ประสิทธิผลในการรักษาภาวะเด็กแรกเกิดตัวเหลืองด้วยเครื่องส่องไฟรักษาแบบประดิษฐ์เอง


เป็น R2R ที่ได้ส่งร่วมประกวดนำเสนอทางวาจาแต่ไม่ได้รับการคัดเลือกให้นำเสนอ งานชิ้นนี้ได้จากการเก็บรวบรวมข้อมูลการใช้เครื่องส่องไฟเด็กตัวเหลืองที่เราผลิตขึ้นใช้เอง

ประสิทธิผลในการรักษาภาวะเด็กแรกเกิดตัวเหลืองด้วยเครื่องส่องไฟรักษาแบบประดิษฐ์เอง

(Effectiveness of Bilirubin reduction by Bantak Phototherapy in Bantak hospital)

สุภาภรณ์  บัญญัติ*  

พิเชฐ  บัญญัติ*

*โรงพยาบาลบ้านตาก

 ---------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

บทคัดย่อ 

  

บทนำ: อาการตัวเหลืองในเด็กแรกเกิดเกิดจากมีสารบิลิรูบินสูงในกระแสเลือด บิลิรูบินที่สูงจะไปจับกับเนื้อสมองทำให้เกิดภาวะสมองพิการจนมีอันตรายถึงตายได้ การใช้แสงบำบัดจะมีความปลอดภัยสำหรับผู้ป่วยเมื่อบิลิรูบินที่ผิวหนังกระทบแสงที่มีคลื่นแสง 420-475 นาโนมิเตอร์ จะถูกเปลี่ยนเป็นสารตัวใหม่ที่ละลายน้ำได้และไม่เป็นพิษต่อเนื้อสมอง สามารถขับออกทางอุจจาระได้

 

วัตถุประสงค์:  เพื่อประเมินประสิทธิผลของเครื่องส่องไฟรักษาอาการเด็กแรกเกิดตัวเหลืองที่ทีมงานของโรงพยาบาลบ้านตากผลิตขึ้น

 

วิธีการศึกษา: ศึกษาย้อนหลัง (Retrospective study) ในเด็กแรกเกิดตัวเหลืองที่รักษาด้วยเครื่องส่องไฟรักษาเด็กตัวเหลืองที่ผลิตขึ้นใช้เองในโรงพยาบาลบ้านตากในปี 2547-2549 จำนวน 27 ราย ร่วมกับการสัมภาษณ์มารดาและพยาบาลในหอผู้ป่วยหญิงเกี่ยวกับการใช้เครื่องส่องไฟรักษา

 

ผลการศึกษา: พบว่ามารดามีความพึงพอใจและยินยอมในการรับการรักษาและมีความเชื่อมั่นในกระบวนการรักษาเด็กตัวเหลืองมากขึ้น พยาบาลที่นำไปใช้กับผู้ป่วยมีความพึงพอใจมากเพราะใช้งานง่าย ปรับระดับได้ ตั้งเวลาได้และนับจำนวนชั่วโมงการใช้งานของหลอดไฟได้โดยอัตโนมัติ ผลการรักษาเด็กแรกเกิดตัวเหลือง 27 ราย พบว่าลดระดับบิลิรูบินในเลือดได้ 3.57 มก./ดล./วัน ซึ่งใกล้เคียงตามหลักทฤษฎีคือ 3-4 มก./ดล./วัน ปริมาณสูงสุดที่ลดได้ต่อวัน 6.38 มก./ดล./วัน ปริมาณต่ำสุดที่ลดได้ 0.24 มก./ดล./วัน การส่องไฟในวันแรกจะลดระดับบิลิรูบินได้เฉลี่ย 1.3 มก./ดล./วัน ส่วนใหญ่จะส่องไฟรักษา 1-2 วัน(ร้อยละ 74.08) เด็กที่ส่องไฟรักษาเป็นตัวเหลืองแบบปกติร้อยละ 70.37และผิดปกติ ร้อยละ 29.63 ระดับบิลิรูบินที่แพทย์ให้ส่องไฟรักษาส่วนใหญ่อยู่ในช่วง 10-15 มก./ดล. ระดับบิลิรูบินก่อนจำหน่ายจะอยู่ที่ ช่วง 10-13 มก./ดล. ร้อยละ 55.56

 

วิจารณ์และสรุป: เครื่องส่องไฟรักษาที่ประดิษฐ์ขึ้นเองนี้สามารถใช้รักษาทารกแรกเกิดที่มีภาวะตัวเหลืองที่ยังไม่ถึงเกณฑ์ที่ต้องทำการเปลี่ยนถ่ายเลือดได้  และมีความสะดวกในการใช้งานเพราะปรับระดับใช้ได้ทั้งเด็กที่นอนในเปล (คลิ๊ป) สำหรับเด็กเล็กและเด็กที่นอนอยู่บนเตียงกับมารดาได้  สามารถกำหนดระยะเวลาในการส่องไฟ อายุการใช้งานของหลอดไฟได้และดูแลทำความสะอาดหลังและก่อนใช้งานได้ง่าย ทั้งนี้ประสิทธิผลของการส่องไฟอยู่ที่ระยะเวลาที่เด็กได้สัมผัสแสงไฟด้วย หากมารดาอุ้มออกจากการส่องไฟบ่อยอาจทำให้การปรับลดระดับบิลิรูบินทำได้น้อยลง

 คำสำคัญ: ภาวะตัวเหลืองในเด็กแรกเกิด, เครื่องส่องไฟรักษา, บิลิรูบิน
คำสำคัญ (Tags): #kmกับนวัตกรรม#r2r
หมายเลขบันทึก: 50122เขียนเมื่อ 14 กันยายน 2006 21:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 พฤษภาคม 2012 17:04 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ภรรยาผมตั้งท้อง ได้ 3 เดือนแล้วแต่ว่าภรรยาผมมีกรุ๊ปเลือด Rh-ve จะมีผลกระทบต่อเด็กยังไงครับ แล้ววิธีป้องกันมีอะไรบ้างครับช่วยตอบผมหน่อย (เครียดมาก )

สวัสดีครับ

ไม่อยากให้กังวล แต่ให้ไปปรึกษากับคุณหมอที่ภรรยาคุณฝากท้องไว้ครับ จะได้รับคำอธิบายที่เหมาะสมและเข้ารับการฝากครรภ์อย่างเคร่งครัดตามแพทย์นัดครับ

ในทางทฤษฎีแล้วถ้าแม่เป็นRH- ส่วนลูกเป็น Rh+ นั้นลูกอาจมีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะภูมิคุ้มกันทำลายตัวเอง (Isoimmunization)เกิดการทำลายเม็ดเลือแดงของทารกในครรภ์ แล้วส่งผลให้เพิ่มความเสี่ยงในทารกเป็นเกิดภาวะตัวเหลือง ซีด หรือความผิดปกติในครรภ์ได้ มีการศึกษาการป้องกันด้วยการใช้วิธี Anti-D-Immunoglobulin prophylaxis แต่เนื่องจากเป็นความรุ้ทางด้านการแพทย์เฉพาะทาง ผมคิดว่าการปรึกษาแพทย์สาขาสูตินรีเวชกรรมจะดีกว่าครับ

สิ่งที่เขียนมานี้ อาจเกิดขึ้นหรือไม่ก็ได้ ไม่ใช่ 100 % แต่เป็นความเสี่ยงที่อาจเกิดได้ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท