ่มเติมอย่างไรบ้าง

สมมติฐาน

เสนอเปลี่ยนแปลงข้อเท็จจริง หรือประเด็น

สมมติว่า .... เกิดขึ้น  ผลจะเป็นอย่างเดิมหรือไม่

ลำดับความสำคัญ

เสาะหาประเด็นที่สำคัญที่สุด

จากที่เราหารือกันมา  เรื่องไหนสำคัญที่สุด

สรุป

ให้ข้อสังเคราะห์

เราได้ข้อสรุปอย่างไรบ้าง

ปัญหา

ท้าทาย นศ. ให้หาทางแก้ปัญหาสมมติ หรือปัญหาจริง

จะเกิดอะไรขึ้น ถ้า .... (ควรมีหลายคำตอบ)

ตีความ

ช่วยให้ นศ. เข้าใจความหมายหลายความหมาย ของแต่ละเรื่อง

จากสิ่งที่เราได้เห็น ได้ยิน หรือได้อ่าน  ตีความได้ว่าอย่างไร

ประยุกต์

ตรวจหาความสัมพันธ์ และขอให้ นศ. เชื่อมโยงทฤษฎีเข้ากับปฏิบัติ

เมื่อรู้เช่นนี้แล้ว จะทำอย่างไรต่อไป

ประเมิน

ให้ นศ. ได้ประเมินและตัดสินใจ

อันไหนดีกว่า  ข้อเปรียบเทียบนี้สำคัญอย่างไร   จะทำอะไรต่อ

ตรวจสอบความแม่นยำ

ให้ นศ. ได้ตรวจสอบความถูกต้องของถ้อยคำ ข้อโต้แย้ง และข้อสรุป   และเพื่อวิเคราะห์ความคิด และท้าทายสมมติฐานของตนเอง

เรารู้ได้อย่างไร   ข้อมูลหลักฐานเป็นอย่างไร  หลักฐานน่าเชื่อถือแค่ไหน

 

คล. ๑๐  ให้มีการแข่งขันอย่างเหมาะสม

นศ. ในปัจจุบันคุ้นกับการแข่งขัน   แต่โดยทั่วไป การแข่งขันในการเรียนมีแนวโน้มจะก่อผลลบมากกว่าผลบวกแรงจูงใจในการเรียน   ด้วยเหตุผล (๑) การตัดเกรดแบบอิงกลุ่ม เป็นการแฝงการแข่งขันอยู่แล้วในตัว   และเมื่อมีการแข่งขันอื่นๆ ในชั้นเรียน โอกาสไม่ประสบความสำเร็จจะมีสูง   ทำให้แรงจูงใจในการเรียนลดลง  (๒) การแข่งขันเบนความสนใจออกจากการใช้ความก้าวหน้าในการเรียนของตนเป็นตัวเปรียบเทียบ เพื่อสร้างแรงจูงใจในการเรียน  (๓) การแข่งขันให้ความรู้สึกถูกบังคับ โดยเฉพาะเมื่อทุกคนต้องแข่ง และกติกากำหนดโดยผู้มีอำนาจเหนือ  (๔) การแข่งขันจะช่วยเพิ่มแรงจูงใจหากทุกคนมีโอกาสชนะเท่าๆ กัน    แต่ในความเป็นจริงในชั้นมีคนเรียนเก่งเรียนอ่อนคละกัน   การแข่งขันระหว่างตัวบุคคลจึง มีผลลบมากกว่าผลบวก  (๕) การแข่งขันทำให้เกิดผู้ชนะและผู้แพ้   มีผู้แพ้มากกว่า   คนที่แพ้บ่อยๆ อาจหมดแรงจูงใจ ความมั่นใจตนเอง ความมั่นใจในคุณค่าของตนเอง    และทำให้ไม่อยากมาเรียน

เขาอ้าง Brophy และ Wlodkowski ว่า วิธีสร้างบรรยากาศแข่งขันที่ลดข้อเสีย และเพิ่มข้อดี มีดังนี้

  1. เปิดโอกาสให้เลือกเข้าแข่งขันหรือไม่เข้าแข่งขันก็ได้
  2. ทำให้เป็นการแข่งขันระหว่างทีม มากกว่าระหว่างบุคคล
  3. สร้างเงื่อนไขให้ทุกคน (ทุกทีม) มีโอกาสชนะอย่างเท่าเทียมกัน   โดยจัดทีมให้มีความสมดุลระหว่างความสามารถของแต่ละบุคคล
  4. ตระหนักอยู่ตลอดเวลาว่า เป้าหมายที่แท้จริงคือผลการเรียน  ไม่ใช่ผลการแข่งขัน  

Brophy บอกว่าการแข่งขันช่วยเพิ่มความอดทนต่อการฝึกฝน   มากกว่าคุณภาพของการคิดหรือการสร้างสรรค์   ดังนั้นเมื่อจะใช้การแข่งขันกระตุ้นแรงจูงใจในการเรียน   พึงตระหนักว่าใช้ได้ผลในการเรียนบางด้านเท่านั้น   ได้แก่ ด้านความเร็วในการดำเนินการ และด้านปริมาณผลงาน   ไม่เหมาะต่อการเรียนรู้เชิงสร้างสรรค์ ศิลปะ หรือการฝีมือ

การแข่งขันอาจสร้างความสนุกสนาน   แต่พึงระวังอย่าให้เกิดความกังวล และความรู้สึกเสียหน้า ใน นศ. บางคน

 

คล. ๑๑  คาดหวังว่า นศ. จะประสบความสำเร็จ 

วาทะอมตะของ เฮนรี่ ฟอร์ด มหาเศรษฐี อเมริกัน “ไม่ว่าคุณจะคิดว่าคุณสามารถทำได้ หรือคิดว่าคุณทำไม่ได้  คุณคิดถูกเสมอ”

หน้าที่สำคัญของครูคือ ต้องเชื่อว่า นศ. จะเรียนได้สำเร็จ    แล้วครูคอยช่วยโค้ช และช่วยเหลือให้ นศ. พยายามจนสำเร็จ     

 

คล. ๑๒  ช่วยให้ นศ. เชื่อว่าตนจะเรียนได้สำเร็จ

ครูพึงจัดระบบการเรียนที่ให้ความมั่นใจว่า นศ. จะเรียนได้สำเร็จผ่านกิจกรรมการเรียนรู้และการประเมินผล   ทีละขั้นตอน ตามที่กำหนดในรายวิชา    โดยมีการจัดระบบการเรียนที่ยากง่ายพอเหมาะ   จัดภาระงานที่ซับซ้อนเป็นชุดๆ   สื่อสารมาตรฐานการเรียนรู้ให้ชัดเจน   และจัดระบบประเมินที่ยุติธรรม   และที่สำคัญที่สุดช่วยให้ นศ. ได้เข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างความมานะพยายามในการเรียน กับผลลัพธ์ของการเรียน โดย

  1. ชี้ให้ นศ. เห็นว่า การเรียนรู้ต้องการเวลา  และความสับสน หรือผิดพลาด เป็นเส้นทางของการเรียนรู้สู่ความสำเร็จ   โดย นศ. ต้องอดทน มานะพยายาม
  2. ทำความเข้าใจกับ นศ. ว่า ความสำเร็จที่แตกต่างกัน ในการทำงานแต่ละชิ้น ขึ้นกับการสั่งสมประสบการณ์และพื้นความรู้ที่ตรงกับการใช้ทำงานชิ้นนั้น
  3. สร้างมั่นใจแก่ นศ. ว่า แม้ในวิชาที่เชื่อกันว่า ขึ้นกับขีดความสามารถในการเรียนรู้ เช่น คณิตศาสตร์ เรียงความ และศิลปะ  นศ. ก็สามารถเรียนได้ทุกคน   จงบอก นศ. ว่า หากต้องการเรียนสำเร็จ ต้องไม่ถอดใจเมื่อทำผิด
  4. หาทางให้ นศ. ได้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างความพยายามกับความสำเร็จ   โดยชี้ให้เห็นความก้าวหน้า หรือสิ่งที่ทำได้สำเร็จ และโยงให้เห็นว่าเกิดจากความพยายาม
  5. เชิญ นศ. รุ่นก่อนๆ ที่เริ่มเรียนวิชานี้แบบร่อแร่ หรือไม่สนใจ   แต่ในที่สุดประสบความสำเร็จในผลการศึกษาวิชานี้  มาเล่าประสบการณ์ของตน และแนะนำเคล็ดลับวิธีฟันฝ่า ให้แก่ นศ. ปัจจุบันที่กำลังฟันฝ่า  

หลักการคือ ใช้ความสำเร็จเล็กๆ สร้างความมั่นใจและความานะพยายาม ไปสู่ความสำเร็จทีละขั้นตอน

 

คล. ๑๓  พยายามช่วยให้ นศ. ที่ถอดใจและไม่อยากเรียน ให้เรียกกำลังใจกลับคืนมา

แม้ครูจะตั้งใจสอนและช่วยเหลือศิษย์เพียงใดก็ตาม  จะมีคนที่ถอดใจอยู่ด้วยเสมอ   คนพวกนี้เมื่อพบความล้มเหลวก็ด่วนสรุปว่าตนเองไม่มีความสามารถเพียงพอ

ผู้เขียนอ้างถึง Brophy ว่า จำแนก นศ. ถอดใจออกเป็น ๔ ประเภท  (๑) เป็น นศ. ที่ความสามารถต่ำ  และเผชิญความยากลำบากในการเรียนเรื้อรัง   จนมีความเชื่อว่าตนเรียนไม่ได้  (๒) นศ. ที่ถูกความล้มเหลวหลอกหลอน   เมื่อล้มเหลวอีกก็ถอดใจ   (๓) นศ. ที่มุ่งที่ความเก่งไม่เก่ง   ไม่มุ่งที่ผลสำเร็จของการเรียน  (๔) นศ. ที่ไม่รับผิดชอบ

Brophy แนะนำวิธีช่วยเหลือ นศ. ถอดใจ จากหลากหลายสาเหตุ ดังต่อไปนี้

  1. ทำให้กิจกรรมการเรียนรู้แบ่งออกเป็นส่วนเล็กๆ  ที่ชัดเจน  มีขั้นตอนเรียนรู้ก่อนหลังชัดเจน
  2. ให้ นศ. ได้เห็นความก้าวหน้าในการเรียนของตน   โดยเริ่มจากการวางแผนการเรียน กำหนดเป้าหมาย กำหนดทางเลือก และประเมินความก้าวหน้าด้วยตนเอง
  3. ช่วยให้ นศ. กำหนดเป้าหมายที่สมเหตุสมผล   และคอยให้กำลังใจแก่ความมานะพยายาม โดยคอยชี้ให้เห็นความก้าวหน้าเมื่อเทียบกับความรู้เดิมของตน   ไม่พยายามเปรียบเทียบกับเพื่อน
  4. จัดสาระการเรียนรู้เป็น โมดูล เพื่อเปิดโอกาสให้ นศ. ได้เรียนด้วยความเร็วที่พอเหมาะแก่ตนเอง   ตามแนวทาง “เรียนให้รู้จริง” (mastery learning)   โดยครูคอยช่วยติวตามความเหมาะสม
  5. จัด บั้ดดี้ ให้   เพื่อให้เพื่อนที่เรียนดีได้ช่วยเพื่อนที่เรียนช้า
  6. แนะนำไปเข้า โปรแกรมติว หรือกิจกรรมช่วยเหลืออื่นๆ ในแคมปัส   เพื่อพัฒนาทักษะในการเรียนรู้
  7. ช่วย นศ. ให้พิจารณาและทำความเข้าใจการเรียนของตัวเอง   ว่าสภาพห้องเรียนแบบไหนที่สบายใจในการเรียน  แบบไหนที่เครียด  เพราะอะไร   เมื่อไรต้องการความช่วยเหลือ เมื่อไรไม่จำเป็น   และให้รู้จักขอความช่วยเหลือเมื่อต้องการ
  8. ย้ำให้เข้าใจบทบาทของครู ในฐานะผู้ช่วยเหลือ นศ. ในขณะที่อยู่ในสภาพต้องใช้ความพยายาม
  9.  ให้ความเห็นอกเห็นใจ นศ. ที่มีความมุ่งมั่น   และให้กำลังใจว่าจะประสบความสำเร็จตามเป้าหมายการเรียนรู้

วิจารณ์ พานิช

๒๗ ก.ย. ๕๕

    

หมายเลขบันทึก: 503901เขียนเมื่อ 29 กันยายน 2012 04:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 กันยายน 2012 04:26 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท