เมื่อความผาสุกพัดผ่าน


ด้วยความรักสุขและชังทุกข์นี่เอง (ทั้งๆ ที่มันก็เป็นเรื่องปกติของชีวิต ไม่รู้ว่าจะรักและชังไปทำไม) จึงเป็นเหตุสำคัญให้ฉันต้องโดดเข้ามารับงานนี้เต็มๆ กับโครงการที่ชื่อว่า “นครปฐม: นครแห่งความผาสุกทุกชุมชนท้องถิ่น”

เมื่อความผาสุกพัดผ่าน

เกศินี จุฑาวิจิตร

          คนเรา “แทบทุกคน” หรือจะเรียก “ทุกคน” ก็ว่าได้ มีความต้องการสิ่งต่างๆ เหมือนกัน และก็ไม่ต้องการอะไรๆ ที่เหมือนกัน เราต้องการความรัก ต้องการความสุข  เราไม่ชอบการพลัดพรากและความทุกข์  คนอื่นๆ ก็เป็นเช่นนั้นเหมือนกัน   โลกของเราคงไม่มีความยากจน ความทุกข์และความเศร้า   ถ้าผองเรารู้จักเฉลี่ยสุข เฉลี่ยทุกข์  พร้อมที่จะเผื่อแผ่และแบ่งปันให้แก่กันและกัน ซึ่งอาจไม่ใช่แค่วัตถุสิ่งของ แต่หมายรวมถึงสิ่งที่เป็นนามธรรมและจับต้องไม่ได้ เช่น เวลา แรงกาย แรงใจ พลังความคิดและอื่นๆ อีกมากมาย

          ด้วยความรักสุขและชังทุกข์นี่เอง  (ทั้งๆ ที่มันก็เป็นเรื่องปกติของชีวิต  ไม่รู้ว่าจะรักและชังไปทำไม) จึงเป็นเหตุสำคัญให้ฉันต้องโดดเข้ามารับงานนี้เต็มๆ กับโครงการที่ชื่อว่า “นครปฐม: นครแห่งความผาสุกทุกชุมชนท้องถิ่น”

เมื่อความ “ผาสุก” พัดผ่านเข้ามาในชีวิต “ความสุข”ของฉันก็ดูจะพร่องๆ ลงไป 

เพราะงานนี้เป็นงานใหม่ซึ่งประสบการณ์ชุดเดิมที่มีอยู่แทบจะใช้ไม่ได้เลย ประสบการณ์ตรงกับงานชุมชนเมื่อยี่สิบกว่าปีก่อนไม่มีความหมายแล้ว เพราะโลกเปลี่ยน คนเปลี่ยน แนวคิดและวิธีการทำงานก็เปลี่ยน

“ใช้เครื่องมืออะไรในการศึกษาชุมชน” เป็นคำถามแรกที่ได้รับจากเจ้าของแผนงานที่จะให้การสนับสนุนด้านงบประมาณ  ฉันถึงกับนิ่งอึ้งอยู่พักใหญ่ เครื่องมืออะไร อย่างไร นึกไม่ออก ทำไมต้องมีเครื่องมือด้วย อยากบอกเหลือเกินว่า “กระบี่อยู่ที่ใจ” เพราะไม่เคยรู้ว่าตัวเองใช้อะไรเป็นเครื่องมือในการทำงาน นอกจากการพูดคุย สื่อสาร สนทนา เป็นเพื่อนชวนคิด ชวนคุย ชวนกันทำ...ก็เท่านั้น

แต่การทำงานพัฒนาชุมชนและท้องถิ่นในวันนี้ต้องการความเป็นวิชาการมากขึ้น ทั้งด้านแนวคิดทฤษฎี วิธีการทำงานและการติดตามประเมินผล ตัวชี้วัดจึงต้องกำหนดค่า หลักฐานต้องประจักษ์แจ้ง ประสิทธิภาพอย่างเดียวไม่ได้ หากต้องคำนึงถึงประสิทธิผลด้วยเพราะมันหมายถึงความคุ้มค่ากับงบประมาณ และเวลา

ด้วยเหตุนี้จึงเฝ้าทำงานทางความคิดกับตัวเองอยู่พักใหญ่  พยายามที่จะเข้าใจ  “ศาสตร์แห่งการพัฒนา”  เป็นวิชาชีพ เราก็ต้องทำงานแบบมืออาชีพ  ไม่ใช่แค่มีใจ    แต่ต้องมีอาวุธและเครื่องมือที่ดีเป็น “ตัวช่วย”   และเมื่อทุกอย่างครบครัน มันก็ยังไม่ง่ายอีก เมื่อต้องมาขับเคลื่อนการทำงานกับคนทั้งมหาวิทยาลัย ทำอย่างไรให้อาจารย์รักและเข้าใจงานชุมชน  ทำอย่างไรให้ทุกคนยอมรับอย่างแท้จริงว่า มหาวิทยาลัยจะต้องเป็น “ประทีปธรรมของท้องถิ่น” เป็นแสงสว่างบนหนทางที่มืดสลัว  ซึ่งจะเป็นเช่นนั้นได้ เราจะต้องเคลื่อนทั้งองคาพยพในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของประชาคมในภาควิชาการ  

เสียงระฆังดังขึ้น คล้ายสัญญาณการเริ่มงาน “นครแห่งความผาสุก” ภายใต้การสนับสนุนด้านงบประมาณจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ อธิการบดีสมเดชเบิกบานใจ ค่าที่มหาวิทยาลัยจะได้ประหยัดมากขึ้น ไม่ต้องควักเงินรายได้ก้อนใหญ่ๆ มาให้พวกเราทำงานกับชุมชน อธิการบดีย้ำเสมอถึงหน้าที่ของอาจารย์ที่จะต้องร่วมรับผิดชอบสังคมภายใต้พันธกิจหลัก 3 ด้านของมหาวิทยาลัย คือ การผลิตบัณฑิต การวิจัย และการบริการวิชาการ  

ซ้ำบอกด้วยว่า “หอคอยงาช้าง” ไม่ใช่พื้นที่ของเรา พื้นที่การทำงานของเราคือพื้นที่ของพี่น้องประชาชน งานของเรา คือ ปากท้องและความผาสุกของพวกเขา

ความตระหนักในปัญหาของชาวบ้านร้านถิ่นก็ดี การเอาใจใส่เป็นธุระแก่สังคมก็ดี ตลอดจนความรู้และความเข้าใจที่แตกต่างหลากหลายของคณาจารย์ในเรื่องของการพัฒนาความผาสุกนี้  ล้วนเป็นปัญหาสำคัญทั้งในระดับนโยบายและระดับปฏิบัติการ  ด้วยว่าบางคนมีใจแต่ไม่มีเวลา บ้างมีเวลาแต่ไม่มีทักษะ บ้างมีทักษะแต่ไม่มีใจ และบ้างก็ไม่มีอะไรๆ นอกจากความรู้เฉพาะศาสตร์ของตนเอง

หากท้ายที่สุดแล้ว ฉันก็ยังเชื่อว่า ใจเท่านั้นคือทุกสิ่งทุกอย่างที่จะฝ่าฟันอุปสรรคทั้งปวง  ถ้าเพียงแต่ทุกคนจะมีใจให้กับความผาสุกของชาวนครปฐม

ฉัน...ขอเป็นคนหนึ่งที่จะช่วยผลักดันประวัติศาสตร์ของมหาวิทยาลัยกับการสร้างตำนานนครปฐมผาสุกทุกชุมชนท้องถิ่น ด้วยสมองและสองมือนี้  เพราะไม่อยากเห็นความยากจน ความทุกข์และความเศร้าของผู้คน

คงดีไม่น้อย  ถ้าคุณจะเป็นอีกคนหนึ่งที่พร้อมจะก้าวเดินไปด้วยกัน  

 

                    ---------------------------------------------------------

หมายเลขบันทึก: 501152เขียนเมื่อ 4 กันยายน 2012 16:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 กันยายน 2012 12:35 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

พัดผ่านมาทางหัวหินด้วยก็ดีนะครับ

  • ตามมาเชียร์การทำงานครับ
  • ดีใจที่ได้อ่านบันทึกดีๆครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท