กฎ (ธรรมชาติ) แห่งเศรษฐกิจ : จบ


กฎ (ธรรมชาติ) แห่งเศรษฐกิจ ที่เกิดขึ้นหมุนเวียนในการเกิดวิกฤติแล้วนำไปสู่การจัดระเบียบดุลยภาพทางเศรษฐกิจใหม่ และจากการจัดระเบียบดุลยภาพทางเศรษฐกิจเมื่อมนุษย์มีกิเลสที่ขาดปัญญาก็จะนำพาไปสู่วิกฤติทางเศรษฐกิจ จะหมุนเวียนเปลี่ยนไปเป็นวัฏจักรเรื่อย ๆ ตราบเท่าความต้องการ (กิเลส) ยังคงมีอยู่ในตัวของมนุษย์ทุกคน ซึ่งการเกิดวิกฤติเศรษฐกิจหมุนเวียนเปลี่ยนไปสู่การจัดดุลยภาพใหม่ทางเศรษฐกิจเป็นไปตามกฎแห่งไตรลักษณ์ (อนิจจัง) และปัจจัยเหตุของการเกิดวิกฤติก็หมุนเวียนเปลี่ยนแปลงไปเป็นไปตามกฎอิทัปปัจจยตานั่นเอง    

         

        อุปสงค์ & อุปทาน สมดุลได้ด้วยการบริหารจัดการความอยาก (กิเลส)

        ในทางเศรษฐศาสตร์บางคนอาจจะสงสัยในประเด็นที่ว่า อุปสงค์กำหนดอุปทานหรือว่าอุปทานนั้นกำหนดอุปสงค์กันแน่ ซึ่งกระบวนการของวิธีคิดเราต้องมองภาพรวม (องค์รวม) จึงจะสามารถเห็นและเข้าใจในภาพย่อยได้ชัดเจนและครอบคลุม การที่มีความสับสนเกี่ยวกับอะไรเป็นตัวกำหนดอะไรระหว่างอุปสงค์กับอุปทานนั้น หากเรามองที่พื้นฐานความเป็นจริงก็จะเข้าใจได้ว่า “ความต้องการ (อุปสงค์) นั้นเป็นตัวที่กำหนดการสนองตอบ (อุปทาน)” เช่น

 

           กรณีที่หนึ่ง : สมมติว่าเราอยากได้รถยนต์ เราก็จะเสาะแสวงหาข้อมูลเกี่ยวกับรถ รวมทั้งวิธีการที่จะได้ครอบครอง (ซื้อ) รถนั้น หรือแม้แต่กับสินค้าอื่น ๆ ก็ตามที แต่บางคนอาจจะแย้งว่า แล้วการที่แฟนของเราชอบไปเดินตามห้างหรือศูนย์การค้าแล้วซื้อโน่น ซื้อนี่ โดยไม่มีความอยากได้มาก่อนเหมือนการที่อยากได้รถยนต์เลย จะอธิบายว่าอย่างไร ?

        

         กรณีที่สอง : ในประเด็นดังกล่าวสามารถอธิบายได้ว่า การที่คนส่วนใหญ่ (โดยเฉพาะสุภาพสตรี) ที่ชอบไปเดินช็อปปิ้งตามห้างหรือศูนย์การค้า แล้วซื้อของติดไม้ติดมือกลับมาเยอะแยะมากมาย โดยที่ไม่ได้มีความอยากหรือตั้งใจใน เบื้องแรก ที่จะไปซื้อในสิ้นค้าเหล่านั้นมาก่อนเลย เป็นเพราะว่า ความอยากที่มีแฝงอยู่ในตัวของเราทุกคนเป็นพื้นฐานนั้นทำงานโดยการสนองตอบ ซึ่งความอยากแฝงนี้จะอันตรายมากกว่าความอยากที่เปิดเผยอย่างในกรณีที่หนึ่ง (รถยนต์) เพราะว่า ความอยากชนิดแอบแฝงนี้เป็นความอยากแบบมีสติในการกำกับที่น้อยกว่าปรกติ หรือในบางคนที่แฝงอยู่มากอาจจะถึงขั้นทำให้ขาดสติไปเลยก็ได้


       ในกรณีของความอยากได้ในรถยนต์จะเห็นได้ว่า เป็นความอยากพื้นฐานทั่วไปที่ความอยากสะท้อนให้เห็นเป็นรูปธรรมมีโฟกัสชัดเจน ทำให้เกิดกระบวนการจัดหามาตอบสนองในขั้นต่อไป แต่ความอยากในกรณีที่สองของการที่เรียกได้ว่า ซื้อแบบบ้าคลั่ง หรือซื้อดะ เมื่อไปเห็นไอ้โน่นก็ซื้อ พอไปเห็นไอ้นี่ก็ซื้อ ไม่ใช่ สินค้า (Supply) เป็นตัวกำหนดความต้องการ (Demand) อย่างที่หลาย ๆ คนเข้าใจ แต่ เป็นเพราะความอยากนั้นฝังอยู่ในจิตใจหรือเป็นความอยากแอบแฝงนั้นทำงานระริกระรี้ เมื่อเทียบกับกรณีที่หนึ่งจะอันตรายมากกว่า เป็นความอยากที่ไม่มีเป้าหมายหรือจุดโฟกัสที่ชัดเจน เมื่อมีสิ่งของมากระตุ้นซึ่งก็คือสินค้า ความอยากที่แฝงอยู่ก็จะกระดี๊กระด๊าตีปีกออกหน้าออกตา ทำให้บางคนซื้อแหลกลานแบบขาดสติ พอกลับมาถึงบ้านได้อาบน้ำเย็นชื่นใจ สติเริ่มงานแล้วนั่งกลุ้มใจไม่รู้ซื้อมาได้อย่างไร

 

         ความอยากชนิดแฝงนี่แหละที่ลัทธิบริโภคนิยมที่เกิดจากระบบทุนนิยมชอบนักชอบหนา ผลิตสินค้าอะไรมาก็ขายได้ เป็นการเล่นเกมกับความอยากของผู้บริโภค นักเศรษฐศาสตร์หลาย ๆ ท่านก็จะมองว่าเป็นผลดีต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวม ทั้งภาคการผลิต การจ้างงาน และในที่สุดก็จะทำให้มนุษย์มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ดังจะเห็นในประวัติศาสตร์ที่ช่วงเศรษฐกิจเฟื่องฟู ผลิตสินค้าอะไรออกมาก็ขายได้ ทำให้นักเศรษฐศาสตร์ถึงกับประกาศในทำนองที่ว่า หากอยากให้เศรษฐกิจรุ่งโรจน์ชัชวาลอย่างนี้ไปเรื่อย ๆ ต้องปล่อยไปตามกลไกตลาดเสรี ห้ามรัฐบาลเข้าแทรกแซง ซึ่งเป็นแนวคิดทางปรัชญาของเศรษฐศาสตร์สำนักคลาสสิก และมีนักเศรษฐศาสตร์สำนักคลาสสิกบางท่านคือ ซาย ถึงกับบอก “อุปทานก่อให้เกิดอุปสงค์ในตัวเอง” (supply creates its own demand) หรือที่เรียกว่า “กฎของซาย” (Say’s Law) โดยมีสาระสำคัญคือ การที่ผู้ผลิตสินค้าและบริการขึ้นมาก็เพื่อนำไปแลกเปลี่ยนในตลาดกับสินค้าและบริการชนิดอื่น ดังนั้น สินค้าและบริการที่ผลิตขึ้นมาหรืออุปทานจึงก่อให้เกิดความต้องการในสินค้าและบริการอื่น ๆ หรืออุปสงค์เป็นมูลค่าที่เท่ากันเสมอ กฎของซายไม่ได้เน้นว่าอุปทานของสินค้าชนิดใดชนิดหนึ่งจะต้องก่อให้เกิดอุปสงค์สำหรับสินค้าชนิดนั้น แต่กฎนี้เน้นว่าเมื่อพิจารณาระบบเศรษฐกิจเป็นส่วนรวมแล้ว อำนาจซื้อย่อมเท่ากับอำนาจการผลิตหรือไม่ว่าการผลิตจะอยู่ในระดับใดก็ตาม รายได้ที่เกิดจากการผลิตในระดับนั้นจะก่อให้เกิดรายจ่ายเป็นจำนวนที่เท่ากันเสมอ ดังนั้นรายจ่ายจำนวนนี้ก็จะเป็นจำนวนที่เพียงพอที่จะสามารถซื้อสินค้าและบริการที่ผลิตขึ้นมาได้ทั้งหมด ซึ่งปัญหาสินค้าล้นตลาด (market glut) หรือการผลิตสินค้ามากเกินความต้องการ (overproduction) จะเกิดขึ้นไม่ได้ ถ้าหากว่าขณะใดขณะหนึ่งมีการผลิตสินค้าชนิดหนึ่งมากเกินไป ก็เป็นเพราะว่ามีการผลิตสินค้าชนิดอื่น ๆ น้อยเกินไปเมื่อเทียบกับสินค้าชนิดนั้น แต่ไม่ใช่ว่าการผลิตสินค้าทุก ๆ ชนิดมากเกินไปในขณะเดียวกัน ดังนั้นสินค้าชนิดหนึ่งที่ล้นตลาดจึงเกิดขึ้นพร้อม ๆ กันกับที่สินค้าชนิดอื่น ๆ ขาดตลาด การที่สินค้าชนิดอื่น ๆ ขาดตลาดนั้นเป็นเครื่องชี้ให้เห็นว่าผู้บริโภคมีความพอใจในสินค้าที่ขาดตลาดนั้น และถ้าหากว่ามีการแข่งขันโดยเสรีแล้ว ทรัพยากรก็จะเคลื่อนย้ายออกจากการผลิตสินค้าที่ล้นตลาดไปยังการผลิตสินค้าที่ขาดตลาด ทำให้ทั้งปัญหาสินค้าล้นตลาดและขาดตลาดถูกขจัดหมดสิ้นไป

 

           กฎของซายถือว่าได้สร้างเป็นความเชื่อและความศรัทธาในยุคนั้นในทำนองที่ว่า การเสนอ (สินค้า) จะสร้างความต้องการในสินค้านั้นให้เกิดขึ้นอยู่เสมอ แต่ต่อมาเมื่อเกิดเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลกอย่างรุนแรงช่วงทศวรรษ ๑๙๓๐ ปรากฎว่ามีสินค้าล้นตลาดเป็นจำนวนมาก ทำให้เกิดการตกงานหลายล้านคน สร้างความฉงนงงงวยให้กับสาวกเศรษฐศาสตร์สำนักคลาสสิกเป็นอย่างมาก ว่าเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวได้ย่างไร?

 

          ความสัมพันธ์ของอุปสงค์และอุปทานเมื่อมองตามพื้นฐานความเป็นจริงแล้วจะพบว่า :

             - การที่ในภาวะเศรษฐกิจดีนั้น ประชาชนมีกำลังจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น ความอยากแฝงที่ถูกเก็บอยู่ จะทำงานได้เป็นอย่างดีเยี่ยม เมื่อเห็นสินค้าอะไร ก็อยากซื้อ อยากครอบครอง ตามกำลังซื้อของตนที่เพิ่มขึ้น เป็นภาวะที่ความอยากนำสติ ทำให้เห็นภาพเปรียบเสมือน อุปทานก่อให้เกิดอุปสงค์ หรือ การเสนอ (สินค้า) ย่อมทำให้เกิดความต้องการ (ซื้อสินค้า) จากผู้บริโภคเสมอ ทำให้อุปทานดูโดดเด่นขึ้นมาเหนืออุปสงค์ แต่ในความเป็นจริงแล้ว เป็นกระบวนการทำงานของความอยากแฝงที่ทำให้เกิดการบริโภคอย่างไร้สติ เนื่องจากเศรษฐกิจดี มีรายได้เพิ่มมากขึ้น เกิดการเสพติดการบริโภคสินค้าและบริการ หรือที่เรียกว่า ถูกลัทธิบริโภคครอบงำนั่นเอง

 

             - การที่ในภาวะเศรษฐกิจไม่ดีนั้น ประชาชนส่วนใหญ่มีกำลังการจับจ่ายใช้สอยน้อยลง สติในการบริโภคจะกลับมาทำงานในทันทีกลบการทำงานของความอยากแฝงโดยอัตโนมัติ จะสังเกตได้ง่าย ๆ ก็คือ คนส่วนใหญ่เมื่อมีรายได้ลดลงการจับจ่ายใช้สอยก็จะมีความละเอียดเพิ่มขึ้น คิดโน่น คิดนี่ มากขึ้น เปรียบเสมือนเป็นการเรียกสติในการบริโภคกลับคืนมาทำหน้าที่อีกครั้ง หลังจากที่ปล่อยให้ความอยากแฝงทำงานออกนอกหน้านอกตาอยู่นาน ดังนั้น ในภาวะดังกล่าวจะเห็นภาพชัดเจนของบทบาทความต้องการ (demand) เป็นตัวกำหนดการเสนอปริมาณสินค้า (supply) ไม่ว่าผู้ขายจะเสนอโปรโมชั่น ลดแลกแจกแถมอย่างไร ก็ไม่อาจกระตุ้นต่อมความอยากแฝงได้มากนัก เนื่องจาก สติเริ่มทำงานดีขึ้น จนสะกดความอยากนั้นไม่ให้แสดงอิทธิฤทธิ์ได้โดยง่าย

 

          จากพื้นฐานของอุปสงค์และอุปทานดังกล่าว จะเห็นได้ว่า คนส่วนใหญ่มีพื้นฐานของความอยากเป็นพลังการขับเคลื่อนที่สำคัญ ขึ้นอยู่กับปัจจัยและภาวะแวดล้อม ณ เวลานั้นว่า ความอยากจะเป็นแบบไร้สติ (ลัทธิบริโภคนิยม) หรือ เป็นความอยากแบบมีสติ (บริโภคด้วยปัญญา) สิ่งสำคัญและเป็นหัวใจที่จะทำให้ระบบเศรษฐกิจเกิดสมดุลและมีความยั่งยืนก็คือ การบริหารจัดการความต้องการ (demand) เพื่อให้เกิดเป็นการบริโภคด้วยปัญญาตามแนวทางของพุทธศาสนา เนื่องจากความต้องการนั้นจะบีบคั้น บังคับ จัดระเบียบให้กับอุปทาน หันกลับเข้าสู่จุดสมดุลโดยอัตโนมัติ... เช่น

 

         หากเราพิจารณาจากจุดเล็ก ๆ สมมติว่า ทุกคนรู้จักความเพียงพอ ไม่หลงใหลในสินค้าที่ฟุ่มเฟือย สนใจแต่สินค้าที่มีประโยชน์และจำเป็นต่อการดำเนินชีวิต ดังนั้น ทรัพยากรที่ใช้ในการผลิตสินค้าฟุ่มเฟือยจะถูกโยกย้ายถ่ายโอนมาสู่การผลิตสินค้าที่จำเป็นและมีประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิตมากขึ้น ซึ่งก็เป็นไปตามกฎอุปสงค์ – อุปทาน ตามปรกติ ที่สำคัญคือ จะเกิดการแข่งขันกันเองในภาคการผลิต เพื่อแย่งชิงกลุ่มลูกค้า ผู้ผลิตรายใดสามารถผลิตสินค้าที่มีคุณภาพได้มากกว่าก็จะครองสัดส่วนของตลาดได้มาก และยิ่งหากผู้ผลิตรายใดสามารถผลิตสินค้าที่มีคุณภาพและลดมลพิษ รวมทั้งใช้ทรัพยากรอย่างประหยัดแล้วก็จะยิ่งครองสัดส่วนของตลาดได้มาก ซึ่งกระบวนการดังกล่าวที่เกิดขึ้นจากการบริโภคด้วยปัญญานั้นจะช่วยคัดสรรและจัดระเบียบการผลิตให้ใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพรวมทั้งช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมไปในตัว

 

        การแก้ปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจรวมทั้งเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้กับเศรษฐกิจ เพื่อพัฒนาสู่ความยั่งยืนที่สำคัญนั้นคือ การบริหารจัดการความต้องการ (demand) ของตัวเราเองก่อนในเบื้องแรก เพื่อพัฒนาไปสู่การบริโภคด้วยปัญญาเป็นเบื้องถัดไป ซึ่งถือได้ว่าเป็นการแก้ปัญหาและวางรากฐานเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้กับระบบเศรษฐกิจและธุรกิจในระยะยาวให้มีการเติบโตอย่างมีคุณภาพและยั่งยืน

 

        บางคนอาจจะสงสัยว่ารัฐบาลนั้นสามารถบริหารจัดการความต้องการ (demand) โดยตรงได้หรือไม่ เพราะเห็นเวลาที่เกิดวิกฤติเศรษฐกิจขึ้นมาคราใด รัฐบาลมักจะออกมาพูดถึงการใช้มาตรการทางด้านการกระตุ้นอุปสงค์มวลรวม (aggregate demand) ทั้งในด้านการบริโภค การลงทุน รวมทั้งการใช้จ่ายภาครัฐ

         ที่จริงแล้ว การบริหารจัดการทางด้านอุปสงค์โดยผ่านเมนูนโยบายทางเศรษฐกิจของภาครัฐบาลนั้น เป็นเพียงการกระตุ้นความอยากแฝง (ที่ในภาวะเศรษฐกิจตกต่ำความอยากแฝงนี้จะทำงานลดลง) ให้กลับมาทำงานอย่างขยันขันแข็งเพิ่มขึ้น เพื่อไม่ให้ภาวะเศรษฐกิจถดถอยหรือตกต่ำไปมากกว่าเดิม (ยอดขายสินค้าและบริการลดลง) ซึ่งจะส่งผลเป็นห่วงโซ่ถึงการจ้างงงาน ท้ายที่สุดการกระตุ้นอุปสงค์ของทางภาครัฐดังกล่าวก็เป็นเพียงสะพานข้ามผ่านไปสู่ภาคการผลิตนั่นเอง ซึ่งในระยะสั้นถือว่ามีความจำเป็นมาก

         แต่ในระยะยาว รัฐบาลจะต้องหันกลับมาวางรากฐานของการส่งเสริมภูมิคุ้มกันทางเศรษฐกิจให้เข้มแข็ง โดยผ่านทาง การบริหารจัดการทางด้านอุปสงค์อย่างเป็นองค์รวม (ไม่ใช่ฉาบฉวยเหมือนยามวิกฤติเศรษฐกิจ) แต่ท้ายที่สุดพลังการขับเคลื่อนทางการบริหารจัดการความอยาก (อุปสงค์) ที่สำคัญเพื่อให้ได้มาซึ่ง การบริโภคด้วยปัญญา ก็คือ เราเองต้องเรียนรู้ ฝึกฝนจนมีความเข้าใจ และมีสติอยู่ตลอดเวลาในการบริโภคนั่นเอง (ซึ่งการบริโภคอย่างมีสติก็คือกระบวนการบริโภคที่มีการวิเคราะห์อย่างเป็นองค์รวมถึงประโยชน์การใช้สอยเทียบสัมพัทธ์กับรายได้ตามหลักโยนิโสมนสิการ ดังที่เคยได้อธิบายไว้นั่นเอง) 

 

********************************************************************************************************************

หมายเลขบันทึก: 503101เขียนเมื่อ 22 กันยายน 2012 10:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 กันยายน 2012 22:23 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)
  • ขอบคุณค่ะ..หลักคิดที่เริ่มจากการพิจารณาตน เห็นโทษทุกข์ของการสนองความอยากมีอยากได้จนเกินพอดี..

  • พุทธวิถีนำสู่หนทางการละเว้นกิเลสที่เกินพอดีเช่นนั้น..

ขอบพระคุณ อาจารย์พี่ใหญ่ มากครับที่แวะมาให้กำลังใจและข้อคิดดี ๆ อยู่เสมอ...

ขอบคุณสำหรับกำลังใจที่ส่งผ่านทางดอกไม้จากทุก ๆ ท่านครับ... :)

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท