Praepattra
ผู้ช่วยศาตราจารย์ Praepattra Kiaochaoum

ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community : AEC)


ข้อมูลอ้างอิง เอกสารประกอบการสอน รหัสวิชา 2000111 วิชาอาเซียนศึกษา (ASEAN Studies) 2555 โปรแกรมสังคมศึกษา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม

ในตอนที่มีการลงนามและก่อตั้งสมาคมอาเซียนนั้น  มีวัตถุประสงค์หลายเรื่อง  และวัตถุประสงค์ที่สำคัญคือ  การร่วมมือทางเศรษฐกิจ  แต่ว่าปัจจัยที่สำคัญที่ก่อให้เกิดอาเซียนมานั้น  เป็นปัจจัยทางการเมืองมากกว่า  คือปัจจัยในเรื่องที่ประเทศต่าง ๆ ในกลุ่มสมาชิกต้องการที่จะแก้ไขความขัดแย้ง  ซึ่งในบางครั้งนั้นลุกลามใหญ่โตจนเกือบจะเป็นสงครามระหว่างกัน  เช่น  ความขัดแย้งระหว่างมาเลเซีย-อินโดนีเซีย  มาเลเซีย-ฟิลิปปินส์  มาเลเซีย-สิงคโปร์[1]

                              อีกปัจจัยที่สำคัญคือ  ภัยคุกคามจากคอมมิวนิสต์ในปี  1967  นั้นเป็นยุคสงครามเย็น  ฉะนั้นภัยที่สำคัญคือ  ภัยคอมมิวนิสต์  ประเทศต่าง ๆ ที่มารวมตัวกันถึงแม้จะไม่ได้ประกาศว่ามีวัตถุประสงค์ในการต่อต้านคอมมิวนิสต์  แต่สิ่งนี้เรียกว่าเป็น “วัตถุประสงค์แอบแฝง”  ซึ่งไม่ได้ประกาศในขณะนั้น  ดังนั้นในปี  1967  ปัจจัยสำคัญในการก่อตั้งอาเซียน  คือ  การต่อต้านคอมมิวนิสต์  ในเรื่องเศรษฐกิจจริง ๆ แล้วถือเป็นเรื่องไม่สำคัญและไม่ได้หวังในเรื่องเศรษฐกิจเท่าใดนัก  เพียงแต่เอาเศรษฐกิจมาเป็นสัญลักษณ์มากกว่าในความร่วมมือระหว่างกันเท่านั้น

                              จากนั้นอาเซียนก็มีพัฒนาการด้านการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจเรื่อยมา  เริ่มตั้งแต่การให้สิทธิพิเศษทางการค้าระหว่างกัน  หรือที่เรียกว่า  Preferential  Trading  Arrangement : PTA  ถือเป็นจุดกำเนิดของความร่วมมือทางการค้าซึ่งพัฒนาไปเรื่อย ๆ จนถึงขั้นจัดตั้งเขตการค้าเสรีอาเซียน  (ASEAN  Free Trade Agreement : AFTA)  ในปี  1992 โดยจะลดภาษีให้กับประเทศสมาชิกด้วยกันให้มากกว่าภาษีที่จะคิดนอกภูมิภาค และพยายามส่งเสริมให้มีความร่วมมือครอบคลุมด้านอื่น ๆ  เช่น  การค้า  บริการ  การลงทุน  ซึ่งมีการจัดทำกรอบความตกลงด้านการค้าบริการอาเซียน  (ASEAN  Framework  Agreement  on  Service  :  AFAS)  ในปี 1995โดยมีหลักการสำคัญ  คือการขยายความร่วมมือในการค้าบริการบางสาขาที่ช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้สมาชิกอาเซียนมากขึ้น  ลดอุปสรรคการค้าและบริการ  และเปิดตลาดการค้าและบริการระหว่างกลุ่มให้มากขึ้น  กรอบความตกลงว่าด้วยเขตการลงทุนอาเซียน  (Framework  Agreement  on  the  ASEAN  Investment  Area :  AIA)  ในปี 1998  โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้อาเซียนเป็นแหล่งดึงดูดการลงทุน  ทั้งจากภายในและภายนอกอาเซียน  และบรรยากาศการลงทุนที่เสรี  โปร่งใส  ทั้งนี้จะครอบคลุมเฉพาะการลงทุนโดยตรงในสาขาการผลิต  เกษตร  ประมง  ป่าไม้  เหมืองแร่  และบริการที่เกี่ยวข้อง  5  สาขา  แต่ไม่รวมการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์[2]   นอกจากนี้  อาเซียนยังได้จัดตั้งโครงการความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมของอาเซียน (ASEAN  Industrial Coorperation  Scheme)  เพื่อเพิ่มศักยภาพในการผลิตสินค้าอุตสาหกรรม  และสนับสนุนการแบ่งสรรการผลิตและการใช้วัตถุดิบภายใน[3]  

อย่างไรก็ตาม  สามารถสรุปวิวัฒนาการสำคัญของการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจอาเซียน

ตามตารางดังต่อไปนี้

ตารางที่  4.1  วิวัฒนาการสำคัญของการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจของอาเซียน

 

ปี

การดำเนินการ

2546

ผู้นำอาเซียนประกาศแถลงการณ์  Bali  Concord ll    เห็นชอบที่จะจัดตั้งประชาคมอาเซียน  (Asean  Community)  ซึ่งประกอบไปด้วย  3  เสาหลัก

  1.    เสาหลักทางการเมืองและความมั่นคง
  2.   เสาหลักทางเศรษฐกิจ
  3.   เสาหลักทางสังคมและวัฒนธรรม

2547

ผู้นำอาเซียนได้ลงนามในกรอบความตกลงว่าด้วยการรวมกลุ่มสาขาสำคัญของอาเซียนและรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนได้ลงนามในพิธีสารรายฉบับ  รวม  11  ฉบับ

ซึ่งมี  Roadmap  เพื่อการรวมกลุ่มสาขาสำคัญ    โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อนำร่องการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจใน  11  สาขาสำคัญก่อน  (เกษตร    ประมง  ผลิตภัณฑ์ไม้  ผลิตภัณฑ์ยาง  สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม  ยานยนต์    อิเล็กทรอนิกส์  สุขภาพ  เทคโนโลยีสารสรเทศ  การท่องเที่ยว  และการบิน

2548

เจ้าหน้าที่อาวุโสด้านเศรษฐกิจอาเซียน  พิจารณาทบทวนปรับปรุงแผนงานการรวมกลุ่มสาขาสำคัญของอาเซียนในระยะที่   2  เพื่อปรับปรุงมาตรการต่าง ๆ    ให้มีประสิทธิภาพและรวมข้อเสนอของภาคเอกชน

2549

รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนลงนามในกรอบความตกลงว่าด้วยการรวมกลุ่มสาขาสำคัญของอาเซียนและพิธีสารว่าด้วยการรวมกลุ่มสาขาสำคัญ  (ฉบับแก้ไข)

ปี

การดำเนินการ

2550

ช่วงเดือนมกราคม  :  ผู้นำอาเซียนได้ลงนามปฏิญญาเซบูว่าด้วยการเร่งรัดการจัดตั้งประชาคมอาเซียนภายในปี  2015    เพื่อเร่งรัดเป้าหมายการจัดตั้งประชาคมอาเซียนให้เร็วขึ้นอีก  5    ปี    จากเดิมที่กำหนดไว้  ปี  2020    ผู้นำอาเซียนได้ลงนามในปฏิญญาเซบู  ว่าด้วยแผนแม่บทสำหรับกฎบัตรอาเซียน    เพื่อสร้างนิติฐานะให้อาเซียนและปรับปรุงกลไก  กระบวนการดำเนินงานภายในของอาเซียน  เพื่อรองรับการเป็นประชาคม

ช่วงเดือนสิงหาคม  :  รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนได้ลงนามในพิธีสารว่าด้วยการรวมกลุ่มสาขาโลจิสติกส์ของอาเซียน  โดยมี    Roadmap    เพื่อการรวมกลุ่มสาขาโลจิสติกส์    ซึ่งจะเป็นสาระสำคัญลำดับที่  12  ที่อาเซียนจะเร่งรัดการรวมกลุ่มให้เสร็จโดยเร็ว

2550

ผู้นำอาเซียนลงนามในปฏิญญา    ว่าด้วยแผนการจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน  ซึ่งมีแผนการดำเนินงาน  (AEC    Blueprint)    และตารางเวลาการดำเนินงาน  (Strategic    Schedule)    โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างอาเซียนให้เป็นตลาดและมาตรฐานการผลิตเดียว  เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน  ลดช่องว่างการพัฒนาระหว่างประเทศสมาชิก    และส่งเสริมการรวมตัวของอาเซียนเข้ากับประชาคมโลก

2551

รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนได้เห็นชอบให้จัดทำแผนงานติดตามประเมินผลการดำเนินงาน  (AEC    Scorecard)    เพื่อวัดผลการดำเนินงานในด้านต่าง ๆ ภายใต้  AEC    Blueprint  และให้มีรายงานผลต่อผู้นำรับทราบในช่วงการประชุมสุดยอดอาเซียนเป็นประจำทุกปี

ที่มา  :  ปรับจาก  กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ  กระทรวงพาณิชย์.  ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ASEAN  Economic  Community : AEC.  2552

 

        เป้าหมายของการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจอาเซียน

อาเซียนจะรวมตัวเป็นประชาคมเศรษฐกิจภายในปี  2558  (ค.ศ. 2015)  โดยมีตลาดและฐานการผลิตเดียวกัน  (Single market and production base)[1]  ซึ่งจะก่อให้เกิดการเคลื่อนย้ายทรัพยากรการผลิตระหว่างกันได้อย่างเสรี  เช่น  ในด้านการเคลื่อนย้ายสินค้า  อาเซียนจะดำเนินการลดภาษีศุลกากรและยกเลิกมาตรการกีดกันทางการค้าที่มิใช่ภาษีให้หมดสิ้นไป  สำหรับการค้า  ภาคบริการและการลงทุนนั้น  อาเซียนจะมุ่งหน้าดำเนินการเปิดตลาดระหว่างกัน  รวมถึงการจัดทำความตกลงยอมรับร่วมในบริการวิชาชีพต่าง ๆ และสนับสนุนร่วมกันภายใต้กฎระเบียบและขั้นตอนการลงทุนที่โปร่งใส[2]

               นอกจากนี้  อาเซียนยังเร่งสร้างความสามารถในการแข่งขันให้เกิดขึ้นในภูมิภาค  และละช่องว่างการพัฒนาของประเทศสมาชิก  โดยมุ่งเน้นให้ประเทศสมาชิกอาเซียนซึ่งยังมีการพัฒนาที่ล้าหลังกว่า  สามารถรับประโยชน์อย่างเท่าเทียมกันจากการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจของอาเซียน  และอาเซียนยังเดินหน้าเจรจาขยายการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจกับประเทศนอกภูมิภาค  โดยจัดทำข้อตกลงการค้าเสรี  หรือ FTA กับจีน  ญี่ปุ่น  เกาหลีใต้  อินเดีย  ออสเตรเลีย  นิวซีแลนด์  และสหภาพยุโรป 

 

        องค์ประกอบสำคัญของ  AEC  Blueprint

AEC  Blueprint  ประกอบด้วย  4  ส่วนหลัก  ซึ่งอ้างอิงมาจากเป้าหมายการรวมกลุ่ม

ทางเศรษฐกิจของอาเซียนตามแถลงการณ์บาหลี  ฉบับที่  2  (Bali  Concord  ll)  ได้แก่

1.  การเป็นตลาดและฐานการผลิตเดียว  โดยให้มีการเคลื่อนย้ายสินค้า  บริการ  การลงทุน  และแรงงานมีฝีมือได้อย่างเสรี  และการเคลื่อนย้ายเงินทุนอย่างเสรีมากขึ้น  รวมทั้งการส่งเสริมการรวมกลุ่มสาขาสำคัญของอาเซียนให้เป็นรูปธรรม

2.  การสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจของอาเซียน  ซึ่งให้ความสำคัญกับประเด็นด้านนโยบายที่จะช่วยส่งเสริมการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจ  เช่น  กรอบนโยบายการแข่งขันอาเซียน  การคุ้มครองผู้บริโภคสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา  พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์  นโยบายภาษี  และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน  (การเงิน  การขนส่ง  เทคโนโลยีสารสนเทศ  และพลังงาน)

3.  การพัฒนาเศรษฐกิจอย่างเสมอภาค  โดยการพัฒนา  SMEs  และการเสริมสร้างขีดความสามารถผ่านโครงการต่าง ๆ  เช่น  โครงการริเริ่มเพื่อการรวมกลุ่มของอาเซียน  (Initiative  for  ASEAN  Integration :  IAI)  เพื่อการลดช่องว่างการพัฒนาเศรษฐกิจ

4.  การบูรณาการเข้ากับเศรษฐกิจโลก  เน้นการปรับประสานนโยบายเศรษฐกิจของอาเซียนกับประเทศภายนอกภูมิภาค  เพื่อให้อาเซียนมีท่าทีร่วมกันอย่างชัดเจน  เช่น  การจัดทำเขตการค้าเสรีของอาเซียนกับประเทศคู่เจรจาต่าง ๆ  เป็นต้น  รวมทั้งส่งเสริมการสร้างเครือข่ายในด้านการผลิต  จำหน่ายภายในภูมิภาคให้เชื่อมโยงกับเศรษฐกิจโลก

               ทั้งนี้  ในการดำเนินงานสามารถกำหนดให้มีความยืดหยุ่นในแต่ละเรื่องไว้ล่วงหน้าได้  (Pre – agreed  flexibilities)  แต่เมื่อตกลงกันได้แล้ว  ประเทศสมาชิกจะต้องยึดถือและปฏิบัติตามพันธกรณีที่ได้ตกลงกันอย่างเคร่งครัดด้วย

               สำหรับองค์ประกอบอื่น ๆ ได้แก่  การปรับปรุงกลไกด้านสถาบันโดยการจัดตั้งกลไกการหารือระดับสูง  ประกอบไปด้วยผู้แทนระดับรัฐมนตรีทุกสาขาที่เกี่ยวข้อง  รวมทั้งภาคเอกชนอาเซียน  ตลอดจนการพัฒนาระบบกลไกการตรวจสอบติดตามผลการดำเนินงาน  (Peer  Review)  และจัดหาแหล่งทรัพยากรสำหรับการดำเนินงานกิจกรรมต่าง ๆ  อย่างมีประสิทธิภาพ

               ในช่วงการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน  ครั้งที่  13  เมื่อเดือนพฤศจิกายน  2550  ณ ประเทศสิงคโปร์  ผู้นำอาเซียนได้ลงนามในปฏิญญาว่าด้วยแผนงานการจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน  โดยประกอบด้วยแผนการดำเนินงาน  (AEC  Blueprint)  และตารางเวลาดำเนินงาน  (Strategic  Schedule)

 

จึงนับได้ว่าขณะนี้อาเซียนได้ทำพิมพ์เขียวของการดำเนินงานไปสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจเสร็จสิ้นสมบูรณ์แล้ว  ขั้นต่อไป  คือการเริ่มลงมือดำเนินงานตามแผนงานในด้านต่าง ๆ  เพื่อร่วมกันสร้างประชาคมที่เป็นหนึ่งเดียวกันของเซียนต่อไป[1]  

 

   ปัจจัยสำคัญต่อความสำเร็จของการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจของอาเซียน

ความสำเร็จของการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจในระดับภูมิภาคขึ้นอยู่กับปัจจัยสำคัญหลาย

ประการ  แต่สิ่งหนึ่งที่น่าจะมีส่วนสำคัญต่อการดำเนินงานเห็นจะเป็น  ความหนึ่งเดียวกันของประเทศสมาชิกในกลุ่มที่จะต้องยึดมั่นและถือมั่นเป้าหมายในระดับภูมิภาคร่วมกันอย่างจริงจัง  ยอมสละผลประโยชน์บางประการของประเทศเพื่อผลประโยชน์ส่วนรวมในระดับภูมิภาคร่วมกัน  มิเช่นนั้นคงไม่สามารถผลักดันให้เกิดการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจที่ลึกซึ้งและกว้างขึ้นมาได้

                              นอกจากปัจจัยดังกล่าวแล้ว  ปัจจัยอื่น ๆ  ที่จะช่วยส่งเสริมการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจให้เห็นเป็นรูปธรรม  และสร้างขีดความสามารถทางด้านเศรษฐกิจในระดับภูมิภาคให้โดดเด่น  ได้แก่

 

1)         โครงสร้างพื้นฐานในภูมิภาค  โดยเฉพาะระบบการขนส่งที่จะต้องเชื่อมโยงถึงกัน

ในระดับภูมิภาค  เพื่อให้เกิดการเคลื่อนย้ายสินค้าและผู้คนได้อย่างสะดวกตลอดเส้นทาง  รวมถึงการอำนวยความสะดวก  ณ จุดผ่านแดนต่าง ๆ  และส่งเสริมความร่วมมืออย่างจริงจังในสาขาที่มีผลเชื่อมโยงต่อการพัฒนาสาขาอื่น ๆ  ในอาเซียน  เช่น  สาขาพลังงาน  สาขาการคมนาคม  และการศึกษา  เป็นต้น

 

2)         นโยบายร่วมในระดับภูมิภาค  อาเซียนจำเป็นต้องพิจารณาแนวทางการดำเนิน

นโยบายด้านเศรษฐกิจร่วมกันในระดับภูมิภาค  เพื่อช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการเจรจาต่อรอง  รวมถึงสร้างผลประโยชน์ร่วมกันในระดับภูมิภาค  ซึ่งมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่แต่ละประเทศจะต้องให้ความสำคัญกับการปรับปรุงกฎเกณฑ์  กฎระเบียบ  กฎหมายภายในให้สอดคล้องกับความตกลงอาเซียนที่มีอยู่ด้วย

 

3)         กลไกการตัดสินใจ  อาเซียนควรพิจารณารูปแบบการตัดสินใจแบบอื่น ๆ  ในการ

พิจารณาการกำหนดนโยบายหรือตัดสินใจเกี่ยวกับกิจกรรมภายในของอาเซียน  นอกเหนือจากระบบ

ฉันทามติ  (Consensus)  ที่ใช้มาตั้งแต่เริ่มต้นของการรวมตัวทางเศรษฐกิจจนถึงปัจจุบัน  ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่จะผลักดันให้มีการนำเอาระบบเสียงส่วนใหญ่  (Majority  Vote)  มาใช้กับกระบวนการตัดสินใจของอาเซียน  แต่สมาชิกคงต้องหารือที่จะกำหนดแนวทางขอบเขตของระบบเสียงส่วนใหญ่เพื่อให้มีความชัดเจน  โปร่งใสในการพิจารณาเรื่องสำคัญ ๆ  ที่ประเทศสมาชิกจะได้รับประโยชน์ร่วมกัน

 

4)         การสร้างสังคมกฎระเบียบ  อาเซียนจำเป็นต้องพัฒนาไปสู่สังคมกฎระเบียบ

(Rule based Society)  และสร้างนโยบายด้านการค้าและการลงทุนที่สอดประสานในระดับภูมิภาคโดยใช้จุดแข็งของประเทศสมาชิกให้เกิดประโยชน์สูงสุด  เพื่อสร้างขีดความสามารถและข้อได้เปรียบในการแข่งขันให้กับอาเซียน และเน้นย้ำการปฏิบัติตามพันธกรณีของประเทศสมาชิกอย่างเคร่งครัด

 

 ข้อผูกพันในด้านเศรษฐกิจ

ภายหลังจากการลงนามในแถลงการณ์  AEC  Blueprint  แล้ว  ประเทศสมาชิกมีพันธกรณี

ที่ต้องปฏิบัติตามแผนงานดังกล่าว  ทั้งในด้านการเปิดตลาดสินค้า  การเปิดตลาดบริการ  และการลงทุนให้กับประเทศสมาชิกอาเซียน  รวมถึงความร่วมมือในด้านเศรษฐกิจต่าง ๆ  ซึ่งการดำเนินงานจะเกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงานภายในประเทศ  รวมถึงการแก้ไขกฎหมายภายในที่เกี่ยวข้องเพื่อให้สามารถปฏิบัติตามพันธกรณีที่ได้ตกลงกับอาเซียนได้  โดยเฉพาะการดำเนินงานเพื่อให้บรรลุการเป็นตลาดและฐานการผลิตเดียวกันของอาเซียน  ซึ่งจะเกี่ยวกับพันธกรณีสำคัญ  ดังนี้

                              1)  การเปิดเสรีการค้า

                              อาเซียนได้ปรับปรุงความตกลง  AFTA  ให้มีความทันสมัยยิ่งขึ้น  และได้จัดทำความตกลง

การค้าสินค้าของอาเซียน  (ASEAN  Trade  in  Goods  Agreement :  ATIGA )  ซึ่งมีผลบังคับใช้แล้วเมื่อ  17  พฤษภาคม  2553  โดยความเห็นตกลงที่ครอบคลุมมาตรการสำคัญต่อการส่งออกและนำเข้าสินค้าอย่างเสรี  ได้แก่  ตารางการลดภาษีตามพันธกรณีในอาฟตา  การกำหนดให้ใช้มาตรการที่มิใช่ภาษีเฉพาะในเรื่องที่จำเป็น  การส่งเสริมการอำนวยความสะดวกทางการค้า  หลักปฏิบัติด้านศุลกากรกฎระเบียบทางเทคนิค  กระบวนการตรวจสอบและรับรองมาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช  มาตรการเยียวยาทางการค้า

 

                              2)  การเปิดเสรีการบริการ

                              อาเซียนวางเป้าหมายจะทำการเปิดเสรีการค้าบริการเพิ่มขึ้นจาก  65  สาขาย่อย  ที่ได้ดำเนินการแล้วในข้อผูกพันชุดที่  7  โดยจะเปิดเสรีรวมทั้งสิ้น  12  สาขาใหญ่  ประกอบด้วย  128  สาขาย่อย  ภายในปี  2558  โดยการยกเลิกอุปสรรคในการให้บริการทุกรูปแบบและเปิดให้นักลงทุนอาเซียนถือหุ้นได้  อย่างน้อยร้อยละ  70  โดยแผนงานการเปิดเสรีการค้าบริการ  มีดังนี้

-             สาขาบริการเร่งรัด  (Priority  Integration  Sector : PIS)  ได้แก่  E – ASEAN  (สาขา

โทรคมนาคมและคอมพิวเตอร์)  สาขาสุขภาพ  สาขาการท่องเที่ยว  และสาขาขนส่งทางอากาศ  ในปี  2553  ต้องอนุญาตให้ผู้ใช้บริการมีสัดส่วนการถือหุ้นของนักลงทุนอาเซียนไม่ต่ำกว่า  ร้อยละ  70  และยกเลิกข้อจำกัดการเข้าสู่ตลาดและข้อจำกัดในการปฎิบัติเยี่ยงชาติทั้งหมด

-             สาขาโลจิสติกส์  ในปี  2553  ต้องอนุญาตให้ผู้ให้บริการมีสัดส่วนการถือหุ้นของ

นักลงทุนอาเซียนไม่ต่ำกว่า  ร้อยละ  51  และลดข้อจำกัดการเข้าสู่ตลาด  (Market  Access  -  MA  limitation)  ให้เหลือ  2  ข้อจำกัด

-             สาขาบริการอื่น ๆ  (Non-Piority Services Sector)  ต้องอนุญาตให้นักลงทุนอาเซียน

ถือหุ้นได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ  70  ในทุกสาขาบริการและยกเลิกอุปสรรคทุกรูปแบบ


               ขณะนี้ได้มีการลงนามในพิธีสารอนุวัติข้อผูกพันชุดที่  8  ในช่วงการประชุมผู้นำอาเซียนครั้งที่  17

โดยทุกประเทศกำลังอยู่ในระหว่างการจัดทำตารางข้อผูกพันชุดที่  8  และในระหว่างนี้จะใช้ตารางผูกพันชุดที่ 7  ซึ่งมีผลบังคับใช้ในการผูกพันการเปิดตลาดบริการ  65  สาขา  ให้นักลงทุนอาเซียนถือหุ้นได้ไม่เกินร้อยละ  49  ตามที่กฎหมายกำหนด

 

                              3)  การเปิดเสรีการลงทุน

                              อาเซียนได้ลงนามกรอบความตกลงว่าด้วยเขตการลงทุนอาเซียน  (Framwork Agreement on the ASEAN Investment Area : AIA)  ในปี  พ.ศ. 2541  โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้อาเซียนเป็นแหล่งดึงดูดการลงทุน  ทั้งจากภายในและภายนอกอาเซียน  และมีบรรยากาศการลงทุนที่เสรีและโปร่งใส  ต่อมาเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์  และเป้าหมายในการเปิดเสรีการลงทุนในปี  พ.ศ. 2558  อาเซียนได้ทบทวนข้อตกลงด้านการลงทุน  AIA  ให้เป็นความตกลงด้านการลงทุนของอาเซียน  (ASEAN

Comprehensive Investment Agreement : ACIA)  ที่มีขอบเขตกว้างขึ้น  โดยผนวกความตกลงว่าด้วยการส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุนของอาเซียนเข้าอยู่ภายใน  ACIA

                              ความตกลง  ACIA  ครอบคลุม  4  ประเด็นหลักใหญ่คือ  การเปิดเสรี  การส่งเสริม  การอำนวยความสะดวก  และการคุ้มครองการลงทุน  โดยครอบคลุมทั้งการลงทุนทางตรง  (Foreign Direct Investment : FDI)  และการลงทุนในหลักทรัพย์  (Portfolio Investment)  นอกจากนี้  ขอบเขตของการเปิดเสรีครอบคลุมธุรกิจ  5  ภาคและบริการที่เกี่ยวเนื่อง  ได้แก่  เกษตร  ประมง  ป่าไม้  เหมืองแร่  และภาค

การผลิต

                              พันธกรณีหลักของ  ACIA  ได้แก่  การให้การปฏิบัติเยี่ยงคนในชาติ  (National Treatment)  และการปฏิบัติเยี่ยงคนชาติที่ได้รับความอนุเคราะห์ยิ่ง  (Most – Favored – Nation – Treatment)  การห้ามกำหนดเงื่อนไขการลงทุน  (Prohibition of Performance Requirement)  และเงื่อนไขการดำรงตำแหน่งบริหารอาวุโส  และคณะกรรมการ  (Senior Management and Board of Directors)  ทั้งนี้  หากไม่ต้องการเปิดเสรี  ประเทศสมาชิกก็สามารถเขียนข้อสงวนมาตรการได้  /  ธุรกิจไว้ในรายการข้อสงวนได้  โดยให้เป็นไปตามความสมัครใจ  แต่ระดับการเปิดเสรีจะต้องไม่น้อยกว่าที่เปิดไว้เดิมภายใต้  AIA  ส่วนด้านการคุ้มครองการลงทุนใน  ACIA  ประกอบด้วยการปฏิบัติที่เป็นธรรม  การชดเชยในกรณีเกิดเหตุการณ์ไม่สงบ  การชดเชยในกรณีที่มีการเวนคืน  การระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐ  การระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐกับนักลงทุน  เป็นต้น

 

                              4)  การเคลื่อนย้ายแรงงานฝีมืออย่างเสรี

                              อาเซียนมีเป้าหมายในการส่งเสริมการเคลื่อนย้ายแรงงานเสรี  โดยอำนวยความสะดวก

การเดินทางของบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการค้าสินค้า  บริการ  และการลงทุน  ในด้านต่าง  ๆ  เช่น  การตรวจตราการออกใบอนุญาตทำงานสำหรับผู้ประกอบวิชาชีพและแรงงานฝีมืออาเซียนที่เกี่ยวข้องกับการค้าพรมแดน  และกิจกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับการลงทุนการเคลื่อนย้ายแรงงานฝีมือภายในภูมิภาค

โดยได้ดำเนินการ  2  แนวทาง  คือ

-            การจัดตั้งกรอบทักษะฝีมือแรงงานระดับประเทศ  เพื่อใช้เป็นแนวทางในการนำไปสู่

กรอบการยอมรับฝีมือแรงงานของอาเซียน  และ

-            การจัดทำข้อตกลงยอมรับร่วม  (MRA)  สำหรับผู้ประกอบวิชาชีพบริการ

ข้อตกลง  MRA  เป็นการดำเนินการเพื่อเสริมและการเปิดเสรีการค้าและการบริการภายใต้

ข้อตกลงทางด้านการค้า  และการบริการของอาเซียน  (AFAS)  โดย  MRA  ที่จัดขึ้นภายใต้กรอบการค้าและการบริการของอาเซียน  จะเป็นพันธกรณีให้อาเซียนยอมรับร่วมกันเรื่องคุณสมบัติของแรงงานฝีมือ  ประวัติการศึกษาและประสบการณ์ทำงาน  ซึ่งทั้ง  3  ปัจจัยเป็นคุณสมบัติสำคัญที่เป็นเงื่อนไขในการขอรับอนุญาตให้ประกอบวิชาชีพ  ทั้งนี้  เพื่ออำนวยความสะดวกในขั้นตอนการขอใบอนุญาตที่ผ่านมา  อาเซียนได้มีการจัดทำข้อตกลง  MRA  มาแล้วทั้งหมด  8  ฉบับได้แก่  วิศวกรรม  พยาบาล  สถาปัตยกรรม  ช่างสำรวจ  ท่องเที่ยว  แพทย์  ทันตแพทย์  และการบัญชี

 

 วิเคราะห์เศรษฐกิจไทยและสมาชิกในอาเซียน

จากรายงานของคณะกรรมการจัดทำรายงานสรุปสภาวะของประเทศ[1]   ประจำปีได้สรุป

สภาวะเศรษฐกิจของประเทศไทยในปัจจุบันได้ฟื้นตัวจากภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจและกลับมาขยายตัวถึงร้อยละ  7.8  ในปี  พ.ศ. 2553  ตามภาวการณ์ฟื้นตัวทางเศรษฐกิจโลก  การปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้นของสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศ  รวมทั้งการดำเนินการมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ  ส่งผลให้ความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวมและความเชื่อมั่นทางธุรกิจปรับตัวดีขึ้น  การขยายตัวในเกณฑ์สูงของเศรษฐกิจได้รับแรงส่งจากการขยายตัวสูงของการส่งออก  การบริโภคและการลงทุนเอกชน  รวมทั้งการขยายตัวสูงของการผลิตภาคอุตสาหกรรม  โรงแรม  ภัตตาคาร  การค้าส่งค้าปลีก  และภาคการเงิน  อย่างไรก็ตาม  การผลิตภาคเกษตรหดตัวเนื่องจากได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยธรรมชาติ  อัตราการแลกเปลี่ยนเริ่มมีความผันผวนและแข็งค่ามากขึ้นในช่วงหลังเดือนสิงหาคมตามการเปลี่ยนแปลงของการเคลื่อนย้ายทุน  ปัจจัยพื้นฐานและมาตรการแก้ปัญหาเศรษฐกิจในประเทศอุตสาหกรรม  แต่เสถียรภาพทางเศรษฐกิจโดยรวมอยู่ในเกณฑ์ดี

                              แต่อย่างไรก็ตาม  ผลการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย  โดย  World  Economic  Forum  :  WEF  และธนาคารโลกได้จัดอันดับประเทศไทยลดลง  ในขณะที่  IMD  ได้ปรับอันดับไทยดีขึ้น  และเมื่อเปรียบเทียบกับต่างประเทศ  พบว่าไทยมีอันดับความสามารถในการแข่งขันที่ด้อยกว่าประเทศในกลุ่มที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยนวัตกรรม  เช่น  ญี่ปุ่น  และสิงคโปร์  เป็นต้น  และเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มประเทศอาเซียน  พบว่าไทยมีอันดับความสามารถในการแข่งขันดีกว่าทุกประเทศ  ยกเว้นมาเลเซีย[2] 

 
  1. 1.          ความสัมพันธ์กับมหาอำนาจ

ประเด็นสำคัญอีกเรื่องของประชามคมเศรษฐกิจอาเซียน  คือความสัมพันธ์กับมหาอำนาจทาง

เศรษฐกิจ  ซึ่งมีอยู่หลายกรอบด้วยกัน  กรอบแรกคือ  กรอบอาเซียน+1  ในขณะนี้ความสัมพันธ์ก็ราบรื่นดี

โดยเฉพาะกับจีน  ญี่ปุ่น  อินเดีย  ออสเตรเลีย  และสหภาพยุโรป  โดยอาเซียนเน้นการเจรจาเขตการค้าเสรี  (FTA)  กับประเทศคู่เจรจาเหล่านี้  อย่างไรก็ตาม  ความสัมพันธ์อาเซียนกับสหรัฐอเมริกายังไม่ดีเท่าที่ควร

จึงควรมีการผลักดันการเจรจาเขตการค้าเสรี  อาเซียน สหรัฐอเมริกา  และการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน  สหรัฐขึ้น

               มิติที่สองคือความร่วมมือในกรอบอาเซียน+3  ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างอาเซียนกับจีน  ญี่ปุ่น  และเกาหลีใต้  ควรมีการผลักดันให้มีการจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจเอเชียตะวันออกขึ้น[1]

อย่างไรก็ตาม  สิ่งที่น่ากลัวสำหรับอาเซียนมากที่สุดคือการตกเป็นรองจากการก้าวแซงขึ้นมาของสองชาติที่มีอำนาจมากที่สุดในกลุ่มเพื่อนบ้าน คือ จีนและอินเดีย และการแข่งขันระหว่างมหาอำนาจที่จะดึงดูดให้สหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่นเข้ามามีบทบาทมากขึ้น ไม่ควรลืมว่าอาเซียนกำเนิดขึ้นมาในช่วงที่อินเดียและจีนพึ่งยุติการทำสงคราม อินเดียกำลังยุ่งกับปัญหาเศรษฐกิจภายในที่กำลังอ่อนแอรวมถึงการหันเข้าหาสังคมนิยม ส่วนจีนก็ตกอยู่ในสถานการณ์ยุ่งยากสืบเนื่องจากการปฏิวัติทางวัฒนธรรม(Cultural Revolution) และปัญหาอื่น  ๆ  ของเหมาเจ๋อตุง ทั้งสองชาติยังไม่อาจก้าวขึ้นมามีอำนาจได้อย่างแท้จริง และยังไม่สามารถเป็นผู้นำในระดับเอเชีย ไม่ว่าจะโดยลำพังหรือร่วมมือกัน ญี่ปุ่นในช่วงปลายทศวรรษที่ 1960 และ1970   กําลังอยู่ในภาวะฟื้นฟูทางการเมืองมากกว่าทางเศรษฐกิจ ญี่ปุ่นให้ความสนใจเฉพาะเรื่องการร่วมมือด้านเศรษฐกิจระดับภูมิภาค แต่ก็ยังไม่ชัดเจนมากนัก ด้วยเหตุนี้ อาเซียนจึงได้โอกาสแสดงบทบาทเป็นหลักในความร่วมมือ สันติภาพ และความมั่นคงระดับภูมิภาค ขณะที่สหรัฐอเมริกาให้การสนับสนุนความมั่นคงทางด้านการทหาร แต่อาเซียนช่วยให้ภาพลักษณ์ที่ดีแก่เอเชียซึ่งถือกำเนิดใหม่ภายหลังจากยุคอาณานิคมและยุคสงครามเย็น  แต่สถานการณ์ปัจจุบันนั้นแตกต่างโดยสิ้นเชิง ทั้งจีนและอินเดียต่างกําลังแข่งขันเพื่อก้าวขึ้นไปเป็นมหาอำนาจร่วมกับญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกา อีกทั้งยังแสวงหาพื้นที่อันชอบธรรมของตนบนเวทีการเมืองโลก[2]   อาเซียนจึงไม่สามารถที่จะมองข้ามความร่วมมือกับประเทศมหาอำนาจเหล่านี้ได้อีกต่อไป

  1. 2.           ปัญหาและอุปสรรค

ในการจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนไม่ใช่เรื่องง่าย  โดยนักวิชาการทางด้านเศรษฐกิจ

ระหว่างประเทศยังคงมีความกังวลกับปัญหาต่าง ๆ  ที่เป็นอุปสรรคหลายประการ  ปัญหาใหญ่ของอาเซียน

คือช่องว่างระหว่างประเทศรวยและประเทศจน  ซึ่งยังคงมีความแตกต่างกันมาก  ระหว่างประเทศรวยซึ่งเป็นสมาชิกเก่า  (Core States)  เช่น  สิงคโปร์  กับประเทศสมาชิกใหม่  (peripheral states)  ซึ่งมีความยากจนอยู่มาก  ประเทศสมาชิกอาเซียนยังคงมองประเทศสมาชิกอื่นเป็นคู่แข่งทางเศรษฐกิจ  แทนที่จะมองเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ  นอกจากนี้อาเซียนยังมีปัญหาทั้งการบูรณาการในเชิงลึกและในเชิงกว้าง

ปัญหาการบูรณาการในเชิงลึกคือ  ไม่ใช่เรื่องง่ายที่อาเซียนจะบรรลุเป้าหมายในการจัดตั้งตลาดร่วมอาเซียนอย่างสมบูรณ์แบบ  ในขณะที่ปัญหาการบูรณาการในเชิงกว้าง  ก็คือ  ถึงแม้อาเซียนจะรวมกันอย่างเข้มข้นแค่ไหน  หรือในเชิงลึกแค่ไหนแต่อาเซ

คำสำคัญ (Tags): #aec#ASEAN Economic Community#e-trust
หมายเลขบันทึก: 503458เขียนเมื่อ 25 กันยายน 2012 15:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 กันยายน 2012 15:00 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท