"ให้การบ้าน" เป็นกำลังใจ


"คนเรามักจะติดกับตัวเอง หากไม่เปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่าง ชีวิตก็จะเป็นเช่นเดิม"

          "หนูโง่ขนาดนั้นเลยหรือคะอาจารย์"

คำพูดสั่นเครือ พร้อมกับน้ำตาที่ไหลอาบแก้ม

 

การสอบครั้งนี้เป็นครั้งที่สอง นั่นหมายถึงว่าครั้งหน้าเป็นครั้งสุดท้าย สอบไม่ผ่าน ก็ต้องพ้นสภาพการเป็นนักศึกษาปริญญาเอกโครงการสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 

อาจารย์ผู้เป็นกรรมการพิจารณาตัดสินไม่สามารถปลอบใจอะไรมากไปกว่านี้ได้ เพียงบอกว่าให้ไปทุ่มเทมาใหม่

 

"คุณไม่สามารถทำให้อาจารย์เชื่อได้ว่าคุณมีศักยภาพพอที่จะนำวิชาความรู้ที่ศึกษามาไปพัฒนาเป็นหัวข้อวิทยานิพนธ์ได้ โดยเฉพาะการบูรณาการศาสตร์ ๓ ศาสตร์ขึ้นไปเพื่อสร้างคุณูปการให้กับสังคม"

 

อาจารย์พูดเสร็จก็ขอตัวไปประชุมที่อื่นต่อ

 

 

หลังจากน้องเขาออกมาจากห้อง น้องเขาก็วิ่งเข้าห้องน้ำไปปล่อยโฮ ข้าพเจ้าได้แต่ยืนรอจนน้องออกมา และพาไปทานน้ำชากาแฟข้างมหาวิทยาลัย พร้อมกับน้องอีกสองคนที่สอบผ่านแล้ว

 

รอ...จนน้องรู้สึกดีพอที่จะเปิดใจรับฟังความจริง...ข้าพเจ้าจึงได้พูด

"พี่ทราบแต่แรกแล้วว่าน้องจะสอบไม่ได้ ไม่ใช่น้องโง่ แต่เพราะน้องขาด "Passion" ที่จะเป็นแรงขับในการทุ่มเทเพื่อการเรียน"

 

น้องเขาเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง และไม่ยอมลาเพื่อศึกษาต่อระดับปริญญาเอก น้องคิดว่าจะแบ่งและจัดการเวลาได้ เพราะพี่คนนี้ทำให้เห็นว่า "งานหลายด้านจัดการได้พร้อมทั้งการศึกษาต่อระดับปริญญาเอก"

  

ข้าพเจ้าศึกษา Enneagram ทราบ "ลักษณ์" ของน้อง แต่พูดอะไรมากไปกว่านี้ไม่ได้ ทำได้เพียงแค่สะท้อนให้เขายอมรับ "ข้ออ่อนด้อย" ของตนเองโดยไม่ได้ตัดสินว่าสิ่งนั้นผิดหรือถูก

"คนเรามักจะติดกับตัวเอง หากไม่เปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่าง ชีวิตก็จะเป็นเช่นเดิม"

ขออภัยจริง ๆ แม้ว่าข้าพเจ้าจะเป็นกระบวนกรอบรมกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านการรู้ตัวเพื่อการพัฒนาจิต แต่ก็มีพื้นฐานของการเป็นนักกฎหมาย วิธีการปลอบใจมีแค่สองอย่าง

 

"ไม่พูดอะไรเลย อยู่เคียงข้าง รอจนน้องต้องการความช่วยเหลือไม่ว่าทางใดก็ตาม" กับ

"พอจะทราบว่าพูดตรง ๆ กับใครได้ ก็จะพูด"

 

                          

ความอ่อนโยนทางอารมณ์ของคนเราไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน ใส่ใจ เข้าใจ แต่ไม่อาจสื่ออารมณ์โดยตรงได้ทั้งหมด ความจริงใจสื่อสารกันผ่านระยะเวลาเป็นเครื่องพิสูจน์

 

หลังจากข้าพเจ้าสะท้อนตัวตนให้น้องเขาฟัง ซึ่งเขาก็ยอมรับโดยดุษฎี เพราะมีตัวอย่างของความเป็นเขาประกอบคำอธิบายอย่างชัดเจน  จากนั้นก็ให้การบ้านน้องเขาไปทำกับตัวเอง

 

การเปลี่ยนแปลงตัวเอง เริ่มจากการยอมรับความจริงบางอย่างในตัวเอง แต่ละคนมีความจริงของตัวตนที่จะต้องเข้าใจและยอมรับไม่เหมือนกัน  ข้าพเจ้าไม่สามารถอธิบายในที่นี้ได้ทั้งหมด เรื่องบางเรื่องเหมาะสมแก่การที่จะพบหน้าและพูดคุยเล่าเรื่องกันในวงที่มีความสนิทสนมพอสมควร

 

สิ่งที่น้องเขาได้เรียนรู้คือ "ความตะกละ" ที่จะทำอะไรหลายอย่างในเวลาเดียวกัน น้องเป็นอาจารย์ เป็นนักศึกษาปริญญาเอก และรับงานวิจัย  กลไกทางจิตของน้องเขาคือ "การหาเหตุผลให้กับตนเอง" ในสิ่งที่ตนทำอยู่เสมอ  ประเด็นนี้น้องยอมรับเองว่า "หนูชอบสร้างความชอบธรรมให้กับการกระทำของตนเอง ใช่การหาเหตุผลให้กับตนเอง (rationalization) ใช่หรือไม่" น้องเข้าใจตัวเองขึ้นเป็นลำดับ

 

ข้าพเจ้าให้กำลังใจว่ากลไกทางจิตไม่ใช่เรื่องเสียหาย ข้อดึคือน้องสามารถนั่งฟังพี่พูดได้ทั้งที่ผ่านข่าวร้ายมาหยก ๆ ขณะที่เคยมีกรณีพี่คนหนึ่งสอบไม่ผ่าน หนีกลับบ้านไปเลย น้องมักจะใช้เหตุผลแทนที่อารมณ์เศร้าโศกได้ในเวลารวดเร็ว

 

ส่วนข้อเสียก็คือการหาเหตุผลเข้าข้างตนเองจะทำงานเมื่อเกิดความต้องการเสพความสนุกสนาน แล้วเก็บเรื่องเครียด เรื่องที่ต้องทุ่มเทผูกพันเป็นระยะเวลานาน ๆ ไว้ก่อนเพื่อทำทีหลัง จนในที่สุด "หลงลืมหน้าที่สำคัญ"

 

 

             การบ้านของน้องเขาคือมีสติระลึกรู้ใน "หน้าที่" (Duty)

 

น้องทำงานการสอนหนังสือสำเร็จ เพราะเป็นงานที่ทำแล้วสบายใจมีความสุข และทิ้งงานที่จะต้องอุทิศจริง ๆ ไว้จนบกพร่องต่อหน้าที่ งานอย่างหลังจึงไม่สำเร็จ...

 

 น้องอีกสองคนที่นั่งฟังอยู่ด้วย รู้สึกสนใจอยากเรียนรู้ตัวเองเพื่อก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงภายใน  และขอ "การบ้าน" จากข้าพเจ้า พร้อมทั้งขอนัดเพื่อเจาะลึกโลกทัศน์ภายในที่เรียกว่า "สายธารชีวิต"

Enneagram (นพลักษณ์) จะต้องเรีบนรู้ผ่านการปฏิบัติ

         จึงจะมองเห็นและเปลี่ยนแปลงจากภายในได้

 

 

เมื่อคืนวานนี้ ข้าพเจ้ากลับถึงบ้านดึก รู้สึกพูดมาก...วันนี้ จึงเข้าเงียบ พูดแต่น้อย...

 

                  ขอบพระคุณทุกท่านที่แวะมาเยือนค่ะ

       

ปล. น้องที่เป็นกรณีศึกษาข้างต้นคือ "ลักษณ์ ๗" หากบางท่านที่อ่านแล้ว รู้สึกตัวเองไม่ใช่ ก็เป็นไปได้ว่าคนละลักษณ์กันค่ะ

      

เคยมีกัลยาณมิตรบางท่านถามว่าภาพประกอบแนวนี้คือที่ไหน ตอบว่าคือสถานที่ที่ข้าพเจ้าเคยไปปฏิบัติธรรมมาแล้ว ๓ ครั้งค่ะ

                    

 เก้าอี้ตัวนี้ ข้าพเจ้าใช้นั่งทำความสงบอยู่กับลมหายใจตนเองในช่วงผ่อนคลายหลังจากนั่งสมาธิเป็นเวลานาน

หมายเลขบันทึก: 498899เขียนเมื่อ 16 สิงหาคม 2012 21:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 สิงหาคม 2012 19:09 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (24)

...

จิตสงบ อยู่ที่ใจ ใช่เก้าอี้
ธรรมชาติ สร้างสิ่งดี มามอบให้
ว่าทุกอย่าง ดีเลว อยู่ที่ใจ
ใช่ที่ใด สิ่งใด นอกใจตน

...

วี๊ด วิ้วววว

 

อาจารย์คิมรันโด กล่าวว่า ...

"... เราต้องมีีชีวิตอยู่เพื่ออนาคต ความฝัน และความปรารถนา "passion" เป็นศัพท์ภาษาอังกฤษของคำว่า ความปรารถนา มีรากศัพท์มาจากคำว่า "passio" ซึ่งมีความหมายว่า ความทุกข์ทรมาน ความทุกข์ทรมานจากแรงปรารถนาจะเกิดขึ้นในยามที่เราต้องตัดใจทอดทิ้งความฝันแสนหวานที่รออยู่เบื้องหน้า ..."

 

บังเอิ้ญ บังเอิญ พบมาพอดีเลย ;)...

 

  • อ่านแล้วทำให้ได้ข้อคิดมุมมองที่ลึกซึ้ง
  • ขอบพระคุณค่ะ

ขอบคุณค่ะ "มีสติระลึกรู้ใน "หน้าที่" (Duty)"

  • เป็นมุมมองที่น่าสนใจมากค่ะ..

  • นึกถึงคำโบราณที่เปรียบเปรย.." จับปลาหลายตัวด้วยมือเดียว.."

สารภาพได้คำเดียว ปฏิบัติในเต๊นส์ สามสี่ชั่วโมง

มันร้อนครับ  อากาศตอนนั้นร้อนพอๆกับเมืองไทย

แต่แปลกใจ ไม่ได้ญาณม้วนเสื่อ

ไม่ได้เบื่อเลย 

เมืองไทยมีสถานที่ที่สัปปายะ สมควรแก่การปฏิบัติมากๆครับ

 

        ศ. ดร. เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ นักคิดนักเขียนที่มีผลงานแพร่หลายได้พูดถึง “ความสำคัญของเวลา” เพื่อกระตุกความคิดเอาไว้ว่า

          “เวลาและชีวิตไม่ใช่เทปคาสเซตที่เมื่อหมดม้วนแล้วสามารถกรอกลับมาเริ่มต้นใหม่ได้ แต่เวลาและชีวิตเป็นสิ่งที่ใช้หมดแล้วก็หมดไป เราแต่ละคนต่างมีชีวิตเพียงชีวิตเดียว การใช้ชีวิตของเราจึงควรเป็นไปอย่างมีสติและระมัดระวังอยู่เสมอ เพื่อเมื่อบั้นปลายชีวิตมาถึงเราจะไม่ต้องมานั่งเสียใจกับวันเวลาและชีวิตที่ผ่านมา แต่สามารถยิ้มอย่างภาคภูมิใจและบอกกับตัวเองได้ว่าเราได้ใช้เวลาในชีวิตที่ผ่านมาอย่างดีที่สุดแล้ว”
          

             เราไม่สามารถกดรีโมทหยุดเวลา (เหมือนเล่นเกม) แล้วนำไปฝากสะสมไว้เพื่อกินดอกเบี้ย (เวลา) ได้ การบริหารจัดการเวลาโดยเรียงลำดับความสำคัญจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง

            ขอบพระคุณ อาจารย์ Sila Phu-Chaya มากครับสำหรับบันทึกที่มีประโยชน์และเปี่ยมไปด้วยความงดงามและพลังของกระบวนการทางความคิด


 

  • ด้วยรักละคิดถึงทุกท่่าน ราตรีสวัสดิ์ค่ะ พรุ่งนี้จะไปเยี่ยมเยียนและตอบความเห็นค่ะ
  • ราตรีสวัสดิ์คะอาจารย์
  • อ่านแล้ว มีประเด็นได้เรียนรู้ดังนี้
  • ทำอย่างไรให้คนยอมรับจุดด้อย : ปกติ เวลาใครสะท้อนตัวตนที่พึงแก้ไขของเรา เรามักไม่ยอมรับ ไม่พอใจ  "เธอมารู้ดีกว่าตัวฉันเองได้อย่างไร" ถึงเป็นศิษย์ก็ตาม แต่คงเพราะอาจารย์ สร้างความเชื่อใจ แสดงความห่วงใย เมตตาก่อน "ให้ความรัก ก่อนให้ความรู้?
  • เข้าใจมากขึ้นว่าลักษณ์ 7 จากตัวอย่างชีวิตคนจริงๆ คะ  แสดงว่าคนลักษณ์นี้ การเลือกสิ่งที่เรียน ลักษณะงาน สำคัญ เพราะถ้าเลือกถูก ได้ที่ตัวเองมี "passion" จะต่างกว่าสิ่งที่ทำไป "เพราะมันเป็นหน้าที่" อย่างมาก

สวัสดีค่ะ

เข้าใจความรู้สึกของคำว่าตะกละดีค่ะ เพิ่งผ่านมาไม่กี่ปีตอนนั้นทำวิจัยปริญญาเอกค่ะ บริษัทใจดีให้ทุนเรียนปริญญาเอกและทำงานไปด้วย ตอนกลางวันไปทำงานเป็นนักเคมี พอมืดไปอยู่ในห้องแลปที่โรงเรียนนั่งเพาะเชื้อมะเร็งถึงเที่ยงคืน กลับบ้านนอน ตื่นเช้าไปทำงานเข้างานตอนสองโมงเช้า เสาร์อาทิตย์ไปเรียนเลคเชอร์และทำแลปต่อ

ทำมาได้สามปี เจ้านายที่ทำงานให้หน้าที่ใหม่เป็น technical transfer lead คล้ายๆ project manager ก็รับค่ะ เพราะถือเป็นโปรโมชั่นสำหรับตนเอง ทีนี้รู้เลยว่าเหนื่อยมากๆๆๆ พอดีโปรเจคที่ทำยุบตัวเพราะยาที่จะผลิตมีปัญหาด้านคลีนิกก็เลยมาไม่ถึงเรา บอกตรงๆว่าโล่งใจค่ะ หลังจากนั้นลางานยาวเพื่อทำวิทยานิพนธ์อย่างเดียวเลย พอส่งวิทยานิพนธ์แล้วก็กลับไปทำงานใหม่ โชคดีเจ้านายยังเก็บหน้าที่เดิมใว้ให้ค่ะ พอกลับไปทำงานอีกทีคราวนี้เราทุ่มได้เต็มที่ค่ะ สนุกกับงานมากค่ะไม่เหนื่อยมากเหมือนที่เคยเป็น

ขอบคุณบันทึกที่ช่วยให้ใคร่ครวญในค่ำคืนนี้ค่ะ

ปัญญามีไม่มาก แต่ขอนำไปทำความเข้าใจนะครับ สำหรับ นพลักษณ์ และ ลักษณ์ ๗

ราตรีสวัสดิ์ครับ อ. ศิลา และทุกท่าน

ขอบคุณค่ะข้อคิดดีๆ ทำให้ย้อนดูตัว

คุณSila ค่ะ.. ขอบคุณค่ะ อ่านใคร่ครวญ หลายครั้งทีเดียวเพื่อซึมซับสิ่งที่เขียนไว้ ..เหมือนกับจิบกาแฟถ้วยโปรด.. case ที่ยกมาเป็นตัวอย่าง นึกย้อนตนเช่นกัน สมัยนั้นและสมัยนี้ เป็นบันทึกที่ช่วยทำให้ "รู้ตัวและพัฒนาจิตร" จริงๆค่ะ... ดีจังเลย ได้เข้ามาอ่านเช้านี้ก่อนเริ่มงาน เป็นบทเรียน ที่ได้เรียนรู้ สะท้อนการฝึก... รู้ตัว และพัฒนาจิตร...ตั้งแต่เช้า พัฒนาไปเรื่อยๆ จนถึง เที่ยง บ่าย เย็น ค่ำ และก่อนเข้านอนนะค่ะ..:-))

กลอนโดนใจจังเลยอ่ะ อาจารย์นพลักษณ์ ๑๐ Blank วี๊ด...วิ้ว...เก้าอี้ตัวโปรดเลยนะคะ ไปปฏิบัติธรรมที่ไร ก็จะหาเวลาไปนั่งและนั่งมุมนี้เท่านั้น แน่ะ เลือกที่อีกต่างหาก

Passion ใช้ในทางบวกมีประโยชน์มากคะ เจอกันเมื่อไหร่จะเล่าให้ฟัง... Passion เพียบ

บังเอิญจังเน๊อะ

  • หลายเรื่องราวที่คุณธรรมทิพย์ Blank เล่าในบันทึกก็ล้วนมีแง่คิดสติเตือนใจเสมอ อ่านเสร็จยังพึมพำเลยค่ะ "คิดได้ยังไงเนี่ย" ลุ่มลึกมากค่ะ ขอแวะไปเรียนรู้บ่อย ๆ นะคะ และขอบคุณที่แวะมาเยี่ยมค่ะ
  • น้องดอกหญ้าน้ำ Blank ตาม...อาจารย์วัสมาติด ๆ สมคำกล่าวของอาจารย์จริง ๆ "ศิษย์ก้นกุฎิ"  ...เพราะน้องดอกหญ้าน้ำทำหน้าที่ไดดี อาจารย์จึงภาคภูมิใจและชื่นชมค่ะ

การทำอะไรหลายๆอย่างพร้อมกันงานอาจจะเสร็จแต่ไม่งดงาม

ถ้าหากเรารู้ตัวเราเองแล้วลงมือทำทีละอย่างมันคงสำเร็จพร้อมความงดงามนะคะ

  • สวัสดีจ้ะอาจารย์
  • คณะของคุณมะเดื่อจะไปเลี้ยงอาหารเที่ยงที่สถานสงเคราะห์บ้านประจวบโชคจ้ะ
  • หากอาจารย์มีโอกาสไปสมทบ ก็ไปพบกันที่บ้านประจวบโชคเลยก็ได้จ้ะ จะสะดวกกว่านะจ๊ะ
  • บ้านประจวบโชค อยู่ทางเข้านิคมสร้างตนเองประจวบคีรีขันธ์ เข้าไปนิดเดียวจ้ะ(อยู่ทางซ้ายมือของทางเข้านิคมจ้ะ)
  • หากอาจารย์มีโอกาสไปจริง ๆ ขอให้ส่งข่าวให้คุณมะเดื่อทราบด้วยนะจ๊ะ
  • หวังว่าคงได้พบกันจ้ะ

อ่านแล้วได้ข้อคิดเยอะ ทำให้นึกถึงประโยคที่ว่า การบริหารเวลาเป็นศาสตร์อย่างหนึ่ง และ ปัญหาเขาให้มีไว้แก้ไข ไม่ได้มีไว้แก้ตัว อะไรประมาณนั้น ขอบคุณครับ

  • คำคมพี่ใหญ่  Blank สุดยอดเลยค่ะ เหมือนคำว่า "กระบี่อยู่ที่ใจ" อาวุธ หรือการกระทำของเราทุกอย่าง จะจัดการได้ หากเรามีสติ และสมาธิต่อหน้าที่ตรงหน้า ต่อให้งานหลายหน้า ก็ทำให้สำเร็จได้

สวัสดีค่ะคุณคนบ้านไกล จริง ๆ แล่วสถานที่ปฏิบัติและบรรยากาศรอบตัวมีผลมากต่อการปฏิบัติสำหรีบผู้ที่ฝึกฝนใหม่ ๆ หรือยังเอาชนะเวทนาไม่ได้ การที่คุณคนบ้านไกลไม่รู้สึกร้้อน นับว่าเป็นผลจากการปฏิบัติที่จิตปล่่อยวางอาการทางกายได้แล้ว จึงเป็นเรื่องที่น่ายินดีและขอบคุณมากกับประสบการณ์ที่นำมาแบ่งปันค่ะ หลายสถานที่ในประเทศไทยเอื้อต่อการปฏิบีติจริงๆด้วยค่ะ

  • ขอบคุณคุณ จัตุเศรษฐธรรม Blank มากค่ะ
  • คำสอนของ ศ. ดร. เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ เตือนสติไม่ให้ประมาทในการดำเนินชีวิต น่าสนใจมากค่ะ
  •          “เวลาและชีวิตไม่ใช่เทปคาสเซตที่เมื่อหมดม้วนแล้วสามารถกรอกลับมาเริ่มต้นใหม่ได้ แต่เวลาและชีวิตเป็นสิ่งที่ใช้หมดแล้วก็หมดไป เราแต่ละคนต่างมีชีวิตเพียงชีวิตเดียว การใช้ชีวิตของเราจึงควรเป็นไปอย่างมีสติและระมัดระวังอยู่เสมอเพื่อเมื่อบั้นปลายชีวิตมาถึงเราจะไม่ต้องมานั่งเสียใจกับวันเวลาและชีวิตที่ผ่านมา แต่สามารถยิ้มอย่างภาคภูมิใจและบอกกับตัวเองได้ว่าเราได้ใช้เวลาในชีวิตที่ผ่านมาอย่างดีที่สุดแล้ว”

  • ช่วงชีวิตหนึ่งของเรา หากก้าวพลาด delete แล้วเขียนใหม่ หรือกรอเทปใหม่ไม่ได้ การมีสติในแต่ละขณะจึงสำคัญมากค่ะ ดีจังค่ะ

  • สวัสดีค่ะ อาจารย์หมอ ป.Blank 
  • การที่เรากล้าพูด กล้าแนะนำข้ออ่อนด้อยเพื่อให้เขาพัฒนาตนเอง ผู้พูดหรือผู้สอนที่หวังดีนั้นจะดูและทำอยู่ ๓ อย่างค่ะ

๑. เราเชื่อมั่นว่าระยะเวลาที่ผ่านมาพิสูจน์ได้ว่าน้องเขาเห็นแล้วว่าเราจริงใจและน่าไว้วางใจได้สำหรับเขา --- Trust

๒.  เราเชื่อว่าช่วงเวลาที่เราจะพูดนั้นอยู่ในโอกาส/เวลาที่เหมาะสมแล้ว โดยเขามีความพร้อมที่จะรับฟังและเราก็อยู่ในสภาวะที่จะพูดด้วยความเมตตามิใช่การตำหนิติเตียนแต่อย่างเดียว --- Time

๓.  สิ่งที่เราจะพูดตักเตือนเขา เราจะร่วมเดินทางไปพร้อมกับเขา ให้กำลังใจ และช่วยเหลือเขาจากนี้ไปให้เขาได้ถึงฝั่งโดยไม่ทอดทิ้งค่ะ --- Together

หากเราพิจารณาว่าเราสามารถดูและทำได้ทั้งสามอย่าง การพูดนั้นจะสามารถก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในตัวเขาไปด้วยค่ะ แต่ก็ยอมรับว่าไม่ใช่ทุกคนที่เราจะพูดได้นะคะ บางคน เราสังเกตจากบุคลิกลักษณะแล้ว ต่อให้เขาไว้วางใจเรา แต่ก็คนละเรื่องกับการที่เขาจะยอมรับความเป็นจริงของตัวเอง คนที่ใกล้ตัว บางครั้ง เรายังพูดไม่ได้เลยค่ะ การศึกษานพลักษณ์ จึงช่วยให้เรามองเห็นตัวเองและผู้อื่น และเลือก Time and Space ที่เหมาะสมในการพูดคุยปรึกษาหารือกันค่ะ

  • การเลือกสิ่งที่ถนัดก็มีส่วนอย่างมากค่ะ เพราะจะทำให้เราทำด้วยฉันทะและนำมาซึ่งวิริยะ แต่หลายคนก็ไม่เข้าใจความต้องการที่แท้จริงของตนเองว่าต้องการอะไรในชีวิตกันแน่ จึงอาจเลือกผิดและทำผิดหน้าที่ค่ะ
  • อาจารย์ หมอ ป. แวะมาทีไร ขออภัยที่ตอบยาวทุกที แต่กว่าจะตอบได้ก็ต้องอยู่ในสภาวะอารมณ์ที่ปลอดโปร่งพอสมควรนะคะ เพราะเป็นคำถามที่ให้ผู้ตอบได้ใคร่ครวญไปด้วยเสมอ
  • ขอขอบคุณมากค่ะที่ให้ข้อคิดเห็นและให้ความใส่ใจในหลายบันทึก ตามไปอ่านบันทึกกัลยาณมิตรหลาย ๆ ท่าน อาจารย์ หมอ ป. ก็ใส่ใจ พิถีพิถันให้การให้ความเห็นและตั้งประเด็นเสมอค่ะ อดทึ่งไม่ได้ค่ะ  

ได้เรียนรู้ร่วมกับน้องเค้าค่ะ ขอบคุณมากๆ

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท