ชีวิตที่พอเพียง : 111. พ่อแม่เลี้ยงดูผมอย่างถูกต้องหรือไม่


     เช้าวันอาทิตย์ที่ ๑๓ สค. ๔๙ ผมอ่านบทความเรื่อง Why are well-off children so unhappy? เขียนโดย Denis Campbell ลงพิมพ์ใน Sunday Nation ด้วยความสนใจ    เพราะสาระสำคัญก็คือ พ่อแม่เลี้ยงลูกไม่เป็น

     ผมถามตัวเองว่าผมเลี้ยงลูกเป็นหรือเปล่า    และพ่อแม่ผมเลี้ยงลูกเป็นหรือเปล่า

     เป็นเรื่องยาวและซับซ้อนนะครับ    ต้องเล่าทีละเรื่อง   วันนี้เอาเรื่องวิธีที่พ่อแม่เลี้ยงดูผมก่อน

     การวิเคราะห์เรื่องนี้เอาตำราหรือทฤษฎีเป็นตัวตั้งไม่ได้    ต้องเอาสภาพในครอบครัว  ในหมู่บ้านที่ผมเกิดและเติบโตเป็นตัวตั้ง    และที่สำคัญ ต้องเอาผลลัพธ์เป็นตัวตั้ง

    มองที่ผลลัพธ์  แม่ผมได้รับคำสรรเสริญไปทั่วหมู่บ้าน ว่าเลี้ยงลูกเก่ง   "ลูกได้ดีทุกคน"    เมื่อสักยี่สิบปีมาแล้วทางจังหวัดจะให้รางวัลแม่ดีเด่น    แต่แม่ปฏิเสธไป เพราะไม่ชอบออกงาน

    แต่ถ้าวิเคราะห์ลงไปในรายละเอียด    ในบางซีน  แม่เป็นเหมือนนางยักษ์ใจร้ายเลยนะครับ   เชื่อไหมว่าแม่เคยจับผมมัดโยงกับขื่อ แล้วเฆี่ยนด้วยไม้เรียวบ้าง  ก้านมะยมบ้าง   บางครั้งเอาน้ำเกลือมาราดแผลแตกให้แสบ   "จะได้หลาบจำ"     บางครั้งแม่ไปเอารังมดแดงมาเคาะใส่หัวให้กัด

     ตอนนั้อายุราวๆ ๑๐ - ๑๒ ขวบ    ผมเคยจินตนาการว่าผมอาจไม่ใช่ลูกแม่    แต่เป็นเด็กที่พ่อแม่เก็บมาเลี้ยง     เพราะถ้าเป็นลูกคงไม่ทารุณกับผมอย่างนี้ 

    แต่ความคิดนี้ก็เกิดขึ้นและคงอยู่เฉพาะตอนโดนลงโทษเท่านั้น    คิดแล้วก็ลืม    เพราะตอนแม่ทำกับข้าวให้กิน    แม่ซื้อเสื้อผ้า ซื้อรองเท้า ซื้อชุดลูกเสืออย่างดีให้     แม่เช็ดน้ำตาด้วยความปลื้มเวลาผมทำอะไรดีๆ แล้วทางโรงเรียน หรือครู หรือเพื่อนบ้านชม

    ที่จริงตอนนั้นผมมีดีอยู่อย่างเดียวให้พ่อแม่ชื่นใจ คือเรียนหนังสือเก่ง

    มาคิดทบทวนย้อนหลัง     ผมเดาว่าแม่ลงโทษผมด้วยความโกรธ    ที่สอนเท่าไรก็ไม่เชื่อ    ลงโทษก็ไม่หลาบจำ    แม่คงกลัวว่าโตขึ้นผมจะเสียคน   หรือเอาตัวไม่รอด    เป็นการทำด้วยโทสะ ผสมความเข้าใจผิดว่าลงโทษแล้วจะเปลี่ยนพฤติกรรมคน  

     แม่คงจะถือคติ "รักวัวให้ผูก  รักลูกให้ตี"    ผมเป็นลูกคนโตที่แม่รักมาก    จึงประเคนไม้เรียวให้ผมจนอ่วมไปเลย

    ที่จริงจะโทษแม่ฝ่ายเดียวไม่ได้    ต้องดูฝ่ายผมด้วย    ผมมาคิดย้อนหลังว่าผมเป็นคนยั่วยวนกวนไม้เรียว (หรือกวนอย่างอื่นก็ได้ แล้วแต่จะคิด)    และเป็นอย่างนี้ตั้งแต่เด็กจนแก่    เป็นบุคลิกเฉพาะตัว ว่างั้นเถอะ

     อีกอย่างหนึ่ง ผมเป็นเด็กทื่อ ขาด emotional intelligence    สู้น้องชาย (นพ. วิชัย พานิช) ไม่ได้    น้องเขามีไหวพริบสูงมากในการจับอารมณ์ของแม่    พอเห็นแม่อารมณ์เสียเขาก็เผ่นไปไกลๆ    แต่ผมไม่ประสีประสาเรื่องนี้    ก็อยู่รับอารมณ์แม่จนได้ 

     ที่จริงน้องอีกคนหนึ่งทื่อกว่าผมอีกในเรื่องหลบหลีกอารมณ์ของแม่    แต่เขาไม่ "ดื้อตาใส" อย่างผม

     เรื่อง "ตาใส" นี้ ด้านหนึ่งก็เป็นโทษ    เพราะมันทำให้แม่ "มองตาก็ทะลุไปถึงใจ" คืออ่านออกว่าที่แม่สอนนั้นผมคงจะไม่เชื่อ   ทำให้แม่เกิดโทสะแรงกล้า

    แต่พอโตขึ้น "ดวงตาคมวาวบอกความแน่วแน่ในจิตใจ" ก็เป็นคุณมหันต์ต่อชีวิตของผม

    คุยมาเสียยาว   ที่จริงผมตั้งใจจะเล่าว่าบทความนั้นเขาอ้างถึงหนังสือ "The Price of Privilege : How parental pressure and material advantage are creating a generation of disconnected and unhappy kids" เขียนโดยนักจิตวิทยาคลินิกชาวอเมริกันชื่อ Madeline Levine

    Dr Levine มีคำแนะนำสำคัญ ๕ ประการ
  ๑. ชื่นชมลูกตามสภาพของเขา   อย่าเอาความคาดหวังของเราเป็นตัวตั้ง
  ๒. อย่าตำหนิเมื่อลูกทำพลาด  จะสร้างความรู้สึกไม่มั่นใจตนเอง    อย่าแสดงท่าทีปฏิเสธลูก จะทำให้ลูกเพาะความรู้สึกเกลียดตนเอง
  ๓. แสดงความรัก : กอด จูบ พูดคุย ชื่นชม 
  ๔. สร้างวินัย  เพื่อให้เด็กรู้จักควบคุมตนเอง
  ๕. มีเวลาอยู่ด้วยกัน กินข้าวด้วยกัน ทำกิจกรรมด้วยกัน

     พ่อแม่ผมได้คะแนนไม่สูงใน ๒ ข้อแรก    แต่ได้คะแนนเต็มใน ๓ ข้อหลัง

     ผมสรุปว่าไม่มีอะไรสำคัญต่อการเลี้ยงลูกเท่ากับความรัก    ผมโชคดีที่พ่อแม่ของผมไม่รวยพอที่จะแสดงความรักผิดๆ ต่อผม

    เด็กที่มีพ่อแม่รวย ก็อาจซวยเพราะโดนพ่อแม่แสดงความรักผิดๆ

วิจารณ์ พานิช
๑๓ สค. ๔๙

 

หมายเลขบันทึก: 50027เขียนเมื่อ 14 กันยายน 2006 09:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 มิถุนายน 2012 22:17 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

หัวเราะขำคุณแม่  ได้หลายก๊ากค่ะ สนุก อยากฟังอีก

คิดถึงวัยเด็กที่พี่ชายโดนตี แต่ตัวเองไม่โดน

ด้วยเหตุผลว่าเขาเป็นดื้อตาใสและตัวเองเป็นพวกหลบเลี่ยงเก่ง

รวิวรรณ

ชอบมากเลยเพราะตอนที่โดนแขวนขื่อแล้วโดนตียังจำได้ดีทีเดียวว่ารู้สึกอย่างไร  เมื่อก่อนก็โกรธแม่นะ แต่ตอนนี้รู้แล้วว่าเป็นไง  แต่บางครั้งก็อาจจะใช้กับลูกทุกคนไม่ได้ ไอ้ตีแขวน ขื่อเนี่ย

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท