พระพุทธศาสนากับการจัดระเบียบสังคม


ปัญหาวิกฤตทางสังคมต่างๆ นั้น เกิดขึ้นจาก ”คน” ดังนั้นการที่จะดำเนินการไม่ให้สังคมเกิดความวุ่นวายหรือเกิดวิกฤติ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการแก้ไขปัญหาที่เป็นต้นเหตุ นั่นคือ “คน” เป็นต้นเหตุของปัญหาทั้งปวง

การจัดระเบียบสังคม โดยทั่วไปหมายถึง การทำให้สังคมมีความเป็นระเบียบเรียบร้อยดีงาม รวมทั้งการอยู่ร่วมกันในสังคมได้อย่างสันติสุข องค์ประกอบการจัดระเบียบสังคมในทางสังคมวิทยาจะประกอบด้วย วัฒนธรรม โครงสร้างทางสังคม การขัดเกลาทางสังคม นิวเศวิทยา ครอบครัว ศาสนา เศรษฐกิจและการเมืองในทางพระพุทธศาสนา มีหลักคะสอนและหลักปฏิบัติในส่วนที่เกี่ยวข้องกับสังคมและสะท้องถึงเจตนารมณ์ของพระพุทธศาสนาในด้านความสัมพันธ์ทางสังคมมากที่สุดก็คือ คำสอนและหลักปฏิบัติในขั้น “ศีล” เพราะศีลเป็นระบบการควบคุมชีวิตด้านนอกเกี่ยวด้วยการแสดงออกทางกาย วาจาเป็นระเบียบว่าด้วยความสัมพันธ์กับสภาพแวดล้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ด้วยกัน การดำเนินกิจการต่าง ๆ ของหมู่ การจัดสภาพความเป็นอยู่และสิ่งแวดล้อมให้เรียบร้อยและเกื้อกูลแก่การดำรงอยู่ด้วยดีของหมู่ชนนั้น และแก่ความผาสุขแห่งสมาชิกทั้งปวงของหมู่ชน อันจะเอื้ออำนวยให้ทุกคนสามารถบำเพ็ญกิจการที่ดีงามยิ่งๆ ขึ้นไป ศีลพื้นฐานหรือขั้นต้นที่สุด คือศีล 5 (พระธรรมปิฏก, 2545:431)

         อย่างไรก็ตามปัญหาวิกฤตทางสังคมต่างๆ นั้น เกิดขึ้นจาก ”คน” ดังนั้นการที่จะดำเนินการไม่ให้สังคมเกิดความวุ่นวายหรือเกิดวิกฤติ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการแก้ไขปัญหาที่เป็นต้นเหตุ นั่นคือ “คน” เป็นต้นเหตุของปัญหาทั้งปวง การดำเนินการจัดสังคมให้เป็นระเบียบจะดำเนินการอยู่ 3 ระดับ คือ

ระดับที่ 1 การควบคุมพฤติกรรมของคน ในทางโลก เครื่องมือในการควบคุมพฤติกรรมของคน ก็คือ ระเบียบข้อบังคับ กฎหมาย ขนบธรรมเนียมประเพณี และวัฒนธรรม ส่วนในทางพระพุทธศาสนาเห็นว่า “ศีล” เป็นเครื่องมือในการควบคุมพฤติกรรมของคน ศีลแบ่งออกเป็น 2 ระดับ ระดับที่หนึ่ง ระดับธรรม คือ เป็นข้อแนะนำสั่งสอน หรือหลักของความประพฤติปฏิบัติที่ดีงาม เช่น โอวาทปาฏิโมกข์ กฏแห่งกรรม เป็นต้น ระดับที่สอง ระดับวินัย คือเป็นแบบแผนข้อบังคับที่บัญญัติไว้ คำว่าวินัย มีความหมายอยู่ 2 นัยคือ (พระธรรมปิฏก,2543:449-450)

ก. การฝึกให้มีความประพฤติและความเป็นอยู่เป็นระเบียบแบบแผน หรือการบังคับควบคุมตนให้อยู่ในระเบียบแบบแผน รวมทั้งการใช้ระเบียบแบบแผนต่างๆ เป็นเครื่องจัดระเบียบความประพฤติ ความเป็นอยู่ของตนและกิจการของสังคม

ข. ระเบียบแบบแผน กฎเกณฑ์ ข้อบังคับต่างๆ ที่วางไว้เป็นหลักหรือเป็นมาตรฐานสำหรับใช้ฝึกคนหรือใช้บังคับควบคุมตนตลอดจนเป็นเครื่องจัดระเบียบความประพฤติ ความเป็นอยู่ของคนและกิจการของสังคมให้เรียบร้อยดีงาม
        ดังนั้น ความสำนึกในการรักษาศีลหรือปฏิบัติตามศีล แยกออกเป็น 2 ด้าน คือ การฝึกหัดขัดเกลาตนเอง และการคำนึงถึงประโยชน์ของผู้อื่นหรือของสังคม
ศีลในระดับวินัย เรียกว่า คิหิวินัย พระธรรมปิฏกกล่าวถึงวินัยชาวพุทธ ที่จะต้องปฏิบัติเป็นมาตรฐาน ดังนี้คือ

กฎที่ 1: เว้นจากความชั่ว 14 ประการ คือ
1) กุศลกรรมบท 10 ได้แก่ ทางกาย 3 ประการ คือ เว้นจากการฆ่าสัตว์ เว้นจากการลักทรัพย์ เว้นจากความประพฤติผิดในกาม ทางวาจา 4 ประการ คือ เว้นจากการกล่าวเท็จ เว้นจากการกล่าวส่อเสียด เว้นจากการกล่าวคำหยาบ และเว้นจากการกล่าวเพ้อเจ้อ ทางใจ 3 ประการ คือ เว้จากความโลภ เว้นจากการพยาบาท และเว้นจากความหลงผิด
2) เว้นจากอคติ 4 คือ ลำเอียงเพราะชอบ ลำเอียงเพราะชัง ลำเอียงเพราะกลัว ลำเอียงเพราะเขลา
3) เว้นจากอบายมุข 6 คือ ไม่ดื่มของมึนเมาทุกชนิด ไม่เที่ยวกลางคืน ไม่เที่ยวดูการมหรสพต่าง ๆ ไม่เล่นการพนัน ไม่คบคนชั่ว เป็นมิตรและไม่เกียจคร้านทำการงาน
4) ปฏิบัติตามทิศ 6 เป็นต้น

กฎที่ 2 เตรียมทุนชีวิต 2 ด้าน คือ
ก.เลือกสรรคนที่จะเสวนา คบคนที่จะนำชีวิตไปในทางแห่งความเจริญและสร้างสรรค์ โดยหลักเว้นมิตรเทียม คบหามิตรแท้คือ
1) รู้ทันมิตรเทียม 4 ประเภท คือ
(1) คนปอกลอก มีลักษณะ 4 คือ คิดเอาแต่ได้ฝ่ายเดียว,ยอมเสียน้อย โดยหวังเอามาก, ตัวมีภัย จึงมาช่วยทำกิจของเพื่อน และคบเพื่อน เพราะเห็นแก่ผลประโยชน์
(2) คนดีแต่พูด มีลักษณะ 4 คือ ดีแต่ใช้ของหมดแล้วมาปราศรัย ,สงค์เคราะห์ด้วยสิ่งที่หาประโยชน์มิได้ และเมื่อเพื่อนมีกิจอ้างแต่เหตุขัดข้อง
(3) คนหัวประจบ มีลักษณะ 4 คือ จะทำชั่วก็เห็นด้วย , จะทำดีก็เห็นด้วย,ต่อหน้าสรรเสริญ และลับหลังนินทา
(4) คนชวนฉิบหาย มีลักษณะ 4 คือ คอยเป็นเพื่อนดื่มน้ำเมา, คอยเป็นเพื่อนเที่ยวกลางคืน , คอยเป็นเพื่อนเที่ยวดูการเล่น และคอยเป็นเพื่อนไปเล่นการพนัน

2) รู้ถึงมิตรแท้ 4 ประเภท คือ
(1) มิตรมีอุปการะ มีลักษณะ 4 คือ เพื่อนประมาท ช่วยรักษาเพื่อน , เพื่อนประมาท ช่วยรักษาทรัพย์สินของเพื่อน , เมื่อมีภัยเป็นที่พึ่งพำนักได้ และมีกิจจำเป็น ช่วยออกทรัพย์ให้เกินกว่าที่ออกปาก
(2) มิตรร่วมสุขร่วมทุกข์ มีลักษณะ 4 คือ บอกความลับแก่เพื่อน,รักษาความลับของเพื่อน, มีภัยอันตราย ไม่ละทิ้ง และแม้ชีวิตก็สละให้ได้
(3) มิตรแนะนำประโยชน์ มีลักษณะ 4 คือ จะทำชั่วเสียหาย คอยห้ามปราม,แนะนำสนับสนุนให้ตั้งอยู่ในความดี ,ให้ได้ฟัง ได้รู้สิ่งที่ไม่เคยได้รู้ได้ฟัง และบอกทางสุขทางสวรรค์ให้
(4) มิตรมีใจรัก มีลักษณะ 4 คือ เพื่อนมีทุกข์ พลอยไม่สบายใจ,เพื่อนมีสุข พลอยยินดีด้วย, เขาติเตียนเพื่อนช่วยยับยั้งแก้ให้และเขาสรรเสริญเพื่อน ช่วยพูดเสริมสนับสนุน

ข.จัดสรรทรัพย์ที่หามาได้ ด้วยสัมมาชีพ ดังนี้
ขั้นที่ 1 ขยันหมั่นทำงานเก็บออมทรัพย์ ดังผึ้งเก็บรวบรวมน้ำหวาน
ขั้นที่ 2 เมื่อทรัพย์มากมาย พึงวางแผนใช้จ่ายคือ
- แบ่ง 1 ส่วน เลี้ยงตัว เลี้ยงครอบครัว ดูแลคนเกี่ยวข้อง ทำความดี
- แบ่ง 2 ส่วน ใช้ทำหน้าที่การงานประกอบกิจการอาชีพ
- แบ่ง 3 ส่วน เก็บไว้เป็นหลักประกันชีวิตและกิจการคราวจำเป็น

กฎที่ 3: รักษาความสัมพันธ์ 4 ทิศ



ก. ทำทุกทิศให้เกษมสันต์ คือปฏิบัติหน้าที่ต่อบุคคลที่สัมพันธ์กับตนให้ถูกต้องตามฐานะทั้ง 6 คือ
ทิศที่ 1 ทิศเบื้องหน้า ในฐานะบุตรพึงเคารพบิดามารดาและบิดามารดาพึงอนุเคราะห์บุตร
ทิศที่ 2 ทิศเบื้องขวา ในฐานะที่เป็นศิษย์ พึงแสดงความเคารพอาจารย์ และอาจารย์พึงอนุเคราะห์ศิษย์
ทิศที่ 3 ทิศเบื้องหลัง ในฐานะที่เป็นสามีพึงให้เกียรติบำรุงภรรยา และภรรยาพึงอนุเคราะห์ตอบ
ทิศที่ 4 ทิศเบื้องซ้าย ในฐานะที่เป็นมิตรสหาย พึงปฏิบัติต่อมิตรสหาย และมิตรสหายพึงอนุเคราะห์ตอบ
ทิศที่ 5 ทิศเบื้องล่าง ในฐานะที่เป็นนายจ้าง พึงบำรุงลูกน้องและลูกน้องพึงแสดงน้ำใจต่อนายจ้าง
ทิศที่ 6 ทิศเบื้องบน ในฐานะที่เป็นพุทธศาสนิกชน พึงแสดงความเครารพนับถือต่อพระสงฆ์ และพระสงฆ์พึงอนุเคราะห์คฤหัสถ์

ข.เกื้อกูลกันประสานสังคม คือ ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ร่วมสร้างสรรค์สังคม ให้สงบสุขมั่นคงสามัคคีมีเอกภาพ ด้วยสังคหวัตถุ 4 คือ
1) ทาน คือ เผื่อแผ่แบ่งปัน
2) ปิยวาจา คือ พูดวาจาไพเราะอ่อนหวาน
3) อัตถจริยา คือ ทำประโยชน์แก่สังคม บำเพ็ญประโยชน์ต่อสาธารณะ
4) สมานัตตตา คือ ช่วยประสานสัมพันธ์

เรื่องของศีลทางสังคม ซึ่งอยู่ฝ่ายของวินัยนั้น ย่อมครอบคลุมเรื่องการจัดระเบียบชีวิตด้านนอกทั้งหมด เท่าที่จะช่วยทำสภาพความเป็นอยู่โดยทั่วไป กิจการทั้งหลายของสังคม ความสัมพันธ์กับสภาพแวดล้อม และสภาพแวดล้อมที่ควรจัดได้ ให้มีสภาพที่เกื้อกูลแก่ความเจริญงอกงามของชีวิตตนเอง และส่งผลต่อการเจริญงอกงามของสังคมโดยรวมด้วย

ระดับที่ 2 สร้างจิตสำนึก การควบคุมพฤติกรรมของคนเป็นการควบคุมเบื้องต้น สามารถควบคุมพฤติกรรมได้ในระดับหนึ่งเท่านั้นจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสร้างจิตสำนึกให้กับ “คน”ในสังคมให้มีจิตสำนึกที่ดีงาม และเป็นกรอบในการควบคุมพฤติกรรมของตนเองในระดับที่สูงขึ้น ดังนั้นกระบวนการสร้างจิตสำนึกจะต้องควบคุมโดยอาศัย “สมาธิ” โดยการสร้างจิตที่มีคุณภาพ สร้างสมรรถภาพทางจิตและสร้างสุขภาพจิตที่ดี ดังที่กล่าวแล้วในเบื้องต้น กระบวนการของสมาธิถือว่าเป็น “เกราะป้องกันจิต” ไม่ให้ลุ่มหลงมัวเมาในอกุศล หรือความชั่วทั้งหลาย เช่นมีความอดทน(ขันติ) มีความข่มใจ(ทมะ) ต่อสิ่งยั่วยุทั้งหลาย เป็นต้น

ระดับที่ 3 สร้างองค์ความรู้ การสร้างองค์ความรู้ที่ถูกต้อง เข้าใจสภาพตามความเป็นจริง ถือว่า เกิด “ปัญญา” การมีปัญญาสามารถช่วยแก้ปัญหาได้อย่างถูกต้อง ใช้ปัญญาไปในทางที่ดีงาม ก็จะก่อให้เกิดการดำเนินวิถีชีวิตได้อย่างมีสันติสุขได้ในที่สุด

คำสำคัญ (Tags): #มจร.
หมายเลขบันทึก: 497644เขียนเมื่อ 8 สิงหาคม 2012 13:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 สิงหาคม 2012 13:34 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท