ชีวิตที่พอเพียง : 112. ความเข้าใจ ๒ แบบ


      วันที่ ๑๓ สค. ๔๙ ตอนเย็น ผมนั่งอ่านหนังสือ J. Krisnamurti : a life ที่สนามหญ้าเล็กๆ หน้าบ้านด้วยความชื่นบาน   ท่ามกลางเสียงนกเขาขันคูมาจากหลังคาบ้าน  เสียงนกปรอดร้องระงมก่อนเข้ารัง  และเสียงดนตรีหลากชนิดใน iPod    และท่ามกลาง "สวนป่า" เล็กๆ ตรงหน้า    อากาศเย็นสบายด้วยลมโชยมาตลอดเวลา

       หน้า 496 เล่าเรื่องกฤษณมูรติสนทนากับ เดวิด โบห์ม  ทำให้กฤษณมูรติได้ความรู้เรื่องรากศัพท์มากมาย    อย่างคำว่า intelligence (ความฉลาด) มาจากรากศัพท์ว่า inter กับ legere แปลว่า to read between   ความฉลาดจึงหมายถึงความสามารถในการอ่านหรือเข้าใจลึกลงไประหว่างบรรทัด หรือระหว่างถ้อยคำ ระหว่างพฤติกรรม

         ผมเถียงทันที ด้วยความชำนาญ ว่านั่นเป็นเพียงความฉลาดด้านหนึ่ง    ยังมีความฉลาดอีกด้านหนึ่งที่สำคัญเท่าหรือสำคัญยิ่งกว่า   

         ความฉลาดอีกแบบอาจเรียกว่า ความสามารถในการโยงระหว่างบรรทัด ระหว่างถ้อยคำ ระหว่างพฤติกรรม    เป็นการโยงให้เห็นภาพใหม่  ความหมายใหม่  สิ่งใหม่ ที่ยกระดับ หรือเปลี่ยนระนาบ เปลี่ยนมิติไปจากเดิม

        ผมมองว่า "ปัญญาปฏิบัติ" เป็นส่วนผสมของความสามารถ ๒ ด้านนี้   โดยที่ความสามารถแบบหลัง คือแบบสังเคราะห์สำคัญกว่า  แต่กล่าวอย่างนี้อาจจะผิด เพราะถ้าตีความได้ไม่ลึก ก็สังเคราะห์ได้ไม่ชัด    เรื่องอย่างนี้ ไม่ใช่ either - or แต่เป็น both - and

        กฤษณมูรติเน้นการเรียนรู้จากปัจจุบัน   คือสภาพที่เกิดขึ้นจริง    พยายามสลัดมายาจากอดีตที่มาปิดกั้นการเรียนรู้จากสภาพจริงในปัจจุบัน

         อ่านหนังสือเล่มนี้อย่างละเลียด ปนอ่านข้าม คนคลั่ง KM อย่างผมอดที่จะมีอคติไม่ได้ว่า    วิธีเรียนรู้ความจริงแนวกฤษณมูรติก็คือ KM นั่นเอง     คือเน้นให้การปฏิบัตินำ  คอยจ้องทำความเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติ    คอยระวังไม่ให้ความคิดความเชื่อเดิมๆ มาบดบังการเรียนรู้จากการปฏิบัติ

         ตอนทำงานวิชาการในมหาวิทยาลัย     ผมถนัดคิดแบบแยกแยะ หรือวิเคราะห์ - analysis     พอมาทำงานที่ สกว. รู้สึกได้เองว่าต้องใช้การสังเคราะห์มากกว่า     เป็นการสังเคราะห์เพื่อหาวิธีปฏิบัติ      ยิ่งตอนมาทำ สคส. ยิ่งต้องสังเคราะห์มากขึ้น     หัดมองกว้างขึ้น  คือมองเชิงเครือข่าย     มองหา "การผุดบังเกิด" (emergence) ของหน่ออ่อน KM หลากหลายรูปแบบ     มองหาการก่อตัวของเครือข่าย KM ที่ก่อเกิดขึ้นเอง     สำหรับคอยเข้าไปเชียร์ และเข้าไปจับภาพ เพื่อชื่นชมภาพของความสำเร็จ หรือภาพของการดำเนินการ KM ที่ดี มีนวัตกรรม    

วิจารณ์ พานิช
๑๓ สค. ๔๙

หมายเลขบันทึก: 50177เขียนเมื่อ 15 กันยายน 2006 10:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 15:54 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท