พนักงานมหาวิทยาลัยในสถาบันอุดมศึกษา: ถ้ารู้อย่างนี้ขอเป็นข้าราชการดีกว่า


   ผมเพิ่งกลับมาจากสัมมนาเรื่องความเหลื่อมล้ำฯ ที่ มรภ.ชัยภูมิ เนื้อเรื่องเป็นการกล่าวถึงสถานภาพของลูกจ้าง (พนักงานหลายหลายสายพันธุ์ เช่น อัตราจ้าง รายวัน ชม. เดือน ฯลฯ) ในสถาบันอุดมศึกษาไทย มีสมาชิกเข้าร่วมในวันนั้น  (๒๑-๒๒ กันยายน) มากกว่า ๒๐๐ คน นอกจากนั้นเป็นการหาทางออกที่ดีให้แก่พนักงานมหาวิทยาลัย จากมุมมองของหลายฝ่าย เช่น สกอ. ตัวแทนบริการในมหาวิทยาลัยฯลฯ และรับฟังความคิดเห็นจากผู้เข้าร่วมสัมมนา ซึ่งมีทั้งพนักงานสายสนับสนุนและวิชาการ

  เรื่องหนึ่งที่ได้ฟังคือ กรณีอดีตข้าราชการ ตำแหน่งอาจารย์ในมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง ได้เปลี่ยนสถานภาพจากข้าราชการเป็นพนักงานมหาวิทยาลัย โอดครวญว่า "ถ้ารู้อย่างนี้ขอเป็นข้าราชการดีกว่า"

  ข้อความนี้เป็นสิ่งเตือนใจสำหรับใครก็ตามที่อยู่ในสถาบันอุดมศึกษา ต้องการเปลี่ยนสถานภาพจากสิ่งหนึ่งไปสู่สิ่งหนึ่ง เพราะเห็นว่าสิ่งที่จะไปใหม่นั้นดีกว่าเก่าแน่นอน ผนวกกับมีสิ่งจูงใจอื่นๆอีกมากมาย ต้องหันกลับมาทบทวนให้ดี

  พนักงานมหาวิทยาลัยสายวิชาการในเวลานี้ จำนวนหนึ่ง บางคนจบปริญญาเอก ไปสอบบรรจุเป็นข้าราชการสอนอยู่ในสังกัดสพฐ.(เพื่อนของผมท่านหนึี่งตอนนี้เป็นผู้อำนวยการโรงเรียนแล้ว แต่ต้องยอมรับว่าเขาลื่นดี ฮิฮิ) แง่มุมหนึ่งเป็นเรื่องที่ดีกับการเอาคนมีฐานความรู้อีกขั้นหนึ่งไปทำหน้าที่สร้างฐานของชาติ อีกแง่หนึ่งน่าคิดคือระดับการศึกษาแบบนี้ควรอยู่ ณ มุมใดของสังคมไทย

  จากข้อมูลที่ได้ฟังในการสัมมนา นอกจากเป็นเรื่องสิทธิ หน้าที่ และสถานภาพของพนักงานมหาวิทยาลัยแล้ว เป็นเรื่องของการรับรองสถานภาพ ซึ่งนอกจากกฎหมายที่มหาวิทยาลัยออกกันเองแล้ว ยังไม่มีกฎหมายแกนกลางใดรับรองสถานภาพพนักงานมหาวิทยาลัยได้อย่างชัดเจน ด้วยฝ่ายบริหารมองว่า แต่ละมหาวิทยาลัยชัดการกันเองได้ โดยไม่ได้ลงไปมองในส่วนลึกระดับพื้นที่จริงว่าพนักงานมีสถานภาพอย่างไร เมื่อพนักงานมหาวิทยาลัยอยู่แบบลอยๆ ในการสัมมนาที่ยึดเป็นเรื่องหลักคือการขับเคลื่อนให้มี "พรบ.พนักงานมหาวิทยาลัยในสถาบันอุดมศึกษา" สิ่งนี้เกิดจากการรวมตัวของพนักงานมหาวิทยาลัยสร้างเป็นเครือข่าย ไม่ใช่เกิดจากคำสั่ง อย่างไรก็ตาม เมื่อเอาผู้ิเชี่ยวชาญเข้ามาให้ความเห็น อาจแบ่งเป็น ๒ ประเด็นใหญ่ๆคือ ในเมื่อจะเป็นพนักงานมหาวิทยาลัยก็ต้องมีความยืนหยุ่นมากกว่าการเป็นข้าราชการในมหาวิทยาลัยที่ผ่านมา เพราะพบแล้วว่า ระบบราชการที่ผ่านมามันตีบตัน อีกประเด็นหนึ่งคือการเดินตามแนวของข้าราชการในสถาบันอุดมศึกษา

  อย่างไรก็ตาม มีการอ้างถึงงานวิจัยของ......ว่า พนักงานในมหาวิทยาลัยราชภัฏขอเปลี่ยนสถานะเป็นข้าราชการดีกว่า ส่วนพนักงานมหาวิทยาลัยอื่นๆ จำนวนหนึ่งต้องการเดินหน้าต่อ กับการเป็นมหาวิทยาลัยนอกระบบ

หมายเลขบันทึก: 503106เขียนเมื่อ 22 กันยายน 2012 12:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 ตุลาคม 2015 10:45 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)

ขอยกมือถาม  ไม่ตรงประเด็นที่เขียน ขอถามว่า....มีหลานให้ครูอ้อย อุ้มกี่คนแล้วคะ

มาชัยภูมิ ได้ไปเที่ยวไหนบ้างครับอาจารย์

  • สวัสดีครับ คุณครูอ้อย เรื่องหลานนั้น อย่าได้ฝากความหวังไว้กับผมนะครับ :-) ถ้าพูดเรื่องนี้แล้วผมอยากเป็นเทวดาครับ
  • สวัสดีครับ คุณทิมดาบ ผมไปชัยภูมิครั้งนี้เป็นครั้งแรก ทุกคนมุ่งเป้าไปที่จัดสัมมนา เสร็จจากสัมมนาจึงกลับครับ จริงๆแล้วไม่รู้ว่าชัยภูมิมีที่เที่ยวที่ใดบ้างน่ะครับ :-) แต่ประทับใจอยู่ครับ โอกาสหน้าคงได้ไปเยี่ยมเยียนเมืองที่สงบอีกรอบนะครับ เพราะไม่ไกลจากปทุมธานีมากนัก อีกอย่าง ดูเหมือน มรภ.ชัยภูมิจะอิสระทางวิชาการ แตกต่างจาก มรภ.หลายๆแห่งครับ

คงต้องดูกันต่อไป พนักงานมหาวิทยาลัยควรจะแตกต่างจากข้าราชการ มิเช่นนั้นก็ควรบรรจุเป็นข้าราชการให้หมด ระบบราชการไม่ดีจริงๆ หรือที่ไม่ดีคือคุณภาพของคนทำงานกันแน่ ต่อให้ออกนอกระบบ บรรจุเป็นพนักงานก็อาจไม่ใช่ทางออกที่ดีที่สุด ขอเสนอว่า ขรก ควรจะมีอยู่ต่อไป พนง ก็ควรมีกฏหมายรองรับ และปรับปรุงข้อบังคับในการทำงานให้สอดคล้องกับสภาพการณ์น่าจะเหมาะสมกว่าครับ

  • เห็นด้วยอย่างยิ่งครับ เป็นเรื่องของคน เพราะถ้าคนสมบูรณ์จริงๆ กฎ กติกา ต่างๆ ก็ไม่จำเป็น แต่ที่ระเบียบมันเยอะจัด มันแสดงถึงอะไรบางอย่างก่อนมีระเบียบ
  • ในที่ประชุมได้กล่าวถึงพนักงานมหาวิทยาลัยเสริมสวยด้วยครับ ประมาณว่า งานการไม่ค่อยเอาใจใส่ สนใจแต่ครอบครัวและตัวตน แต่ก็เนอะ ต่างคนต่างความคิดกันไปครับ อย่างที่กล่าวไว้แล้วครับ ส่วนหนึ่งขอเป็นข้าราชการ อีกส่วนหนึ่งของเดินหน้าต่อ เพื่อเชื่อว่า....
นายเด็ดดวง ดีเด่น

ขอแสดงความคิดเห็นครับ

การที่มหาวิทยาลัยออกนอกระบบ ผมเห็นด้วยในส่วนหนึ่ง ส่วนที่ว่า ระบบการบริหารงานทั่วไป ควรจะออกนอกระบบ คำว่า ออกนอกระบบในนิยามของผมนั้น คือ ต้องรวดเร็ว ฉับไว สนองความต้องการของผู้ใช้ได้ และเกิดประสิทธิภาพกับงานให้มากที่สุด ส่วนประเด็นที่ไม่อยากจะให้ออกนอกระบบ คือ ระบบการบริหารงานบุคคล ควรจะผูกติดไว้กับความเป็นข้าราชการจะดีกว่า เพราะเป็นหลักประกันความมั่นคงในชีวิตและป้องกันการถูกกลั่นแกล้งจากผู้บริหารที่ยังเป็นข้าราชการอยู่ จากข้อเท็จจริงที่ผมยังเห็นอยู่ในขณะนี้ ภายหลังมหาวิทยาลัยออกนอกระบบเกือบจะทุกแห่ง หรือกำลังพร้อมเตรียมตัว ยังไม่เห็นเลยว่า มีการเปลี่ยนอะไรเกิดขึ้น ระบบการบริหารงานก็เหมือนเดิม หรืออาจจะล่าช้ากว่าเดิมเสียด้วยซ้ำ อีกทั้ง ยังเห็นการเล่นการเมืองภายในมหาวิทยาลัยมากกว่าเดิม เท่าที่ผมเห็นได้อย่างชัดเจน เมื่อออกนอกระบบแล้ว สิ่งที่เลวร้ายมากที่สุด เห็นจะเป็นเรื่องของการบริหารงานบุคคล ได้บุคคลที่ไม่มีคุณภาพเข้ามา เต็มไปด้วยเส้นสาย เพราะให้เอกสิทธิ์ในการรับบุคคลเข้ามาเป็นอาจารย์และเจ้าหน้าที่ จึงกลายเป็นช่องว่างให้ลูกหลานของผู้บริหาร หรือกรรมการบริหารมหาวิทยาลัย เข้ามาทำงาน โดยไม่มีการกลั่นกรองและคำนึงถึงคุณภาพ ซ้ำยังเป็นการตัดสิทธิ์คนเก่ง ถามว่า กระบวนการชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ดูเปลือกนอกนั้นใช่ แต่เอาเข้าจริงๆ แล้วไม่ใช่ เพราะการสอบคัดเลือก สอบแข่งขัน มีโพยคำตอบให้กันแล้ว พูดง่ายๆ ว่า มีธงคำตอบแล้วว่าจะเอาใคร ส่วนวิธีการนั้นไม่ใช่เรื่องยาก ดังนั้น ผมจึงมองเห็นวิกฤติของมหาวิทยาลัยในขณะนี้ โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยในท้องถิ่นต่างๆ วิกฤติคือ ได้บุคลากรที่ไม่มีคุณภาพเข้ามาทำหน้าที่ ขวัญและกำลังใจของบุคลากรในมหาวิทยาลัยลดลงตั้งเยอะ เพราะเมื่อเปรียบเทียบกับข้าราชการพลเรือน ข้าราชการครู และอื่นๆ รู้สึกว่า ด้อยค่าลงไปเยอะ กับคำว่า อาจารย์มหาวิทยาลัย เป็นเพียงลูกจ้างชั่ว...คราว หรือพนักงานของรัฐ ซึ่งต่างกับสถานภาพของความเป็นข้าราชการยิ่งนัก อันที่จริงอาจารย์มหาวิทยาลัยในสายตาของคนทั่วๆไป คือ คนที่เก่ง รอบรู้อย่างลึกซึ้งในศาสตร์นั้นๆ แต่ตอนนี้เรากำลังทำให้สถานะความเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัยลดลงไปเรื่อยๆ จนไม่เหลืออะไรเลย แม้จะนำไปเปรียบเทียบกับพนักงานใน อบต. ก็สู้ไม่ได้ ถ้าลองพิจารณาเปรียบเทียบดูดีๆ อาจารย์มหาวิทยาลัย กว่าจะเรียนจบ ป.โท และ เอก ต้องใช้ความพยายามมากเพียงใด อีกทั้งยังเป็นวิศวกรสร้างคนเข้าไปทำงานในภาคส่วนต่างๆ แต่สิทธิประโยชน์ต่างๆ กลับด้อยกว่า อาชีพอื่นๆ กรณีอาจารย์สอนนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง จบ ป.เอก มาบรรจุ ในอัตราเงินเดือน 31000(พนักงานมหาวิทยาลัย) แต่ลูกศิษย์ที่พึงจบ ป.ตรี และสอบเนติได้ และสอบไปเป็นผู้พิพากษา ได้เงินเดือนเยอะกว่า ครูอาจารย์ ผมว่า มันไม่ยุติธรรมนะครับ เอาละครับ ไม่เป็งไร อย่างน้อย แม้ว่า เราจะไม่ได้เงินเยอะอะไรมากมาย แต่ขอยืนยันว่า อาจารย์มหาวิทยาลัย ต้องเป็นข้าราชการครับ อย่างน้อยก็เป็นหลักประกันจะไม่ต้องถูกประเมินจากคณบดี ประธานหลักสูตร กรณีที่ความเห็นไม่สอดคล้องกับพวกผู้บริหารเหล่านี้ และพวกนี้จะไม่ไต้องนำเอาประเด็นของการต่อสัญญามาเป็นประเด็นในการข่มขู่ และขอยืนยันว่า เป็นข้าราชการในมหาวิทยาลัยดังเดิม มีอิสระทางความคิดมากกว่าการเป็นพนักงานมหาวิทยาลัย

เรียนคุณเด็ดดวง

ขอบคุณครับที่มาแสดงความเห็นกับเรื่องราวเรื้อรังในวงการศึกษาระดับอุดมศึกษาของไทย ผมไม่เคยอยู่ในมหาวิทยาลัยขนาดใหญ่ของไทย จึงไม่รู้ว่าบรรยากาศของมหาวิทยาลัยใหญ่เป็นอย่างไร สิ่งที่พอจะทราบคือ มีอาจารย์เก่งๆอยู่ในนั้น เมื่อคนเก่งไปเจอคนเก่ง หากทำเพื่อความก้าวหน้าของมหาวิทยาลัย ก็จะก้าวหน้าอย่างรวดเร็วแน่ๆ

แต่มหาวิทยาลัยท้องถิ่น ก็ไม่ควรที่จะถูกมองข้ามไป อันที่จริงอาจารย์ที่มาอยู่ในมหาวิทยาลัยท้องถิ่น ก็ใช่ใครที่ไหน หากแต่เรียนจบมาจากต่างประเทศบ้าง มหาวิทยาลัยใหญ่ๆของไทยบ้าง เราพยายามให้มหาวิทยาลัยทั้งหมดอยู่ในเบ้าหลอมเดียวกัน แต่ลืมนึกไปว่า คุณภาพบัณฑิตแตกต่างกัน ทรัพยากรไม่เหมือนกัน คุณภาพคนในองค์กรและจารีตองค์กรแตกต่างกัน เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ไม่สามารถเป็นเบ้าเดียวกันได้ ดังนั้น สิ่งที่ควรจะเป็นคือ เบ้าใดก็ควรไปตามลู่ทางของเบ้านั้น

ผมเข้าใจว่า สิ่งที่ให้ความเห็นมานั้น เป็นประสบการณ์ตรง และเป็นข้อคิดเห็นที่ดีมากทีเดียว ในเครือข่ายพนักงานมหาวิทยาลัยก็มีการพูดถึงสิ่งเหล่านี้อยู่ตลอดเวลา ถึงอย่างนั้น ก็คงพัฒนาได้เท่าที่ได้ เพราะถ้าพนักงานไม่ได้อยู่ในกลุ่มนักพัฒนาพนักงาน รอแต่โชคช่วยและสวรรค์โปรด ก็คงไม่แตกต่างจากระบบเดิมๆ

ช่วยๆกันนะครับ

ขอบคุณครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท