แท็บเล็ตกับความสำเร็จในอุ้งมือใคร...


ด้วยหลักการสำคัญที่ความรู้แพร่กระจายอยู่ทุกภาคส่วนในทุกอณูอากาศ เหมือนดั่งเทพหรือศาสดาพระผู้มีพระภาคที่สถิตย์อยู่ในทุกหนแห่ง ดังนี้แหละที่เรียกว่า การศึกษาภควันตภาพ (Ubiquitous Education)

 แท็บเล็ตกับความสำเร็จในอุ้งมือใคร...

กว่าบทความนี้จะตีพิมพ์ในวารสาร สพป.อน.1 พวกเราในฐานะผู้แนะนำการใช้เครื่องคอมพิวเตอร์พกพาหรือที่เรียกสั้นๆ ว่า "แท็บเล็ต" คงจะดำเนินการอบรมการใช้เครื่องมือนี้ให้กับคุณครูผู้สอน ป.1 และผู้บริหารสถานศึกษาไปเรียบร้อยแล้ว นับเป็นการเปิดโฉมหน้าใหม่ของการศึกษาไทยขึ้นมาอีกมุมมองหนึ่งในฐานะเครื่องมือของการจัดการเรียนการสอน ที่จะช่วยให้การศึกษาบรรลุเป้าหมายได้ง่ายขึ้น

เหตุผลสำคัญๆ ในการนำเครื่องคอมพิวเตอร์พกพามาเป็นตัวช่วยหลายท่านคงทราบดีว่าก็เพราะศักยภาพของเครื่องมือที่ว่านี้นั่นเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคดิจิทัลทั้งปัจจุบันและอนาคตที่การเชื่อมต่อทั้งหลายผ่าน เครือข่ายคอมพิวเตอร์ อะไรอะไรก็ดูจะง่ายเข้าและง่ายขึ้น เมื่อมีเครื่องแท็บเล็ตเป็นตัวดำเนินการทั้งหลายทั้งปวง ด้วยปมเด่นด้านความสะดวกในการพกพาหรือเคลื่อนที่ไปโดยอาศัยเครือข่ายอินเทอร์เน็ตที่ต่อเชื่อมกันเข้ากับแหล่งสาระความรู้ทั้งหลายในโลก ผ่านหน้าจอขนาดเล็กที่คมชัดด้วยแสงสีเสียง ที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในยุคไหนๆ 

แต่ทั้งหลายทั้งปวง ความสำเร็จหรือล้มเหลวของการนำเครื่องแท็บเล็ตมาใช้เป็นตัวช่วย (ย้ำ...เป็นตัวช่วย) ในการจัดการเรียนการสอน ก็คงหนีไม่พ้นการจัดการของครูผู้สอนและผู้บริหารสถานศึกษาซึ่งเป็นกลไกสำคัญกว่าไมโครชิพเล็กๆ ในวงจรไฟฟ้าของเครื่อง ด้วยการปรับเปลี่ยนทัศนคติสำคัญต่อการจัดการเรียนรู้จากอดีตที่ผู้สอนกับผู้เรียนต้องพร้อมหน้ากันในห้องเรียนตามวันเวลาและสถานที่เดียวกัน ด้วยการเปิดมุมมองใหม่ของการศึกษาไทย สู่ประตูการศึกษาแบบองค์รวมที่ผสมผสานบูรณาการ ผู้เรียนสามารถจะได้รับความรู้ทุกแห่งหนและทุกเวลา ด้วยหลักการสำคัญที่ความรู้แพร่กระจายอยู่ทุกภาคส่วนในทุกอณูอากาศ เหมือนดั่งเทพหรือศาสดาพระผู้มีพระภาคที่สถิตย์อยู่ในทุกหนแห่ง ดังนี้แหละที่ ศ.ชัยยงค์ พรหมวงศ์ ท่านเรียกว่า การศึกษาภควันตภาพ (Ubiquitous Education) 

ด้วยอาศัยเทคโนโลยีสารสนเทศ กระจายความรู้ ข้อมูลข่าวสารไปในทุกหนแห่ง อาศัยการวางแผน เตรียมการจัดการสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมกับการเรียนรู้ ห้องเรียนเดิมๆ ก็จะกลายเป็น "ห้องเรียนภควันตภาพ" (U Classroom) หลายๆ ห้องก็กลายเป็น "โรงเรียนภควันตภาพ" (U School) ขยายไปไม่สิ้นสุด คุณครูในฐานะผู้นำพา เทคโนโลยีสู่ห้องเรียนก็จำเป็นต้องปฏิบัติการให้แท็บเล็ตตัวน้อยมีบทบาทสำคัญในการสร้างภควันตภาพทางการศึกษา โดยการใช้เครื่องแท็บเล็ตเป็นศูนย์การเรียน เชื่อมโยงกับศูนย์ความรู้ออนไลน์ เช่น google , youtube เป็นเวทีสื่อสาร กับเครือข่ายสังคมออนไลน์อย่าง facebook หรืออื่นๆ เป็นห้องปฏิบัติการเสมือนจริงสำหรับทดลองทางวิทยาศาสตร์ เป็นแหล่งสืบค้นข้อมูลสำหรับศึกษาหาความรู้ที่ไม่สิ้นสุด ฯลฯ ต่อไปนี้จะไม่มีการศึกษาทางใกล้ทางไกล ในระบบหรือนอกระบบที่จำกัดเพียงผู้สอนและผู้เรียนหากมีการใช้แท็บเล็ตเป็นเครื่องมือปลายทางในบทบาทที่กล่าวมาแล้ว ก็อาจกล่าวได้ว่าความสำเร็จของการศึกษาไทย อยู่ในอุ้งมือของครูไทยที่มีหัวใจภควันตภาพ ขับเคลื่อนนำพาลูกหลานไทย เปิดสู่โลกใหม่ที่ก้าวไกลทันยุคสมัยแม้จะไม่ก้าวล้ำนำชนชาติใดๆ แต่ก็ทันใช้ทันเหตุการณ์ด้วยเทคโนโลยีสารสนเทศทุกที่ ทุกเวลาในยุคภควันตภาพในอุ้งมือนี้นี่เอง...


หมายเลขบันทึก: 498931เขียนเมื่อ 17 สิงหาคม 2012 06:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 สิงหาคม 2012 13:40 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)
  • น่าสนใจมาก
  • ท่านศน หายไปนานเลยครับ

ขอบคุณท่าน อ.ขจิต ครับ ผมก็ยังวนเวียนอยู่แถวนี้ ไม่ไปไหนหรอกครับ

และขอบพระคุณสำหรับดอกไม้กำลังใจครับ...

ขอเอาใจช่วยให้สัมฤทธิ์ผลดังหวังจริงๆนะคะ และยังอยากให้เด็กป. 1 ได้มีโอกาสเขียนตัวหนังสือไทยให้สวยๆด้วยนะคะ การจับดินสอเป็นการสร้างกล้ามเนื้อมือที่แยบยลกว่าการจิ้มๆป้ายๆบนหน้าจอ หวังว่าจะยังคงเป็นกลยุทธส่วนใหญ่ในการเรียนของเด็กป.1 อยู่นะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท