ปะติดจับสมุดขาดขาด (วงจรเจ็บ)


 

 

 

คำว่า “ปฏิจจสมุปบาท” เป็นคำบาลียาวๆในคัมภีร์พระพุทธศาสนา  ที่เราคนเถื่อนแบบไทยๆมักแปลไม่ออก    แต่วันนี้หลายคน (รวมทั้งผมด้วย) โหนกระแส เอาคำนี้มาพูดกันมากหลาย  แบบว่า ข้านี้รู้นะ (โว้ย) 

 

คนไทยเรามักนิยมคำต่างภาษาที่ควังบ่ฮู้ดูบ่ออกที่ยาวๆเสมอ เช่น  ศรีรัตนศาสดาราม ศรีทวาราวดี  โมโตโรลา คาวาซากิ โชโกบุตสึ   อะไรที่ฟังไม่ออก แปลไม่ออก คนไทยชอบ  เสมอ   ส่วนคำไทยลุ่นๆ ที่ฟังรู้ แปลออกกลับหาว่าต่ำต้อย   เช่น มึง กู อี อ้าย แดกห่า ยัดห่า   ครูเราสอนกันมานานว่าเป็น “คำหยาบ”   ยกเว้นท่านพุทธทาส ที่เอามาสอนว่า หลักศาสนาพุทธมีง่ายๆ คือ “ตัวกู  ของกู”    (สะใจโก๋ (แก่) จริงๆ พับผ่า)  

 

 

วันก่อน ผมไปเดินดูหมู่บ้าน ลาวภูไท ที่ ม.บ้านภู  อ.หนองสูง จ. มุกดาหาร  ไปเจอศิลปินเดี่ยวนักแกะสลักไม้อันวิจิตรพิสดารมาก  ผมยาว (ตามฟอร์ม)   ผมถามว่ารูปชื่อว่าอะไร ท่านบอกว่า ชื่อ ปฏิจจสมุปบาท ผมก็เลยถามว่าแล้วโศกะ ปริเทวะ ชาติ ชรา มรณา อยู่ตรงไหน เพราะเห็นมีแต่ความคดโค้งเว้าวามงามสวยแห่งศิลปะไปเสียหมด  ....สุดท้ายท่านว่า  ผมเป็นคนแรกที่รู้เรื่องภาพแกะสลักของท่าน (จริงๆแล้วผมไม่รู้หรอก  เดามั่วไปงั้นเอง)  ...คนเขียน แกะ ก็มั่ว จะให้คนดูมั่วบ้างไม่ได้หรือไร

 

 

สิบกว่าปีก่อนผมไปเห็นภาพเขียนฝีมือศิลปินแห่งชาติอาวุโส    เป็นภาพ Mandala (มณฑล) ขนาดใหญ่มาก (2x3 เมตร)   คุยไปคุยมาท่านผู้เขียนชื่นชมในความรู้เกี่ยวกับภาพของผม ชมว่าผมเป็นคนแรกที่มีความรู้เรื่องภาพมันดาลานี้  แล้วถามผมว่าจะเอาไหม ถ้าเอาจะขายให้ผมสามหมื่น ท่านบอกแบบติดตลกว่า ราคาบอกขายต่อคนอื่นอยู่ที่สามแสนนะ   แต่บอกไปงั้นแหละเพื่อหลอกเศรษฐีโง่ที่เห่อฝีมือศิลปินแห่งชาติ   (ผมอยากจะตอบท่านกลับว่า ...ให้ฟรียังไม่เอาเลย ภาพแบบนี้ อย่าว่าแต่สามหมื่น แต่เกรงน้ำใจท่านก็เลยได้แต่ส่งยิ้ม)  

 

ผมเดาว่ามณฑล กับ ปะติดจ้ะฯ เป็นสิ่งเดียวกัน แต่มณฑล เพี้ยนมากกว่า และแฝงมากกว่า   ส่วนปะติดจ้ะฯ ค่อนข้างเด่น  (ไม่แฝง)

 

 

ปะติดฯนั้นในคห.ผมมันเหมือนเราเอาเศษกระดาษสมุดขาดๆ ๑๒ ชิ้น มาปะติดกันเป็นวงกลม .... บ้างก็เรียกว่าวงจร เพื่อให้มันดูขลัง

 

ต้นวงจรคือ อวิชชา หรือความไม่รู้  (อะ คือไม่   วิชชา คือความรู้ ดังนั้น อวิชชา คือ ความไม่รู้) หรือ ความโง่ ง่าว นั่นเอง  

 

พอมีความ “ไม่รู้” เป็นเหตุ  ก็เกิดผลเป็น  “สังขาร”   (ซึ่งคนไทยแปลกันว่าร่างกายที่เสื่อมโทรมไป)  แต่ท่านผู้รู้บอกว่าไม่ใช่ แต่มันหมายถึง “การคิดปรุงแต่ง”  ต่างหากเล่า

 

(ผมเถียง ค่อยๆ ตรงนี้ว่า ถ้าไม่รู้เสียแล้ว แล้วจะรู้วิธีในการปรุงได้อย่างไรเล่า แม้จะปรุงผิดก็ตามที่เถิด)

 

ที่มหัศจรรย์ที่สุดคือ พอ คิดปรุงแต่งแล้ว ก็เกิด “นามรูป”     เรื่อง “นาม”  พอเข้าใจได้  คือ นามธรรม มโนธรรมทั้งหลายสุดแล้วแต่จินตนาการกันไป    ส่วน “รูป”   นี่สิ  น่าฉงน   ..... เท่ากับว่าเนื้อ หนัง กระดูก ไอแผด ไอโฟน ดอยอินทนน  เกาะอังกฤษ ล้วนเป็นผลมาจาก “สังขาร”  ทั้งสิ้น ซึ่งเป็นผลมาจากความไม่รู้อีกต่อหนึ่ง ....อย่างนั้นหรือ

 

 

แหม...วันนี้ ผมนึกถึงภาษิตฝรั่งที่ว่า อวิชชาคือความสุข  (Ignorance is bliss) เสียจริงๆ พับผ่า

 

 

ท่านพุทธทาสภิกขุ น่าจะเป็นคนแรกในไทย (เผลอๆในโลกด้วย) ที่ไปขุดค้นคัมภีร์โบราณ  (ปะติดจับสมุดขาดขาด)  เอาเรื่อง ปะติดฯนี้มาแสดงให้คนไทยได้เห็น   ตอนแรกๆ วงการก็ด่า หาว่าท่านเพี้ยน  เป็นคอมฯไปโน่น  แต่วันนี้วงการเอามาพูดกันเกร่อ เหมือนขนมหลอกเด็ก ทั้งที่เรื่องนี้ลึกซึ้งมากๆ  

 

 

แต่ลึกซึ้ง (น่าเคารพบูชา) เพียงใด  ก็ไม่วายต้องผ่านการวิจารณ์ของผมก่อน   ....เดี๋ยวตอนต่อไปจะมาชำแหละ ปะติดฯต่อละกัน ตอนนี้หมดอารมณ์ (เวทนา) แล้ว แต่ตัณหา อุปาทาน นั้นยังพอมีอยู่ 

 

 

...คนถางทาง (๑๒ สิงหาคม ๒๕๕๕) 

หมายเลขบันทึก: 498368เขียนเมื่อ 12 สิงหาคม 2012 11:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 สิงหาคม 2012 10:03 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

อ้าว...โพสต์มาตั้งสองนาทีแล้ว ยังไม่มีใครมาเม้นท์อีก เลยขอเม้นท์ตัวเองให้ครื้นเครงดีกว่า

อันคำว่า ปะติดจ้ะสมุดขาดขาด นี้ ฝรั่งเขาสัมผัสมาร้อยกว่าปี แปล (เป็นภาษาเขา) ว่า dependent origination บ้าง หรือ intrrelatedness origination บ้าง ส่วนคนไทย สัมผัสมาสองพันกว่าปี แต่ไม่กล้าแปล (หรือแปลไม่ออกก็ไม่รู้) ผมเลยจขอแปลว่า ปะติดจ้ะสมุดขาดๆ เพื่อให้สนุกสนานเล่น (ได้ยินเสียง พพจ. แอบปรมมือให้ผมหลังเวทีไหม)

อยากเม้นท์แต่อ่านแล้วยังงง ขออ่านสัก 3 รอบก่อนนะอาจารย์

เห็นหัวข้อคุณแล้วเป็นคนบ้านั่งขำอยู่หน้าจอคอม คิดได้ไง555 พอได้อ่านแล้ว ทึ่ง และอึ้ง ยิ่งกว่า อย่างนี้ สิเรียกว่า กูรูตัวจริง กำลังสนใจ ศึกษาเรื่องนี้อยู่พอดี รออ่านตอนต่อไปค่ะ

ได้ยินมานาน จะเข้าใจก็คราวนี้ละ ... รอ ครับ จะรอ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท