สอนอย่างไรให้ลูก(หลาน)ศิษย์ อ่านหนังสือได้ 7 จบ ชาตรี สำราญ


ผมพบว่าการไม่ยึดติดแบบเรียนเล่มหนึ่งเล่มใดทำให้เราสามารถสร้างแบบเรียนขึ้นเองได้มาก โดยเฉพาะแบบเรียนความจริงของชีวิตจริง บทเรียนหุงข้าว ทำขนม ไข่เจียว กวาดขยะ ซักผ้า คือบทเรียนที่เด็กชอบเรียนแต่ไม่ค่อยได้เรียน

สอนอย่างไร ให้ลูก(หลาน)ศิษย์

อ่านหนังสือได้ (จบ)

 

            ผมชอบคิดวิธีสอนกับเด็กให้เหมาะสมกับเด็กๆ ผู้เรียน  เรื่องราวสอนต้องง่ายและมองเห็นภาพ  ผู้เรียนจะต้องคิดเรียนให้มากกว่าผมคิดสอน  สิ่งที่ผู้เรียนได้เรียนรู้คือ  เรื่องที่ผู้เรียนคิดขึ้นมาเรียนรู้เองมากกว่าเรื่องที่ผมคิดให้  เช่น  ผมให้เขียนคำว่า

            ดอกไม้             กลับคำเป็น      ไม้ดอก

            ลมพัด              กลับคำเป็น      พัดลม

            ผมเขียนนำ  คิดนำ  แล้วถามผึ้งหลานสาวว่า  “มีคำอื่นอีกไหม”  ผึ้งคิดอยู่นานจึงจะบอกได้  แน่นอนเกมใหม่และเรื่องใหม่ๆ  ย่อมจะต้องให้เวลาผึ้งคิดค้นหา

            พ่อแม่  แม่พ่อ  ผึ้งบอกผมเขียน  ผมคอยให้ผึ้งช่วยสะกดให้  เราได้คำมามากพอสมควร

                        พี่น้อง              น้องพี่

                        ปู่ย่า                  ย่าปู่

                        ใจดี                  ดีใจ

                        น้ำตา               ตาน้ำ  (คำหลังผมต้องช่วย)

                        ของเล่น           เล่นของ

                        ขอให้               ให้ขอ

            ผึ้งใช้เวลาพอสมควรกว่าจะพูดออกมาแต่ละคำ  ผมไม่แปลกใจ  เพราะเด็กอายุ 5 ขวบย่อมจะมีประสบการณ์คำน้อย  แต่ผมเชื่อว่าประสบการณ์เหล่านี้จะตกผลึกอยู่ในหัวของผึ้ง  ต่อไปผึ้งจะสามารถสร้างคำนำมาเขียนเองได้

            บทก่อนผมเขียนคำว่า  K   U   W  A   ทิ้งเอาไว้โดยไม่อธิบายละเอียดคำๆ นี้  ผมคิดขึ้นมาเพื่อช่วยเหลือเพื่อนครูที่ไม่มั่นใจในตนเอง  คิดว่าสิ่งที่ตนทำแล้วไม่เหมือนเพื่อนจะผิด  เรียกว่า  เชื่อตามเพื่อน  ผมจึงใช้ทฤษฎี  KUWA  นำมา  แล้วถามว่าดีกว่าคนอื่นไหม  ตามจริงคำนี้มีที่มา  ดังนี้

            K  =  Knowledge         ความรู้

            U   =   Use                   นำใช้ประโยชน์

            W  =   Walk                 เดิน  เคลื่อนที่

            A   =   Apply               ใช้ให้เป็นประโยชน์ 

ใช้สติปัญญาประยุกต์

            หมายความว่า  “ความรู้นั้นถ้าเราใช้ประโยชน์อยู่เสมอ  ประยุกต์ให้เหมาะสม  ก็จะเกิดเป็นความรู้ให้ขึ้นได้”   ผมเชื่อของผมอย่างนี้  ผมจึงนำความเชื่อเกี่ยวกับวิธีสอนของผมมาสอนลูกและลูกศิษย์ของผมและในที่สุดก็นำมาสอนหลานของผม

            วันที่ 18 มิ.ย. 45  ผึ้งเขียนหนังสือให้ผมอ่านเล่มหนึ่ง  ซึ่งจัดทำรูปเล่มสวยงาม  ชื่อว่า  ถ้ำของนก  ผึ้งเขียนประวัติของตนเองว่า  ด.ญ.ชมชนก  สำราญชัยกร  อายุ 5 ขวบ  11 เดือน  เลขที่บ้าน  311/48  เมืองภูเก็ต

            แล้วผึ้งก็วาดรูปอีกหน้าหนึ่งเป็นภาพภูเขา  มีถ้ำ  มีนกบินออกมา  ผึ้งบอกว่านกอยู่ในถ้ำ  นกบินไปเที่ยว  วาดเสร็จก็ระบายสี  และเขียนเรื่องว่า

            “นกอยู่ในถ้ำหาอาหาร

ในถ้ำมีอาหาร  นกดีใจที่มีอาหาร

มีข้าวโพดมีหนอน  เมล็ดข้าว

นกกินอิ่มแล้วนอน  นกตื่น

แล้วบินว่อนเที่ยวไปหาปู่”

 

นิทานเรื่องแรกของผึ้งจบลงเท่านั้น  ปู่กับแม่และพ่อของผึ้งดีใจมาก  เพราะนี่คือความสำเร็จของเรา  นานนับปีที่เราต้องการเห็นสิ่งนี้เกิดขึ้น  ในที่สุดผึ้งทำได้  เราดีใจมาก  ผึ้งเห็นเราดีใจ  เด็กน้อยก็ดีใจด้วย  ดีใจที่เราทุกคนดีใจที่ผึ้งทำได้  ผึ้งภูมิใจในความสำเร็จของตนมาก  และวันรุ่งขึ้นผึ้งก็วาดรูปเขียนเรื่องต่อในหนังสือเล่มเดียวกัน

ระหว่างที่วาดภาพผึ้งพูดว่า  นี่เป็นวัดที่มีพระ  มีนก  มีคนมาไหว้พระ  วาดเสร็จระบายสีแล้วเขียนเรื่อง

“วัดของนกมีคนเยอะมาไหว้พระ  นกบินมาหาอาหาร  มีนกเยอะ”

ผึ้งจบเรื่องลงแค่นี้  พร้อมกับคำพูดว่า  “คิดไม่ออก”  เป็นธรรมดาของคนเริ่มคิดเขียน  ทำได้เพียงแค่นี้ก็ควรพอใจ  เพราะการคิดแล้วเขียนให้เป็นเรื่องเดียวกันนั้นยากกว่าการพูด  ยิ่งคนที่มีคำน้อยย่อมจะเขียนยากแต่การฝึกบ่อย  เขียนบ่อยจะเก่งเอง  ผมจะพิสูจน์กับผึ้งให้ดูต่อไป

ผมเขียนชื่นชมผึ้งว่า  “ผึ้งวาดรูปสวย  เขียนเรื่องอ่านสนุก  ปู่ชอบอ่านเรื่องที่ผึ้งเขียนมาก”  ผึ้งขอผมไปอ่าน  อ่านแล้วผึ้งยิ้มและขอบคุณผม

ผมเองนั้นเมื่อ่านผลงานของผึ้งแล้ว  ผมถามตนเองว่าได้เรียนรู้อะไรบ้าง  ผู้สอนสสอนเสร็จแล้วต้องตอบให้ได้ว่า  ได้เรียนรู้อะไรจากการสอนบ้าง  ผมบันทึกผลการเรียนรู้ไว้หลังหนังสือผลงานของผึ้งว่า

“ผึ้งชอบวาดรูป  ขณะวาดจะเล่าเรื่องตลอดเวลา  จินตนาการของผึ้งในการเล่าและการวาดรูปสอดรับกันดีมาก  แต่พอให้แปลงเป็นตัวหนังสือ  ผึ้งจะทำได้น้อยมาก  ปู่ต้องนั่งใกล้ๆ  ใช้คำถามซอยย่อยบ่อยๆ  เรื่องที่เขียนของผึ้งจะต่างจากการเล่าออกไป  เมื่อเจาะลึกพบว่า  ผึ้งเขียนคำหรือนึกคำเขียนไม่ได้  นั่นคือผึ้งขาดทักษะการเขียนคำนำสู่การเขียนเรื่อง  แต่ถ้าดูอายุผึ้งวันนี้  อายุ 5 ขวบ  11 เดือน  สามารถอ่านหนังสือนิทานและหนังสือแบบเรียนภาษาไทยระดับป.2-3  ได้อย่างคล่องแคล่ว  คิดเลขบวก 1-2 หลักในใจได้  พูดและอ่านภาษาอังกฤษได้  ผึ้งจัดอยู่ในเด็กกลุ่มเรียนเก่ง  เรียนเร็ว  น่าพอใจ  สำหรับการเขียนเรื่องผึ้งฝึกบ่อย  เขียนบ่อยๆ  ผึ้งจะเก่ง  แต่ในระยะเริ่มต้นต้องคอยเป็นพี่เลี้ยงถามซอยย่อยและบอกคำนำให้เขียน”

                                                                        ชาตรี

                                                                     18 มิ.ย. 45

 

            การบันทึกความรู้ที่ผู้สอนเกิดการเรียนรู้ระหว่างจัดกิจกรรมการเรียนการสอนนั้นมีความสำคัญต่อผู้สอนมาก  เพราะสามารถนำมาทบทวนสิ่งที่ผ่านไป  มาพินิจพิจารณาค้นหาจุดเด่นจุดด้อย  แล้วพัฒนาต่อได้

            ผมเองนั้นสังเกตเสมอมาว่า  การสอนสะกดคำ  ผสมคำนั้น  บางรุ่นของผู้เรียนเริ่มจาก  ต-า-ตา  แต่บางรุ่นเริ่มจากคำอื่น  เช่น  ด-อิ-น-ดิน  หรือ ส-เอือ-เสือ  ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความสนใจของผู้เรียนมากกว่า  แต่เชื่อเถอะว่า  ผู้สอนจะเริ่มจากตรงไหนก็ตามในที่สุดก็หนีไม่พ้นจะต้องสอนสะกดคำทุกสระที่อ่าน  เพราะนั่นคือ  “แม่บท”  นั่นคือ  ท่าครู  เพียงแต่คำแรกที่ผู้เรียนต้องการ  อาจจะคำใดก็ได้แล้วนำสู่  ท่าครู  ในภายหลัง

            ผมพบว่าการไม่ยึดติดแบบเรียนเล่มหนึ่งเล่มใดทำให้เราสามารถสร้างแบบเรียนขึ้นเองได้มาก  โดยเฉพาะแบบเรียนความจริงของชีวิตจริง  บทเรียนหุงข้าว  ทำขนม  ไข่เจียว  กวาดขยะ  ซักผ้า  คือบทเรียนที่เด็กชอบเรียนแต่ไม่ค่อยได้เรียน  ทำไมจึงเป็นอย่างนี้  ผมชอบนำเรื่องจริงมาสอนเด็ก  เพราะเชื่อว่า  ความจริงของชีวิตคือบทเรียนที่ดีที่สุดของมนุษย์ครับผม

 

รวบรวมจากหนังสือวารสาร สานปฏิรูป

อ่านเป็นเล่มได้ที่นี่ครับ https://docs.google.com/docume...



หมายเลขบันทึก: 498937เขียนเมื่อ 17 สิงหาคม 2012 08:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 ตุลาคม 2018 14:45 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท