No.21 Listening to the Volcano สดับเสียงภูเขาไฟ (Dialogue & Conversation)


การสร้างองค์แห่งการเรียนรู้จะไม่สามารถเกิดขึ้นได้เลย ถ้าไม่ผ่านขบวนการสนทนากันอย่างลึกซึ้ง "สุนทรียสนทนา"(Dialogue)

                       

                            

 

                     Listening to the Volcano: สดับเสียงภูเขาไฟ

            (Dialogue & Conversation: ไดอะล็อกและการสนทนา)

 

       การพัฒนาตนเอง พัฒนาองค์กร ผ่านรูปแบบความคิด ผ่านการคิดเชิงระบบ ผ่านการเรียนรู้ร่วมกันเป็นทีม จะเป็นได้ยากลำบากมาก ถ้าเราไม่สามารถสื่อสารอย่างลึกซึ้งกับผู้คนรอบข้างเราได้

 

        การสื่อสารให้เข้าใจอย่างลึกซึ้งนั้น มีความสำคัญมากจริงๆ ยิ่งกว่าเนื้อหาที่เราสื่อสารเสียอีก เพียงแค่เปลี่ยนวิธีฟังวิธีพูด เราก็สามารถสร้างความหมายร่วมกัน สร้างโอกาสใหม่ๆ และดำเนินงานประสานกันได้อย่างดีทีเดียว

 

        การสนทนาที่มีความหมายนั้น ไม่ใช่กิจกรรมที่ทำกันเล่นๆชั่วครั้งชั่วคราว หากแต่เป็นวินัยที่เป็นหัวใจของภาวะผู้นำและการเรียนรู้ ด้วยการจัดให้มีการสนทนาอย่างมีความหมาย ที่ฝึกปฏิบัติจนเป็นเรื่องปกติในที่ทำงาน จะทำให้เราสามารถแก้ไขปัญหาและตัดสินใจได้อย่างมีประสิทธิผลมากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงวิกฤต

 

        การสนทนากันในองค์กรจะมีอยู่ 2 รูปแบบใหญ่ๆ อันได้แก่

 

           1. การอภิปรายหรือปรึกษาหารือ (Discussion) เป็นการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ที่ต่างคนต่างพูดในมุมมองของตัวเอง โต้กันไปโต้กันมา แม้ว่าจะมีประโยชน์ แต่ก็ไม่ค่อยได้สร้างอะไรใหม่ๆ เพียงแต่จัดการเปลี่ยนแปลงรูปแบบทางเลือก ตามที่มีอยู่เดิมเหมือนภาชนะที่ปิด

           2. ไดอะล็อก (Dialogue) เป็นการสนทนาที่เปิดใจ รับความเป็นไปได้ใหม่ๆ เป็นขบวนการเปิดไหลลื่น ซึ่งทุกฝ่ายมารวมกัน ไม่ใช่ในฐานะฝ่ายตรงข้าม หลอมรวม เชื่อมโยง เรียนรู้ แลกเปลี่ยน และแบ่งปัน   

 

           การสร้างขบวนการสนทนาเพื่อความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง หรือที่เราเรียกว่า “ไดอะล็อก” นี้ ไม่ใช่วินัยทีฝึกฝนกันอย่างง่ายๆแบบไม่เป็นทางการ แต่จำเป็นต้องมีวัฒนธรรมเชิงองค์กรที่หล่อหลอม ความไว้วางใจ สร้าง พื้นที่ปลอดภัย สามารถเปิดเผยความในใจออกมาได้

 

           ไดอะล็อกที่องค์กรนำมาใช้จะมี 2 แนวทาง

 

           แนวทางที่ 1 ไดอะล็อกที่มีหัวข้อเฉพาะเจาะจง(Productive Dialogue) โดยมีจุดประสงค์สูงสุดในการตัดสินใจ ในเรื่องทีี่มีความสำคัญสูง  

           แนวทางที่ 2  ไดอะล็อกที่ไม่มีหัวข้อตายตัว(Pure Dialogue) โดยเน้นที่การค้นพบและสำรวจความหมาย เพื่อทำให้เกิดความเข้าใจที่ลึกซึ้ง และแบ่งปันร่วมกัน

 

           หลักการของไดอะล็อกมีอยู่ด้วยกัน 4 ข้อ คือ

  1. การเคารพ (Respecting): เคารพและยอมรับในความเท่าเทียมกันของความรู้สึกนึกคิด ในฐานะที่เป็นมนุษย์เหมือนกัน
  2. การฟังอย่างลึกซึ้ง (Deep listening): ฟังว่าเขากำลังจะบอกอะไรกับเรา ฟังเหมือนเข้าไปนั่งอยู่ในใจเขา 
  3. การไม่ตัดสิน (Suspending): ฟังอย่างเดียว ห้อยแขวน ไม่ตัดสินอะไรจากการได้ยินนั้นทั้งสิ้น
  4. เสียงจากภายใน (Inner voicing): เผยเสียงภายในหัวใจเราออกมาบ้างเมื่อถึงคราวที่เราต้องพูด ไม่ต้องดูดี แต่จริงใจ เพราะมันออกมาจากหัวใจ มิใช่สมอง

    

       นิทานเรื่องนี้นำเสนอได้สนุกมาก เป็นเรื่องของชุมชนในหมู่บ้านต้นสน ที่ภูมิประเทศตั้งอยู่ปลายเนินภูเขาไฟดิสคอร์เดียที่ยังไม่ดับสนิท ล้อมรอบด้วยเหวลึกอยู่ทุกด้าน

 

       สถานการณ์อยู่กันอย่างปกติจนเมื่อ ภูเขาไฟดิสคอร์เดียเริ่มระเบิดประทุขึ้น ทุกคนต่างถกเถียง อภิปราย ทะเลาะเบาะแวงกัน ว่าจะแก้ไขปัญหายังไงดี สถานการณ์ดูจะเลวร้ายขึ้นทุกที

 

       ไมโล สาวน้อยผู้สังเกตเห็นการโต้เถียงที่กำลังก่อตัวเป็นกำแพงใหญ่ขึ้น และไม่มีทีท่าที่จะเเก้ปัญหาเรื่องภูเขาไฟประทุขึ้นมาได้ เธอได้ชักชวนคนในชุมชน ร่วมกันสร้างพื้นที่ปลอดภัย และไว้วางใจกัน ทุกคนยอมรับและกล้าที่จะเเสดงความคิดเห็นออกมา ซึ่งความคิดเห็นที่เปิดไหลลื่นออกมาจากสมองความคิดที่เป็นอิสระนี่เอง ที่ได้ช่วยให้ชุมชนหมู่บ้านต้นสน หนีรอดออกมาได้จากการระเบิดของภูเขาไฟ แล้วการสร้างพื้นที่ปลอดภัย ไว้วางใจ เพื่อสร้างวงไดอะล็อก ก็กำลังก่อตัวเกิดขึ้นอีกณหมู่บ้านต้นสนแห่นี้

คำสำคัญ (Tags): #dialogue
หมายเลขบันทึก: 503593เขียนเมื่อ 26 กันยายน 2012 16:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 26 กันยายน 2012 16:34 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท