ประสบการณ์การสอน KM นิสิต ป.ตรี


  • ดิฉันได้รับเชิญจากภาควิชาเทคนิคการแพทย์ คณะสหเวชฯ มน. เป็นผู้สอนในรายวิชา การบริหารจัดการทางห้องปฏิบัติการในวันนี้ (14 ก.ย. 2549  9.00 - 11.00 น.)
  • ตามที่ประมวลรายวิชาระบุไว้ หัวข้อที่สอน คือ การบริหารจัดการความรู้ เนื้อหาที่สอน คือ การพัฒนาบุคลิกภาพ  จำนวน 3 คาบ
  • คำอธิบายรายวิชา  มีดังนี้
    • ศึกษาการดำเนินงานในห้องปฏิบัติการที่ทำการวิเคราะห์และการให้บริการทางการชันสูตรทางห้องปฏิบัติการ  การบริหารงานบุคคล  การจัดการหน่วยงาน  การวิเคราะห์วิธีทำงาน  การประเมินผลงาน  การควบคุมคุณภาพ  ผลวิเคราะห์และการประกันคุณภาพของห้องปฏิบัติการเวชศาสตร์ชันสูตร  การควบคุมการดำเนินงานและระบบสารสนเทศ  เพื่อการจัดการด้วยวิธีการทางคอมพิวเตอร์

 

  • เป็นครั้งแรกจริงๆ ที่ดิฉันจะต้องสอนเรื่อง KM ให้กับนิสิต ป.ตรี
  • เป็นนิสิตต่างสาขาที่ดิฉันหาได้มีความรู้ในสาขานั้นๆไม่ (ดิฉันมีความรู้ในสาขารังสีเทคนิค)
  • แม้มีความรู้ KM อยู่บ้างก็ตาม  แต่ก็ต้องไม่ลืมวัตถุประสงค์ของรายวิชานั้นๆ ด้วย
  • ดังนั้น  ดิฉันจึงคิดหาวิธีการสอนใหม่ (ซึ่งดิฉันก็ยังไม่เคยใช้มาก่อน ลองเสี่ยงดู...)
  • นั่นก็คือ การสอนด้วยการเล่านิทาน : Story telling
  • นิทาน ที่ดิฉัน หยิบ มาใช้ให้เหมาะกับ หัวข้อที่สอนที่สุด คือนิทานเรื่อง "Who Moved My Cheese" ของ Spencer Johnson,M.D.
  • ดิฉันบอกกับนิสิตตอนต้นชั่วโมงว่า ขอให้ทุกคนทำตัวสบายๆ  เพราะอาจารย์จะสอนแบบใหม่  ไม่ใช้วิธีการบรรยาย  อาจารย์กำลังจะเล่านิทานให้ฟัง  นิทานนี้ใช้เวลาเล่าประมาณ 1 ชั่วโมง
  • ขอให้ทุกคนทำใจให้เหมือนเด็กน้อยอายุ 10 ขวบ ฟังด้วยด้วยใจสดชื่น เบิกบาน  ฟังด้วยใจที่เปิดกว้าง  ตั้งใจฟังโดยไม่โต้เถียง (ในใจ) อย่ารีบบอกว่าใช่ หรือไม่ใช่  อย่าเพิ่งคล้อยตาม  อย่าเพิ่งขัดขืน ไม่ตัดสินว่าถูกหรือผิด  ซึ่งอย่างนี้เรียกว่า Deep Listening
  • ว่าแล้วดิฉันก็เริ่มอ่านนิทานให้นิสิตฟัง อย่างตั้งใจ

 

  • ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมงจริงๆ  ครึ่งชั่วโมงแรก ดิฉันค่อนข้างปริวิตกว่าเด็กๆ จะเบื่อ  และไม่ตั้งใจฟัง  ดิฉันเตรียม Power point ด้วยนะ  คอยแทรกเป็นระยะๆ  มีประโยคสั้นๆ พร้อมภาพประกอบ เพื่อกระตุ้นให้อยู่ในความสนใจ
  • อัศจรรย์ใจ เป็นอย่างยิ่ง ที่ 1/2 ชั่วโมง ผ่านไปแล้ว สีหน้าและแววตาของเด็กๆ ยังจดจ่อกับการฟังเหมือนไม่รู้สึกเบื่อหน่าย
  • ดิฉันจึงรู้สึกว่า 1/2 ชั่วโมงหลัง  ดิฉันเล่าได้ดีขึ้น ด้วยความมั่นใจว่าวิธีนี้ work
  • พอนิทานจบลง  ดิฉันจึงได้เผยความในใจแก่นิสิตว่า  เมื่อคืนขณะเตรียมสอน อาจารย์ยังลังเลและกลัวอยู่เลยว่า  จะสอนแบบเก่าดี หรือจะสอนแบบใหม่ที่คิดขึ้นมา
  • power point ที่เตรียมไว้ ก็มีทั้งสองแบบ  แบบเก่าเป็นเชิงทฤษฎี  แบบใหม่ก็ยังไม่เคยใช้  จะสอนแบบไหนดีน้อ?
  • ในที่สุดอาจารย์ก็ตัดสินใจได้ว่า  ในการสอนการบริหารจัดการองค์กร  ถ้าเราไม่สอนให้นิสิตบริหารจัดการตนเองได้แล้ว  เขาจะไปบริหารจัดการคนอื่น หรือองค์กร ได้อย่างไร  เพราะฉะนั้น ขอลองสอนแบบใหม่ดูสักตั้ง

 

  • หลังจากนั้น ดิฉัน ก็แจกกระดาษ A4  (reuse) ให้นิสิตคนละแผ่น  ให้ทุกคนเขียนความรู้สึก และ/หรือความรู้ ที่ได้รับจากการเรียนในวันนี้  โดยให้หลักกว้างๆ 4 ข้อ ว่า
    • ก่อนเรียนคิดว่าอาจารย์จะสอนอย่างไร คิดว่าจะได้อะไรจาการเรียนในวันนี้
    • เรียนแล้วเป็นอย่างไร/ได้อะไร
    • เป็นอย่างที่คิดไว้หรือไม่
    • และที่ได้เรียนรู้มีความประทับใจอะไรบ้าง
  • หรือแม้ใครจะเขียนต่างไปจากนี้ก็ได้  ขอให้เขียนมาจากใจ  อ้อ! ดิฉันบอกนิสิตด้วยว่า อย่างนี้เรียกว่า AAR : After Action Review  ใช้เวลา ประมาณ 15 นาที

 

  • ดิฉันออกจากห้องเรียน พร้อมด้วย AAR ของนิสิต ปึ๊งใหญ่ (47 แผ่น)
  • อ่านแล้วชื่นใจ  เลยอยากเอามาถ่ายทอดให้ชาว Blog ที่สนใจได้ทราบด้วย
  • เพื่อให้สบายใจว่า มีเยาวชนที่กำลังจะเป็นอนาคตของชาติ ที่กำลังเติบโตอย่างมีคุณภาพ มีความรู้ คู่คุณธรรม  นำสังคมได้
  • ดิฉันจะทยอยนำลงในบันทึกชื่อ  My After Learning Review ต่อไป 

   

 

หมายเลขบันทึก: 50069เขียนเมื่อ 14 กันยายน 2006 14:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 15:54 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

     ส่วนหนึ่งของความสุขและการพัฒนาที่ QAU ได้จากการทำ KM ก็มาจาก AAR ของผู้เข้าร่วม  Workshop  และของทีม (ฟาใหญ่ ฟาน้อย) หลัง Workshop เหมือนกันค่ะอาจารย์

เรียนรู้ไม่หยุดหย่อน และรวดเร็วจริงๆ นะแม่ฟาน้อย

สวัสดีค่ะอาจารย์มาลินี

เรียกว่า KM เข้าไปในทุกอณูของชีวิตการทำงานของอาจารย์ได้ไหมคะ   ไม่ว่าจะบริหาร บริการ หรือการสอน อาจารย์ก็สามารถประยุกต์ใช้ KM ในงานได้อย่างธรรมชาติ  เป็นรูปแบบการสอนที่น่าสนใจมากๆ ค่ะ

 

สวัสดีค่ะอาจารย์ปารมี  ไม่เจอกันตั้งนาน คิดถึงจังเลย :*)

KM  ไม่ทราบเค็มรึเปล่า  ที่แน่ๆ ดิฉันติดความเค็ม  อ้อ! แต่ต้องเป็นความเค็มแบบไทยนะคะ คือเค็มแบบน้ำปลา ถ้าเค็มอย่างอื่นชอบน้อยลงมา

KM คงเป็นตระกูลเดียวกัน ดิฉันจึงติด KM มากเหมือนกันค่ะ

  

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท