"บุคคล" ในกฎหมายขัดกันของรัสเซียและไทย เหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร ?


กฎหมายขัดกันของทั้งสองประเทศ ต่างใช้หลักสัญชาติเป็นเกณฑ์ในการพิจารณา

         หากเราจะพิจารณาเรื่องสถานะของบุคคลตามกฎหมายขัดกัน โดยเปรียบเทียบกันระหว่างกฎหมายขัดกันของสองประเทศ คือ ประเทศรัสเซียและไทย นั้น กฎหมายขัดกันของรัสเซีย คือ The Civil Code of the Russian Federation Part three section VII Private international law ตาม Article 1233. ได้กล่าวถึงการพิจารณาในเรื่องกฎหมายของบุคคลไว้ มีสาระสำคัญดังต่อไปนี้คือ

          ในส่วนของกฎหมายบุคคลของบุคคลธรรมดานั้นให้ใช้กฎหมายสัญชาติบังคับ แต่ถ้าสัญชาติใดสัญชาติหนึ่งเป็นสัญชาติรัสเซีย ให้ใช้กฎหมายรัสเซียบังคับ แต่ถ้าบุคคลนั้นมีหลายสัญชาติให้ใช้กฎหมายของประเทศที่บุคคลนั้นมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดที่สุด และในส่วนของบุคคลที่ไร้รัฐนั้นให้ใช้กฎหมายของประเทศที่บุคคลนั้นมีถิ่นที่อยู่อาศัยถาวร และกรณีที่เป็นผู้อพยพ ให้ใช้กฎหมายของประเทศที่ให้ที่อพยพแก่บุคคลนั้น

           เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบกับกฎหมายขัดกันของไทย ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พุทธศักราช พ.ศ. 2481 แล้ว เราก็จะเห็นความเหมือนและความแตกต่างกัน โดยจะขอแบ่งเป็นหัวข้อเพื่อที่จะให้ผู้อ่านได้เข้าใจง่ายขึ้น ดังต่อไปนี้ค่ะ

          1. ในเรื่องของกฎหมายที่ใช้บังคับแก่สภาพบุคคลนั้น กฎหมายขัดกันของรัสเซียและของไทยนั้นกำหนดไว้ตรงกัน คือ กำหนดให้ใช้กฎหมายของสัญชาติบุคคลนั้น โดยกฎหมายขัดกันของไทยได้วางหลักเกณฑ์เรื่องนี้ไว้ในมาตรา 10 ภาคสถานะและความสามารถของบุคคล

           2. กรณีที่บุคคลธรรมดานั้นมีหลายสัญชาติ และหนึ่งในสัญชาตินั้นเป็นสัญชาติของประเทศนั้นเอง ก็ให้ใช้กฎหมายของประเทศนั้นใช้บังคับ ซึ่งกฎหมายขัดกันของทั้งไทยและกฎหมายขัดกันของรัสเซียต่างก็กล่าวถึงเรื่องนี้ไว้ตรงกัน แต่กฎหมายขัดกันของไทยได้วางหลักเกณฑ์เรื่องนี้ไว้ตามมาตรา 6 วรรค 3 ภาคบทเบ็ดเสร็จทั่วไป ซึ่งเป็นการวางบทบัญญัติในกรณีที่มีการขัดกันของสัญชาติบุคคล (ในกรณีนี้มีการพิจารณาต่อเนื่องมาจากการพิจารณาสถานะและความสามารถของบุคคลตามมาตรา 10 ซึ่งกำหนดให้ใช้กฎหมายสัญชาติของบุคคลนั้น) แต่กฎหมายขัดกันของรัสเซียได้พูดถึงเรื่องนี้ไว้ในภาคบุคคล

           3. กรณีที่บุคคลธรรมดามีหลายสัญชาติ กฎหมายขัดกันของรัสเซียกำหนดให้ใช้กฎหมายของประเทศที่บุคคลนั้นมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดที่สุด แต่ในกฎหมายขัดกันของไทยนั้น จะต้องพิจารณาก่อนว่าสัญชาติของบุคคลที่ได้รับมานั้นได้รับมาในคราวเดียวกันหรือไม่ ถ้าหากสัญชาตินั้นได้รับมาต่างคราวกัน ก็ให้ใช้กฎหมายสัญชาติที่บุคคลนั้นได้รับครั้งสุดท้าย แต่ถ้าสัญชาตินั้นได้รับมาในคราวเดียวกัน ก็ให้ใช้สัญชาติของประเทศซึ่งบุคคลนั้นมีภูมิลำเนา ตามมาตรา 6 วรรค 1 และวรรค 2

          4. กรณีที่บุคคลนั้นเป็นคนไร้รัฐ กฎหมายขัดกันของรัสเซียกำหนดให้ให้กฎหมายของประเทศที่บุคคลนั้นมีถิ่นที่อยู่ถาวร แต่ในกฎหมายขัดกันของไทยกำหนดให้ใช้กฎหมายภูมิลำเนาของบุคคลนั้นบังคับ แต่ถ้าภูมิลำเนาไม่ปรากฎ ให้ใช้กฎหมายของประเทศที่บุคคลนั้นมีถิ่นที่อยู่บังคับ

          5. กรณีที่บุคคลนั้นเป็นผู้อพยพ กฎหมายขัดกันของรัสเซียกำหนดให้ใช้กฎหมายของประเทศที่ให้ที่พักพิงแก่ผู้อพยพ แต่ในกฎหมายขัดกันของไทย ไม่ได้มีการวางหลักเกณฑ์ในเรื่องนี้ไว้แต่อย่างใด

          โดยสรุปแล้วกฎหมายขัดกันในเรื่องบุคคล ทั้งของประเทศรัสเซีย และประเทศไทยต่างก็ได้วางกฎเกณฑ์ให้ใช้หลักสัญชาติเป็นเกณฑ์ในการพิจารณา แต่กฎหมายขัดกันของทั้งสองประเทศนั้นมีกฎเกณฑ์ที่ต่างกันในเรื่องของการพิจารณาสัญชาติ ในกรณีที่บุคคลนั้นมีสัญชาติมากกว่าสองสัญชาติ และในส่วนของสถานภาพของบุคคลนั้น ในกรณีที่เป็นบุคคลไร้รัฐและกรณีที่เป็นผู้อพยพ จากการพิจารณาข้างต้นทำให้เห็นได้ว่าากฎหมายขัดกันของรัสเซียนั้นมีการวางหลักเกณฑ์ในเรื่องของบุคคลไว้ครอบคลุมมากกว่ากฎหมายขัดกันของไทย

หมายเลขบันทึก: 49978เขียนเมื่อ 13 กันยายน 2006 22:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 มิถุนายน 2012 17:33 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท