Archanwell
รศ.ดร. พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

วิจัยร่วมกับสังคมและเพื่อพัฒนาสังคม : แนวคิดพื้นฐานของโครงการเด็กไร้รัฐ – ดยค.


เมื่องานวิจัยพบว่า สะพานข้ามแม่น้ำเป็นสิ่งที่จำเป็นต่อการพัฒนาหมู่บ้าน เราซึ่งเป็นนักวิจัยก็จะไม่หยุดแค่ทราบว่า สะพานเป็นปัจจัยในการพัฒนาหมู่บ้าน เราควรจะกระเสือกกระสนที่จะรู้ให้ได้ว่า จะสร้างสะพานให้หมู่บ้านนี้ได้อย่างไร ? และเมื่อใด ?

             แม้ก่อนที่เราจะทำงานภายใต้โครงการเด็กไร้รัฐ-ดยค. เราก็มีแนวคิดที่ชัดเจนว่าเราจะทำงานวิจัยเพื่อพัฒนาสังคม โดยเราจะผลักสังคมให้เคลื่อนไหวร่วมวิจัยกับเรา เราไม่เชื่อในการทำงานวิจัยเพื่องานวิจัย  เรามีแนวคิดที่ชัดเจนเกี่ยวกับ วิธีวิจัยของเรา ซึ่งอาจสรุปได้เป็น ๔ ลักษณะ กล่าวคือ

             ในประการแรก เราเชื่อว่า สังคม คือ ผู้รับประโยชน์ของงานวิจัยและผู้ร่วมวิจัยกับเรา เราจะไม่ทำงานวิจัยของเราอย่างโดดเดี่ยวลำพัง เราจะไม่แยกตัวออกมาต่างหากจากสังคม งานวิจัยของเราจึงเริ่มต้นจากการค้นหา ผู้แทนทางสังคม เข้ามาทำงานร่วมกับเราในงานวิจัย เราจึงเริ่มต้นงานวิจัยจากการทำงานเครือข่าย กล่าวคือ เราเขียนโครงการวิจัยโดยการหารือกับสังคม เรากำหนดเป้าหมายของงานวิจัยของเราโดยการหารือกับสังคม เรากำหนดวิธีการทำงานวิจัยโดยการหารือกับสังคม ดังนั้น ภาพของโครงการวิจัยของเราจึงเป็นภาพของความต้องการของสังคม (Social Need) ดังนั้น งานวิจัยของเราจึงต้องมี กิจกรรมเพื่อสร้างและพัฒนาเครือข่าย ยิ่งเครือข่ายของเรามาจากทุกภาคส่วนของสังคม งานวิจัยของเราก็จะยิ่งทรงพลังทั้งทางทฤษฎีและปฏิบัติ เมื่อ เจ้าของปัญหา แปรเปลี่ยนมาเป็น ผู้วิจัย และต่อยอดไปเป็น ผู้แก้ปัญหา เราได้มีประสบการณ์หลายครั้งที่ปัญหาที่คั่งค้างมานานปีนั้นก็อาจแก้ไขได้ในเวลาที่ไม่นานนักโดยเจ้าของปัญหาเองซึ่งแบกปัญหานั้นมานานปี

              ในประการที่สอง เราเชื่อใน ปัญญา ซึ่งเป็นสิ่งที่งอกเงยจากองค์ความรู้ มิใช่จากอารมณ์ความรู้สึก เราจึงไม่ปฏิเสธตำราที่บันทึกประสบการณ์ของนักปราชญ์ในอดีต แต่เราก็มีความเข้าใจว่า แนวคิดของนักคิดในสมัยหนึ่งก็ย่อมสนองตอบต่อปัญหาของสังคมในยุคนั้นๆ และแนวคิดของนักคิดในท้องที่หนึ่งก็ย่อมสนองตอบต่อปัญหาของสังคมในท้องที่นั้นๆ  ดังนั้น การแสวงประโยชน์จากการเรียนรู้เชิงประสบการณ์จึงต้องมี กลวิธี ที่จะถอดบทเรียนและปรับปรุงบทเรียนที่วิเคราะห์และสังเคราะห์ขึ้นมาให้ใช้ได้ในช่วงเวลาและท้องที่ที่ต่างกัน   

               ในงานของเราซึ่งเกี่ยวกับเด็ก เยาวชน และครอบครัวซึ่งไร้สัญชาตินั้น  เราพบว่า เราจำเป็นจะต้องเข้าใจไม่เพียงแต่สาเหตุของปัญหาความไร้รัฐที่เกิดขึ้นแก่เด็กและครอบครัว แต่ยังจะต้องเข้าใจลึกไปถึงกฎหมายนโยบายที่เอื้อต่อการแก้ไขปัญหาความไร้รัฐและผลกระทบที่เกิดจากความไร้รัฐ และเพื่อให้การจัดการปัญหาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เราคงจะต้องศึกษาถึงองค์กรที่ใช้ในการจัดการปัญหา  ดังนั้น งานวิจัยของเราจึงต้องมี กิจกรรมการเคลื่อนไหวเพื่อแสวงหาองค์ความรู้ อีกด้วย แต่ต้องสังเกตว่า งานวิจัยเพื่อพัฒนาสังคมโดยเอาเจ้าของปัญหาเป็นจุดศูนย์กลางนั้น ย่อมจะต้องเป็นการเคลื่อนไหวทั้งทางวิชาการ และทางสังคม เป็นการพัฒนาองค์ความรู้เชิงวิชาการจากสถานการณ์จริงในสังคม

               ในประการที่สาม เราเชื่อว่า สิ่งที่เราค้นพบ เราก็จะต้องผลักดันให้สังคมค้นพบร่วมกับเรา เราเชื่อว่า สิ่งที่เราเข้าใจ สังคมก็ควรจะเข้าใจร่วมกับเรา  ความรอบรู้ของสังคม ก็คือ ความเข้มแข็งและความมั่นคงของสังคม การผลักให้สังคมเคลื่อนไหวเพื่อเรียนรู้องค์ความรู้ที่สังเคราะห์ขึ้นจากงานวิจัย จึงเป็น ขั้นตอน ที่จำเป็นในทุกงานวิจัย การทำงานวิจัยเพื่อเก็บในห้องสมุดเพื่อรอให้สังคมเข้ามาในมหาวิทยาลัยนั้น น่าจะเป็นแนวคิดที่ไม่ถูกต้องนัก ดังนั้น  งานวิจัยของเราจึงต้องมี กิจกรรมการเคลื่อนไหวเพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้สู่สังคม  

                ในประการที่สี่ เราเชื่อว่า หากการแก้ปัญหาจำเป็นจะต้องมีการปฏิรูปหรือปฏิรูปแนวคิด หรือแม้กฎหมายและนโยบาย งานวิจัยของเราก็จะต้องก้าวล่วงไปทำหน้าที่ของ งานปฏิรูปหรืองานปฏิวัติ ด้วย งานวิจัยของเราคงจะไม่สนใจเพียงแค่การแสวงหาองค์ความรู้ด้านอภิปรัชญา แต่จะต้องลุ่มลึกลงไปคิดเรื่องของญานวิทยาด้วย ประดุจว่า เมื่องานวิจัยพบว่า สะพานข้ามแม่น้ำเป็นสิ่งที่จำเป็นต่อการพัฒนาหมู่บ้าน เราซึ่งเป็นนักวิจัยก็จะไม่หยุดแค่ทราบว่า สะพานเป็นปัจจัยในการพัฒนาหมู่บ้าน เราควรจะกระเสือกกระสนที่จะรู้ให้ได้ว่า จะสร้างสะพานให้หมู่บ้านนี้ได้อย่างไร ? และเมื่อใด ?

             โดยทั่วไป การเผยแพร่งานวิจัยในลักษณะที่สร้างความตื่นตัวของสังคม (Social Alerte) ต่อ สิ่งค้นพบใหม่ ก็เป็นกิจกรรมหนึ่งซึ่งมีลักษณะที่นำไปสู่การปฏิรูปหรือการปฏิวัติ ดังนั้น การสร้างความรับรู้ของสังคม (Social Awareness) ต่อองค์ความรู้ที่พัฒนาขึ้นใหม่ก็เป็นขั้นตอนที่จำเป็นของงานวิจัยเพื่อการพัฒนาสังคม

              เราซึ่งเป็นนักวิจัยควรจะต้อง แสวงหาองค์ความรู้ ในการผลักดันให้สังคมเคลื่อนไหวเพื่อยอมรับที่จะต้องเปลี่ยนแปลงสิ่งใดสิ่งหนึ่งในสังคมที่มีอยู่แล้วให้สอดคล้องกับสถานการณ์ความจำเป็นอันใหม่ให้สังคม หรืออาจจะเป็นกรณีที่จะต้องผลักดันให้สังคมยอมรับสิ่งใหม่ที่ไม่เคยเกิดขึ้นในสังคม อีกด้วย ขอให้สังเกตว่า หากสังคมยอมรับและยอมร่วมมือในความเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่จะเกิดขึ้น การปฏิรูปหรือแม้การปฏิวัติทางสังคมก็เป็นสิ่งที่อาจทำได้อย่างมีประสิทธิภาพและอย่างมีประสิทธิผล ดังนั้น งานวิจัยของเราจึงต้องมี กิจกรรมการเคลื่อนไหวเพื่อรื้อถอนหรือปลูกสร้างกรอบของสังคมที่เอื้อต่อการพัฒนา

ที่มา : งานเขียนอันเป็นผลมาจากการวิจัยและพัฒนาภายใต้โครงการเด็กไร้รัฐ ภายใต้ความร่วมมือระหว่างกองทุนศาสตราจารย์ คนึง ฦๅไชย คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ

หมายเลขบันทึก: 49921เขียนเมื่อ 13 กันยายน 2006 17:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 16:32 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
ผมกำลังจะเริ่มโครงการวิจัยประวัติศาสตร์ท้องถิ่นว่าด้วยสิทธิเด็กตามจารีตประเพณีของกลุ่มชาติพันธุ์6 กลุ่มที่แม่ฮ่องสอน เป็นโครงการวิจัยเพื่อท้องถิ่น ครับ ก็เห็นว่ามีหลายแนวคิดตรงกับที่ สกว.วางไว้ อาจารย์คิดว่าหลักคิดพื้นฐานนี้เหมือนหรือแตกต่างจากชุดโครงการวิจัยเพื่อท้องถิ่นของ สกว.อย่างไรบ้างครับ? อีกประการหนึ่ง ผมอยากให้มีเวทีวิชาการมาเยือนถึงถิ่นชนบทมากๆ อย่างเครือข่ายภาคประชาสังคมที่แม่ฮ่องสอนนี่ผมประชุมแทบทุกเดือน ไม่เคยสักครั้งเลยที่หยิบเอาประเด็นเด็กไร้รัฐมาเคลื่อนอย่างจริงจัง ไม่รู้เพราะอะไร ในฐานะคนทำงานกับเด็กไร้รัฐคนหนึ่ง ก็อยากช่วยเป็นตัวประสานความรู้มาขับเคลื่อนสู่ชุมชนแถบนี้อย่างเป็นระบบและมีรูปธรรม พอจะมีแนวทางเสนอแนะบ้างไหมครับ?

เพิ่งเห็นข้อคิดเห็นของคุณยอดดอยค่ะ

ขอบคุณค่ะที่มาช่วยอ่าน มีอะไรที่เห็นควรเติม ก็อยากขอความแนะนำนะคะ อย่าเกรงใจนะคะ

จะไปแม่ฮ่องสอนในอีกสักสองเดือนข้างหน้า คงได้มีโอกาสได้คุยกันค่ะ จะขอคุยด้วยแบบ F2F มิใช่ B2B อย่างนี้

เราพยายามผลิต "องค์ความรู้" ในการช่วยเหลือคนไร้รัฐ โดยใช้รูปแบบ "มาม่าซอง"

ถ้าจะให้ช่วย ลองหารือ อ.บงกชค่ะ เรามีโรงเรียนเคลื่อนที่ค่ะ

อ.บงกช

http://gotoknow.org/profile/bongkotka 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท