ครูเพื่อศิษย์ส่งเสริมให้ศิษย์สนุกกับการเรียน : 1. สร้างทักษะใจจดจ่อ


ความรู้สึกสนุกกับการเรียนเป็นทักษะอย่างหนึ่ง ที่ได้จากการฝึกฝน ใครมีทักษะนี้ ถือว่าเป็นคนโชคดี และผมเชื่อว่า ทักษะนี้เป็นทักษะที่อยู่ในส่วน affective domain ของการศึกษา

ครูเพื่อศิษย์ส่งเสริมให้ศิษย์สนุกกับการเรียน  : 1. สร้างทักษะใจจดจ่อ

ผมมีความเห็นว่า มนุษย์ในศตวรรษที่ ๒๑ มีความยากลำบากหลายประการ ในท่ามกลางบรรยากาศที่มีเครื่องมืออำนวยความสะดวกสบายครบครัน หรือมีมากเกินพอดี   ความยากลำบากอย่างหนึ่งคือการเอาชนะสิ่งเร้าที่ดึงความสนใจต่อปัจจุบันขณะ  

พูดง่ายๆ ว่าคนสมัยปัจจุบันอ่อนแอในทักษะใจจดจ่อ   ไม่มีสมาธิอยู่กับปัจจุบันขณะ    หรือมีก็ในระดับที่คุณภาพต่ำ   

พูดใหม่ว่าคนสมัยปัจจุบันตกเป็นทาสของสภาพแวดล้อม   ไม่สามารถเป็นตัวของตัวเองได้    ถูกสิ่งเร้าที่หลากหลายและเข้ามาปะทะตัวเราในนามของ social media, โทรศัพท์ไร้สาย, และเครื่องสื่อสาร อิเล็กทรอนิกส์หลายหลายชนิด   และสาระที่สื่อสารออกมาผ่านช่องทางต่างๆ มีสาระบ้าง ไร้สาระบ้าง    จริงบ้างเท็จบ้าง    และหลายอย่างเป็นมายาหลอกลวงเอาประโยชน์จากเราโดยเราไม่รู้ตัว

นักเรียนและนักศึกษา ก็ตกอยู่ใต้อิทธิพลของสิ่งเหล่านี้   ทำให้หลายคนมีสภาพที่จิตใจเลื่อนลอย ไม่มีสมาธิพุ่งอยู่กับการเรียน   ฝรั่งเขาจึงมีคำว่า student engagement    ซึ่งผมขอใช้คำไทยง่ายๆ ว่านักเรียนสนุกกับการเรียน   คือผูกใจให้จดจ่ออยู่กับการเรียน   ในสมัยนี้การผูกใจนักเรียนให้จดจ่ออยู่กับการเรียนกลายเป็นเรื่องใหญ่    เป็นวิชาการ เป็นเทคนิกสำคัญ    ถึงกับมีหนังสือ มีเว็บไซต์ มีสมาคม มีหน่วยงานในมหาวิทยาลัยทำหน้าที่ส่งเสริมเรื่องนี้   และมีหน่วยงานวัด student engagement ของแต่ละสถาบันอุดมศึกษาและรายงานให้สังคมรู้   ถือเป็นการวัดคุณภาพการศึกษาทางหนึ่ง หน่วยงานนี้ชื่อ NSSE   และ CCSSE

ในประเทศไทย ครูอาจารย์บ่นกันมากว่าเด็กสมัยนี้ไม่เหมือนเด็กสมัยก่อน   เด็กสมัยก่อนมาโรงเรียนก็ตั้งใจเรียน มีที่ไม่ตั้งใจเรียนก็เป็นส่วนน้อย    แต่ในชั้นเรียนสมัยนี้มีเด็กไม่ตั้งใจเรียนตั้งครึ่งค่อนห้อง    ก่อความท้อใจแก่ครู

หนังสือ Student Engagement Techniques : A Handbook for College Faculty เขียนโดย ศาสตราจารย์ Elizabeth F. Barkley เป็นหนังสือยอดนิยมเล่มหนึ่ง    ผมจึงนำมาตีความบันทึกฝากแก่ครูเพื่อศิษย์เป็นตอนๆ   เพื่อติดอาวุธวิธีผูกใจศิษย์ ผูกสมาธิศิษย์ เข้ากับการเรียน   และที่สำคัญกว่านั้น คือการช่วยให้ศิษย์ มีทักษะจิตจดจ่อกับเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ในท่ามกลางความวุ่นวาย

ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้สารภาพว่า หนังสือเล่มนี้เกิดจากมรสุมชีวิตการเป็นครูอาจารย์ของตนเอง    ที่หลังจากไปทำหน้าที่คณบดีเสีย ๑๐ ปี    พอกลับมาสอนใหม่ก็ตกใจว่านักเรียนเปลี่ยนไปจากเดิม   และการสอนแบบบรรยายหน้าชั้นอย่างที่เคยทำก็โดนนักเรียนร้องเรียนว่าสอนไม่ได้เรื่อง    จึงเป็นที่มาของการค้นคว้าและทดลองวิธีสอนใหม่ๆ ให้ได้ใจนักเรียนสมัยปัจจุบันมาอยู่กับบทเรียน    เขียนออกมาเป็นหนังสือยอดนิยมเล่มนี้    ที่ผมจะถอดความ ตีความ และสะท้อนความคิด    ออกบันทึกเป็นตอนๆ

คำว่า student engagement ที่ผมแปลว่านักเรียนสนุกกับการเรียน นั้น มีความหมายซับซ้อน   มีหลายปัจจัยหรือหลายมิติเป็นส่วนผสมของคำนี้ในทางปฏิบัติ    หลักการพื้นฐานคือ คนเราจะเรียนสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้ดีเมื่อมีความสนใจ มีใจจดจ่ออยู่กับสิ่งนั้น   หรือกล่าวว่า การเรียนรู้เริ่มต้นจากความสนใจ   

ความยากอยู่ที่ครูมีคู่แข่ง หรือนักเรียน/นักศึกษา มีสิ่งเร้าที่น่าสนใจกว่าการเรียนมากมายหลายอย่าง    ทำอย่างไรครูจะช่วยให้ศิษย์แหวกสิ่งเร้าเหล่านั้น   ทำใจออกมามีสามาธิอยู่กับการเรียนให้ได้    โดยนักเรียนรู้สึกว่าการเรียนมีความหมายต่อชีวิตของตน 

แน่นอน มีทฤษฎีเกี่ยวกับสภาพ นักเรียนสนุกกับการเรียน มากมาย    ทฤษฎีหนึ่งกล่าวว่า student engagement คือส่วนที่ซ้อนกัน ระหว่าง motivation กับ active learning   ซึ่งหมายความว่า องค์ประกอบสำคัญที่สุด ๒ อย่างของ นักเรียนสนุกกับการเรียน คือแรงบันดาลใจ กับการเรียนแบบที่ผู้เรียนลงมือปฏิบัติ (learning by doing) 

นักการศึกษาบางคนบอกว่า เมื่อเรียนภายใต้ปัจจัยสำคัญ ๒ ข้อข้างบน จะเกิด transformative learning    คือเกิดการเปลี่ยนแปลงภายในตัวนักเรียน ที่เป็นการเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐาน   หรือเกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงคุณค่า

 นักเรียนสนุกกับการเรียน จึงเป็นทั้ง means/process และเป็น end/product ของการเรียนรู้    ผมมีความเชื่อจากการปฏิบัติด้วยตนเองว่า ความรู้สึกสนุกกับการเรียนเป็นทักษะอย่างหนึ่ง ที่ได้จากการฝึกฝน   ใครมีทักษะนี้ ถือว่าเป็นคนโชคดี    และผมเชื่อว่า ทักษะนี้เป็นทักษะที่อยู่ในส่วน affective domain ของการศึกษา

สะท้อนความคิด

  • คำแนะนำข้อที่ ๑  อย่าเน้นที่การสอน  ให้เน้นที่การเรียน    นักเรียนก็จะจดจ่อกับการเรียนของตนเองอย่างเป็นธรรมชาติ
  • คำแนะนำข้อที่ ๒ หากจัดชั้นเรียนแบบเรียนกลับทาง และเรียนให้รู้จริง ตามในบันทึก ชุดนี้ จะไม่ต้องกังวลเรื่องการผูกใจศิษย์เลย เพราะใจของเขาจะผูกอยู่กับการเรียนรู้ของเขาตลอดเวลา  

วิจารณ์ พานิช

๑๗ ก.ย. ๕๕

หมายเลขบันทึก: 502617เขียนเมื่อ 18 กันยายน 2012 04:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 ธันวาคม 2012 20:24 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

จะนำไปใช้กับการสร้างเสริมสุขภาพของประชาชนค่ะ

ขอบพระคุณครับ .. และขออนุญาตทำเป็นเอกสาร นำไปฝากคณะครูที่รร.ทีปราษฎร์พิทยา เกาะสมุย ในการพูดคุยเรื่องการพัฒนาการเรียนการสอน ในวันที่ 22 ตค.นี้ครับ

เป็นวิธีที่ดีมากค่ะและจะนำไปจัดทำplanactionและหากลุ่มแนวร่วมในการทำงานที่รร

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท