Praepattra
ผู้ช่วยศาตราจารย์ Praepattra Kiaochaoum

บทบาทของประเทศไทยกับอาเซียน


ข้อมูลอ้างอิง เอกสารประกอบการสอน รหัสวิชา 2000111 วิชาอาเซียนศึกษา (ASEAN Studies) 2555 โปรแกรมสังคมศึกษา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม

 

 

1.ราชอาณาจักรไทย (Kingdom of Thailand)
        

          เมืองหลวงคือกรุงเทพมหานคร มีพื้นที่ 513,115.02 ตารางกิโลเมตร ประกอบด้วย 77 จังหวัด มีประชากร 65.4 ล้านคน (ข้อมูลปี พ.ศ.2553) ส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ และใช้ภาษาไทยเป็นภาษาราชการ ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย โดยมีพระมหากษัตริย์เป็นองค์ประมุขของประเทศ


ข้อมูลทั่วไปของไทย

               ประเทศไทย หรือชื่อทางการว่า “ราชอาณาจักรไทย”(Kingdom of Thailand) เนื้อที่ 513,115 ตารางกิโลเมตร มีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ 50 ของโลก มีประชากร 66 ล้านคน (สำรวจเมื่อปี 2554) เป็นอันดับที่ 20 ของโลก ประเทศไทยมีปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ภายใต้กฎหมายรัฐธรรมนูญ มีรัฐสภาแบ่งออกเป็น วุฒิสภากับสภาผู้แทนราษฎร มีฝ่ายบริหาร คือ คณะรัฐมนตรี ประกอบด้วย นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี และฝ่ายตุลาการ คือ ศาล และมีระบบการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น แบ่งเป็น 4 แบบ คือ เทศบาล องค์การบริหารส่วนจังหวัด องค์การบริหารส่วนตำบล และลักษณะพิเศษ

 

               ในด้านเศรษฐกิจนั้น ประเทศไทยถือเป็นประเทศอุตสาหกรรมใหม่โดยมีรายได้หลักจากภาคอุตสาหกรรม การส่งออกสินค้าและบริการ การท่องเที่ยว แต่แรงงานส่วนใหญ่ของไทยอยู่ในภาคเกษตรกรรม เป็นประเทศส่งออกข้าวเป็นอันดับต้นของโลก นอกจากนี้ยังมีผลผลิตทางการเกษตรอื่นๆ ได้แก่ ยางพารา ผักและผลไม้ และการเพาะเลี้ยงปศุสัตว์ เช่น วัว สุกร เป็ด ไก่ สัตว์น้ำ ปลาน้ำจืดและน้ำเค็ม รวมถึงการประมงทางทะเล  

 

การเข้าเป็นสมาชิกและบทบาทไทยในอาเซียน

ประเทศไทยเป็นสมาชิกหนึ่งใน 5 ของประเทศผู้ก่อตั้งสมาคมอาเซียน โดยการร่วมลงนามในปฏิญญากรุงเทพฯ ของพันเอก (พิเศษ) ถนัด คอมันตร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ.2510 ตามเจตนารมณ์ร่วมกันของ 5 ประเทศผู้ก่อตั้ง คือ เพื่อส่งเสริมความเข้าใจอันดีระหว่างประเทศในภูมิภาค ธำรงไว้ซึ่งสันติภาพ เสถียรภาพ และความมั่นคงปลอดภัยทางการเมือง ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม บนพื้นฐานของความเสมอภาคและผลประโยชน์ร่วมกัน [1]

 

ไทยมีบทบาทในเชิงรุก ทั้งในแง่การก่อตั้งและการพัฒนาให้อาเซียนเป็นองค์กรที่มีความสำเร็จ และเป็นจุดกำเนิดของอาเซียนที่สำคัญ โดยมีบทบาทอย่างแข็งขันในกิจกรรมของอาเซียนตลอดมา รวมทั้งยังมีส่วนผลักดันให้อาเซียนมีโครงการความร่วมมือในด้านต่างๆ ที่ทันการณ์และสอดคล้องกับสภาพแวดล้อมและสถานการณ์ระหว่างประเทศ เช่น การมีบทบาทสำคัญในการจัดตั้งเขตการค้าเสรีอาเซียน (ASEAN Free Trade Area) ในปี พ.ศ. 2535 ความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก หรือ ARF- ASEAN Regional Forum ซึ่งเป็นเวทีที่ใช้พูดคุยปัญหาความมั่นคงในภูมิภาค ในปี พ.ศ. 2537 ความร่วมมือในสนธิสัญญาเขตปลอดอาวุธนิวเคลียร์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตลอดจนความริเริ่มในการสร้างเครือข่ายความร่วมมือเพื่อบรรเทาผลกระทบจากวิกฤตการณ์ทางการเงินในปี พ.ศ. 2540

 

ขณะเดียวกันอาเซียนก็มีความสำคัญต่อประเทศไทย โดยนอกจากจะสร้างพันธมิตรและความเป็นปึกแผ่น ตลอดจนเสถียรภาพ สันติภาพในภูมิภาคแล้ว ยังช่วยเพิ่มอำนาจต่อรองในการเจรจาระหว่างประเทศ และร่วมมือกันในการแก้ไขปัญหาข้ามชาติ ตลอดจนการพัฒนาขั้นพื้นฐานต่างๆ อย่างเป็นรูปธรรม นอกจากนั้น ความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมภายในอาเซียนได้เปิดโอกาสให้มีการขยายตัวด้านการค้าและการลงทุนในประเทศไทยมากขึ้น ซึ่งนำผลดีมาสู่เศรษฐกิจของไทยและของประเทศสมาชิกอาเซียนโดยรวม [2]

               ผลจากการร่วมเป็นสมาชิกของประเทศไทย ได้ทำให้ไทยได้รับประโยชน์ทั้งในเชิงเศรษฐกิจ การเมือง และวัฒนธรรม กล่าวคือ ประเทศไทยได้รับสิทธิพิเศษทางด้านการค้า ด้วยการได้ลดหย่อนอัตราภาษีศุลกากร และได้รับสิทธิในการผลิตเกลือหินและโซดาแอช ตัวถังรถยนต์ในอุตสาหกรรม อีกทั้งในด้านการเงินและธนาคาร มีการจัดตั้งบริษัทการเงินของอาเซียน และคณะกรรมาธิการว่าด้วยการประกันภัยแห่งอาเซียน ด้านการเกษตร ได้มีการสำรองอาหารเพื่อช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เช่น โครงการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ โครงการปลูกป่า ด้านการเมือง สมาชิกของอาเซียนช่วยแบ่งเบาภาระของไทยเกี่ยวกับปัญหาผู้อพยพ ยิ่งกว่านั้นในมุมมองทางด้านวัฒนธรรม ประเทศไทยได้มีโครงการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมระหว่างประเทศสมาชิก ทำให้แต่ละประเทศมีความเข้าใจดีต่อกัน

 
  อ่านข้อมูลประเทศไทย ได้ที่นี่

[1] ประธานสภาอาจารย์มหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย, การประชุมวิชาการ ปอมท. ประจำปี 2554 เรื่อง การเตรียมความพร้อมของอุดมศึกษาไทยกับการปรับตัวสู่การเป็นประชาคมอาเซียน. (กรุงเทพฯ : 2554). หน้า 53.

[2] ประธานสภาอาจารย์มหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย, การประชุมวิชาการ ปอมท. ประจำปี 2554  เรื่อง การเตรียมความพร้อมของอุดมศึกษาไทยกับการปรับตัวสู่การเป็นประชาคมอาเซียน. (กรุงเทพฯ : 2554). หน้า 56-57.

คำสำคัญ (Tags): #อาเซียน#ไทย#e-trust
หมายเลขบันทึก: 501039เขียนเมื่อ 3 กันยายน 2012 11:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 กันยายน 2012 15:12 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท