Good day Toronto 7


สิ่งที่ฉันรู้สึกว่าเหมือนกันคือ หัวใจของการพยาบาล

ช่วงดูงาน ก็จะเขียนบันทึกสิ่งที่เห็นและความคิดที่เกิดขึ้นเกือบทุกวัน...เพลินดี มาดูงานคนเดียวก็ต้องมีตัวเองเป็นเพื่อนที่ดีที่สุด


The heart of nursing

วันนี้ไปสังเกตการทำงานของพยาบาลที่ทำงานที่หอผู้ป่วยอายุรกรรม นัดหมายตอน 8โมงเช้า   Lori บอกว่าให้ไปพบที่สำนักงานก่อน เธอจะเดินไปส่ง พบ Lori แล้วก็เดินกันไปที่ตึก ผ่าน  Security and service office ก็แวะทำบัตรดูงานก่อน ทำให้ไปถึงที่นัดหมายช้า Lori แนะนำให้รู้จักกับ Mary ซึ่งเป็นผู้จัดการการดูแลผู้ป่วย Patient care manager ของหอผู้ป่วยนี้ จากนั้น Mary ก็พาไปที่ห้อง conference ของหอผู้ป่วย ที่นั้นกำลังมีการประชุมทีมการดูแลเพราะจะมีผู้ป่วย 2 คนกลับบ้าน ทีมจะมาวางแผนร่วมกัน ทีมประกอบด้วย พยาบาลเจ้าของไข้ที่ให้การดูแลผู้ป่วย เจ้าหน้าที่ co-op แพทย์ประจำบ้าน นักโภชนาการ เภสัชกร นักฝึกพูด พยาบาลเจ้าของไข้รายงานอาการและประเด็นความต้องการการดูแล ขณะที่ทุกคนรับฟังแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับผู้ป่วย และอภิปรายเกี่ยวกับเป้าหมายการดูแลและแผนการดูแลที่แต่ละวิชาชีพสามารถจะให้การช่วยเหลือได้ ดีจังที่ได้เห็นการทำงานเป็นทีม ทุกคนแบ่งปันข้อมูล แสดงและรับฟังความคิดเห็นและความรู้กัน และสรุปถึงเป้าหมายการดูแลและสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับคนไข้ร่วมกัน

ประชุมเสร็จ Mary ก็ให้ฉันตามสังเกตการทำงานของ Johnana  พยาบาลระดับปฏิบัติการ ซึ่ง Johnana เริ่มงานของวัน โดยเข้าไปแนะนำตัวเอง ติดตามประเมินอาการของผู้ป่วยที่ได้รับมอบหมาย สอบถามอาการ ประเมินสัญญาณชีพ และค่าความอิ่มตัวของออกซิเจน จดข้อมูลลงกระดาษ ถามถึงความต้องการและความกังวล พูดคุยครู่หนึ่ง จากนั้นก็เดินไปห้องคนไข้คนอื่นต่อ กว่าจะครบ 4 คนก็เกือบชั่วโมง พอประเมินอาการเสร็จ Johnana เริ่มให้การพยาบาลตามปัญหาที่ได้ประเมินหมุนไปที่คนไข้แต่ละคน ช่วยอาบน้ำ เช็ดตัว ให้ยาฉีด ทำแผล หรือช่วยจัดการอาการ เดินไปเดินมาเข้าห้องโน้น ออกห้องนี้วุ่นวายดี ยังไม่ได้นั่งเลย พอถึง 9.30 น. เป็นเวลาพักของเธอ เธอก็ส่งต่อข้อมูลผู้ป่วยและฝากเพื่อนพยาบาลที่ยังไม่ถึงเวลาพักดูแลคนไข้ต่อ แต่เอาเข้าจริงๆ กว่าจะได้พักก็เกือบ 10 โมง เมื่อถึงเวลาพัก ฉันเลือกที่สังเกตเงียบ หาอะไรอ่าน ถึงมีคำถามจะถามก็เงียบไว้ อยากให้เขาได้พักจริงๆ ไม่ต้องมาตอบคำถามของฉันอยู่ คิดถึงใจเขาใจเรา เป็นฉัน ฉันก็อยากอยู่เงียบๆ คนเดียว ไม่อยากมีคลื่นรบกวน ฉันว่าการได้อยู่เงียบๆ อยู่กับตัวเอง ไม่ต้องคิดอะไร สักช่วงเวลาสั้นๆ ของวัน ก็เป็นการเติมพลังให้ชีวิตอีกครั้งหนึ่ง

พอกลับจากพัก Johnana ก็เริ่มไปติดตามผลการพยาบาล สอบถามอาการและให้การพยาบาลผู้ป่วยต่อ เช่นเคย เธอเดินเข้าห้องโน้นออกห้องนี้ และกลับมานั่งบันทึกงาน ดูแผนการรักษา และให้ยา ฉันก็ตามทุกก้าว และสังเกตสิ่งแวดล้อมรอบตัวจนถึงเที่ยง จึงลากลับ เพราะบ่ายมีอีกนัดหนึ่ง

ถามตัวเองว่า มีอะไรแตกต่างระหว่างที่แคนาดากับเมืองไทย แน่นอน ระบบการพยาบาลที่แตกต่าง ที่ Sunnybrook hospital  ระบบการทำงานของพยาบาลเป็นแบบการพยาบาลเจ้าของไข้ พยาบาล 1 คน รับผิดชอบดูแลคนไข้ 4 คน พยาบาลจัดการดูแลแบบครบถ้วนทั้งหมดเกี่ยวกับคนไข้คนนั้น ส่วนใหญ่มี 2 เวร คือกะละ 12 ชั่วโมง แต่ที่บ้านเรา พยาบาลไทยทำงานเป็นทีม ประกอบด้วย หัวหน้าทีม พยาบาลบริหารยาและสมาชิกทีม ทีมหนึ่งดูแลคนไข้ 14 คน พูดถึงเรื่องการทำงานเป็นทีมเป็นอีกหนึ่งประเด็นที่คงต้องกลับมานั่งสะท้อนคิดอีกครั้งวันหลัง

สิ่งที่ฉันรู้สึกว่าเหมือนกันคือ หัวใจของการพยาบาล ฉันเห็นว่าทั้งพยาบาลไทย(ตัวฉันและพยาบาลที่ฉันรู้จัก) และพยาบาลแคนาดามีคุณลักษณะที่เหมือนกัน ความเอาใจใส่ เราไม่ได้เพิกเฉยต่อความกังวลใจของคนไข้ สิ่งที่เห็นจนคุ้นตาคือท่าทางการรับฟังอย่างเอาใจใส่ และให้การดูแลด้วยความเอื้ออาทรกับคนไข้ เพียงแต่การแสดงออกถึงความเอื้ออาทรของคนไทยกับคนแคนาดาก็ต่างกัน พยาบาลไทยนุ่มนวลกว่า ของแคนาดาก็ตรงๆ เปิดเผย I do care. อีกสิ่งหนึ่งที่เหมือนกันน่าจะเป็น พยาบาลแผนกอายุรกรรมที่ไหนก็ยุ่งเหมือนกัน ฉันนั่งสังเกตอยู่ที่เคาน์เตอร์ นั่งมองจนตาลาย เห็นพยาบาลเดินกันขวักไขว้ อาจเป็นเพราะที่  Sunnybrook เขาใช้ระบบพยาบาลเจ้าของไข้เลยมีพยาบาลขึ้นเวรเยอะในแต่ละเวร ประมาณ 8 - 10 คน แล้วมีพยาบาล APN อีก ทุกคนไม่ค่อยได้นั่งอยู่ที่เคาน์เตอร์เลย อยู่ห้องคนไข้เป็นส่วนใหญ่ จะนั่งก็ตอนบันทึกการพยาบาล นึกถึงตัวเองแต่ละวันของการสอนนักศึกษา เวลาผ่านไปเร็วจัง ยังไม่ได้นั่งเลย ครั้งหนึ่งลูกศิษย์ถามว่าอาจารย์เป็นอย่างไรบ้างค่ะ ก็บอกว่าแต่ละวันเหมือนเดินจากหาดใหญ่ไปกรุงเทพฯ วันไหนยุ่งหน่อยก็ถึงเชียงใหม่เลย เพราะต้องเดินดูลูก ๆ นักศึกษาพยาบาล 8 คน ที่ดูแลคนไข้อยู่คนละมุมของหอผู้ป่วย

กุหลาบ ที่ป้ายรถเมล์ หน้าตึก K wing ของ Sunnybrook hospital ถ่ายระหว่างรอรถเมล์กลับหอ

คำสำคัญ (Tags): #palliative care#พยาบาล
หมายเลขบันทึก: 502127เขียนเมื่อ 13 กันยายน 2012 12:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 กันยายน 2012 12:32 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท