กวีนิพนธ์ในความทรงจำ


อาลัยท่านอังคาร กัลยาณพงศ์

          ถึงแม้ท่านอังคาร กัลยาณพงศ์ จะจากโลกนี้ไปแล้วผลงานของท่านยังคงอยู่...ขอให้ท่านไปสู่สุขคติด้วยเทอญ

         ดิฉันยังจำบทกวีที่ต้องวิเคราะห์ส่งอาจารย์สมัยเรียน ป.บัณฑิต ดิฉันประทับใจมากและยังจดจำจนทุกวันนี้

                  “ทุ่งข้าว”

                                    โดย อังคาร  กัลยาณพงศ์

ทุ่งข้าวเขียวขจี                      สีสดชื่นระรื่นลมไหว

ปูปลามาเล็มไคล                    น้ำใสใต้สันตะวา

สาหร่ายชูดอกกระจิดริด            แมลงน้อยนิดไร้เดียงสา

เกาะดอกหญ้าบนคันนา            แมงมุมตั้งท่าตะครุบกิน

ควายเคี้ยวเอื้องนอนหนอง         แววตาหม่นหมองไม่สิ้น

เหลือบลิ้นวนเวียนบิน               เกาะกินเลือดล้นพุงกลวง

กบเขียดร้องเสียงใส                เสมือนน้ำบนใบบัวหลวง

งูอะไรสีเงินยวง                      เลื้อยไปล้วงรูปูนา

ยูงขาวถลาบิน                       จิกปลากินเกาะกิ่งหว้า

เงาเมฆสีหม่นลอยมา               แสงแดดกล้ากึ่งกลางวัน

ถอนกล้ามาเหนื่อยเมื่อยล้า        เข้าร่มไม้ชายคาประหนึ่งสวรรค์

แก้ห่อข้าวออกวางพลัน            ชวนกันนั่งล้อมวงกิน

น้ำพริกเจือแมงดา                  แกล้มยอดหว้าหวั่นใจถวิล

ว่าสวรรค์ในแคว้นแดนดิน          คือถิ่นทุ่งทองของไทยเอย

                 วิเคราะห์บทประพันธ์ “ทุ่งข้าว”

                                                              โดย    ครูอัง

 บทประพันธ์ ทุ่งข้าว โดยท่านอังคาร กัลยาณพงศ์ ศิลปินแห่งชาติ  สาขาวรรณศิลป์ ด้านกวีนิพนธ์ พ.ศ.2532 มีลักษณะคล้ายกาพย์ยานี11 มีทั้งหมด 7  บท ผู้ประพันธ์ให้ความหมายของเนื้อหามากกว่าการคำนึงถึงจำนวนคำที่ถูกต้องตามลักษณะการประพันธ์กาพย์ยานี 11

        ทุ่งข้าว  เป็นบทประพันธ์ที่มีลักษณะเป็นพรรณนาโวหาร แสดงให้ผู้อ่านมองเห็นภาพพจน์และ   เกิดความรู้สึกคล้อยตาม เสมือนผู้อ่านอยู่ท่ามกลางความสงบสุข มองเห็นวิถีชีวิตที่ดำเนินไปตาม วัฐจักรของสิ่งมีชีวิตน้อยใหญ่ เห็นภาพความร่วมมือร่วมแรงในการทำนาของชาวนา จากบทประพันธ์ดังกล่าวทำให้เห็นว่าสภาพทุ่งนาไทยในสมัยก่อนเต็มไปด้วยสิ่งมีชีวิตหลากหลาย แสดงถึงความอุดมสมบูรณ์ของพืชพรรณธัญญาหารเหมือนคำกล่าวที่ว่า “ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว” นั่นหมายถึงปลาและข้าวเกิดขึ้นด้วยกัน จากบทประพันธ์ทุ่งข้าวสามารถมองเห็นพืชถึง 9 ชนิด อาทิ ไคล  สาหร่าย ดอกหญ้า สันตวา บัวหลวง และอื่น ๆ เป็นต้น ส่วนสัตว์มีถึง 11 ชนิด อาทิ ปูปลา แมลง แมงมุม ควาย เหลือบ งู นกยางขาว  เป็นต้น ทั้งสองมีความเกี่ยวข้องกันในระบบนิเวศวิทยาที่ต้องเกื้อหนุนซึ่งกันและกัน

            ทุ่งข้าวเขียวขจี             สีสดชื่นระรื่นลมไหว

เริ่มต้นของบทประพันธ์ผู้อ่านนึกภาพทุ่งข้าวเขียวขจีกว้างใหญ่สุดลูกหูลูกตาลมโชยมาอ่อน ๆ  ปลายยอดข้าว พลิ้วไหวรับสัมผัสสายลมประหนึ่งชวนกันเริงระบำสอดรับกันเป็นจังหวะอย่างพร้อมเพรียง

              

ผู้อ่านนึกภาพแล้วเกิดความสุขในใจ สีเขียวบ่งบอกความหมายในตัวเองอยู่แล้วคือความสดชื่น ดังนั้นสิ่งที่ได้รับจากบทนี้คือ ผู้อ่านรู้สึกมีความสุขสดชื่น อยู่ในแวดล้อมธรรมชาติที่เต็มไปด้วยชีวิตชีวา เพิ่มชีวิตผู้อ่านให้ยืนยาวขึ้น

        จากนั้นเป็นการพรรณนาโวหารถึงสิ่งมีชีวิตน้อยใหญ่ทั้งพืชและสัตว์ที่อาศัยอยู่ร่วมกันในระบบนิเวศวิทยา อาทิ  ปูปลามาเล็มไคล    น้ำใสใต้สันตะวา นึกถึงท้องทุ่งนาหน้าฝนที่มีน้ำขังอยู่ตามทุ่งปูปลาอาศัยอยู่ใต้ต้นข้าวเวียนว่ายเล็มกินพืชใต้น้ำอย่างมีความสุข น้ำใสเพราะไม่มีสิ่งรบกวน แม้แมลงตัวน้อยที่ไร้เดียงสามิวายจะถูกแมงมุมจ้องตะครุบ   .........        แมลงน้อยนิดไร้เดียงสา

     เกาะดอกหญ้าบนคันนา           แมงมุมตั้งท่าตะครุบกิน

สัตว์ใหญ่ประเภทควายแสดงน้ำใจแบ่งปันเลือดให้กับเหลือบลิ้นที่เกาะกินกันอย่างเอร็ดอร่อยแม้จะเสียเลือดจนพุงกลวงก็ยังนอนแช่น้ำเคี้ยวหญ้าสบายอารมณ์แต่มีความกังวลเล็กน้อย

     ควายเคี้ยวเอื้องนอนหนอง       แววตาหม่นหมองไม่สิ้น

เหลือบลิ้นวนเวียนบิน             เกาะกินเลือดล้นพุงกลวง

แต่บทนี้ดูไม่น่าจะเป็นไปได้ที่งูไม่สนใจกินกบเขียดแต่หันไปเล่นงานปูแทน ทั้งที่กบเขียดน่าจะอร่อยกว่า

กบเขียดร้องเสียงใส               เสมือนน้ำบนใบบัวหลวง

งูอะไรสีเงินยวง                     เลื้อยไปล้วงรูปูนา

อีกตอนหนึ่งที่แสดงถึงระบบนิเวศที่ต้องพึ่งพาอาศัยกัน  ยูงขาวถลาบิน จิกปลากินเกาะกิ่งหว้า

                    

           ตอนต่อไปนี้เป็นอุปมาโวหารที่กล่าวถึงชีวิตชาวนาระหว่างทำงานอย่างเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าชาวนาต้องทำนาหลังสู้ฟ้าหน้าสู้ดินท่ามกลางแสงแดด เมื่อถึงเวลาพักกลางวันรับประทานอาหาร การได้อยู่ใต้ร่มไม้เหมือนได้ขึ้นสวรรค์ดังบทที่กล่าวนี้

  ถอนกล้ามาเหนื่อยเมื่อยล้า       เข้าร่มไม้ชายคาประหนึ่งสวรรค์

แก้ห่อข้าวออกวางพลัน           ชวนกันนั่งล้อมวงกิน

         

วิถีชีวิตชาวนามีความน่าสนใจตั้งแต่แต่ไหนแต่ไรมาคือการช่วยกันลงแขก หมายถึง การร่วมแรงร่วมใจในการช่วยเหลือญาติ ๆ เพื่อนบ้าน หลาย ๆ ช่วยกันทำนาเมื่อทำนาตนเองเสร็จแล้วก็ย้ายไปช่วยคนอื่น ๆ ต่อไปจนเสร็จสิ้น ลงแขก ตั้งแต่ปักดำจนกระทั่งเก็บเกี่ยวครบทุกขั้นตอนการทำนา ชาวนาแต่ละคนจะนำอาหารจากที่บ้านมาร่วมกันรับประทาน อาหารง่าย ๆ ที่มีตามพื้นบ้านอย่างเช่นน้ำพริกแมงดาจิ้มผักซึ่งหาได้จากท้องทุ่งนั้นเอง ดังบทนี้      

          น้ำพริกเจือแมงดา  แกล้มยอดหว้าหวั่นใจถวิล

ขณะที่ล้อมวงรับประทานอาหารชาวนารำพึงในใจถึงท้องทุ่งที่เต็มไปด้วยสรรพสิ่งเหมือนสวรรค์บนดินของพวกเขา ซึ่งบทประพันธ์ของตอนนี้เป็นการพรรณนาอุปลักษณ์โวหารว่าสวรรค์ในแคว้นแดนดิน คือถิ่นทุ่งทองของไทยเอย

 บทสรุป

        จากบทประพันธ์ของท่านอังคาร ข้าพเจ้ารู้สึกถึงความหวาน ความไพเราะด้วยคำง่าย ๆ ไม่ซับซ้อนแต่หวานจับใจ เห็นภาพพจน์ชัดเจนเหมือนกับว่าข้าพเจ้ายืนอยู่ท่ามกลางท้องทุ่งที่เขียวขจี มองเห็นการทำงานของชาวนาและระบบนิเวศวิทยาที่วนเวียนกันไปทั้งพืช สัตว์และมนุษย์ต่างต้องพึ่งพาอาศัยกัน วิถีชีวิตชาวนาที่เต็มไปด้วยความเมื่อยล้าแต่แฝงไปด้วยความสุข เสมือนกับข้าพเจ้ายืนอยู่ท่ามกลางต้นข้าวเริงระบำ ดูการทำนาของชาวนาเข้าใจถึงความเหนื่อยยากและการใช้ชีวิตเรียบง่ายของพวกเขา ข้าพเจ้ารู้สึกมีความสุข สดชื่น จิตผ่องแผ้ว เบิกบานใจ.

หมายเลขบันทึก: 500316เขียนเมื่อ 27 สิงหาคม 2012 21:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 สิงหาคม 2012 22:37 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ได้ความเป็นธรรมชาติดีมากครับ

ท่าน กวี....อังคาร  กัลยาณพงศ์...ไปสบายแล้ว นะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท