ปอยจ่าตี่


ปอยจ่าตี่ เจดี่ย์ทราย

         ไม่ได้นำบันทึกขึ้นมานานพอสมควรแล้ว  วันนี้จึงขอเล่าเรื่องราวของชาวไทยใหญ่ เรื่องเจดีย์ทราย  ซึ่งอาจจะไม่อินเทรนด์เพราะไม่ใช่เทศกาลที่มีการก่อเจดีย์ทรายในเวลานี้  แต่ยังไงก็ขอแก้ขัดไปก่อนละก็แล้วกัน  เดี๋ยวจะหาของที่เข้ากับเวลาทันสมัยมาเล่าสู่กันอ่าน  ขอเวลารวบรวมข้อมูลก่อน


                                                 ปอยจ่าตี่ หรือเจดีย์ทราย                                                     

ปอยจ่าตี่ หรือ ประเพณีก่อเจดีย์ทราย

 “ปอยจ่าตี่”    คืองานบูชาเจดีย์ทรายของชาวไต  (ไทยใหญ่)   จัดทำขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อบูชาพระพุทธองค์  ซึ่งเชื่อว่าถ้าได้ร่วมประเพณีนี้จะได้กุศลที่ยิ่งใหญ่  นอกจากนี้ยังเป็นการสะเดาะเคราะห์  ทำให้เคราะห์กรรมไม่ดีต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นกับตัวเราให้จางหายไป  สิ่งร้ายจะกลายเป็นดี  สิ่งที่ดีอยู่แล้วจะยิ่งดีขึ้นไปและถือเป็นพระเพณีขอฝนให้ตกต้องตามฤดูกาลอีกด้วย 

ประวัติความเป็นมาของการสร้างเจดีย์ทรายหรือจ่าตี่ทราย มีเล่าไว้หลายเรื่อง   ดังเช่น

 1. จากเอกสารของสภาวัฒนธรรม  อำเภอขุนยวย  เขียนไว้ว่า  ประวัติความเป็นมาของปอยจ่าตี่  จากหนังสือไทยใหญ่กล่าวไว้ว่า  ในสมัยพุทธกาล  มัลลกษัตริย์แห่งกรุง กุสินาราได้เรียกประชุมเสนาอำมาตย์และข้าราชบริพาร  โดยตรัสว่าปีที่ผ่านมาได้มีการจัดงานพิธีเกี่ยวกับพระศพของพระพุทธเจ้าไปแล้ว ณ สาลวันอุทยาน  ในปีนี้ควรจัดงานอะไร เพื่อรำลึกถึงพระคุณขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า  ได้มีพราหมณ์ผู้หนึ่งซึ่งเป็นโหรหลวง  ได้เสนอความคิดเห็นว่าควรให้ชาวบ้านชาวเมืองร่วมแรงร่วมใจกันก่อกองเจดีย์ทราย  ถวายเป็นพุทธบูชา  ซึ่งจะได้อานิสงส์ทั้งทางโลกและทางธรรม  คือทำให้ชีวิตอยู่เย็นเป็นสุข และได้รับบุญกุศลมากเพราะตรงกับวันประสูติ  ตรัสรู้ และปรินิพานของพระพุทธองค์  ครั้นตกลงเป็นเอกฉันท์แล้ว    มัลลกษัตริย์จึงได้บัญญัติทำเจดีย์ทรายถวายเป็นพุทธบูชาในวันเพ็ญเดือน 6 ของทุกปีตั้งแต่นั้นมา

 2. จากเอกสารหน่วยแหล่งวิทยาการ  เรื่องศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น  รวบรวมโดยนายสง่า  วงศ์สุวรรณ และคณะ  กล่าวถึงประวัติประเพณีปอยจ่าตี่ หรือเจดีย์ทรายว่า  ประวัติความเป็นมาจากหนังสือธรรมะของชาวไทยใหญ่กล่าวไว้ว่า  ในสมัยพุทธกาลมีชายคนหนึ่งทำมาหาเลี้ยงชีพด้วยความสุจริต  ประพฤติตนอยู่ในศีลธรรม  ขยันหมั่นเพียร  ทำแต่ความดีเป็นเนืองนิจจวบจนชายผู้นี้ถึงแก่กรรมลงด้วยบุญกุศลที่ได้ทำดีมาโดยตลอดจึงได้ไปเกิดในสรวงสวรรค์  เป็นเทวดาใช้ชีวิตอยู่อย่างสุขสบาย  คิดอยากได้อะไรก้นได้สมดังหวังทุกประการ  เสวยสุขอยู่เช่นนี้เป็นเวลาเกือบ 1 แสนปี ก็จะสิ้นสุดบุญ เมื่อใกล้จะตาย  ร่างของเทวดาองค์นั้นได้เปลี่ยนไปจากที่เคยเต่งตึงสวยสดงดงาม  กลายเป็นเหี่ยวแห้งไม่สดใสเหมือนเดิม  ซึ่งเป็นลางบอกเหตุว่าอายุขัยของการเป็นเทวดาใกล้จะสิ้นสุดลงแล้ว  เทวดาองค์นั้นจึงเริ่มคิดว่าจะทำอย่างไรดี  ด้วยความเป็นเทวดาที่มีหูตาทิพย์  สามารถทราบได้ว่าคุณความดีที่ทำไว้ในโลกมนุษย์ใกล้จะหมดแล้ว และจะต้องไปรับกรรมที่เคยทำไว้แต่ปางก่อนในนรกแน่นอน  จึงได้เดินทางไปพบเพื่อนเทวดาอีกองค์หนึ่งเพื่อปรึกษาหารือ  เพื่อนเทวดาก็แนะนำว่ายังมีเทวดาผู้หยั่งรู้อีกองค์หนึ่งซึ่งสามารถหยั่งรู้และมีวิธีแก้ไขต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นกับมนุษย์ เทวดา และสรรพสัตว์ทั้งหลาย ชื่อว่าพระเจ้าวิปาลี     เมื่อทราบดังนั้น  เทวดาจึงเดินทางไปพบและเล่าเรื่องให้ฟัง  พร้อมทั้งขอคำแนะนำพระเจ้า     วิปาลี เทวดาผู้หยั่งรู้ได้ฟังดังนั้นแล้วจึงหลับตาลงชั่วครู่แล้วลืมตาขึ้นแนะนำว่า  หากไม่อยากไปรับกรรมในนรกก็จงไปก่อกองเจดีย์ทรายถวายพระพุทธเจ้าที่ริมฝั่งมหาสมุทรให้ได้ถึง 500 กอง จึงจะรอดพ้นจากเหตุการณ์ดังกล่าวไปได้  เทวดาได้ฟังดังนั้นก็ดีใจมากและรีบจะไปทำตามคำบอกทุกประการ   เวลาผ่านไปจนเหลือ 7 วัน  เทวดาองค์นั้นก็จะสิ้นบุญ  จึงได้เดินทางไปที่หาดทรายริมฝั่งมหาสมุทร  และลงมือก่อสร้างเจดีย์ทรายแดพระพุทธองค์เพื่อสะเดาะเคราะห์  เมื่อก่อเจดีย์ทรายไป พอจะครบ 500 กอง ก็มีลมพายุและคลื่นมาพัดเอาเจดีย์ทรายเหล่านั้นพังทลายหายไป  ในแต่ละวันเหตุการณ์ก็เป็นเช่นนั้นทุกครั้ง  จวบจนครบ 7 วัน  ยมฑูตก็ขึ้นมาจากนรกเพื่อรับเอาตัวเทวดาซึ่งสิ้นบุญลงไปใช้กรรมในนรก   เมื่อยมฑูตปรากฏขึ้นก็ได้แจ้งเรื่องแก่เทวดา  ฝ่ายเทวดาก็ยินดีจะไปรับกรรมดังกล่าว  แต่ได้ขอร้องยมฑูตว่าขอให้รอไว้ก่อนจนกว่าตนจะก่อสร้างเจดีย์ทราย 500 กองครบเสียก่อน  ยมฑูตก็ตกลงตามคำขอ   เทวดาจึงลงมือก่อกองเจดีย์ทรายต่อไป  แต่ก็มีลมพายุและคลื่นมาพัดเอาเจดีย์ทรายละลายหายไปครั้งแล้วครั้งเล่าจนยมฑูตรอไม่ไหวจึงกลับไปเมืองนรก  ฝ่ายเทวดาไม่ลดความพยายามได้ก่อเจดีย์ทรายจนครบ 500 กอง  ได้ในวันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำ  เดือน 6 ซึ่งเป็นวันวิสาขบูชา  ด้วยผลบุญดังกล่าว จึงทำให้เทวดาองค์นั้นพ้นจากเคราะห์กรรม  แลได้เสวยสุขอยู่ในสรวงสวรรค์ต่อไป  จากเรื่องราวดังกล่าวนี้ ทำให้ชาวไทยใหญ่นิยมจัดงาน “ปอยจ่าตี่” ก่อกองเจดีย์ทรายเพื่อบูชาพระพุทธองค์กันทุกหมู่บ้านในช่วงเดือน 6 ของทุกปี

 3.  จากเอกสารโรเนียวเย็บเล่มภาษาไต ชื่อ “หย่าสี่สองเหลินคำ”  เขียนโดยเจเรแสงเฮิง บ้านแม่สาว อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่  กล่าวว่าเดือน 5 เป็นวาระการเปลี่ยนศักราช เนื่องจากธิดาท้าวมหาพรหมเปลี่ยนวาระอุ้มเศียรบิดาไว้ในแต่ละปี ตามตำนานเล่าว่า หลังจากเกิดโลกาวินาศไฟประลัยกัลป์ล้างโลก  น้ำท่วมโลก แล้วมีดอกบัว 5 ดอก ผุดขึ้นที่กลางสระใหญ่เป็นจุดเริ่มต้นของภัทรกัลป์นี้ ในกัลป์นี้มีพระพุทธเจ้ามาตรัสรู้ 5 พระองค์และในดอกบัว 5 ดอก มีจีวร 5 ชุด พระพรหมได้ลงมาอัญเชิญจีวรทั้ง 5 ชุดขึ้นไปไว้ในพรหมโลก  เมื่อถึงเวลาที่พระพุทธเจ้าแต่ละองค์มาตรัสรู้ ท้าวมหาพรหมและคณะจะนำผ้าจีวรลงมาถวายตามลำดับ  และขณะนี้พระพุทธเจ้าตรัสรู้ไปแล้ว 4 พระองค์ คือ พระศรีอาริยเมตไตย ซึ่งมาตรัสรู้ต่อจากยุคพระโคดมพุทธเจ้า บรรดาพระพรหมที่ลงมาในมนุษย์โลกมาได้สูดกลิ่นดินหอมแล้ว เกิดความพอใจพากันขุดมาชิมดู หลังจากชิมดินหอมแล้ว ทำให้วิชาญาณ(เหาะเหินเดินอากาศ)เสื่อมไม่สามารถเหาะกลับไปสู่พรหมโลกได้ จึงอาศัยอยู่ในมนุษย์โลกต่อมาจนถึงปัจจุบัน เหล่าพรหมและเทวดาได้ประชุมปรึกษาเรื่องวิธีการกำหนดราศีฤดูกาล  และพิจารณาหาผู้ที่มีความสามารถกำหนดราศีฤดูกาลได้ ซึ่งท้าวมหาพรหมได้รับอาสาเป็นผู้จัดทำ พร้อมกับสัญญาว่าหากไม่สามารถทำให้สำเร็จก็จะให้ศีรษะเป็นประกัน ต่อมาเมื่อไม่สามารถกำหนดราศีฤดูกาลให้ดีทัดเทียมกันได้พระอินทร์จึงขอให้ศาสดาพยากรณ์  (งะพอหมอกยาม) กำหนดฤดูกาลเป็นฤดูร้อน ฝน หนาว  ซึ่งเป็นฤดูกาลตราบจนถึงปัจจุบัน  พระอินทร์จึงบอกธิดาทั้ง 7 ของท้าวมหาพรหมว่า ใครสามารถตัดศีรษะของท้าวมหาพรหมได้จะอภิเษกยกขึ้นเป็นอัครมเหสี ธิดา 6 องค์ไม่สามารถทำได้ แต่ธิดาองค์สุดท้าย(วันเสาร์) ได้ใช้เส้นผมขึงกับโครงไม้ ทำเป็นเลื่อยใช้เลื่อยคอของท้าวมหาพรหมจนขาด พอขาดแล้วนำไปไว้ที่ไหนก็ไม่ได้ ไว้ในน้ำก็น้ำจะแห้ง ไว้บนบกก็เกิดไฟไหม้ จำเป็นที่ธิดาทั้ง 7 จะต้องผลัดเปลี่ยนกันทูนศีรษะของบิดาไว้คนละ 1 ปี  หมุนเวียนกันไว้คนละ 1 ปี หมุนเวียนกันไปตลอดกาล พอถึงเดือน 5 ของแต่ละปีก็จะเปลี่ยนกันครั้งหนึ่ง  ธิดาองค์ที่หมดภารกิจก็จะถือโอกาส ล้างมือ อาบน้ำ ซักผ้า สระผม ให้สดชื่น  หลังจากที่รับภารกิจมานานเป็นเวลาแรมปี ด้วยเหตุนี้จึงถือเป็นประเพณีว่า พอถึงเดือน 5 เปลี่ยนศักราชใหม่ จะพากันอาบน้ำชำระร่างกาย สระผม ปัดกวาดทำความสะอาดบ้านเรือน  ในโอกาสขึ้นปีใหม่ให้เป็นกรณีพิเศษ  สำหรับตัวท้าวมหาพรหมนั้น พระอินทร์ได้ทูลถามมารดาของท้าวมหาพรหมว่า จะสามารถหาศีรษะของใครมาต่อแทนได้ มารดาตอบว่าศีรษะของใครอะไรก็ได้ที่นอนหันหัวไปทางทิศเหนือ พระพรหมาและเทวดาทั้งหลายจึงพากันลงมายังโลกมนุษย์ และได้พบช้างตัวหนึ่งกำลังนอนหันหัวไปทางทิศเหนือ จึงตัดหัวช้างนั้นนำไปต่อกับตัวของท้าวมหาพรหม  ทำให้ท้าวมหาพรหมฟื้นคืนชีพและได้รับขนานนามว่า  “ มหาปิงแน่” (พระพิฆเนศ)  ส่วนตัวช้างก็ได้นำฟืนมาก่อกองไฟสุมฌาปนกิจจนเสร็จกิจ  เหล่าพระพรหมและเทวดาทั้งหลายได้ประชุมปรึกษากันว่า บาปที่ตัดเศียรพระมหาพรหมนี้จะตกแก่ใคร พระอินทร์ตอบว่า ตกแก่ชาวเมืองทั้งหลาย เพราะชาวเมืองอยู่ใต้อิทธิพลของดวงดาวชะตาราศีฤดูกาลและถามต่อไปว่า หากต้องไถ่บาปจะต้องทำอย่างไรบ้าง พระอินทร์ตอบว่า ต้องพากันก่อเจดีย์ทราย ถวายน้ำ ถวายดอกไม้ สรงน้ำพระพุทธรูป และพระสงฆ์ให้ทำขนมไปทำบุญ ผู้เฒ่าผู้แก่และพระสงฆ์ผู้ทรงศีล อธิษฐานขอให้พ้นจากบาปและได้รับความสุขความเจริญยิ่ง ๆ ขึ้นไป จึงเกิดมีประเพณีรดน้ำดำหัว คารวะผูเฒ่าผู้แก่ ทำขนมประเพณีแจกจ่ายและถวายพระสงฆ์สืบกันมาจนทุกวันนี้

 การจัดงานปอยจ่าตี่  จะเริ่มก่อนวันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำ  เดือน 6  ประมาณ 7 –10 วัน  โดยแต่ละหมู่บ้านจะจัดคนออกป่าวประกาศไปตามบ้านเรือนต่างๆ  ให้ทราบถึงกำหนดจัดงาน

เพื่อให้ชาวบ้านตระเตรียมเครื่องบูชาต่างๆ และปัจจัยที่จะถวายวัด  รวมทั้งช่วยกันขนทรายเข้าวัด   การก่อกองเจดีย์ทายนั้นจะเริ่มจากการเอาไม้กระดานมาทำเป็นกรอบสี่เหลี่ยม ชั้นล่างสุดจะกว้าง ชั้นบนขึ้นมาจะแคบลงตามส่วน  ทำเก้าชั้นส่วนยอดสวมด้วยฉัตร  การเททรายลงใส่กรอบสี่เหลี่ยมทั้ง 9 ชั้น  ถือตามฤกษ์ชะตาร้อยแปด  ดังนี้

  ทิศเหนือ    12 กระป๋อง
  ทิศตะวันออกเฉียงเหนือ    6 กระป๋อง
  ทิศตะวันออก    15 กระป๋อง
  ทิศตะวันออกเฉียงใต้    8 กระป๋อง
  ทิศใต้    17 กระป๋อง
  ทิศตะวันตกเฉียงใต้   10 กระป๋อง
  ทิศตะวันตก    19 กระป๋อง
  ตะวันตกเฉียงเหนือ   12 กระป๋อง

           เมื่อเททรายลงในกรอบเจดีย์ทั้งสี่ด้านครบทั้ง  108  กระป๋องแล้ว  จึงให้เทลงใปตรงกลางกรอบสี่เหลี่ยมตามจำนวนอายุของบุคคลนั้นๆ


 เครื่องบูชาประกอบด้วย

 1. ทราย  ซึ่งหมายถึงธาตุดิน  20 ส่วน  บูชาโดยเอาใส่กระบอกไม้ไผ่ 20 กระบอก
 2. น้ำ  หมายถึงธาตุน้ำ  12 ส่วน  บูชาโดยใส่กระบอกจำนวน 12 กระบอก
 3. พัด  หมายถึงธาตุลม  บูชาโดยใส่กระบอกจำนวน 6 ด้าม
 4. อื่นๆ  เช่นดอกไม้  ธูป  เทียน  ตุง  กระทง  ฉัตร  ธงทิว  สายรุ้งหลากสี  ใช้ประดับเจดีย์ทรายให้สวยงาม

 ก่อนวันงาน 3 – 7 วัน  ชาวบ้านและศรัทธาวัดจะช่วยกันขนทรายมาที่วัดทุกวัน  โดยจะใช้เวลาในตอนเย็น  โดยขนทรายมากองไว้ยังที่ๆ ทางวัดจัดเตรียมไว้  จนพอเพียงที่จะก่อเจดีย์ทรายได้  ชาวบ้านบางส่วนก็จะช่วยกันทำพัด  ตัดกระดาษทำตุง  ธงทิว  กระบอกน้ำ  กระบอกทราย  สานผาหลาดสะมาด (ราชวัตร) และที่สำหรับวางข้าวซอมต่อ  ทั้งนี้จะมีการทำอาหารเลี้ยงผู้ที่มาช่วยเตรียมงานด้วย

 พอขึ้น 14 ค่ำ  เดือน 6 เป็นวันสุดท้ายของการขนทรายเข้าวัด  คณะศรัทธาวัดจะช่วยกันตกแต่งองค์เจดีย์ทราย  ประดับธงทิว  ตุง  ฉัตร  สายรุ้ง  ดอกไม้นานาชนิด  บริเวณรอบๆ เจดีย๋กั้นด้วยผาหลาดสะมาด (ราชวัตร) ทั้งสี่ด้าน  เจาะประตูเข้าด้านหนึ่ง  ยามค่ำคืนจุดประทีปโคมไฟสว่างไสวในตอนเย็นของวันนี้  ทางวัดจะจัดเตรียมการต่างซอมต่อโหลง  หรือถวายข้าวมธุปายาสด้วย  โดยจะมีหนุ่มสาวผู้เฒ่าผู้แก่แต่งกายด้วยชุดไตหลากหลายสีสวยงามเดินทางมุ่งสู่วัดนำขนมนมเนย  ผลไม้ต่างๆ กล้วย  อ้อย  ข้าวสาร  อาหารแห้ง  ดอกไม้  ธูปเทียน  มาถวายที่วัด  ซึ่งจะมีคณะศรัทธาคอยรับและช่วยเหลือกันนำสิ่งของอาหารเหล่านี้ไปจัดสำรับ  และเตรียมถวายเป็นข้าวมธุปายาสในวันรุ่งขึ้น
 
 พอถึงวันขึ้น 15 ค่ำ  เดือน 6 เช้าตรู่จะมีพิธีต่างซอมต่อโหลง  โดยนำซอมต่อ หรือกระทงข้าวไปถวายที่เจดีย์ทราย  พอสายมีการถ่อมลีก  ถวายภัตตาหารเพลแด่พระสงฆ์
และเลี้ยงอาหารผู้ที่มาร่วมงาน  ทั้งนี้ตอนบ่ายจะมีการทำบ้องไฟมาจุดเป็นพุทธบูชาเพื่อให้ฝนฟ้าตกต้องตามฤดูกาล
 

หมายเลขบันทึก: 50371เขียนเมื่อ 16 กันยายน 2006 15:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:33 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

ขอบคุณค่ะ   อ่านเสียหอบเลยค่ะ   แสดงว่าแก่มากแล้ว ต้องเจียมตัว

   อาจารย์หายไปนานเลยค่ะ   สัปดาห์หน้า ดร.เลขาและดร.กุญชรีจะมาเยี่ยมค่ะ

แสดงว่าท่านผอ.สง่า ท่านเป็นผู้อนุรักษ์วัฒนธรรมดังเดิมของชาวเมืองปอนไว้อย่างดี น่ายกย่อง เพราะปัจจุบันเรามักจะลืมรากเง่าของตัวเอง แล้วหันไปไขว้ขว้าเอากิ่งก้านสาขามาเป็นเอกลักษณ์ โดยไม่สนใจแก่นแท้ของรากเง่านั้น หรือขว้าเอากิ่งก้านมาก็เอามาแต่เีพียงเปลือก ดี

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท