อบรมเรื่องเบาหวานและความดันโลหิตสูงที่ร้อยเอ็ด


เป็นโอกาสที่ได้นำความรู้และประสบการณ์การทำงานในคลินิกมาแลกเปลี่ยนกับทีมบุคลากรของ รพ.ร้อยเอ็ด

โรงพยาบาลร้อยเอ็ดได้จัดอบรมวิชาการเรื่อง "การพัฒนาความรู้โรคเบาหวานและความดันโลหิตสูง" สำหรับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ในจังหวัดร้อยเอ็ด ระหว่างวันที่ ๔-๕ ตุลาคม ๒๕๔๘ โดยมีวัตถุประสงค์ ๒ ข้อคือ (๑) เพื่อให้แพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ในจังหวัดร้อยเอ็ด มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูง (๒) เพื่อให้แพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ในจังหวัดร้อยเอ็ด มีแนวทางในการดูแลผู้ป่วยเบาหวานและความดันโลหิตสูงที่ถูกต้องและลดการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายได้

ทีมวิทยากร ประกอบด้วย ศ.นพ.เทพ หิมะทองคำ รศ.พญ.สุนิตย์ จันทรประเสริฐ พญ.อารยา ทองผิว และดิฉัน ออกเดินทางจากกรุงเทพฯ ตั้งแต่เย็นวันที่ ๓ ตุลาคม ๒๕๔๘ ทำงานล่วงหน้าไป ๑ วัน พอวันที่ ๕ ตุลาคม ก็มี พญ.ฉายศรี สุพรศิลป์ชัย และ พญ.สุพัตรา ศรีวณิชชากร ตามมาสมทบ

การอบรมครั้งนี้แปลกไปกว่าทุกครั้ง เพราะวิทยากรได้ไปดูการทำงานของแพทย์และทีมงานในพื้นที่จริง เราแบ่งเป็น ๒ ทีม อาจารย์เทพ อาจารย์สุนิตย์และดิฉัน ไปตรวจเยี่ยมการทำงานใน รพ.ร้อยเอ็ด ทั้ง OPD, ER, Ward, ICU ทุกแผนกที่มีการดูแลผู้ป่วยเบาหวานและความดันโลหิตสูง รวมทั้ง PCU เขตเทศบาล ซึ่งตั้งอยู่ที่ รพ. ร้อยเอ็ดด้วย เรา round OPD/ward ตั้งแต่ ๐๗.๐๐-๑๒.๐๐ น. ดู case ผู้ป่วยจริงๆ สอนกันข้างเตียงเลย บาง case ก็ศึกษาข้อมูลจากแฟ้มประวัติผู้ป่วย แล้ว discuss เรื่องการดูแลผู้ป่วยและการทำงานของทีม เป็นโอกาสที่ได้นำความรู้และประสบการณ์การทำงานในคลินิกมาแลกเปลี่ยนกับทีมบุคลากรของ รพ.ร้อยเอ็ด และดิฉันเห็น "ความเก๋า" ของทั้งอาจารย์เทพและอาจารย์สุนิตย์

ในช่วงเวลาเดียวกัน ทีมคุณหมออารยา ที่มีคุณหมอฉายศรีและคุณหมอสุพัตรา มาร่วมสมทบในวันที่ ๕ ตุลาคม ก็ออกไปเยี่ยม รพ.ชุมชน PCU และชุมชน

ช่วงบ่าย ๑๓.๓๐-๑๖.๓๐ น.วันแรกอาจารย์เทพบรรยายความรู้ใหม่ๆ เกี่ยวกับเบาหวานและความดันโลหิตสูง ใช้เวลาประมาณ ๒ ชั่วโมง ตามด้วยการให้ความเห็นสั้นๆ ของวิทยากรทุกคนที่ไปเห็นการดูแลผู้ป่วยจริงๆ มาแล้ว สำหรับบ่ายของวันที่สองไม่มีการบรรยาย วิทยากรทุกคนสรุปภาพรวมจากสถานการณ์จริงว่าอะไรที่ดีอยู่แล้ว อะไรเป็นโอกาสที่จะพัฒนา พร้อมทั้งข้อเสนอแนะ

ช่วงบ่ายของทั้ง ๒ วัน ท่าน ผอ.และรอง ผอ.รพ.ร้อยเอ็ด อยู่ในห้องประชุมด้วย เป็นการย้ำให้บุคลากรเห็นว่าผู้บริหารให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ แพทย์ พยาบาล และบุคลากรอื่นๆ ที่ดิฉันได้สัมผัสมีความตั้งใจและกระตือรือร้นที่จะเรียนรู้ ต้องการพัฒนางานของตนให้ดียิ่งขึ้น พวกเราทีมวิทยากรจึงไม่รู้สึกเหน็ดเหนื่อย แม้จะต้องตื่นเช้ากว่าปกติและทำงานตลอดทั้งวัน

งานที่เกี่ยวเนื่องกันยังมีต่อในวันที่ ๖ ตุลาคม เป็นเวทีประชาคมเพื่อการวางแผนเชิงกลยุทธ์ความมั่นคงทางสุขภาพและการมีส่วนร่วม กรณีโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูง เขตเทศบาลเมืองร้อยเอ็ด กำหนดการในช่วงเช้าเวลา ๐๙.๓๐-๑๒.๐๐ น.เป็นการอภิปรายโดยนายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองร้อยเอ็ด อาจารย์เทพ อาจารย์อารยา คุณหมอฉายศรี และมีคุณหมอสุพัตราเป็นผู้ดำเนินการและร่วมอภิปรายด้วย ส่วนช่วงบ่ายเป็นการแบ่งกลุ่มทำแผนกลยุทธ์ นำเสนอ และสรุปแผนยุทธศาสตร์

วันที่ ๗ ตุลาคม อาจารย์อารยายังต้องอยู่ที่ร้อยเอ็ดต่อ ในภารกิจที่เกี่ยวกับเรื่องของคุณภาพ การบริหารจัดการความเสี่ยง และอื่นๆ เพราะท่านถนัดทั้งเรื่องการดูแลผู้ป่วยเบาหวานและเรื่องของ HA

วัลลา ตันตโยทัย วันที่ ๖ ตุลาคม ๒๕๔๘ 

หมายเลขบันทึก: 5027เขียนเมื่อ 6 ตุลาคม 2005 14:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 พฤษภาคม 2012 10:29 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
สุนทรี นาคะเสถียร
ดิฉันได้มีโอกาสติดตามคณะของอ.เทพและอ.วัลลาไปเยี่ยม จ.ร้อยเอ็ดด้วย โดยในวันแรกได้แยกไปเยี่ยม ชุมชนหนองหญ้าม้ากับอ.อารยา (ที่นี่มีเรื่องให้ได้เรียนรู้มากมายทีเดียว จะค่อย ๆ ทยอยเล่าให้ฟังนะคะ) วันนี้ดิฉันขอเล่าเรื่องอันเกี่ยวเนื่องกับระดับนำ้ตาลในเลือดก่อน เพื่อให้สอดคล้องกับอ.วัลลาที่ได้เปิดประเด็นไว้ ขณะที่นั่งสนทนากับชาวบ้านและอสม.อยู่นั้น เป็นเวลาเดียวกับที่ทางโรงพยาบาลลงมาตรวจระดับนำ้ตาลในเลือด มีผู้เป็นเบาหวานทยอยกันมาเจาะเลือดเป็นระยะ ๆ ดิฉันตั้งข้อสังเกตุพบว่า ระดับนำ้ตาลของผู้มารับการตรวจส่วนใหญ่จะอยุ่ตำ่กว่า 100 มีบางคนได้ 40กว่า 60กว่า อย่างที่รู้ ๆกัน เมื่อพูดคุยจะได้ข้อมูลว่า อดนำ้ อดอาหาร ตั้งใจมาเจาะเลือดกันตั้งแต่เย็นวาน หลายราย เริ่มระมัดระวังอาหารการกินกันมาหลายวันก่อนหน้า ทำให้วันมาตรวจมีระดับนำ้ตาลในเลือดตำ่กว่าปกติ เรื่องนี้กลายเป็นเรื่องใหญ่ที่ดิฉันคิดว่าต้องเร่งทำความเข้าใจและให้ความรู้กับทั้งบุคลากรรวมทั้งประชาชน ให้ได้ตระหนักถึงการเปลี่ยนแปลงของระดับนำ้ตาล และเป้าหมายของระดับนำ้ตาลในเลือดก่อนอาหาร หลังอาหาร แม้บุคลากรเองส่วนใหญ่เองก็ยังไม่ค่อยเข้าใจเรื่องระดับนำ้ตาลหลังอาหาร จึงเป็นเรื่องที่คงต้องใช้แรงอีกมากทีเดียว ปัจจุบันทางAmerican Diabetes Association แนะนำให้กำหนด เป้าหมายของระดับนำ้ตาลในเลือดก่อนอาหารของผู้เป็นเบาหวานไว้ที่ไม่เกิน 130(คนไม่เป็น ต้อง น้อยกว่า 100) ส่วนหลังอาหาร 2 ชั่วโมงควรไม่เกิน 180 (คนไม่เป็น ต้อง น้อยกว่า 140) ทั้งนี้หากเลย 2 ชั่วโมงก็ควรจะตำ่กว่าเกณฑ์นี้นะคะ มาช่วยกันเร่งถ่ายทอดความรู้ความเข้าใจแก่ผู้เป็นเบาหวานให้ตระหนักถึงการรักษาระดับนำ้ตาลในเลือดให้ดีทุกเวลา กันเถอะนะคะ เผชิญหน้ากับความจริงเพื่อสุขภาพที่ดีอย่างต่อเนื่องค่ะ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท