หนังสือ : แนวพระราชดำริด้านการศึกษา ๙ รัชกาล


หนังสือเล่มนี้ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ได้จัดพิมพ์เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๗ รอบ ๕ ธันวาคม ๒๕๕๕... ข้อความระบุไว้ที่ปกใน

หนังสือเรื่อง แนวพระราชดำริด้านการศึกษา ๙ รัชกาล ได้รับความเอื้อเฟื้อจากสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ผ่านคุณหยั่งราก ฝากใบ ที่ได้กรุณาจัดส่งเข้าห้องสมุดโรงเรียน... ต้องขอขอบคุณมา ณ ที่นี้ด้วย และเมื่อได้อ่านแล้วก็นำมาเล่าต่อเผื่อท่านอื่นๆ ที่ยังไม่ได้อ่าน

 

คำนำเล่าว่า หนังสือเล่มนี้ สำนักงานฯ ดำริให้ทำโครงการวิจัยเรื่อง “แนวพระราชดำริด้านการศึกษา ๙ รัชกาล” เพื่อศึกษาค้นคว้าและประมวลแนวพระราชดำริในแต่ละรัชกาล โดยมีอาจารย์ ดร.ชัชพล ไชยพร แห่งคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและคณะ เป็นผู้ดำเนินการ  ส่วนคำนำของผู้เขียน (น่าจะเป็น ดร.ชัชพล) ไม่มี เดาว่าคงจะมีข้อจำกัดเรื่องเวลานั่นเอง

 

Large_9kings

 

ปกหน้า แนวพระราชดำริด้านการศึกษา ๙ รัชกาล

ปกแข็ง, ๓๙๖ หน้า

ISBN : 978-616-7324-99-9

พิมพ์ครั้งที่ ๑ จำนวน ๑๐,๐๐๐ เล่ม

 

เนื้อหา

 

เนื้อหาเริ่มที่รัชกาลที่ ๑ (ชื่อหนังสือใช้เลขไทย เนื้อหาในบันทึกนี้จึงขอใช้เลขไทยไปด้วยจะได้ไม่ขัดกัน) หลังจากสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ ก็โปรดให้ทะนุบำรุงการศึกษาหลายประการ โดยเฉพาะการส่งเสริมการรวบรวม ชำระ แต่ง และแปลวรรณคดีที่สำคัญ เช่น บทละครเรื่องรามเกียรติ์ ซึ่งเป็นรามเกียรติ์ฉบับที่สมบูรณ์ที่สุด (ตั้งแต่เริ่มเรื่อง จนจบเรื่อง) เท่าที่มีอยู่ในปัจจุบัน สามก๊ก ราชาธิราช เป็นต้น ทั้งยังโปรดให้ชำระพระราชพงศาวดารด้วย นโยบายด้านการศึกษาในรัชสมัยนี้ปรากฏชัดเจนในด้านวรรณคดีมากกว่าอย่างอื่น เนื่องจากการศึกษาแบบโรงเรียนยังไม่เกิดขึ้น

 

ในรัชกาลที่ ๒ ทรงส่งเสริมการเรียนการสอนพระปริยัติธรรม และปรับปรุงการสอบบาเรียน จาก เอก โท ตรี มาเป็น ๙ ชั้น หรือ ๙ ประโยค ซึ่งคณะสงฆ์ไทยได้รับมาใช้จวบจนปัจจุบันนี้ (พระที่ศึกษาจบเปรียญธรรม ๙ ประโยค ถือว่ามีความรู้ทางภาษาบาลีในระดับสูงสุด บางท่านเสนอว่าเทียบเท่ากับปริญญาเอกของการศึกษาทางโลก) พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๒ ทรงพระปรีชาสามารถด้านวรรณศิลป์และการช่าง การส่งเสริมวรรณคดีจึงปรากฏชัดเจน มีวรรณคดีที่โดดเด่นหลายเรื่อง เช่น อิเหนา รามเกียรติ์ และบทละครนอกอีกหลายเรื่อง สุนทรภู่ กวีเอกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ก็กำเนิดขึ้นในรัชกาลนี้

 

รัชกาลที่ ๓ ยังส่งเสริมการศึกษาของพระสงฆ์อย่างต่อเนื่อง ซึ่งเท่ากับส่งเสริมการศึกษาของชาติ เพราะวัดก็คือโรงเรียนของไพร่ฟ้าทั่วไป นอกจากนี้ยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้แต่งตำราเรียนภาษาไทยขึ้น คือ จินดามณี อีกเล่มหนึ่ง (ตำราชื่อนี้เคยมีอยู่แล้วในสมัยอยุธยา) ต่อมาทรงโปรดให้บูรณะวัดพระเชตุพน และนำความรู้สรรพวิชาทั้งสิ้น ๘ หมวด ไปจารึกเผยแพร่ในวัด จนกล่าวได้ว่า มหาวิทยาลัยเปิดแห่งแรกของมหาชนเกิดขึ้นในรัชกาลนี้ ทั้งยังเริ่มรับวิทยาการตะวันตกจากมิชชันนารีที่มาเผยแพร่ในประเทศด้วย

 

รัชกาลที่ ๔ ทรงเป็นปราชญ์อย่างแท้จริง โดยเฉพาะด้านภาษา พุทธศาสนา และยังทรงศึกษาดาราศาสตร์โหราศาสตร์ เป็นที่รู้จักกันดีจากการทำนายสุริยุปราคาที่หว้ากอ ทรงส่งเสริมการศึกษาในแบบตะวันตก มีการสร้างโรงเรียนขึ้น เรียกว่า โรงสกูล หรือ โรงสอน ในชั้นแรกโดยคณะมิชชันนารีจากตะวันตก

 

สมัยรัชกาลที่ ๕ นับว่าประเทศสยามมีความรุ่งเรืองหลายด้าน เนื่องจากพระเจ้าอยู่หัวทรงเห็นการณ์ไกล ส่งเสริมการศึกษาอย่างเต็มที่ ส่งพระโอรสไปศึกษายังต่างประเทศ และจัดตั้งโรงเรียนขึ้นอย่างเป็นทางการ เช่น โรงเรียนทำแผนที่ โรงเรียนฝึกหัดครู โรงเรียนกฎหมาย และโรงเรียนวัดที่แพร่หลายทั่วไปทั่วประเทศ กรมศึกษาธิการก็เกิดขึ้นในรัชกาลนี้

 

รัชกาลที่ ๖ ทรงเป็นทั้งปราชญ์และกวี ทรงพระราชนิพนธ์และแปลวรรณคดี บทความต่างๆ เป็นจำนวนมาก ทรงดำริที่จะสร้างโรงเรียนแทนวัดประจำรัชกาล โปรดให้สร้างโรงเรียนเพาะช่าง หอพระสมุด และก่อตั้งมหาวิทยาลัย นั่นคือ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยยกระดับขึ้นจากโรงเรียนข้าราชการพลเรือนที่ก่อตั้งในสมัยรัชกาลที่ ๕

 

รัชกาลที่ ๗ เป็นอีกรัชกาลหนึ่งที่ได้ศึกษาในประเทศตะวันตก ทรงมีแนวพระราชดำริด้านการศึกษาหลายประการ เช่น การส่งเสริมความรู้แก่เยาวชน แก่พระสงฆ์ การศึกษาของสตรี และการศึกษาวิชาชีพ และมีการเปิดโรงเรียนวิชาชีพและโรงเรียนพาณิชยการขึ้น ในรัชกาลนี้ยังมีการพระราชทานปริญญาบัตรเป็นครั้งแรกของไทยด้วย (๒๕ ตุลาคม ๒๔๗๓) ด้วยทรงครองราชย์เพียง ๙ ปีจึงมีพระกรณียกิจด้านการศึกษาไม่มากนัก

 

รัชกาลที่ ๘ ทรงครองราชย์ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๗๗ เมื่อพระชนมายุ ๘ พรรษา จึงมีการแต่งตั้งคณะผู้สำเร็จราชการและผู้สำเร็จราชการ กระทั่งทรงบรรลุนิติภาวะ และประจวบกับสงครามโลกสิ้นสุดลงเมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๘ จึงได้เสด็จนิวัติประเทศไทย แต่ก็เสด็จสวรรคตเมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๙ จึงมีพระกรณียกิจเพียงเล็กน้อย

 

รัชกาลที่ ๙ ทรงครองราชย์สืบจากพระเชษฐาธิราช ทรงเล็งเห็นความสำคัญของการศึกษาเป็นอย่างยิ่ง และมีพระราชดำริอยู่เนืองๆ ถึงความสำคัญของการศึกษา เช่น โปรดให้โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน และโรงเรียนในชุมชน เพื่อให้การศึกษาแก่ประชาชนในชนบท มีพระราชดำริให้จัดทำสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน เพื่อให้ค้นหาความรู้ได้ โครงการพระดาบส เพื่อสอนให้ผู้เรียนนำไปประกอบอาชีพ นอกจากนี้ยังทรงเป็นวิทยากรในรายการศึกษาทัศน์ สถานีวิทยุโทรทัศน์การศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมด้วย

 

แหล่งข้อมูล

หนังสือเล่มนี้ให้แหล่งข้อมูลไว้อย่างครบถ้วน เพื่อบอกที่มาของเนื้อหาในแต่ละส่วน แต่ละตอน ผู้ที่สนใจสามารถค้นคว้าเพิ่มเติมได้จากแหล่งข้อมูลที่ให้ไว้

แนวพระราชดำริด้านการศึกษา ๙ รัชกาล แม้จะเป็นหนังสือเชิงวิชาการ แต่ก็อ่านสนุก ได้ทั้งความรู้และแง่คิด อาจเลือกอ่านตอนใดก็ได้ (เสียดายไม่มีสารบัญที่ละเอียดกว่านี้) น่าจะให้ความรู้ใหม่ๆ แก่ผู้อ่านหลายท่าน โดยเฉพาะพระบรมราโชวาท ที่ผู้วิจัยได้คัดมาถ่ายทอด หลายเรื่องน่าสนใจอย่างยิ่ง และยังมีโครงการต่างๆ มากมายที่ประชาชนชาวไทยรู้จักดี แต่อาจไม่ทราบมาก่อนว่าเกิดขึ้นจากพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว.

 

ข้อเสนอแนะ

               หนังสือเล่มนี้พิมพ์ครั้งที่หนึ่ง จำนวนหมื่นเล่ม คงจะพิมพ์แจก เพราะไม่ติดราคา แต่ผู้ที่ได้รับแจกคงไม่กว้างขวาง แค่โรงเรียนทั่วประเทศก็มากมายแล้ว สำนักงานฯ น่าจะเผยแพร่ในรูปของไฟล์ข้อมูล เพื่อความสะดวก และประหยัด ซึ่งไม่น่าจะต้องเสียค่าใช้จ่ายมากเมื่อเทียบกับการพิมพ์บนกระดาษ

               อีกอย่างหนึ่ง หนังสือเล่มนี้หากมีดัชนีค้นคำท้ายเล่ม ก็จะช่วยให้การศึกษาค้นคว้าทำได้สะดวก รวดเร็วยิ่งขึ้น ดังเช่นสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ที่มีดัชนีท้ายเล่มทุกเล่ม.

                                                                                

คำสำคัญ (Tags): #พระราชดำริ
หมายเลขบันทึก: 497641เขียนเมื่อ 8 สิงหาคม 2012 12:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 สิงหาคม 2012 08:23 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)
  • เนี่ยถ้ามีไฟล์
  • คงได้ load เอาไว้อ่านแล้วนะครับ
  • ขอบคุณมากครับ

สวัสดีค่ะ

หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือของสำนักงาน ฯ เข้าใจว่าเป็นการจัดจ้างนักวิจัยศึกษา จัดทำตั้งแต่สมัย ศาสตราจารย์ (พิเศษ) ธงทอง จันทรางศุ เป็นเลขาธิการสภาการศึกษาค่ะ

:)

 

 

สวัสดีคะ อาจารย์หมูคะ พวกตัวย่อหรือที่เขียนแบบครึ่งๆของทั้งพยัญชนะและสระในสันสกฤต เราเรียกตัวพวกนี้ว่าอะไรดีคะ มีชื่อไหมเอ่ย ขอบคุณคะ

สวัสดีครับ

อ้าว ถามผิดที่ แต่ไม่เป็นไร...

ตัวย่อที่เขียนแบบครึ่งๆ เรียกว่า พยัญชนะสังโยค, a conjunct consonant, संयोग

เฉพาะพยัญชนะนะครับ ถ้าสระไม่มีย่อ

แต่สระเขาแบ่งสองแบบ สระที่ขึ้นต้นคำ ไม่ได้ตามหลังพยัญชนะ เรียกว่า "สระลอย" เขียนเต็มตัว, ส่วนสระที่ตามหลังพยัญชนะอื่น เรียกว่า "สระจม"

ภาษาสันสกฤตเรียกอะไรไม่ทราบเหมือนกัน อาจารย์ไม่เคยสอนครับ ;)

ถ้ายังสงสัยก็ถามมาได้นะครับ...

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท