คณะเกษตรฯ มข.อบรมเกษตรกร จ.ร้อยเอ็ด ปลูกหญ้าและจัดการพืชอาหารสัตว์


การเก็บและถนอมพืชอาหารสัตว์ ไว้เป็นอาหารสัตว์ในช่วงฤดูแล้ง ที่ขาดแคลนหญ้าสด โดยทำเป็นหญ้าหมักหรือหญ้าแห้ง เป็นกรรมวิธีรักษาคุณค่าอาหารของพืชอาหารสัตว์ หากทำได้หญ้าจะมีคุณภาพดีและเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง

        ภาควิชาสัตวศาสตร์ คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดฝึกอบรมเรื่อง การผลิตพืชอาหารสัตว์โดยใช้ปริมาณน้ำน้อย ให้แก่เกษตรกรหมู่บ้านป่าเว่อ และหมู่บ้านป่าแหน ตำบลสวนจิก อำเภอศรีสมเด็จ จังหวัดร้อยเอ็ด จำนวน 20 คน และนักวิชาการพืชอาหารสัตว์  สถานีพืชอาหารสัตว์จังหวัดร้อยเอ็ด จำนวน 10 คน โดยรองศาสตราจารย์ ดร.วิโรจน์ ภัทรจินดา รองหัวหน้าภาควิชาสัตวศาสตร์ เป็นประธานเปิดและปิดการอบรมมีวิทยากรบรรยายโดย รองศาสตราจารย์ ดร.สุรเดช พลเสน รองศาสตราจารย์ ดร.วิโรจน์ ภัทรจินดา นางสาวนริศรา สวยรูป และนางสาวปาริชาติ คำฤาชา สังกัดภาควิชาสัตวศาสตร์ คณะเกษตรศาสตร์ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 7-8 กันยายน 2555 ณ สถานีทดลองและฝึกอบรมเกษตรกรรมร้อยเอ็ดคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จังหวัดร้อยเอ็ด
        การฝึกอบรม การผลิตพืชอาหารสัตว์โดยใช้ปริมาณน้ำน้อย มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการเผยแพร่ความรู้และความเข้าใจในการผลิตพืชอาหารสัตว์คุณภาพดีและการหมักเก็บเพื่อถนอมอาหารให้แก่เกษตร ซึ่งจะช่วยให้เกษตรกรสามารถเก็บรักษาอาหารหมักไว้ใช้ให้สัตว์กินในฤดูแล้งได้เป็นอย่างดี โดยในวันที่ 7 กันยายน 2555  ในภาคเช้ามีกิจกรรมการ มีหัวข้อการฝึกอบรมที่สำคัญคือ การปลูกและการจัดการพืชอาหารสัตว์ พันธุ์พืชอาหารสัตว์และการบำรุงรักษาดิน และ การถนอมพืชอาหารสัตว์และการทำหญ้าหมัก โดย รองศาสตราจารย์ ดร.สุรเดช พลเสน เป็นวิทยากรบรรยาย และในภาคบ่ายเป็นการฝึกปฏิบัติ การถนอมพืชอาหารสัตว์หรือการทำหญ้าหมักและสรุปผลการฝึกอบรม วิทยากรโดย รองศาสตราจารย์ ดร.วิโรจน์ นางสาวปาริชาต คำฤาชา และนางสาวนริศรา สวยรูป ซึ่งในวันที่ 8 กันยายน 2555 เป็นการเดินทางไปศึกษาดูงาน ณ ศูนย์พืชอาหารสัตว์ปากช่อง และศึกษาดูงานการปลูกหญ้าโดยใช้น้ำน้อย สหกรณ์โคนมพัฒนา จังหวัดนครราชสีมา
        หญ้าหมักหมายถึง พืชสดที่ผ่านการหมัก เพื่อรักษาธาตุอาหารในพืช ไม่ให้เน่าเปื่อย มีรสเปรี้ยวเล็กน้อย ทำนองเดียวกับการทำผักดอง ใช้เป็นอาหารโคและกระบือในฤดูแล้ง ซึ่งเป็นช่วงที่ขาดแคลนหญ้าสด การรักษาเนื้อเยื่อพืชไม่ให้เน่าเปื่อย เกิดจากกระบวนการหมักที่เกิดขึ้นในที่อับอากาศ ซึ่งอาศัยเชื้อจุลินทรีย์บางชนิด เช่น บัคเตรีในกลุ่มเล็กโตบะซิลัส บัคเตรีกลุ่มนี้จะย่อยแป้งในต้น ใบ หรือเมล็ดพืช และเปลี่ยนให้เป็นกรดแล็กติก ซึ่งเป็นกรดที่ช่วยรักษาเนื้อพืชไม่ให้เน่า โดยที่การทำหญ้าหมักต้องการรักษาความชื้นไว้ โดยใช้หลุมหมักซึ่งเรียกว่า ไซโลหรือหมักในถุงพลาสติกหนาก็ได้
        สำหรับการเลือกพันธุ์หญ้าเพื่อทำหญ้าหมัก ควรเลือกพันธุ์หญ้าที่มีแป้งและน้ำตาลมาก เช่น ต้นข้าวฟ่าง ข้าวโพด พืชทั้ง ๒ ชนิดนี้ทำหญ้าหมักได้หญ้าคุณภาพดีมาก นอกจากนี้ยังมี หญ้าเนเปียร์ หญ้ามอริชัส หรือหญ้าอื่นๆ ที่มีลักษณะอวบน้ำ ซึ่งจำเป็นจะต้องเติมกากน้ำตาลด้วย เพราะว่าหญ้าเหล่านี้มีแป้งเป็นส่วนประกอบน้อย ทำให้มีอาหารสำหรับเชื้อบัคเตรีไม่เพียงพอ อาจทำให้การหมักได้ผลไม่ที่ดีพอ

         คลิกชมภาพข่าว

         กิตติศักดิ์ สิงหา ข่าว/ภาพ

หมายเลขบันทึก: 502126เขียนเมื่อ 13 กันยายน 2012 12:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 กันยายน 2012 12:22 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท