สถาบันพัฒนานักบริหารงานทางสังคม


 

          สสส. จัดตั้งแผนงาน โครงการจัดตั้งสถาบันนักบริหารงานทางสังคม    ผมมีโอกาสเป็นกรรมการกำกับทิศของโครงการ    ทำให้ได้มีโอกาสเรียนรู้เรื่อง social enterprise และเรื่อง Social Enterprise Academy ที่กำลังเป็นแฟชั่นในโลกอยู่ในขณะนี้   อ่านได้ที่ , และเว็บไซต์อื่นๆ อีกมากมาย    อ่านเว็บไซต์เหล่านี้แล้ว ผมนึกถึงเมื่อ ๑๐ ปีก่อนที่ผมเริ่มทำงานเรื่อง KM    ตอนนั้น KM ก็กำลังเป็นแฟชั่นเหมือน SE กำลังเป็นแฟชั่นอยู่ในขณะนี้

 

          ผมเดาว่าสิ่งที่เป็นแฟชั่นทั้งหลายมีธรรมชาติเหมือนกันหมด คือมีคนตามแห่มาก และเข้าป่าเข้าดงหลงทางไปก็จะมากด้วย

 

          เมื่อเรื่องใดเป็นแฟชั่น ก็จะมีผู้ตั้งหน่วยงานหรือสถาบันขึ้นมาทำมาหากินกับการจัดอบรม หรือทำงานพัฒนาเรื่องนั้นๆ   เช่นสถาบันพัฒนานักบริหารงานทางสังคมตามลิ้งค์ทั้งสอง  

 

          และเมื่อเข้าเว็บที่ ๒ ผมก็ชะงัก ที่เห็นรูปการอบรมเป็น classroom หราอยู่   แถมยังบอกด้วยว่า "ASE creates training and mentoring programs”ที่ชะงักก็เพราะผมไม่เชื่อไม่ศรัทธาในการพัฒนาแบบเน้น training   ผมเชื่อใน learning มากกว่า

 

          ดังนั้น ผมจึงแนะนำ สคส. ผู้ได้รับมอบจาก สสส. ให้ดำเนินการโครงการจัดตั้งสถาบันนักบริหารงานทางสังคม ว่า    ควรพิจารณาสัดส่วนระหว่าง Learning Mode : Training Mode ให้ดี    และควรพิจารณาลักษณะของบุคคลที่ สสส. ส่งมาเข้ากระบวนการด้วย   ว่ามีธรรมชาติเป็นคนแบบไหน   น่าจะแบ่งกลุ่มคนที่ชอบ Learning Mode   กับกลุ่มคนที่ชอบ Training Mode โดยต้องทำความเข้าใจกับทาง สสส. และคณะกรรมการกำกับทิศว่า   หากเขาส่งเต่ามาให้เราฝึกบิน แล้วเรารับ เขาก็ไม่ควรเลือกเราให้รับทำงานนี้  เพราะเราโง่เกินไป

 

          ทำให้ผมนึกต่อได้ว่า    ต้องพัฒนาตัววัดทักษะที่จำเป็นสำหรับตรวจสอบขีดความสามารถได้ด้วยตนเอง    และมีตัววัด ๒ ชุด   คือชุดสำหรับระดับ manager   กับระดับ worker โดยต้องย้ำว่าเป็นการวัดทักษะ  คือวัดว่าทำได้ ทำได้ผลจริง    ไม่ใช่วัดความรู้    นี่คือวิธีการแก้ปัญหากรณีส่งเต่ามาฝึกบิน   เราก็จัดตัวชี้วัดสำหรับเต่า

 

          ตัวชี้วัดนี้ ควรค่อยๆ พัฒนาขึ้นโดยการมีส่วนร่วม   โดยการลงมือทำ   และโดยผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการชี้ทิศทาง    ถือเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนเรียนรู้ในโครงการ

 

          ผมอ่านรายงานการประชุมคณะกรรมการกำกับทิศครั้งที่ ๑ เมื่อวันที่ ๒๒ มิ.ย. ๕๕ (ซึ่งผมไม่ได้เข้าประชุม) แล้ว    เห็นว่าคุณอ้อม (อุรพิณ ชูเกาะทวด) ผู้รับผิดชอบโครงการของ สคส. ได้เตรียมการมาอย่างดี   แต่ผมก็ยังเห็นว่าควรเพิ่มหลักสูตรอีก ๒ หลักสูตร คือ  (1)F&F คือ Finance Management และ Funding Management   ซึ่งรวมทั้ง Self-funding ด้วย    เพราะเป้าหมายสำคัญของ social enterprise คือขีดความสามารถที่จะทำงานต่อเนื่องยั่งยืนโดยไม่ต้องพึ่งพาแหล่งทุนภายนอก   และ (2) Entrepreneurship หรือทักษะในการเป็นผู้ประกอบการ

 

          โดยต้องย้ำว่า คำว่า “หลักสูตร” นั้น   แตกต่างจากหลักสูตรทั่วไปที่เน้น training   แต่ผมเสนอให้เน้น learning   เพื่อให้ผู้เข้าโครงการไปเรียนรู้พัฒนาตนเองต่อเนื่องได้อีก

 

          ผมมองว่า ผู้ประกอบการทางสังคม พัฒนาได้จากฐานเดิม ๒ แบบ    คือจากฐานที่เป็น เอ็นจีโอ หรือนักพัฒนา    กับฐานเดิมที่เป็นนักธุรกิจ    ผมคิดว่า โครงการฯ ควรเสาะหาคนในฐานหลังนี้มาเข้าโครงการให้มากขึ้น   เพื่อให้เกิดการ ลปรร. จากคน ๒ กลุ่มนี้   เข้าใจว่าเวลานี้ผู้เข้าร่วมโครงการมาจากฐานแรกทั้งหมดหรือเกือบทั้งหมด

 

 

วิจารณ์ พานิช

๒๑ ส.ค.๕๕

หมายเลขบันทึก: 503586เขียนเมื่อ 26 กันยายน 2012 15:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 กันยายน 2012 09:46 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

การทำงานแบบ training mode มันดูเหมือนว่าจะตอบโจทย์ เพราะว่าเห็นผลในระยะสั้นว่าได้ลงมือทำอะไรบางอย่าง แต่ความจริงแล้วผลการเปลี่ยนแปลงต้องรอเวลา และบางที่อาจมีผลอย่างอื่นทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเหล่านั้นด้วย

learning mode สำหรับผมเน้นการลงมือทำอย่างจริงจัง และทบทวนสม่ำเสมอ...ผู้จัดการเรียนรู้ บางครั้งหากเป็นผู้รับงาน ก็อาจลำบาก ที่จะปฏิเสธความต้องการของหลายฝ่าย และจนแต้มด้วยเงื่อนไข ต่างๆตามที่กำหนด .... อยากให้ผู้ที่รับผิดชอบ มองผลระยะยาว ให้มากๆ และคงต้องคุยกันเยอะ กว่าจะลงตัว เป็นกำลังใจให้ทุกฝ่ายที่จะร่วมสร้างสิ่งดีเหล่านี้ให้เกิดขึ้นในสังคม.

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท