71 ไปเป็นกรรมการประกวดนวัตกรรม...มาค่ะ


ผู้เขียนได้รับเกียรติอีกครั้งไปเป็นกรรมการให้คะแนน  การประกวดนวัตกรรม  ในกิจกรรม KM Day  ประจำปี  2555   จัดโดยคณะเภสัชศาสตร์  มหาวิทยาลัยเชียงใหม่  ซึ่งมีแม่งานหลักคือ น้องอึ่ง  เมื่อวันที่ 24  สิงหาคม   2555  ที่ผ่านมา  จึงอยากนำประสบการณ์จริงในการเป็นกรรมการมาเล่าสู่กันฟัง

 

นส.สมพร  พวงประทุม

 

เพื่อเตรียมความพร้อมให้ตนเอง   ผู้เขียนต้องทำการบ้านพอสมควร  วันนั้นมีคณะกรรมการ 4 ท่านซึ่งมาจากสหวิชาชีพ  ประกอบด้วย อาจารย์ผศ. ดร.จันทรรัตน์  เจริญสันติ   จากคณะพยาบาลศาสตร์   อาจารย์ รศ.ภญ.พรทิพย์ มโนชาญ  จากคณะเภสัชฯ น้องกัตติกา  ละอองศรี  จากงานประชาสัมพันธ์ มช. และตัวผู้เขียนเอง  โดยมีกระบวนกรหลักของงาน คือ อาจารย์นพ.สุธี ฮั่นตระกูล   ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งเป็นรองนายกเทศมนตรีนครเทศบาลพิษณุโลก   วันนั้นก่อนเริ่มงานทีมกรรมการเราล้อมวงพูดคุยเพื่อทำความเข้าใจในการตัดสินให้ตรงกัน   เพราะวันนี้เป็นวัน KM Day เกณฑ์ที่เราตัดสิน ก็ต้องยึดตามกระบวนการของการจัดการความรู้   โมเดลปลาทู  นั่นหมายถึงงานที่นำเสนอต้องประกอบด้วย 3 ส่วน  คือ

  • Knowledge  Vision  (KV : หัวปลา)  งานนั้นต้องมีเป้าหมาย  มีทิศทางในการทำงานที่ชัดเจน  ต้องมีคำตอบให้ได้ว่า “ เราทำเรื่องนี้  เพื่ออะไร”  
  • Knowledge  Sharing (KS : ตัวปลา)  งานนั้นต้องมีการ ลปรร    ซึ่งถือว่าเป็นส่วนสำคัญเพราะมีบทบาทในการกระตุ้นให้คนทำงานมีการแบ่งปันประสบการณ์  โดยเฉพาะความรู้ฝังลึกในตัวคน  เพื่อให้เกิดการหมุนเวียนความรู้  ยกระดับความรู้สู่การเป็นนวัตกรรม
  • Knowledge  Assets ( KA : หางปลา)   งานนั้นต้องมีคลังความรู้  หรือขุมความรู้ ที่เกิดจากการสะสมเกร็ดความรู้   ที่ได้จากการ  ลปรร จากตัวปลา  ซึ่งการเก็บนี้อาจเป็นได้หลายรูปแบบ  เช่น เก็บเป็นเอกสาร เป็นคู่มือการทำงาน  หรือ ใช้ IT มาช่วย  และที่สำคัญ คือต้องมีการเผยแพร่ออกไป  เพื่อแลกเปลี่ยนหมุนเวียนกับผู้อื่น  เป็นการยกระดับความรู้ไปเรื่อยๆ

 

ทีมกรรมการ

 

เมื่อตกลงกันแล้ว  กรรมการเราตกลงกันว่าเพื่อความสะดวกในการให้คะแนนทุกรายละเอียดต้องอยู่ในกระดาษแผ่นเดียว  จึงได้ตารางดังข้างล่างนี้

ตารางการให้คะแนน

 

วันนั้นงานที่นำมาประกวดมีจากหลายๆหน่วยงานทั้งในและนอกองค์กรเภสัชศาสตร์    เช่น จากคณะแพทย์ศาสตร์,  คณะพยาบาลศาสตร์  คณะนิติศาสตร์,  ฝ่ายการพยาบาลจากโรงพยาบาลมหาราชเชียงใหม่   และ นวัตกรรมก็มีหลากหลายรวม 19  นวัตกรรม   ซึ่งเป็นงานระดับองค์กร   ระดับฝ่าย  ตลอดจนถึงระดับหน่วยงานเล็กๆ  รูปแบบมีทั้งที่ต้องใช้วิชาการที่ยุ่งยาก     จนถึงระดับง่ายๆแต่ใช้ความรู้ฝังลึก ( Tacit K.)  จริงที่มีในตัวคนมาช่วยกันลงมือทำจริง    

 

วิธีการให้คะแนนไม่ยุ่งยาก  เริ่มด้วยเราเรียนรู้รายละเอียดจากใบงานที่แต่ละงานส่งมซึ่งก็พอได้รายละเอียดแต่ไม่มากเท่าเมื่อตอนเดินฟังการบรรยายของแต่ละบูธ  เพราะได้มีโอกาสซักถามในสิ่งที่ไม่ได้นำเสนอ  ซึ่งตอนนี้แหละที่คะแนนจะผุดหรือผลุบ   วิธีการให้คะแนน

  • เมื่ออ่านเอกสารที่แต่ละงานส่งมาแล้ว   ผู้เขียนก็เริ่มให้คะแนนตามตารางที่กำหนดเท่าที่สามารถให้ได้ตามหัวข้อหรือรายละเอียดที่มี
  • หลังจากนั้นมาเติมเต็มคะแนนในส่วนที่ต้องฟังจากการบรรยาย  และการซักถามอีกครั้ง
  • ต้องรวมคะแนนให้เร็วทั้ง 2 ส่วน   เพราะทีมงานต้องนำรายชื่อจากการตัดสินไปจัดทำประกาศนียบัตร  เพื่อแจกให้กับผืที่ชนะผลการประกวดได้ทัน

 

ผู้เขียนขอเล่าตัวอย่าง นวัตกรรมที่ได้รับรางวัล The Best ในวันนั้น ลองอ่านดูนะคะ

 

นวัตกรรม The Best

 

 

เรื่อง ...คณะเภสัชศาสตร์  สะอาด ร่มรื่น และเขียวขจี

โดย ... กลุ่มงานบริหารทั่วไป  สนง.คณะเภสัชศาสตร์

ครั้งแรก หลังจากที่ผู้อ่านได้อ่านรายละเอียดในเอกสารที่ส่งมาแล้ว   รู้สึกว่า  เป็นเรื่องที่มีการใช้กระบวนการจัดการความรู้ค่อนข้างชัด  คือ มีทั้ง KV   KS ชัดแต่ในส่วนของ KA  ยังไม่ชัด   แต่เมื่อได้ฟังการนำเสนอจาก คุณสัมพันธ์ วงศ์เทพ   ก็ถึงบางอ้อ   ผู้เขียนขอเขียนที่คุณสัมพันธ์เล่ามาอย่างย่อๆ ให้อ่าน  ลองอ่านดูนะคะ...

ถาม  KV ...ทำไมถึงอยากทำเรื่องนี้…..

เพราะทีมงานอยากสนับสนุนช่วยให้คณะเภสัชศาสตร์และมหาวิทยาลัย เป็นคณะและมหาวิทยาลัยสร้างเสริมสุขภาพ   ซึ่งหมายถึง เน้นให้บุคลากรทุกระดับและนักศีกษารับรู้และตระหนักถึงความสำคัญในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพในชีวิตประจำวัน  งานหมวดสวนและสนามจึงขอมีส่วนร่วมในการดำเนินโดยจัดทำโครงการตามแนวคิดนี้   เพื่อเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่จะสร้างเสริมสุขภาพในการรักษาสิ่งแวดล้อมให้สะอาดและสวยงาม

แล้ว KS  ทำอย่างไร

  • เขาก็ล้อมวงคุย  ใครมีประสบการณ์อะไรก็เอามาแบ่งปัน  
  • ช่วยกันออกแบบ Land scape    แบบแพลนตามพื้นที่ที่จะตกแต่ง   
  • จัดหาพันธุ์ไม้ต่างๆ  เช่น ไม้ดอก ไม้ประดับ  สมุนไพรต่างๆ   ทั้งที่เพาะปลูกเอง  และไปแลกเปลี่ยนมาจากหน่วยงานอื่น
  • เมื่อทุกอย่างพร้อม  เริ่มลงมือปลุกพันธุ์ไม้ตามที่ได้ออกแบบไว้  โดยมีการศึกษาหาความรู้เพิ่มว่า พันธุ์ไม้แต่ละชนิดเติบโตได้ดีในพื้นที่ลักษณะเช่นไร
  • ดูแล บำรุงรักษาให้เติบโตและสวยงาม
  • จัดทำป้ายชื่อทั้งภาษาไทยและวิทยาศาสตร์  สำหรับในส่วนของสมุนไพรได้เขียนถึงสรรพคุณไว้ด้วย  เพื่อให้เป็นแหล่งเรียนรู้แก่ นักศึกษาและบุคลากรทั่วไปขององค์กร

 

มีการจัดการ  KA  อย่างไร

ก็มีการจัดเก็บเป็นบันทึกขั้นตอนในการสร้างสวนสวย เป็นคู่มือการทำงาน     เพราะถือเป็นส่วนของคลังความรู้ หรือขุมความรู้ ที่เกิดจากการทำจริง  และที่สำคัญ  คือ มีการเอาไปแลกเปลี่ยนและแบ่งปันกับหน่วยงานอื่นๆทั้งในและนอกมหาวิทยาลัย   เพื่อนำมาปรับใช้กับผลงานของตนเองให้ดียิ่งๆขึ้นเป็นการยกระดับความรู้ของตนเองไปเรื่อยๆ

 

 

จะเห็นว่าใครๆก็สามารถสร้างนวัตกรรมที่ดีๆใหม่ๆได้    ขอให้มีความตั้งใจจริงที่จะขับเคลื่อนและหมุนเกลียวความรู้ไปเรื่อยๆอย่างต่อเนื่องเท่านั้นพอ

 

                                                                                 

ในภาพเป็นกิจกรรมหลังจากที่ทีมกรรมการขับเคลื่อนให้งาน KM Day ของคณะเภสัชศาสตร์จนลุล่วงด้วยดีแล้ว   ก็ชวนกันหมุนเกลียวไปทำกิจกรรมสบายๆตามสไตล์คนทำงาน KM ค่ะ     

                                                                                    ขอบคุณค่ะ

 

หมายเลขบันทึก: 500314เขียนเมื่อ 27 สิงหาคม 2012 21:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 กันยายน 2012 08:34 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

กึดเติงหาเจ้า.. สบายดีทุกท่านนะคะพี่เขี้ยว ดูสมบูรณ์ มีความสุขกันจริง ขอบคุณที่แบ่งปันได้เรียนรู้ไปด้วยค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท