กฐะอุปนิษัท / อาตมัน / ความหมาย / ความสำคัญ / ผู้แต่ง


ความหมายของคำว่า อาตมัน และ อัตตา จาก กฐะอุปนิษัท

กฐะอุปนิษัท

             กฐะอุปนิษัทได้แสดออกถึงสวภาวะทางจิตของมนุษย์ในระดับที่กำลังวุ่นว่าย  และไม่มีความสุข  จากความไม่รู้สวภาวะของอาตมัน   และสิ่งอื่น ๆ โดยมีความไม่รู้เป็นตัวปิดกั้น  เราจึงไม่เห็นความจริงแท้ที่ควรจะเป็นไป  และค้นหาวิธีที่จะถึงสิ่งแท้จริงนั้นให้ได้  และในบทความนี้จะศึกษาด้านความหมาย  ความสำคัญของกฐะอุปนิษัท   

ความหมายของกฐะอุปนิษัท

             กฐะอุปนิษัท   บางทีก็ถูกเรียกว่า  กาฐกะอุปนิษัท  ซึ่งเป็นของสำนักปรัชญา ไตตติรียะ  ของยชุรเวท  ที่ใช้ในเรื่องราวประวัติของวรรณคดีสันสกฤตโบราณ   

             กฐะ หมายถึง  นักปราชญ์  หรือฤาษีผู้มีความรู้และเป็นผู้สอนของยชุรเวท  กฐะอุปนิษัทนี้  ประกอบด้วย  ๒  บท  แต่ละบทจะมี  ๓  วัลลีหรือ  ๓ ตอน รวมโศลกทั้งหมดมี  ๑๑๙  โศลก  

            โดยมีเนื้อหาอธิบายถึงสิ่งสูงสุด  คืออาตมันและพรหมัน  ว่ามีอยู่ในทุกสิ่ง  และมีสวภาวะเป็นอันติมสัจจะ  

            บางตำราอ้างว่า   กฐะอุปนิษัท  เป็นของสามเวทบ้าง  อาถรรพเวทบ้าง   สังหิตาบ้าง  

            ในมุกติกะอุปนิษัท  กล่าวว่า  เป็นอุปนิษัทของกฤษณะยชุรเวท (ยชุรเวทดำ)  แต่โคลบรุ้ก (Colebrooke)  กล่าวว่ามีอ้างอยู่ในสามเวทด้วย   

 

ผู้แต่งและสมัยที่แต่ง

             คัมภีร์อุปนิษัทอันเป็นส่วนที่เป็นบทสรุปของพระเวท  ดังนั้นจึงยังคงรักษาชื่อที่แสดงความสืบเนื่องมาจากคัมภีร์ต้นเค้าของสาขาต่าง ๆ  ของพระเวทที่มีอุปนิษัทนั้น ๆ           

             กฐะอุปนิษัทนั้น  ผู้แต่งขึ้นเป็นเจ้าของสาขา  คือไตตติรียะ และผู้สอนกฐะอุปนิษัทนี้ก็มีชื่อว่า กฐะ  ผู้เป็นนักปราชญ์หรือฤาษีผู้มีความรู้และเป็นผู้สอนของยชุรเวท   

             ส่วนระยะเวลาของการเกิดกฐะอุปนิษัทนั้น  นักปราชญ์ทั้งหลาย  เช่น  แมคโดเนลล์  แมกมึลเลอร์  วินเตอร์ นิตซ์  และสุเรนทรนาถ  คุปตะ  และราธากฤษณัน   มีมติว่าอุปนิษัทที่เก่าแก่ที่สุดทั้งหมดมี  ๘  อุปนิษัท  คือ  ไอตเรยะ   เกาษีตกี   ฉานโทคยะ    เกนะ    ไตตติรียะ   พฤหทารัณยกะ  อีศา  และกฐะอุปนิษัทนั้น     แต่งขึ้นในศตวรรษที่  ๖  และที่   ๕  ก่อนคริสตศักราช    

              แต่ราธากฤษณัน  เห็นว่าน่าจะแต่งขึ้น    ศตวรรษที่  ๘  และที่  ๗  ส่วนที่เหลือแต่งประมาณ  ๔๐๐ - ๓๐๐  ปีก่อนคริสตศักราช   บางคนอ้างว่า   กฐะอุปนิษัท   ไมตราณียาอุปนิษัท   และเศวตาศวตระอุปนิษัท   แต่งขึ้นศตวรรษที่  ๔  ก่อนคริสตศักราช  จะเห็นได้ว่า  ระยะเวลาของการเกิดอุปนิษัทนี้ก็ยังไม่แน่นอน  

              แต่ที่แน่ ๆ   กฐะอุปนิษัทน่าจะเกิดหลังพุทธกาล  เพราะในอุปนิษัทนี้มีคำวิจารณ์คำสอนเรื่องรูปธาตุและนามที่พระพุทธเจ้าทรงสอน  ส่วนระยะเวลานั้นไม่สามารถจะบ่งบอกได้อย่างชัดเจนว่าแต่งขึ้นเมื่อไร  เป็นแต่เพียงการสันนิษฐานเอาว่าน่าจะเป็นอย่างนั้น  น่าจะเป็นอย่างนี้มากกว่า  และสิ่งที่เราสามารถจะรู้ได้อย่างแน่นอนคือ  ผู้แต่งอุปนิษัทนั้นมีหลายคน  และแต่งขึ้นในสมัยที่แตกต่างกัน   แต่ถึงจะมีความคิดเพิ่มเข้ามามากมายก็ตาม  กระนั้น  ก็มีจุดมุ่งหมายใหญ่เป็นอย่างเดียวกัน  คือ  สอนความรู้เกี่ยวกับพรหมันหรืออาตมัน 

 

ความสำคัญของกฐะอุปนิษัท

            กฐะอุปนิษัท  เป็น ๑  ใน  ๑๑  อุปนิษัทที่มีความสำคัญและเป็นที่รู้จักกันดี  โดยมีเนื้อหา  กล่าวถึง  อาตมันในลักษณะที่เป็นความแท้จริงอันติมสัจจะ  และได้แสดงออกถึงสวภาวะทางจิตของมนุษย์ในระดับที่กำลังวุ่นว่าย  และไม่มีความสุข  จากความไม่รู้สวภาวะของอาตมัน   และสิ่งอื่น ๆ  โดยมีความไม่รู้เป็นตัวปิดกั้น  เราจึงไม่สามารถที่จะเห็นความจริงแท้ที่ควรจะเป็น     และได้เปรียบเทียบให้เห็นว่า 

          ถ้าบุคคลมีชีวิตอยู่ในท่ามกลางของความไม่รู้  (อวิทยา)  แต่คิดว่าตัวเองเป็นธีรชนและเป็นบัณฑิตมากด้วยความรู้  บุคคลหล่านั้น ย่อมเวียนวนอยู่ที่นี่บ้างและที่นั้นบ้าง  เหมือนกับคนตาบอดถูกคนตาบอดจูงไปหาทางออกไม่เจอ 

           และนี้ก็เป็นผลจากความไม่รู้ความจริงของอาตมันและตัวเอง   เพราะการรู้จักอาตมัน  ก็คือการรู้จักตัวเองโดยแท้   และความรู้นี้ จะปลดปล่อยมนุษย์ให้พ้นจากความทุกข์และถึงเป้าหมายของชีวิตได้    และบรรดาวัตถุสิ่งต่าง ๆ   ล้วนมีอยู่เพื่ออาตมันและรับใช้อาตมันทั้งสิ้น  อาตมันสิงสถิตอยู่ในสิ่งดังกล่าวเหล่านี้   และทำให้สิ่งเหล่านี้ดำรงอยู่อย่างมีความหมาย   แต่สิ่งเหล่านี้ที่อาตมันอาศัยอยู่นั้น  ก็ไม่ใช่เป็นสิ่งเดียวกันกับอาตมัน   เพราะว่าตัวอาตมันเป็นสิ่งที่อยู่เหนือความเป็นไปของสิ่งเหล่านี้ทั้งหมด  

              และยังได้กล่าวถึงบุคคลผู้มีความศรัทธาต่อพรหมัน  ชื่อวาชัศรวสะ  ได้แสดงการบูชายัญและการบริจาคทรัพย์สมบัติทั้งหมดที่มีอยู่ให้เป็นทาน   โดยได้บริจาคแม่วัวซึ่งชรามากจนแทบจะไม่มีเรี่ยวแรง   แม้แต่จะกินน้ำและหญ้า  ไม่มีน้ำนมจะให้  และไม่สามารถจะให้ลูกได้อีก  ลูกชายของเขา  คือ  นะจิเกตะ  แม้ตัวเองยังเป็นเด็กก็ยังคิดได้ว่า  ผู้เป็นบิดาของเขาทำแบบนี้   ย่อมไปสู่โลกที่ปราศจากความสุขเป็นแน่แท้   และบิดาของเขาก็ได้บริจาคเขาให้แก่พระยม   นะจิเกตะก็ได้ไปคอยอยู่ ๓ วัน   พระยมกลับมาก็ได้ให้รางวัลแก่นจิเกตะ ๓ ข้อ   ในการรอคอย   และได้สอนเรื่องอาตมันแก่   นจิเกตะว่า

         “อาตมันมีความเป็นอมตะ  พิสูจน์ได้ด้วยตนเองเปล่งประกายได้ในตัวเองและสามารถตระหนักได้โดยตรง  โดยมองสภาพเหนือธรรมชาติของความเป็นทวิภาคระหว่างรูปแบบ และวัตถุ”   

              หลังจากนั้นพระยมก็ให้พร  ๓  ข้อตามที่นะจิเกตะ  

               ข้อแรก นะจิเกตะ  ขอให้เขาจงได้กลับไปสู่บิดาของเขา 

               ข้อสอง  จงบอกการบูชาไฟที่จะนำมนุษย์ไปสู่สวรรค์    

               ข้อสาม  จงบอกว่าคนตายแล้วจักเป็นเช่นไร  เขามีอยู่หรือว่าเขาไม่มีอยู่  ความจริงเป็นไฉน   

                สิ่งเหล่านี้  นะจิเกตะก็ได้ตามที่ขอทุกประการและทำให้เขาได้รู้แจ้งถึงสวภาวะของอาตมันมากขึ้น  และตนเองก็ได้รับความสุขนิรันดร


บรรณานุกรม

Vaman  Shivram Apte, Sanskrit–English Dictionary  (Delhi :Motilal Banarsidass Publishers , 1970 )

S.Radhakrishnan, The  Principal  Upanisads  (Delhi : Gopsons Papers,  1994)

Max  F. Muller , The Sacred Books of the East  Vol. 1, 5 : The Upanisad

 
หมายเลขบันทึก: 500702เขียนเมื่อ 31 สิงหาคม 2012 12:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 ตุลาคม 2012 22:27 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขอบคุณ ธ.วัชชัยนะครับที่แวะมามอบดอกไม้ไว้นานละครับ

ขอบคุณครับ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท