เครือข่ายครูหนองบัวและนครสวรรค์ : เครื่องมือถอดบทเรียนสร้างความรู้และพัฒนาตัวแบบทฤษฎีปฏิบัติแนวปรากฏการณ์วิทยา


ผมขอนำเอาภาพแสดงหลักคิดและกรอบการทำงานความรู้ที่พัฒนาไปบนกระบวนการปฏิบัติ มาเผยแพร่ไว้เพื่อรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับเครื่องมือที่ได้ให้เป็นแนวทางในการทำงานความคิดกันบนเวที ของเครือข่ายครูพัฒนาการเรียนรู้ภูมิปัญญาอิงถิ่นฐานของหนองบัวและนครสวรรค์ เมื่อ ๑๔-๑๕ สิงหาคม ๒๕๕๕ ที่ผ่านมา รวมทั้งจะได้เป็นสื่อการเรียนรู้สำหรับผู้สนใจให้ได้ศึกษาโดยสะดวกด้วยตนเอง  

แนวคิดและทฤษฎีพื้นฐานของแผนภาพและการจัดกระบวนการลักษณะนี้ เป็นแนวคิดเชิงทฤษฎีปรากฏการณ์วิทยา(Phenomenology) ซึ่งท่านที่สนใจใคร่ศึกษาเพิ่มเติม ก็จะสามารถอ่านและศึกษาค้นคว้าต่อไปได้ในเรื่องที่เกี่ยวกับปรัชญาวิทยาศาสตร์ ทฤษฎีความรู้ และพื้นฐานทฤษฎีการวิจัยทางสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์

ส่วนการทำเป็นแผนภาพความคิดเพื่อเป็นแนววิเคราะห์ สร้างความรู้ และนำเสนอผลอย่างเป็นระบบ มีความเชื่อมโยง เน้นการเข้าถึง เข้าใจ เห็นภาพและเห็นสถานการณ์ต่างๆ เป็นเรื่องราวและเชื่อมโยงหลายมิติเหล่านี้นั้น ผู้เขียนได้พัฒนาขึ้นเองสำหรับใช้ทำงานในโอกาสต่างๆ เช่น ใช้พัฒนาทีมวิจัย พัฒนานักถอดบทเรียนและสื่อสารการเรียนรู้ พัฒนาความเป็นผู้นำการเรียนรู้ของกลุ่มคนทำงาน พัฒนาทักษะการสื่อสารและนำเสนอของกลุ่มคนทำงานสาขาต่างๆ

เนื่องจากแผนภาพที่วาดความรู้และกระบวนการคิดให้เป็นภาพดังกล่าวนี้ เป็นแผนภาพการวิเคราะห์และประมวลผลเพื่อนำเสนอเรื่องราวต่างๆ โดยหลักปรากฏการณ์วิทยา ดังนั้น จึงมุ่งศึกษาปรากฏการณ์และสถานการณ์ต่างๆผ่านชุดของเหตุปัจจุยและผู้กระทำปรากฏการณ์ให้เกิดขึ้น ส่วนในการนำเสนอ ก็จะถ่ายทอดและนำเสนอเหตุการณ์โดยมีตัวเดินเรื่อง เดินเข้าสู่ปรากฏการณ์ด้วยความหมายตามบริบทของผู้กระทำหรือผู้ปฏิบัติ แล้วเชื่อมโยงออกไปสู่โลกกว้างและความเป็นสากล ลงไปจนถึงโครงสร้างพื้นฐานและทรรศนะพื้นฐาน ที่ยึดถือร่วมกันในยุคสมัยหนึ่งๆ 

กระบวนการที่จะให้ความหมายโดยตนเองอยู่กับบริบทเชิงโครงสร้างในแผนภาพดังกล่าวนี้ มีนัยเชื่อมโยงอยู่กับแก่นความคิดพื้นฐานของปรัชญาวิทยาศาสตร์และความรู้ต่างๆของในยุคปัจจุบัน เป็นการหาวิธีสร้างประสบการณ์ให้คนเข้าถึงความลึกซึ้งทางวิชาการ ด้วยการให้สถานการณ์เชิงโครงสร้าง และมีด้านที่เอื้อให้ปัจเจกได้ใช้กระบวนการปัญญาภายในทำความเข้าใจร่วมอยู่ด้วย ซึ่งจะทำให้กระบวนการเรียนรู้เป็นกลุ่ม เข้าสู่การมีประสบการณ์ร่วมกันต่อสิ่งที่เข้าถึงได้ยากด้วยการอธิบาย ซึ่งความมีประสบการณ์จำเพาะร่วมกันชุดหนึ่ง ที่หลุดออกจากความแยกส่วนและก่อเกิดความมีบริบทร่วมกันของปัจเจกอย่างมีความหมายอย่างค่อยเป็นค่อยไปดังกล่าวนี้ ก็พอที่จะใช้อ้างอิงเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจในสิ่งอื่นๆ ในบริบทและในสาขาที่แตกต่างกันได้ดีขึ้น เป็นทางหนึ่งที่ทำให้คนสามารถเดินเข้าหากันและสร้างรากฐานวิถีชุมชนผ่านกระบวนการเรียนรู้บนกระบวนการปฏิบัติต่างๆได้

ชาวบ้านและนักปฏิบัติที่มีความรอบรู้และลึกซึ้งอยู่ในตนเองอยู่แล้วแต่ถ่ายทอดและเขียนความรู้ไม่เป็น เมื่อจัดกระบวนการถอดบทเรียนในลักษณะนี้จนคุ้นเคย ก็จะสามารถพูดอธิบายและแสดงปัญญาปฏิบัติที่ลึกซึ้ง เป็นสิ่งเดียวกันกับสิ่งที่คนทำงานวิชาการและผู้รู้กล่าวถึงได้ ขณะเดียวกัน นักวิทยาศาสตร์และนักวิชาการในสาขาที่ขาดมิติการมีประสบการณ์ทางสังคมหรือขาดความเข้าใจการทำงานเชิงสังคม เมื่อถอดบทเรียนในลักษณะนี้ไประยะหนึ่ง ก็จะสามารถสร้างการอธิบายปรากฏการณ์ทางสังคมด้วยการก้าวเดินออกจากจุดยืนทางสาขาความรู้ของตนเองได้เป็นอย่างดี

การเรียนรู้ภายในกระบวนการ จึงจะมุ่งช่วยทำให้คนที่มีปัญญาและดำเนินชีวิตในสาขาที่แตกต่างกัน มีจุดเชื่อมโยงทางปัญญา จินตภาพ และความรู้กันได้ ซึ่งจะเป็นพื้นฐานสำคัญให้เครือข่ายปฏิบัติการต่างๆมีความสามารถบริหารจัดการตนเองอย่างมีส่วนร่วมได้ดี โดยไม่ต้องทำให้คนที่มีวิถีชีวิตแตกต่างกันต้องทำสิ่งต่างๆให้เหมือนกันแบบเบ็ดเสร็จ ซึ่งจะทำให้หลุดออกจากฐานชีวิตและต้องละทิ้งทุนประสบการณ์ของสังคม ไม่อิงถิ่นฐาน แต่จะไปขึ้นต่อปัจจัยการเปลี่ยนแปลงที่จะพึ่งภูมิปัญญาตนเองในระยะยาวได้น้อยลง


ด้วยลักษณะของกระบวนการเข้าสู่ความจริงและสร้างความรู้ที่ใช้ปรากฏการณ์เชิงสัมผัสและผลทางการปฏิบัติเป็นตัวตั้ง จากนั้นจึงมองผ่านปรากฏการณ์ ไปสู่ปัจจัยเชิงระบบและโครงสร้าง กระทั่งไปถึงทรรศนะพื้นฐานของมนุษย์ในสังคมวัฒนธรรมต่างๆในลักษณะดังกล่าวนี้ วิธีอย่างนี้จึงเป็นวิธีหนึ่งที่เหมาะกับวิธีถอดบทเรียนและสร้างความรู้ที่อยู่ในวิถีชีวิตและอยู่ในวิถีปฏิบัติ ซึ่งก็จะทำให้คนทำงานที่ต้องให้น้ำหนักกับภาคปฏิบัติมากกว่างานเขียนความรู้บนเอกสาร ได้มีวิธีที่เหมาะสมสำหรับสร้างปัญญาและความรู้จากการปฏิบัติ สามารถเกิดความลุ่มลึกทางวิชาการและมีตัวแบบทฤษฎีจากการปฏิบัติ ที่มีพลังการอธิบายโดยอ้างอิงไปกับการสร้างความเป็นจริงของสังคมให้เกิดขึ้นด้วยการปฏิบัติ

ขณะเดียวกัน ก็เชื่อมโยงได้อย่างเป็นระบบ มีความเป็นเหตุเป็นผลกับทฤษฎีและความรู้สากล เหมาะสมสำหรับกระบวนศึกษาวิจัยปฏิบัติการในแนว Community-Based Research และการทำงานความรู้ในแนว Theory Through Practice Integration เพื่อสร้างคนที่ต้องอยู่กับงานปฏิบัติอย่างใกล้ชิด เช่น ครู อาจารย์ ชาวนา ผู้ใช้แรงงาน ผู้ปฏิบัติธรรม ผู้นำชุมชน อสม แพทย์ คนทำสื่อ เป็นอาทิ ให้มีความบูรณาการทั้งปฏิบัติ วิชาการ การทำงานเชิงสังคม และการพัฒนาความงอกงามของชีวิต

กระบวนการดังแผนภาพดังกล่าวนี้ เป็นการจัดระบบข้อมูลประสบการณ์และจัดระบบความรู้ที่มีชีวิตหรือทำงานกับระบบตัวปัญญาที่อยู่ในคนและองค์กรแบบพลวัตร ซึ่งจากการสังเกตบนการทำงาน มักพบว่า วิธีเรียนรู้เพื่อนำเอาประสบการณ์เชิงสัมผัส ประสบการณ์การทำงาน รวมทั้งประสบการณ์ชีวิต มาสร้างปัญญาและสร้างความคิดให้แยบคายด้วยกระบวนการถอดบทเรียนโดยวิธีนี้ เมื่อทำหลายๆรอบอย่างต่อเนื่องพอสมควรแล้ว ก็จะสามารถทำให้ชาวบ้าน ชุมชน และคนทำงานแบบนักปฏิบัติ มีความลุ่มลึกจากประสบการณ์ พร้อมกับสามารถสร้างทฤษฎีอธิบายการปฏิบัติให้มีพลัง แสดงความแตกต่างและเชื่อมโยงกับทฤษฎีและความรู้ทั่วไปได้อย่างกลมกลืน เดินไปเชื่อมโยงกับโลกภายนอกด้วยความเป็นตัวของตัวเองได้

ขณะเดียวกัน ก็ช่วยให้นักวิชาการและนักทฤษฎี สามารถเห็นมิติที่เชื่อมโยงกับความรู้ในวิถีชีวิตชาวบ้านและความรู้แบบนักปฏิบัติได้ดีขึ้น ทำให้นักวิชาการเดินออกจากทฤษฎีเข้าหาโลกของการปฏิบัติ และสามารถเกิดจุดยืนร่วมกันที่กว้างขวางและลดความแยกส่วนลงไป ได้ดีขึ้น เป็นเครื่องมือทางความรู้และวิธีการเชิงวิชาการอย่างหนึ่ง ที่จะช่วยขยายกำลังบนความเป็นจริงของคนและชุมชน รวมทั้งพาคนก้าวข้ามความแตกต่างและยกระดับขึ้นพ้นจากความแยกส่วน เพื่อเรียนรู้ความร่วมมือกันได้ควบคู่ไปบนการขยายเพิ่มพูนทางปัญญาปฏิบัติ

ทำประสบการณ์ให้เป็นทุนปัญญาปฏิบัติ

ในการปฏิบัติ การทำงาน การดำเนินชีวิต ตลอดจนการอยู่กับตนเองและเกิดกระบวนการคิด เหล่านี้ จะทำให้เราเกิดประสบการณ์แก่ตนเองขึ้น ซึ่งในทางการวิจัยและการถอดบทเรียนนั้น ประสบการณ์ที่ได้แก่ตนเองดังกล่าวนี้ มีคุณค่าต่อการก่อให้เกิดความเติบโตงอกงามทางสติปัญญาทางด้านต่างๆมาก

การจดจำประสบการณ์ต่างๆที่ผ่านเข้ามาในชีวิตได้และสามารถบอกเล่าถ่ายทอดรายละเอียดต่างๆได้นั้น จัดว่าเป็นเพียงการพรรรณาข้อมูลจากประสบการณ์เชิงสัมผัส ซึ่งอาจจะไม่มีความหมาย ไม่เห็นบทเรียน ไม่มีการเพิ่มพูนความรู้เกี่ยวกับการปฏิบัติ รวมทั้งไม่เกิดการยกระดับจิตวิญญาณ และสร้างความเติบโตงอกงามทางสติปัญญาของเราและผู้อื่นเลยแม้แต่น้อยก็ได้  

แต่ถ้าหากเรามีเครื่องมือทำความคิดให้แยบคาย นำเอาข้อมูลชีวิตและข้อมูลประสบการณ์เชิงสัมผัสทั้งหลาย ทั้งที่เกิดผ่านจากประสบการณ์ชีวิตการเป็นครูและจากทุกมิติของการดำเนินชีวิต มาพิจารณาทบทวน วิเคราะห์ สังเคราะห์ ให้บทสรุปและให้ความละวางแก่ตนเองได้อยู่เสมอๆ ผู้ปฏิบัติ คนทำงาน และตัวเราเอง ก็จะมีความสามารถในการพึ่งตนเองทางการปฏิบัติ มีการพัฒนาชีวิตและการงานที่ต่อเนื่อง สามารถทำงานและได้ความเติบโตงอกงามอย่างไม่หยุดนิ่งอยู่กับที่

นอกจากนี้ ก็จะช่วยให้คนทำงานสามารถผลิตความรู้และสร้างปัญญาปฏิบัติ ถ่ายทอดและนำเสนอด้วยวิธีการต่างๆไปตามเงื่อนไขความพร้อม นับแต่วิธีมุขปาฐะ โดยใช้วิธีคิด ฟัง และพูดบอกกล่าว ไปจนถึงการเป็นนักวิชาการและนักทฤษฎีการปฏิบัติซึ่งทรงภูมิปัญญาและมีของจริงอ้างอิงได้บนการปฏิบัติ เมื่อมีเงื่อนไขเอื้อให้เขียนบันทึกถ่ายทอดได้ ก็เพิ่มวิธีทำงานความรู้โดยการเขียน ทำวิจัย และอื่นๆ เพิ่มโอกาสให้ประสบการณ์ชีวิตและการทำงาน มีโอกาสสั่งสมเป็นภูมิปัญญาร่วมกันของสังคมได้มากยิ่งๆขึ้น ซึ่งภายใต้ช่องทางและวิธีการที่แตกต่างหลากหลายเหล่านั้น หากได้วิธีคิดและทำงานข้อมูลอย่างเป็นระบบดังแผนภาพนี้แล้ว ก็จะสามารถเลือกทำไปตามเงื่อนไขที่เอื้อให้ทำได้อย่างไม่จำกัด

ดังนั้น เราจึงสามารถประมวลผลประสบการณ์และเรื่องราวต่างๆในชีวิตและการทำงานเสียใหม่ รวมทั้งเมื่อเราได้เผชิญกับสถานการณ์ต่างๆ ก็สามารถใช้กรอบแนวคิดนี้ ทำให้เรื่องราวและสิ่งต่างๆมีความหมาย ทั้งด้านที่สามารถให้ความเชื่อมโยงสอดคล้องกับสิ่งที่คนทั่วไปมองเห็น และด้านที่จะให้มุมมองที่แตกต่างหลากหลาย ต่างจากคนทั่วไป ซึ่งจะทำให้ชุมชนและสังคมมีกำลังทางปัญญา เกิดทางเลือกต่อสิ่งต่างๆครอบคลุมหลากหลายซับซ้อนดีขึ้น ทำให้คนสามารถเรียนรู้รวมหมู่และขยายพื้นที่ชีวิตให้กว้างขวางเพื่ออยู่ร่วมกันได้ดียิ่งๆขึ้น

ก่อนเข้าสู่กระบวนการถอดบทเรียนด้วยวิธีการต่างๆ กรอบวิธีคิด แนวการวิเคราะห์สังเคราะห์ สร้างความรู้ สร้างการอธิบายปรากฏการณ์ทางการปฏิบัติ  รวมทั้งเตรียมการนำเสนอและถ่ายทอดเรื่องราวต่างๆให้อยู่ในรูปปรากฏการณ์ที่มีแนวคิด มีวิธีมอง และมีเค้าโครงการเข้าสู่ความจริงในแง่มุมที่ต้องการอย่างเหมาะสม พอดี เราสามารถใช้แผนภาพการคิดวิเคราะห์เชิงปรากฏการณ์วิทยานี้สร้างเครื่องมือสำหรับทำงานก่อน หากมีแต่ตัวเปล่าก็ใช้จัดระบบภายในกระบวนการคิดแล้วใช้การนั่งสนทนาและเล่าถ่ายทอดประสบการณ์สู่กัน หากมีกระดาษและสื่ออย่างอื่นช่วย ก็ดัดแปลงใช้ให้เหมาะสมและยืดหยุ่นไปตามเงื่อนไขได้ โดยดำเนินการที่สำคัญดังนี้

ขั้นที่ ๑ พรรณาและแจกแจงเรื่องราวต่างๆในเชิงปรากฏการณ์

สร้างเค้าโครงปรากฏการณ์ให้ได้อย่างน้อย ๕ มิติ  (ลำดับหมายเลขไม่ได้แสดงลำดับว่าจะมีความสำคัญมากน้อยต่างกัน)

มิติที่ ๑ การตีค่าและความหมายของปรากฏการณ์หรือสิ่งที่เราศึกษา  พิจารณาประสบกาณ์และเรื่องราวต่างๆที่ผ่านเข้ามาในชีวิตการงานอย่างมีแนวคิด ให้วิธีคิด มีนัยต่อความมีมุมมองทางสังคม มีความหมาย ให้ปัญญา ให้ความบันดาลใจ ให้ความสำนึกและจิตใจที่สูงส่ง ดีงาม ทำให้สังคมมีกำลังปัญญาและกำลังความดีงาม เช่น ไอ้เป๋หนองบัว หากพรรณาอย่างประสบการณ์ต่อสิ่งที่เห็นด้วยสายตาเหมือนกับทุกคนได้มิติเดียว ก็ไม่มีความหมายอะไรนอกจากถ่ายทอดความรู้และความจำอย่างที่คนอื่นก็สามารถเห็น แต่เมื่อใช้เป็นข้อมูลและข้อเท็จจริง นำคนให้เห็นภูมิปัญญาในการอยู่ร่วมกันและสามารถเข้าถึงคุณธรรมของสังคม ที่ชุมชนมีเมตตาธรรมและมีพื้นที่สุขภาวะส่วนรวมกว้างขวาง ยิ่งใหญ่ และเผื่อแผ่ให้แก่เพื่อนมนุษย์ได้อย่างไม่จำกัดว่าจะต้องเกิดเพียงคนที่จะมีประโยชน์ให้กับเราเองเท่านั้น ความรู้จากการเห็นดังกล่าว ก็กลับจะสามารถชี้นำผู้คนให้หยั่งถึงคุณธรรมบางสิ่งที่มีอยู่แต่เดิมของมนุษย์ที่ในตนเอง สามารถเกิดความเข้าใจและได้ความบันดาลใจ จากการนำเอาประสบการณ์แบบทั่วไปมาประมวลผลและนำเสนอใหม่ได้ ดังนี้เป็นต้น

มิติที่ ๒ กลุ่มผู้กระทำการทางสังคม (Social Actor) พิจารณาการประมวลผลประสบการณ์และเรื่องราวต่างเสียใหม่ แทนการพรรณาการจำรายละเอียดและถ่ายทอดอย่างไม่มีความหมาย ก็นำมาถ่ายทอดและบอกเล่าในรูปของปรากฏการณ์ ซึ่งเมื่อเป็นปรากฏการณ์ ก็ย่อมมีผู้สร้างปรากฏการณ์ให้เกิดขึ้น ซึ่งเราจะสามารถเลือกตัวเดินเรื่องได้ และตัวเดินเรื่องนี้ จะเป็นกลุ่มคน ตัวคน หรือวัตถุสิ่งของต่างๆที่มีความหมายดี ก็ได้

มิติที่ ๓ บริบท ประมวลผลและจัดหมวดหมู่ข้อมูลประสบการณ์ ตลอดจนเรื่องราวต่างๆชุดหนึ่งที่มีความหมายต่อการทำให้เห็นท้องเรื่องของเหตุการณ์ ฉากเห็นการณ์ ให้ความเป็นเอกลักษณ์ แสดงการมีความหมายและความเป็นเหตุเป็นผลเฉพาะสังคมวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อมหนึ่งๆ มีความหมายต่อวิธีคิด โลกทัศน์และชีวทัศน์ของชุมชน

จากนั้น แทนการใช้วิธีแสดงข้อมูลและสารสนเทศ พรรณาเรื่องราวต่างๆอย่างไม่มีความหมาย อีกทั้งไม่มีมุมมองและวิธีคิดอื่นใด นอกเสียจากเพียงจดจำและถ่ายทอดบอกกล่าวต่อกันไป ก็ทำการวิเคราะห์และอธิบายเรื่องราวต่างๆ ผ่านชุดเหตุปัจจัยบวกและลบ ซึ่งจะทำให้เข้าถึงความรู้ความเข้าใจต่อความสัมพันธ์เชิงระบบต่างๆที่อยู่ภายใต้ปรากฏการณ์ต่างๆ รวมทั้งทำให้ได้ความคิด ได้มุมมอง และเกิดความบันดาลใจ ได้ปัญญาจากการเรียนรู้เรื่องราวต่างๆเพื่อนำกลับออกไปใช้ได้อีกต่อไป ซึ่งในการวิเคราะห์ปัจจัยบวกและปัจจัยลบนั้น ขอแนะนำดังนี้

มิติที่ ๔ ปัจจัยบวก ควรเลือกปัจจัยที่มีความหมายที่ดีต่อชุมชน อยู่ในความสามารถของชุมชนและคนในชุมชนที่จะจัดการได้ ชุมชนมีทุนทางปัญญารองรับ ทำให้ชุมชนมีศักยภาพเพิ่มขึ้น มีความริเริ่มสร้างสรรค์

มิติที่ ๕ ปัจจัยลบ ควรเลือกปัจจัยที่ก่อให้เกิดความตระหนักและความระมัดระวัง ความสามารถแก้ไข ป้องกัน และปรับปรุงได้ ไม่เปิดช่องและเอื้อให้เป็นโอกาสตีตราคนและชุมชน หรือสร้างเหยื่อของสถานการณ์ให้เกิดขึ้น

ขั้นที่ ๒ วิเคราะห์ปรากฏการณ์และสร้างความรู้อธิบาย ๓ ระดับ

วิเคราะห์ อธิบาย และสร้างความเชื่อมโยง ให้เห็นระบบและโครงสร้างที่อยู่ภายใต้ปรากฏการณ์ และเห็นสภาวการณ์ความเป็นจริงของสังคมที่เชื่อมโยงอยู่กับสิ่งที่ปรากฏให้สัมผัสได้จากปรากฏการณ์ที่กล่าวถึง ปรากฏการณ์ที่ศึกษา หรือประสบการณ์จำเพาะตน ทั้งจากการทำงาน และการดำเนินชีวิต ที่ต้องการนำมาถอดบทเรียนและเรียนรู้ให้ลึกซึ้ง เพื่อตรวจสอบการทำงาน และนำปัญญาต่างๆไปใช้ให้เป็นประโยชน์ให้ดีที่สุดต่อไป

การวิเคราะห์ สร้างความรู้จากข้อมูลการสังเกตประสบการณ์ และการสร้างการอธิบายปรากฏการณ์ต่างๆที่สามารถประมวลภาพขึ้นได้แล้ว ๓ ระดับ

ตัวอย่างจากเรื่องงานที่มีการหารือกันในเวที


ด้วยวิธีการดังกล่าวนี้ จะทำให้เราสามารถนำเอาประสบการณ์และข้อมูลต่างๆที่เกิดจากการได้ลงมือปฏิบัติ มาพิจารณาทบทวน สร้างความรู้ และสร้างปัญญาปฏิบัติเพื่อขยายผลหรือชี้นำการปฏิบัติในสถานการณ์ที่แตกต่างออกไปได้ที่สำคัญ ๒ ประการคือ ประการแรก ทำให้สามารถประมวลภาพประสบการณ์ต่างๆให้แสดงผลเป็นตัวแบบการปฏิบัติที่จะสามารถบอกเล่าและแสดงตนเองได้แจ่มชัดมากกว่าการมีรายละเอียดที่ไม่มีความหมาย หรือการมีประสบการณ์และจดจำประสบการณ์ได้แต่ไม่เกิดกระบวนการเรียนรู้อย่างมีความหมาย

ประการที่สอง จะทำให้คนทำงานปฏิบัติ ชาวบ้าน ตลอดจนคนทั่วไป ที่มุ่งสู่วิถีแห่งการเรียนรู้และมุ่งเข้าถึงความหมายของชีวิตไปบนวิถีแห่งปัญญาปฏิบัติ สามารถทำให้บทเรียนจากกรณีจำเพาะตน ได้ความลึกซึ้งแยบคาย ได้ปัญญาและความมีจิตใหญ่ รวมทั้งมีพลังในการเข้าใจโลกและชีวิต มีพลังในการอธิบายที่ลึกซึ้ง เชื่อมโยงกับความรู้และวิธีคิดแบบสากลได้

หลังจากให้แนวคิดและกระบวนการคิดต่างๆ รวมทั้งกรอบแนวคิดเชิงทฤษฎีดังแผนภาพดังกล่าวนี้แล้ว จึงนำเข้าสู่กระบวนการถอดบทเรียนให้เข้มข้นหรือยืดหยุ่นไปด้วยบรรยากาศสบายๆและเน้นความเป็นธรรมชาติให้มากที่สุด ได้แค่ไหนก็ทำไปตามสภาพความเป็นจริงที่เกิดขึ้นดังกล่าวนั้น.

หมายเลขบันทึก: 499552เขียนเมื่อ 21 สิงหาคม 2012 17:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 กันยายน 2013 23:43 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

ขอขอบคุณทุกท่านครับ
อ.นุ อาจารย์หมอ ป. อาจารย์ณัฐพัชร์ และอาจารย์ธนิตย์ครับ 
เป็นคอวิชาการหนักๆทุกท่านและนะนี่ ดีใจครับ 

เรียนท่านอาจารย์ วิรัตน์ นั่งอ่านบันทึกอาจารย์แล้ว ได้มุมมองแง่คิดในการทำงานชุมชน

มองเห็นกระบวนการแนวคิดของคนชุมชน

เป็นการเรียนรู้ที่ประเสริฐที่สุดสำหรับผม

สวัสดีครับบังวอญ่าครับ
ตัวเครื่องมือและวิธีเรียนรู้เชิงกระบวนการอย่างนี้ มุ่งจับมือพากันเดินเข้าไปหาตัวความคิดและวิธีมองอย่างที่บังวอญ่าเห็นนั่นแหละครับ เป็นกระบวนการที่จะทำให้ชาวบ้านและนักปฏิบัติซึ่งเป็นคนทั่วไป โดยไม่ต้องใช้วิธีอธิบายซึ่งต้องซับซ้อนมาก แต่ให้มีประสบการณ์ทางการปฏิบัติไปบนชุดโครงสร้างสถานการณ์แบบนี้ ก็จะเดินเข้าไปถึงด้วยตนเองได้ ในเวทีหนึ่งๆจะมีคนที่เห็นตรงนี้เหมือนอย่างที่บังวอญ่าบอกนี่ไม่ค่อยเยอะหรอกครับ คนส่วนใหญ่จะคุ้นเคยแต่การเรียนรู้ด้วยวิธีรับการถ่ายทอด ไม่ค่อยรู้จักกระบวนการทางปัญญาภายในตนเอง แต่ทำช่วยกัน ก็คงจะเป็นการช่วยให้ชุมชนและสังคมมีโอกาสสร้างตัวคูณสิ่งดีๆช่วยกันดีกว่าเพิกเฉย เพราะในหมู่ชาวบ้านทั่วไปและนักปฏิบัติทั่วไปนั้น เชื่อว่าจะมีคนทำงานและดำเนินชีวิตอยู่บนวิถีแห่งการเรียนรู้และอยู่กับการได้ความงอกงามทางปัญญาจากการปฏิบัติของตนเองอยู่เสมอ 

รูปประจำตัวของคุณครูต้นเทียนที่เข้ามาเยือนนี่
อย่างกับรูประบำผีตาโขนสีชมพูเลยเนาะ
เลือดอนุรักษ์วัฒนธรรมท้องถิ่นอีสานแรงน่าดู

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท