KM (แนวปฏิบัติ) วันละคำ : 159. KT ไม่ใช่ KM


       KT ย่อมาจาก Knowledge Translation (ผมย่อเอง)     องค์การอนามัยโลกเขาส่งเสริม KT มาก ถึงขนาดจัดทำวารสาร WHO Bulletin ฉบับเดือน สค. ๔๙ เป็นฉบับ Knowledge Translation for Global Health (www.who.int/whobulletin/)     ผมเห็นด้วย ว่า KT มีความสำคัญ     แต่ยังไม่สำคัญเท่า KM หรือ KD (Knowledge Dynamics - เป็นคำที่ ศ. โนนากะ นิยมใช้     ท่านไม่ชอบคำว่า Knowledge Management พราะท่านบอกว่า ตัวความรู้นั้นเราเข้าไปจัดการไม่ได้     แต่ไปทำให้มันเกิดพลวัต (dynamics) ได้     ผมเห็นด้วยกับ ศ. โนนากะ    แต่หยวนว่าใช้ KM จนติดปากติดตาติดใจแล้วก็ยอมเลยตามเลย) 

      ถามว่า KT ต่างจาก KM (KD) อย่างไร     ผมคิดคำตอบขึ้นเอง (ไม่รู้ว่าถูกหรือผิด) ว่า KT เน้นที่การแปลง "ความรู้แจ้งชัด" ที่ได้จากการวิจัยไปสู่การใช้ประโยชน์     คือเอาความรู้แจ้งชัด หรือความรู้เชิงทฤษฎีมาใส่บริบทแล้วเอาไปใช้     KT จึงอยู่ใต้ความคิดที่ค่อนข้างเป็นเส้นตรง     และเป็นมิติเดียว  มีจุดเริ่มต้นและจุดจบ

       แต่ KM (KD) เริ่มได้จากหลายจุด     เริ่มจากความรู้แจ้งชัดก็ได้     เริ่มจากความรู้ฝังลึกของผู้มี Best Practice นอกองค์กรก็ได้ เริ่มจากการตั้งวง ลปรร. ในกลุ่มเพื่อนร่วมงานก็ได้     และจริงๆ แล้ว KM ต้องทำหลากหลายแบบหรือใช้ทุกแบบ     โดยความรู้ที่หมายปอง คือความรู้ฝังลึก หรือความรู้ปฏิบัติ     โดยนัยนี้อาจมองว่า KT เป็นส่วนหนึ่งของ KM ก็ได้

       ที่สำคัญ KM มีจุดเริ่มต้น แต่ไม่มีจุดจบ     คือทำต่อเนื่อง และยกระดับความรู้เรื่อยไป     ทำเป็นกลุ่ม เป็นเครือข่าย     แลกเปลี่ยนเรียนรู้ผ่านการปฏิบัติ    

       ที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ "พระเอก นางเอก" ของกิจกรรม     ผมเข้าใจว่าของ KT พระเอกนางเอกคือนักวิจัย     แต่ของ KM คือ "คุณกิจ" ซึ่งหมายถึงบุคคลหรือกลุ่มบุคคล ระดับผู้ปฏิบัติหน้างาน     

       ดังนั้นพลัง และคุณค่าของ KT กับ KM (KD) ไม่เหมือนกัน     คุณค่าด้านสร้างความสัมพันธ์แบบใหม่ในหมู่ผู้ร่วมงาน     คุณค่าด้านความเคารพเห็นคุณค่าซึ่งกันและกัน ฯลฯ  น่าจะไม่เหมือนกัน  หรือแตกต่างในระดับคนละสเกล (สูงกว่ากันเป็นสิบเท่าขึ้นไป) 

       กล่าวอีกนัยหนึ่ง KT มีดีกรีของ empowerment ต่อบุคคลที่เป็นคนเล็กคนน้อย ต่ำกว่า KM

       และกิจกรรม KT ยังมีลักษณะ provider - oriented    ในขณะที่กิจกรรม KM เน้น user - oriented

วิจารณ์ พานิช
๒๙ สค. ๔๙

คำสำคัญ (Tags): #เครื่องมือkm
หมายเลขบันทึก: 50180เขียนเมื่อ 15 กันยายน 2006 10:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 20:20 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

เรียนคุณหมอวิจารณ์ที่เคารพ

หนูยังไม่เคยตามเรื่อง KT ที่อาจารย์เล่าให้ฟังเลยนะคะ  แต่อยากคิดตามจินตนาการของตนเองที่มีมุมมองอาจจะไม่เหมือนอาจารย์ 2 ประการนะคะ 1) หนูว่า KT ซึ่งหนูแปลว่า "การถอดความรู้" สามารถเริ่มต้นตรงไหนก็ได้ หนูขอมองภายใต้การวิจัยเชิงคุณภาพ นั่นคือ ถ้าใช้กระบวนการ "สัมภาษณ์เจาะลึก" ก็เป็น socialization ถ้าเป็น "การสนทนากลุ่ม" ก็เป็น externalization แต่ถ้าเป็นการแปลงความรู้ที่แจ้งชัดจากผลการวิจัยออกไปเป็นการใช้ประโยชน์ก็จะเป็น combination ซึ่งกระบวนการนี้เค้าว่ากันว่าจะยากตรงที่ "การปรับแต่งสารสนเทศ" ให้สอดคล้องกับกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการใช้ผลการวิจัย ซึ่ง UNESCO เรียกกระบวนการนี้ว่า information consolidation  และ 2) ตามวิธีคิดแบบคุณภาพข้างต้น หนูก็มองว่า พระเอก นางเอกของกิจกรรมในวันนี้ก็เป็นคุณกิจ (ชาวบ้านหรือคนทำงาน) ที่แท้จริงมากขึ้น เนื่องจากวิธีคิดที่เปลี่ยนไป นั่นคือ การให้คนในพื้นที่เป็นผู้ค้นหาและเป็นเจ้าของโจทย์ / ปัญหาวิจัยด้วยตนเอง รวมทั้งให้ค้นหากระบวนการแก้ปัญหาด้วยตนเองมากยิ่งขึ้นนะคะ หนูมองว่า สกว. เป็นหน่วยงานหลักที่สำคัญที่จะเปลี่ยนวิธีคิดของนักวิจัยเชิงคุณภาพได้อย่างดี เพราะเป็นแหล่งทุนที่ใหญ่ซึ่งสามารถผลักดันเชิงกระบวนการได้ดีเลยค่ะ

เป็นการมองต่างมุมเล็กน้อยตามจินตนาการและฐานคิดของการวิจัยเชิงคุณภาพนะคะ หากได้ศึกษา KT อย่างลึกซึ้งก็คงจะได้ข้อคิดเห็นที่มีคุณค่ามากกว่านี้นะคะ (ผิดถูกอย่างไรก็ขออภัยด้วยนะคะ)

ด้วยความเคารพรัก 

จิรัชฌาค่ะ  

 

ขอบคุณ อ. จิรัชฌา ที่นำเอาวิธีมองจากการวิจัยเชิงคุณภาพมาแลกเปลี่ยน  น่าสนใจดีครับ

วิจารณ์

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท