ทำอย่างไรถึงจะพูดเก่งๆ ? (10)


พัฒนาทักษะการพูด เรื่องเล่า...จากชีวิตจริงของผู้เขียน

 

             “ฉันก็มีศักดิ์ศรีความเป็นคน ฉันสู้ ฉันทนดิ้นรน..ไม่ได้ขอใครกิน!”

                                                                           เจิน เจิน

 

   เปล่าหรอกครับ!ไม่ได้อยู่ในอารมณ์โกรธหรืออยากประชดใคร ไม่ใช่น้ำตากำลังรินไหล จริงๆ

    ที่ขึ้นต้นด้วยวรรคทองท่อนสร้อยของเพลงดัง เมื่อสิบกว่าปีที่แล้วของเจินเจิน บุญสูงเนิน ในบทเพลง “ฉันก็เป็นผู้หญิงคนหนึ่ง” เนี๊ยเพียงแต่อยากจะนำเสนอต่อท่านผู้อ่าน ให้เข้าใจและเข้าถึงได้ง่ายๆ หากท่านจะพูดต่อหน้าผู้คนในที่ชุมชน หรือการเป็นวิทยากรให้ความรู้ในโอกาสต่างๆ

  ในห้องเรียนของผู้ใหญ่ผู้เรียนเขาจะมีความรู้สึกว่า ฉันต้องการการให้เกียรติอย่างยิ่งจากวิทยากร

 

   ฉันหน่ะ..มนุษย์น่ะ ฉันก็มีศักดิ์ศรี  กรุณาปฏิบัติต่อฉันอย่างให้เกียรติ..น่ะค่ะ

  เมื่อผู้เขียนทำงานในสายฝึกอบรมบุคลากรประมาณหกปีก่อน ตอนนั้นอยู่ในระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสแล้วหล่ะ แต่ไม่ได้เข้าถึงและตระหนักในเรื่องจิตวิทยาการเรียนรู้ของผู้ใหญ่ในข้อนี้ดีเท่าไหร่ มีเหตุการณ์ที่ผู้เขียนจำได้จนติดตาจำไม่ลืมและคงไม่ลืมจนตราบสิ้นอินทรีย์สลาย (ศัพท์สูง 555)เลยปานนั้น

   ผู้เขียนมีหน้าที่จัดปฐมนิเทศพนักงานใหม่(Orientation) ด้วยมีความเชื่อที่ฝังลึก จากการศึกษาแก่นวรรณกรรมเพื่อชีวิตมาเยอะว่า มนุษย์ไม่ว่าจะสูงต่ำในกำเนิดใด ชนชั้นใด ตำแหน่งไหนก็ตาม ย่อมเสมอภาคและเท่าเทียมกัน ดังนั้น ในการปฐมนิเทศนั้นไม่ว่าจะมีกิจกรรมอะไรในหลักสูตรดังกล่าว เช่น การทำท่าทำทางคิกขุอาโนเนะ ในการเดินแนะนำตัวตามฝ่ายต่างๆ การเล่นเกมส์ในห้องแบบเน้นสนุกสนานไม่ต้องห่วงภาพลักษณ์กันหล่ะงานนี้ ผู้เขียนก็ให้ทำพร้อมกันหมด ไม่ได้แยกว่าเป็นผู้บริหารหรือพนักงานธรรดา

 

   ก็ต้องทำเหมือนกันหล่ะ ก็คนเรามันเท่าเทียมกันนี่หน่า..นี่คือหลักคิดในการทำงานของผู้เขียน

 

   แล้วช่วงวินาทีเปลี่ยนชีวิตก็มาถึงในวันหนึ่ง..

   เมื่อการปฐมนิเทศในรุ่นนั้นมีผู้บริหารใหญ่ระดับแถวสอง รองจากกรรมการผู้จัดการเข้ามาเริ่มงานใหม่ ผู้เขียนเห็นคุณค่าในชีวิตมนุษย์เท่าเทียมกัน ก็เลยจัดที่นั่งให้ท่านนั่งรวมกันกับพนักงานทั่วไป ไม่มีการแนะนำหรือให้ความใส่ใจเป็นพิเศษเพราะมันจะดูห่างเหินและแตกต่าง ทำกิจกรรมคิกขุอาโนเนะก็ต้องทำเหมือนกัน สรรพนามที่ใช้เรียกก็เรียกเหมือนกัน

    ทุกครั้งที่ผู้เขียนให้ทำกิจกรรมอะไร ผู้บริหารท่านนั้นก็จะมีคำถามกลับมาที่ผู้เขียนตลอดว่า

     “พี่ต้องทำด้วยไหม ?” ชี้นิ้วกลับไปที่ตัวเอง หน้าตาตกใจกึ่งสงสัย

    “แน่นอนครับ ชัวร์! ทำเหมือนกันครับ” ผู้เขียนยิ้มเล็กๆ และนึกภูมิใจตนเองอย่างเหลือประมาณ ที่สามารถทำให้มนุษย์ปฏิบัติต่อกันอย่างเท่าเทียม พลันระลึกถึงใบหน้าของท่านมหาตมะ คานธี ในช่วงที่ท่านกำลังรณรงค์การปฏิบัติอย่างไม่เท่าเทียมต่อคนวรรณะศูทร และจัณฑาลในอินเดีย ประหนึ่งว่ากำลังเดินตามรอยท่านอยู่

    ผู้บริหารท่านนั้นก็แสดงความไม่พอใจออกมาบ้าง แต่ไม่ถึงกับมาก แต่ผู้เขียนก็พออ่านออก จนจบปฐมนิเทศรอบนั้นไปก็ไม่มีอะไร

   แต่ความรุนแรงมันทวีขึ้น เมื่อผู้บริหารท่านนั้นได้กลายสภาพจาก พนักงานใหม่เป็นพนักงานเก่า ได้ประมาณหนึ่งเดือนแล้วหล่ะครับ ข้อท้วงติง ข้อเสนอแนะต่างๆ จากท่านผู้บริหารท่านนั้นส่งตรงถึงกรรมการผู้จัดการในเรื่องการฝึกอบรมพนักงานก็มีทุกวัน

  หัวหน้าของผู้เขียนก็ถูกเรียกขึ้นไปตำหนิ เกือบทุกวัน และก็มาถ่ายทอดต่อถึงผู้เขียน เกือบทุกวันเป็นเวลา 2 สัปดาห์เติม และหลังจากนั้นก็มีออฟชั่นอื่นๆมาถึงผู้เขียนอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอจนกระทั่งวาระสุดท้ายของผู้เขียนในองค์กรนั้น เช่น ประสานงานขอคนอบรมไปก็ขัดข้องตลอด เทรนทำไมเรื่องนี้ ไม่เห็นจำเป็นเลย ? อบรมแค่สามชั่วโมงตอบวัตถุประสงค์ได้ตั้ง 5-6 ข้อเลยหรือ ? หรือแม้กระทั่งการเขียนเมล์มาตำหนิพฤติกรรมส่วนตัวของผู้เขียนต่อหัวหน้าผู้เขียนเอง

   การปฏิบัติต่อผู้คนอย่างเท่าเทียม มันส่งผลร้ายต่อผู้เขียนขนาดนั้นเลยหรือ ?

  ความเจ็บปวดครั้งนี้ทำให้ผู้เขียนต้องกลับไปทบทวนตำราของท่านอาจารย์ ดร.ทนง ทองเต็ม ซึ่งก่อนหน้านี้ก็อ่านผ่านๆ ในหัวข้อที่ว่าด้วยเรื่องของจิตวิทยาการเรียรู้ของผู้ใหญ่ 5-6 ข้อ ไม่เข้าใจว่ามันสำคัญอย่างไร พอกลับมาทบทวนใหม่จึงเข้าใจอย่างทะลุปรุโปร่งในเลยครับว่า ผู้บริหารท่านนั้นท่านมีประสบการณ์สูงกว่าผู้เขียนในหลายเรื่อง ต้องการให้ผู้เขียนแสดงความเคารพในประสบการณ์ท่าน ปฏิบัติต่อท่านอย่างให้เกียรติทั้งกริยาท่าทางและสรรพนามที่ใช้เรียกท่าน กิจกรรมประเภทคิกขุอาโนเนะไม่ควรจะให้ท่านทำให้พนักงานได้เห็นเพราะท่านจะเสียภาพลักษณ์ตั้งแต่วันแรกที่เข้ามาทำงาน บทเรียนบางบทกิจกรรมบางอย่างก็ควรแยกท่านออกมาเรียนรู้ต่างหากจากพนักงานอื่นๆ

  เมื่อผู้ใหญ่รู้สึกว่า ถูกปฏิบัติอย่างไม่ให้เกียรติ ไม่เคารพในประสบการณ์ บรรยากาศแบบไม่มีการแลกเปลี่ยนและเคารพในความคิดเห็นซึ่งกันและกัน เขาจะเรียนรู้ไม่ได้เต็มที่...

   ผู้เขียนก็อยากจะทราบเหมือนกันครับว่า ความรู้สึกท่านผู้บริหารท่านนั้น ในขณะนั้น ท่านจะร้องเพลงเจิน เจิน ขณะมองหน้าผู้เขียนด้วยประโยคที่ว่า                     

    “ฉันก็มีศักดิ์ศรีความเป็นคน ฉันสู้ ฉันทนดิ้นรน..ไม่ได้ขอใครกิน!” ตามด้วยอาการแอบสะบัดบ๊อบเล็กๆหรือเปล่า ?

  โชคดีหลังโชคร้ายก็เกิดขึ้น ในขณะที่โดนกระหน่ำเนื่องจากอยู่ในตำบลกระสุนตกอยู่นั้น ผู้เขียนก็ตัดสินใจไปเรียนต่อที่เนติบัณฑิตยสภา ในใจก็คิดปลอบตัวเองว่า “เอาดีทางอบรมไม่ได้ ก็กลับไปเอาดีทางกฎหมายก็ได้ว๊ะ !”

   อาจารย์ผู้สอนก็เป็นนักฎหมายใหญ่ทั้งนั้น ระดับประธานฎีกา ศาลอุทธรณ์ รองประธานก็มี ผู้พิพากษาอาวุโส ท่านเหล่านี้ เวลาท่านเรียกพวกกระผมซึ่งเป็นนักศึกษา ท่านเรียกว่า “ท่านนักศึกษาครับ” ผู้เขียนรู้สึกดีมากเลย ความรู้สึกอบอุ่นมันแทงทะลุไปถึงก้นบึ้งชั้นลึกสุด ผมรู้สึกได้ ผมรู้สึกได้ ยูเรก้า! ยูเรก้า!

   ปัจจุบันในขณะที่ผู้เขียนทำงานผู้เขียนจะแนะทีมงานเสมอๆว่า เวลาทำหน้าที่เป็นพิธีกรหรือวิทยากรอย่าใช้คำเรียกผู้เข้าอบรมว่า “คุณ”เด็ดขาด ให้ใช้คำว่า “ท่านครับ”

   ขณะเป็นผู้ดูแลความเรียบร้อยของหลักสูตรอบรมต้องปฏิบัติกับผู้เข้าอบรมอย่างให้เกียรติที่สุด แสดงความเป็นมิตรอย่างยิ่ง ยิ้มแย้มแจ่มใส กริยาท่าทางต้องสุภาพ อ่อนน้อม อย่าตะคอกตะคั้นหรือแสดงอาการต้อนคนเข้าอบรมเด็ดขาดเลย

    เมื่อมีผู้บริหารระดับสูงต้องเข้าร่วมเรียนรู้ด้วย ต้องจัดที่นั่งให้ท่านอย่างเหมาะสม กิจกรรมบางอย่างที่ไม่เหมาะไม่ต้องให้ท่านทำ เนื้อหาบางเรื่องควรแยกให้ท่านได้เรียนรู้ต่างหาก ก็ควรแยกออกมา

   เมื่อก่อนตอนที่เริ่มทำงานใหม่ๆ ผู้เขียนคิดว่าเรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องเล็กๆ แต่ปัจจุบันเรื่องนี้มันใหญ่ ม๊าก มาก ต่อผู้เขียนและทีมงาน เพราะหากไม่ปฏิบัติต่อผู้เรียนอย่างให้เกียรติแล้ว เขาจะปิดรับสิ่งที่เราจะให้เขาในหลักสูตรนั้นทันทีครับ

   ผู้เขียนยังคงเชื่อมั่นและยึกหลักความเสมอภาคเท่าเทียมของมนุษย์เช่นเดิม ศรัทธาต่อในแนวทางของท่านมหาตมะ  คานธีอย่างยิ่งเช่นเดิม เพียงแต่ในการจัดหลักสูตรอบรมให้ผู้ใหญ่เรียนรู้นั้น ต้องปฏิบัติต่อผู้เรียนอย่างให้เกียรติอย่างยิ่งครับ จิตและปัญญาของเขาจึงจะเปิด และเมื่อเปิดแล้ว ท่านจะเติมอะไรก็เติมง่าย

  ฉันเป็นมนุษย์น่ะ...ฉันมีความรู้สึก กรุณาจับต้องเบาๆ

  ให้เกียรติฉันสิ แล้วฉันจะใหเกียรติเธอตอบ

   และเราจะได้เรียนรู้ไปด้วยกัน...

 

  สวัสดีครับ

  

 

คำสำคัญ (Tags): #ปณิธานสามรุ่น
หมายเลขบันทึก: 500577เขียนเมื่อ 29 สิงหาคม 2012 15:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 สิงหาคม 2012 19:46 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
  • การให้เกียรติ
  • ความกรุณา
  • ความเท่าเทียม
  • ความเชื่อมั่น
  • ศัดดิ์ศรี

ขอบคุณนะคะ เอาใจช่วย เข้มแข็ง สู้ๆๆ ค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท