ดนตรีบำบัด


เพลงบรรเลงซึ่งฟังไม่รู้เรื่อง(เพราะไม่มีเรื่องให้รู้)นี่แหละคือดนตรีที่มีประโยชน์ในเชิงบำบัดรักษา

         คำว่าดนตรีบำบัดนี้ ได้ยินคนไทยใช้หมายความได้สองอย่างคือ  ๑) การบำบัดรักษาโดยใช้ดนตรี ซึ่งตรงกับภาษาอังกฤษว่า  Music Therapy   ๒) ดนตรีที่มีคุณสมบัติในการบำบัดรักษา ซึ่งตรงกับ Therapeutic Music           

         ความหมายแรกเป็นกระบวนการใหญ่  เป็นเรื่องที่ต้องเรียนมาก จนเปิดให้เรียนเอาปริญญาได้  ส่วนความหมายที่สองหมายถึงตัวดนตรีซึ่งมีสถานะเป็นเครื่องมือของข้อ ๑  และเป็นวิชาสำหรับผู้รู้ดนตรี ทั้งทฤษฎีดนตรี  จิตวิทยาดนตรี และสามารถวิเคราะห์ดนตรีเป็นด้วย (ทั้งสามเรื่องนี้สามารถทำให้นักศึกษาดนตรีปวดหัวตัวร้อนได้บ่อยๆ)

        ดนตรีที่เป็น therapeutic music ได้ดีนั้น สรุปสั้นๆ ง่ายๆ ว่า ต้องเป็นดนตรีบรรเลง (instrumental music) ที่ฟังสบาย ให้บรรยากาศชวนผ่อนคลาย ฟังแล้วไม่ต้องมีอะไรให้คิดให้สงสัยหรือให้เครียด ผลงานที่เข้าข่ายนี้มีจำนวนมาก แต่ที่ได้รับความนิยมและคำแนะนำมากเป็นพิเศษ คือดนตรีคลาสสิก ที่เป็นผลงานของ โวล์ฟกาง อามะเดอุส โมสาร์ต (และนี่มิได้แปลว่าผลงานอื่นๆ ใช้ไม่ได้นะครับ)

       การที่นักวิชาการไม่นับเพลงขับร้องเข้าพวก เพราะเพลงร้องมี เรื่องราว อยู่ในคำร้อง ซึ่งมักจะเบี่ยงเบนการตอบสนองต่อเสียงดนตรีของผู้ฟังได้ และบางทีถึงกับสร้างกรอบความคิดและจินตนาการให้ด้วย  ดังนั้น เพลงบรรเลงซึ่งฟังแล้วไม่รู้เรื่อง (เพราะไม่มีเรื่องให้รู้) นี่แหละ คือดนตรีที่มีประโยชน์ในเชิงบำบัดรักษา ซึ่งพบได้ตามโรงพยาบาล และคลินิก ซึ่งมีผู้รู้และเข้าใจคอยดูแลเรื่องนี้  ส่วนสถานที่อื่นๆ นั้น มักขึ้นกับรสนิยมและความรู้ของเจ้าของสถานที่ เช่น ซูเปอร์มาร์เกตบางแห่งในเชียงใหม่จัดดนตรีบรรเลงสมัยบาโรกและคลาสสิกให้ลูกค้าฟังบ่อยๆ ในตอนบ่ายๆ  เป็นต้น

      สำหรับเพลงขับร้องนั้น  แม้จะด้อยกว่าดนตรีบรรเลงในเรื่องประโยชน์ด้านบำบัดรักษา แต่เพลงที่บรรลุหรือใกล้เคียงกับสังคีตศิลป์ หรือ art songs นั้นก็มีคุณค่าทางด้านสำนวนภาษา ความคิด และแรงบันดาลใจ  เพราะเพลงดีๆเหล่านี้มักมีคำร้อง (words หรือ lyrics) ที่ได้จากสำนวนภาษาและ/หรือวรรณกรรมดีๆ  ถ้ารวมกับดนตรีดีๆ ก็ย่อมเป็นผลงานที่ดีที่ควรฟัง  แต่ไม่ควรเหมาว่าเพลงขับร้องทั้งหลายเป็นดนตรีบำบัด  ถึงแม้จะร้องข้างเตียงผู้ป่วยในโรงพยาบาลก็ตาม เพราะโดยธรรมชาติ เพลงร้องจะ เล่าเรื่อง ให้ผู้ป่วยฟังโดยไม่ทราบว่าผู้ป่วยต้องการฟังหรือไม่ หรือ สมควรได้ยินหรือไม่

     เพลงขับร้องคือกิจกรรมบันเทิงซึ่งมีคุณค่าทางสังคมมิติมากกว่าด้านอื่นๆ  ประโยชน์ในเชิงบำบัดรักษาซึ่งพอจะมีบ้าง ก็มีแก่ผู้ขับร้อง (ดังได้กล่าวมาแล้วในบันทึกก่อนนี้หลายเดือน) มากกว่าแก่ผู้ฟังครับ  ดังนั้น การยกทีมคาราโอเกะไปร้องเพลงในโรงพยาบาลจึงเป็นกิจกรรมจิตอาสาตรงกับป้ายที่ขึ้นไว้  สำหรับผู้ฟังแล้วยังไม่ใช่ดนตรีบำบัดจริงๆ 

     

หมายเลขบันทึก: 503898เขียนเมื่อ 29 กันยายน 2012 00:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 กันยายน 2012 09:44 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

สวัสดีค่ะท่านสล่ากวาม

เหมาะสมแล้วที่เขียนบันทึกนี้โดย "สล่ากวาม" (สล่า แปลว่า อาจารย์ ศิลปิน หรือช่าง, กวาม แปลว่า เพลง บทกวี บทความ ฯลฯ)

กิจกรรมที่เห็นในปัจจุบัน น่าจะเข้าข่ายเพื่อมิติทางสังคม เพื่อความเพลิดเพลิน ดังท่านสล่ากวามว่าค่ะ แต่เห็นข้อดีก็คือ ทั้งผู้รับการบริการและอาสาสมัคร (ส่วนหนึ่งเป็นผู้สูงอายุที่มีเวลาและจิตอาสา) มีความสุขค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท