CLMV (Combodia-Laos-Myanmar-Vietnam) สายสัมพันธ์ยาวนานในแผ่นดิน “สุวรรณภูมิ”


ความทรงจำและประวัติศาสตร์ของแต่ละประเทศที่เขียนขึ้นตามหลักฐานเท่าที่มี มุ่งเน้นประเด็นการเปลี่ยนผ่านอันยาวนานแบบออกจากศูนย์กลางของแต่ละประเทศโดยผ่านนโยบายการสร้างชาติของประเทศนั้นๆ ทำให้เกิดบทพระเอกและผู้ร้ายที่ส่วนหนึ่งเป็นประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคเดียวกันผ่านประวัติศาสตร์ในแบบเรียนและคำบอกเล่าของคนเฒ่าคนแก่จนเกิดเป็นประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของแต่ละประเทศ

การเปิดเสรีของภูมิภาคอาเซียนส่งผลให้หน่วยงานภาครัฐและเอกชนตื่นตัวในการให้ความรู้กับภาคประชาชนในแง่มุมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับงานของตัวเองมากขึ้น กระทรวงพาณิชย์ดูจะเป็นแม่ทัพใหญ่งบเยอะในการประชาสัมพันธ์เสาด้านเศรษฐกิจหรือที่เรียกว่า AEC (ASEAN Economic Community) เทงบไปกับงานเสวนาและอีเว้นท์ AEC ต่อเนื่อง จนคนไทยส่วนใหญ่เลยท่องจำประชาคมอาเซียนที่จะเปิดขึ้นอย่างสมบูรณ์ในปี 2015 ว่า AEC ไปโดยอัตโนมัติ ทั้งที่ความจริงแล้วประชาคมอาเซียนยังมีเสาหลักที่สำคัญอีก 2 เสาที่จะประกอบขึ้นเป็นประชาคมในปี 2015 นั่นคือ เสาด้านการเมืองและความมั่นคง และเสาด้านสังคมและวัฒนธรรม แต่ถ้าพูดกันถึงเสาการเมืองและความมั่นคงแล้วคงห่างไกลประชาชนอย่างเราๆ ไปมาก จึงอยากคุยเรื่องเสาสังคมและวัฒนธรรมที่เป็นองค์ประกอบที่สำคัญอันหนึ่งในการรวมกันของวัฒนธรรมที่คล้าย แต่แตกต่างของเราชาวอาเซียนค่ะ

พูดถึงเสาสังคมและวัฒนธรรมให้เข้าใจง่ายแล้ว อยากแบ่งอาเซียนแบบหยาบๆ เป็น 2 ส่วน คือ ส่วนของ Upper ASEAN 5 ประเทศที่ประเทศไทยรวมอยู่บนพื้นแผ่นดินแผ่นเดียวกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างพม่า ลาว กัมพูชาและเวียตนาม และส่วนของ Lower ASEAN ที่มีอาณาเขตร่วมกันด้วยพื้นทะเลกว้างใหญ่ของมหาสมุทรแปซิฟิกอย่างสิงคโปร์ มาเลเซีย บรูไน อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ โดยส่วนที่สัมพันธ์กับประเทศไทยโดยตรงคือส่วนของอาเซียนบนพื้นแผ่นดิน คือ Upper ASEAN ประเทศไทยเราอยู่บนพื้นแผ่นดินผืนใหญ่ที่เรียกว่า “สุวรรณภูมิ” อันอุดมสมบูรณ์มีรากฐานทางประวัติศาสตร์ยาวนานมาร่วมกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างลาว พม่า กัมพูชา และเวียตนาม ประวัติศาสตร์สังคมและวัฒนธรรมในยุคก่อนจะแบ่งเส้นเขตแดนเป็นแต่ละประเทศชัดเจนอย่างปัจจุบันนั้นดูสวยงาม มีน้ำใจ ถ้อยทีถ้อยอาศัยท่ามกลางชนพื้นเมืองที่หลากหลายทั้งชาติพันธุ์และภาษาที่จะสื่อสาร ทั้งที่ไม่ได้กำหนดเป็นภาษาอังกฤษชัดเจนเหมือนในปัจจุบันแต่คนสุวรรณภูมิก็สามารถสื่อสาร ค้าขาย แลกเปลี่ยนขนบธรรมเนียมประเพณี และวัฒนธรรมระหว่างกันในแผ่นดินสุวรรณภูมินี้ได้อย่างน่าทึ่ง แต่ในขณะปัจจุบันที่เส้นเขตแดนชัดเจนขึ้น ความทรงจำและประวัติศาสตร์ของแต่ละประเทศที่เขียนขึ้นตามหลักฐานเท่าที่มี มุ่งเน้นประเด็นการเปลี่ยนผ่านอันยาวนานแบบออกจากศูนย์กลางของแต่ละประเทศโดยผ่านนโยบายการสร้างชาติของประเทศนั้นๆ ทำให้เกิดบทพระเอกและผู้ร้ายที่ส่วนหนึ่งเป็นประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคเดียวกันผ่านประวัติศาสตร์ในแบบเรียนและคำบอกเล่าของคนเฒ่าคนแก่จนเกิดเป็นประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของแต่ละประเทศ และโดยการสื่อสารผ่านสื่อที่เลือกเฉพาะในประเด็นที่เป็นที่สนใจแล้ว ทำให้ความสัมพันธ์อันลึกซึ้งที่ผ่านมาของคนในพื้นแผ่นดินเดียวกันในปัจจุบัน กลายเป็นสนิทในเบื้องหน้าและคลางแคลงใจในเบื้องหลังกันอยู่เสมอ ทั้งที่ประเทศต่างมีรากและที่ไปที่มาของภาษา สังคมและวัฒนธรรมแทบจะเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น เราก็ยังสามารถค้นพบความสัมพันธ์ลึกซึ้งของคนสุวรรณภูมิดั้งเดิมได้ในพื้นที่อีกหลายแห่งรอบๆ ของแต่ประเทศ ตามพื้นที่ชายแดน ด่านที่เปิดทั้งเป็นด่านทางการหรือด่านชั่วคราวที่มีการซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้าหรือบริการข้ามแดนกันอยู่ตลอด ไม่ว่ารัฐบาลส่วนกลางของแต่ละประเทศจะมีท่าทีอย่างไรต่อกัน ประชาชนในพื้นที่ที่เคยเป็นเพื่อน คู่ค้าหรือญาติต่างถิ่นต่างภาษาก็ยังคงไปมาหาสู่ คบค้าและรักใคร่กันเหมือนเช่นเดิม

หลายคนรวมทั้งผู้เขียนคงมีความหวังให้การเคลื่อนย้ายเสรีทั้งคนและอื่นๆ ที่จะเกิดขึ้นหลังการรวมตัวของประชาคมอาเซียนในครั้งนี้จะนำภาพอันอบอุ่นที่เคยเกิดขึ้นเหมือนคราวแผ่นดินสุวรรณภูมิกลับมาอีกครั้ง

หมายเลขบันทึก: 503591เขียนเมื่อ 26 กันยายน 2012 16:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 26 กันยายน 2012 16:16 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท