"การสื่อสาร" คือยาสามัญประจำบ้าน


"การสื่อสาร" คือยาสามัญประจำบ้าน

การเรียนแพทย์นั้น ต้องอาศัยความมุ่งมานะบากบั่นพยายาม มีความเพียรในการศึกษาอย่างหนักไม่เพียงเพราะนัยสำคัญคือชีวิตและความทุกข์สุขของคนเท่านั้น แต่ยังต้องการความรู้ ความชำนาญ ที่พอเหมาะพอสมกับนัยยะเหล่านั้นด้วย หมอมีเครื่องมือหรือ "อาวุธ" ที่จะต่อสู้กับโรคภัยไข้เจ็บได้แก่ ยา ผ่าตัด รังสี และอื่นๆอีกหลายมิติประกอบกันเป็นยุทธศาสตร์แห่งการเยียวยา บ้างก็ใช้ยาอย่างเดียว บ้างก็ผ่าตัด บ้างก็มีฉายรังสี หลายๆโรคก็ต้องอาศัยสองสาขา สามสาขา หรือมากกว่านั้น ในการเยียวยาให้ได้ทุกๆมิติ

ดังนั้นเอง ก่อนหมอจะได้ใบประกอบโรคศิลป์ (เดี๋ยวนี้เรียกใบประกอบวิชาชีพเวชกรรม แต่ผมไม่เห็นด้วยที่ตัด "ศิลป์" ออกไป ขอใช้คำเดิม) จึงต้องร่ำเรียน อย่างเรื่องของยา ก็ต้องเรียนเภสัชวิทยา ว่าด้วยองค์ประกอบหลัก องค์ประกอบรองของยา ฤทธิ์ของยาโดยตรงต่อโรค ฤทธิ์ของยาต่ออาการและอาการแสดง ผลข้างเคียงของยาและการรักษาผลข้างเคียง ข้อบ่งชี้และข้อห้ามใช้ เพราะยามันไม่ได้มีแต่ประโยชน์อย่างเดียว ยังสามารถมีโทษได้ทั้งทางตรง ทางอ้อม หรือไปรวมประสมกับยาอื่นๆ ระบบอื่นๆ แล้วเกิดผลข้างเคียงออกมาได้ นอกจากนั้นยังต้องพิจารณาว่าคนไข้มีอวัยวะอะไรสำคัญๆบกพร่องไหม เพราะยาหลายๆตัว ต้องไปเปลี่ยนรูปก่อนในร่างกายก่อนออกฤทธิ์ บางตัวต้องมีตัวนำ (carrier) เช่นอัลบูมิน โกลบูลิน (Albumin, Globulin) เป็นตัวจับ หรืออวัยวะสำคัญในการขับถ่ายสารส่วนเกิน เช่น ตับ ไต ยังดีอยู่ไหม มิฉะนั้นจะต้องคิดเผื่อยาคั่งค้างอยู่นานและมากกว่าปกติด้วย

อย่างเรื่องหัตถการ การผ่าตัด ก็เป็นอีกกลุ่ม ที่ไม่เพียงแพทย์จะต้องทราบทฤษฎี แต่ต้องมี "ทักษะ" ที่ได้มาจากประสบการณ์ตรง และการฝึกฝน สังเกต ไตร่ตรองเป็นเวลาพอสมควร เป็นแต่ยุทธศาสตร์บนกระดาษไม่ได้ เพราะมันไม่เหมือนกัน จะผ่าตัดใครสักคน ต้องทราบข้อบ่งชี้ ข้อห้าม ผลข้างเคียงและเหตุการณ์ไม่คิดฝัน รวมทั้งวิธีการแก้เกม แก้ไข ป้องกัน ฯลฯ ครบถ้วนทุกกระบวนความก่อน จึงจะทำได้ดี

ทั้งยา ทั้งผ่าตัด ต่อมาจึงกลายเป็นสาขาจำเพาะไป เพราะมีด้านลึกแปรไปตามความซับซ้อนได้อีกมาก แต่หมอทั่วๆไป ก็จะต้องทราบ "พื้นฐาน" ของอาวุธทั้งสองกลุ่มเป็นอย่างดีในระดับหนึ่ง

แต่ที่ผ่านมา มี "พยาธิสภาพ" อีกรูปแบบหนึ่ง ที่ต้องการการเยียวยาเหมือนกัน แต่อาจจะได้รับการดูแลน้อยไป หรือมองข้ามไป พยาธิสภาพนี้คือ "ความไม่รู้" หรือ "ความรู้ผิดๆ"

เวลาที่คนไข้มาหาหมอนั้น นอกเหนือจากอาการโดยตรงจากโรค หรือโดยอ้อมก็แล้วแต่ แต่ที่เพิ่ม "ความทุกข์" ให้กับโรคนั้นๆก็คือ ความรู้สึกขาดความสามารถควบคุมชีวิตของตนเอง เพราะ "อะไรก็ไม่รู้ (โรค)" มาบั่นทอนความสุข ความสามารถตามปกติของเขาไป ดังนั้นเอง แม้ว่าหมอจะจ่ายยาให้ จะผ่าตัดก็แล้ว แต่ถ้าไม่รักษา "ความไม่รู้" ให้ด้วย ก็ใช่ว่าความทุกข์นั้นจะหมดไปทั้งหมด และเหนืออื่นใด ความไม่รู้ที่ว่านี้ รักษาได้ตรงกับสาเหตุได้ไม่ยากเลย จากไม่รู้จะกลายเป็นรู้ ก็เพียงแค่ "สื่อสารให้เข้าใจ" เท่านั้นเอง

"การสื่อสาร" คือ ยาสามัญประจำบ้าน

เช่นนี้การไม่รู้ หากเรามองเป็นโรค เป็นพยาธิ เป็นตัวเกิดทุกข์ เราก็ควรจะเยียวยาไปพร้อมๆกัน เพราะตอนเราไม่รู้ โรคนี้ก็กำเริบได้ไม่แพ้โรคอื่นๆ คนก็คิดไปโน้นไปนั้น แล้วแต่ว่าเป็นคนมองโลกในแง่ดี/ไม่ดีขนาดไหน แต่ว่าคนเรา ลองฐานกายบกพร่อง ไอ้ที่มองโลกแง่ดีมาตลอดก็อาจจะไม่ไหวเหมือนกัน เพราะมันเจ็บ มันปวด มันจะเป็นยังไงต่อไปก็ไม่ทราบ รู้แต่ว่าตอนนี้นั้นมันไม่สบาย

โรคหลายๆโรคเป็นโรคเรื้อรัง รักษาไม่หาย บริบทนี้ยิ่งแล้วใหญ่ เพราะถ้าไม่หาย ก็แปลว่าเราต้องอยู่ไปกับมันจนกว่าเราจะหาย (ไปจากโลกนี้) แล้วคำถามก็คือ "เราจะอยู่กับมันอย่างไร?" ถ้าคำถามนี้ไม่มีคำตอบ หรือมีคำตอบผิดๆ ก็จะไปกันใหญ่ 

โรคเรื้อรังบางกลุ่ม ต้องมีการส่งต่อจากที่หนึ่งไปรักษาต่ออีกที่หนึ่ง อาจจะเป็นโรงพยาบาลเล็กๆ ส่งไปโรงพยาบาลใหญ่ๆ หรือจากโรงพยาบาลใหญ่ๆ ส่งกลับไปดูแลต่อที่โรงพยาบาลเล็กๆ ที่ศูนย์อนามัยตำบล หรือ รพสต. หรือสถานีอนามัย และสุดท้ายก็ส่งต่อไปที่บ้าน ทุกๆครั้งที่มีการส่งต่อ จะเกิด "บริบทใหม่" ซึ่งเป็นภาวะวิกฤติต่อคนไข้และคนดูแลเสมอไป เพราะเปลี่ยนจากที่ที่คุ้นชินคุ้นเคย ไปเป็นที่ใหม่ ระบบใหม่ วิธีใหม่ คนดูแลอาจจะเปลี่ยนใหม่ทั้งชุดก็ยังมี โรค "ไม่รู้" ก็จะกำเริบอีกทุกครั้งไป

การเยียวยาโรคไม่รู้ จึงต้องกระทำ ด้วยการ "สื่อสาร" ที่ดี

แต่การสื่อสารนั้น ผมมองว่าเป็นเสมือนการผสมผสานของทั้งการจ่ายยา และการผ่าตัดเลยทีเดียว นั่นคือ เราจะต้องทราบกลไกของการสื่อสารพอๆกับทราบ pharmacokinesis หรือ จลนศาสตร์ของยาเลยก็ว่าได้ สื่อแบบไหนไป ออกฤทธิ์แบบใด สื่อแบบห้วนๆ/กระชับ สื่อแบบนุ่มๆ/วกวน สื่อตอนปวด/ตอนบรรเทา สื่อตอนจิตตก/สบายใจ ฯลฯ สิ่งเหล่านี้เป็นศาสตร์ที่ผู้จะ "จ่ายยา การสื่อสาร" จะต้องศึกษาให้ดีก่อน เหมือนที่เราต้องเรียนเรื่องยาก่อนจะจ่ายยานั่นแหละ

ไม่เพียงแต่เท่านั้น ตัว "การสื่อสาร" เอง เราก็ต้อง execute หรือกระทำอย่างที่เราจะ "ผ่าตัด" นั้นด้วย คือ "มีทักษะ" และสามารถแก้ไขปัญหาที่มองไม่เห็นมาก่อนได้ on the spot (ภาษาศัลยแพทย์คือ on the table) รู้ข้อบ่งชี้ รู้ข้อห้าม รู้การห้ามเลือด การเยียวยา และกระบวนการ "หาย (healing)" ของแผลเป็นอย่างดีด้วย ก่อนจะไปผ่าใคร

ปัญหาเรื่องการสื่อสาร

  1. แพทย์ไม่เห็นว่า "การไม่รู้" ก็เป็นทุกข์ เป็นพยาธิสภาพที่ต้องรักษาเหมือนโรคภัยไข้เจ็บอื่นๆ ไม่เห็น ก็ไม่สนใจจะเยียวยา หรือเห็นก็จริง แต่ธุระไม่ใช่ จะเพราะอะไรก็แล้วแต่ คือ Ignorance
  2. เห็นเป็นพยาธิ แต่ขาดความรู้เรื่องกลไกการสื่อสารกับการเยียวยา ก็จะสั่งยาผิด ผิดประเภท ผิดเวลา ให้ยา over-dose ไปบ้าง under-dose ไปบ้าง ไม่รู้จะจ่ายยาตอนไหน ไม่รู้ว่าจะเลิกเมื่อไหร่ ไม่เข้าใจปฏิสัมพันธ์กับยาอื่นๆที่มี ไม่รู้จัก antidote ไม่ทราบว่าคนไข้จะย่อย จะดูดซึม จะขับถ่ายได้แค่ไหน คือ Incompetence
  3. เห็นเป็นพยาธิ แต่ขาดทักษะ ความชำนาญ เพราะไม่ได้ฝึกฝน ไม่ใส่ใจจะฝึกฝน กลายเป็นศัลยแพทย์อันตราย จับตรงไหนก็เลือดออกตรงนั้น ตัดสินใจผิดพลาด สติแตก คุมอารมณ์ คุมตัวเองไม่อยู่ อันเป็นกาลกิณีบุคลิกต่อการผ่าตัดทั้งสิ้น คือ Clumpsy & Uncalm
จะแก้ไขเรื่องการสื่อสารของแพทย์ จึงมีสามระดับ แก้ ignorance, incompetence และ clumpsy & uncalm และระดับแรกสำคัญที่สุด คือถ้ายัง blind ยังมองไม่เห็นความสำคัญ อีกสองระดับก็ไม่เกิดแน่นอน การ "มองเห็นความสำคัญ" นำมาซึ่งฉันทาคติ แต่อื่นๆก็จะตามมา
หมายเลขบันทึก: 500376เขียนเมื่อ 28 สิงหาคม 2012 10:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 กันยายน 2012 09:05 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

ให้ดอกไม้ก่อน เย็นนี้มาอ่านค่ะอาจารย์

โรคไม่รู้ กระทรวงสาธารณสุขมีกล่าวไว้ว่ารักษาได้ อยู่ใน "มาตรฐานบริการสาธารณสุข" ครับ รักษาด้วยสิ่งส่งมอบที่เรียกว่า "ผลการตรวจ" "ผลการวินิจฉัย" "ความเห็นและคำแนะนำ" ใช้แก้โรคไม่รู้ อยากชวนบุคลากรทางการแพทย์ทบทวนเรื่องนี้ครับ "การสื่อสาร" อาจทำให้คุณหมอเข้าใจผิดว่าต้องคุย เก่ง ต้องมนุษย์สัมพันธ์ดี บางท่านอาจรู้สึกว่าขัดบุคคลิกตนเอง แต่ถ้าให้คุณหมอ เพียงแค่มอบ 3 สิ่งนี้ให้กับ คนไข้ เพื่อแก้โรคไม่รู้ จะดีกว่าไหมครับ

สวัสดีครับคุณไพรัช

ขอบคุณที่เข้ามาเยี่ยมเยียนและเพิ่มเติมครับ :)

สามประการนั้นเป็นพื้นฐานสำคัญจริงครับ น่าจะเป็น minimal requirement ผมยังคิดจินตนาการต่อไปว่า ถ้าหากเราจะ customize อย่างที่สาม คือความเห็นและข้อแนะนำ ให้ตรงกับบริบทคนไข้ (สองอย่างแรกนั้น ตรงไปตรงมา) อาจจะต้องเพิ่มขั้นตอนสำคัญเข้าไปอีก

นั่นคือ "การฟัง" คนไข้ เพื่อให้เข้าใจและได้ข้อมูลในบริบทจำเพาะของแต่ละคน ในกรณีที่เราไม่สามารถจะแนะนำ by default เหมือนกันหมดทุกคนได้ แต่ต้องปรับเปลี่ยนเป็นกรณีไป มองอีกมุมหนึ่งก็คือ หมอเองก็เป็น "โรคไม่รู้" เหมือนกัน คือ "ไม่รู้จักคนไข้" และหากเราไม่รู้จักใครดีพอแล้ว ครั้นจะแนะนำอะไรออกไป มันก็ยาก และเป็นไปได้ที่จะไม่เข้าบริบทของเขา

my two cents

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท