ชีวิตที่พอเพียง: ๑๖๑๗. ความเจ็บป่วยให้โอกาสอยู่กับตัวเอง (บันทึกตามัว ๑)


 

          เช้าวันที่ ๕ ก.ค. ๕๕ ผมออกจากบ้านตีห้าครึ่ง ไปยังหอประชุมกองทัพเรือ เพื่อทำหน้าที่ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยมหิดล   หลังจากลงทะเบียนรับบัตรผ่านระบบรักษาความปลอดภัย ผมก็ขึ้นไปยังห้องโถงรับประทานอาหาร   รับอาหารกล่อง โดยผมเลือกข้าวหมูแดง    และไปนั่งรับประทานที่โต๊ะเดียวกันและคุยกับทีมจากศิริราช   สักครู่ ศ. พญ. สุวรรณา เรืองกาญจนเศรษฐ์ รองอธิการบดีก็มานั่งและคุยด้วย


          เวลานั้นน่าจะ ๗ น. เศษๆ   ทันใดนั้นผมรู้สึกเหมือนมีฝ้ามาบังตา    ตอนแรกคิดว่าแว่นตาเปื้อนน้ำข้าวหมูแดง    ถอดแว่นออกมาดูก็สะอาดดี   คิดว่ามันเปื้อนตาหรือขนตา   เช็ดด้วยทิชชูก็ไม่หาย    ลองปิดตาข้างขวา ตาซ้ายมองเห็นดี    ลองปิดตาข้างซ้าย ตาขวาฝ้ามาก และเหมือนมองผ่านกระจกฝ้า บางส่วนเหมือนมีสิ่งที่เป็นเส้นคล้ายขยุ้มขนตามาบัง    ผมไม่ได้บอกใคร และยังคงอ่านคำถวายรายงานได้โดยไม่มีใครรู้ว่าตอนนั้นผมมีตาเดียวที่ใช้การได้   และอยู่จนตลอดงาน   แม้ตอนร่วมโต๊ะเสวยพระกระยาหารกลางวันกับสมเด็จพระเทพรัตน์ฯ ผมก็ทำหน้าที่ได้ตามปกติ


          กลับมาบ้านตอนเย็น จนถึงตอนเช้า อาการยังคงเดิม ไม่หนักขึ้นหรือเบาลง   ผมมีประชุมที่มหาวิทยาลัยมหิดลศาลายา    เมื่อไปถึงผมขอให้คุณโสภาพรรณช่วยติดต่อท่านคณบดี ศ. นพ. อุดม ของศิริราช   ท่านบอกให้รีบไปศิริราชทันที  


          ที่ศิริราชผมได้รับการดูแลแบบวีไอพี   อ. หมอปรีชา สุนทรานันท์ อดีตรองอธิการบดี และเวลานี้มาเป็นรองคณบดี มารับพาไปห้องตรวจตาที่ตึกสยามินทร์ ชั้น ๑   และได้รับการตรวจอย่างละเอียดและรอบคอบ แถมยังได้รับเลี้ยงอาหารเที่ยงจาก อ. หมอจุฑาไล ตัณฑ์เทอดธรรม หัวหน้าภาควิชาจักษุวิทยา    นอกเหนือจากที่ท่านกรุณารับผมเป็นคนไข้ของท่าน    โดยจะต้องขยายม่านตาเพื่อตรวจ    แต่สงสัยว่ามุมตรงม่านตาของผมมันน่าจะแคบ   และถ้าแคบเมื่อหยอดยาขยายม่านตา ความดันในตาจะสูง เกิดโรคต้อหินแทรกซ้อนตามมา    ท่านจึงขอให้ อ. หมออังคณาช่วยตรวจมุมตา ก็พบว่าแคบจริง   และตรวจความดันตาปกติ    อ. หมออังคณาจึงกรุณายิงเลเซอร์ป้องกันม่านตาไปกองที่มุมและทำให้เกิดความดันในตาสูง   โดยยิง ๒ เครื่อง เครื่องหลังเป็น YAG Laser ทำให้ผมมีประสบการณ์นี้เป็นครั้งแรก    ตอนยิง YAG Laser ครั้งแรกไฟมันแรงกระตุกจนผมสะดุ้ง ทั้งๆ ที่ อ. หมออังคณาเตือนแล้วว่าจะเจ็บหน่อย


          ตอนก่อนยิงเลเซอร์ พยาบาลหยอดยาชาและยาหดม่านตา    รอจนม่านตาหดจึงยิงเลเซอร์    ยิงเลเซอร์เสร็จก็ต้องหยอดยาขยายม่านตา    พยาบาลบอกว่าต้องรอนานหน่อย เพราะเพิ่งหยอดยาหดม่านตา    แต่โชคดี ม่านตาของผมมันไม่ค่อยดื้อ เขายอมขยายในเวลาไม่นาน    และ อ. หมอจุฑาลัย ก็ได้ตรวจตาผมด้วยเครื่อง slit lamp และวินิจฉัยว่าเป็นโรค vitreous hemorrhage หรือเลือดออกในวุ้นในลูกตา    ซึ่งถือว่าเป็นโรคที่ร้ายแรงน้อยที่สุดในกลุ่มโรคที่สงสัย    ที่สำคัญคือหายเป็นปกติได้


          แต่หมอไม่สามารถตรวจดูจุดที่เลือดออกว่าเป็นอย่างไร เพราะเลือดออกมาก บังหมด มองจอตา (เรตินา) ไม่เห็นเลย    แต่ดีตรงที่ตาซ้ายของผมปกติดี ไม่มีร่องรอยของเบาหวานหรือหลอดเลือดเสื่อม (จากความดันโลหิตสูง)    หมอพูดกันว่ามีเม็ดสีมากขึ้นนิดหน่อย ซึ่งก็เป็นปกติสำหรับคนแก่


          ตอนเช้า หลังจากไปถึงศิริราชสักครู่ ท่านคณบดีอุดมก็มาเยี่ยม และทำหน้าที่ญาติผู้ป่วย ซัก อ. หมอจุฑาไลว่าคิดถึงโรคอะไรบ้าง    ได้รับคำตอบว่า

๑. เลือดออกในวุ้นในลูกตา (vitreous hemorrhage)

๒. หลอดเลือดอุดตัน ซึ่งอาจเป็นหลอดเลือดดำ หรือหลอดเลือดแดงก็ได้

๓. จอตาลอก (retina detachment)


          ผมได้รับคำแนะนำให้พักโดยเลือกได้ ๒ ทาง คืออยู่โรงพยาบาล หรือพักอยู่กับบ้าน    ผมรีบเลือกพักอยู่กับบ้านโดยสัญญาว่าจะปฏิบัติตัวเป็นคนไข้ที่ดี  หมอห้ามไม่ให้เดินทาง ไม่ใช้สายตาแบบที่ต้องกลอกตาไปมาตลอดเวลา คือการอ่านหนังสือ    ห้ามเบ่งอึ ห้ามไอ จาม วิ่งออกกำลัง เดินมากๆ    ให้นอนหนุนศีรษะสูง เพื่อให้เลือดตกลงล่าง   โดยได้รับคำบอกว่า อาการจะหายภายในเวลาระหว่าง ๔ วันถึง ๑ เดือน และเมื่อเลือดถูกดูดซึมไปจนเหลือน้อยลง ให้ไปตรวจหาร่องรอยสาเหตุที่เลือดออก   ส่วนอีกคำสั่งหนึ่งมาจากหมอประจำดวงใจคือสาวน้อย บอกให้หยุดกินน้ำมันปลา (fish oil) เพราะมันอาจทำให้เลือดออกง่าย


          ผมบอกสาวน้อยให้ซื้อผลไม้มากินป้องกันท้องผูก    คืนวันที่ ๖ เขาจึงเอาผงไฟเบอร์ธรรมชาติที่มีขายเป็นซอง ชื่อ Mucilin มาละลายน้ำให้ดื่ม   ดังนั้นเช้าวันที่ ๗ ผมจึงถ่ายคล่องเป็นพิเศษ


          ผมเตรียมพักผ่อนสายตา ด้วยการรับรู้ผ่านประสาทหูแทน    จึงได้โอกาสเอาเสียงของการประชุมต่างๆ ที่ผมบันทึกด้วย MP3 เอามาเก็บไว้ใน HDD ถ่ายกลับมาลงในเครื่องเล่น MP3 และนอนฟังด้วยความเพลิดเพลินและประเทืองปัญญา   


          นอกจากนั้น เจ้า iPod รุ่นเก่า ๒ ตัว ที่ไม่ค่อยได้ใช้ ก็ได้มีโอกาสทำหน้าที่  ผมเอามาอัดไฟ และฟังเพลงคลาสสิคของโปรด   รู้สึกว่าเพลงไพเราะจริงๆ   คงเพราะผมจิตว่าง ไม่ต้องกังวลถึงงานที่จะต้องทำ    เพราะต้องปลดการเดินทางและงานต่างๆ ออกไปหมด


          การวิ่งออกกำลังสะเทือน หมอห้ามเด็ดขาด   ให้รอจนหาย   เป็นสิ่งที่ทำให้ผมรู้สึกขาดหายไป จึงคิดจะใช้การขี่จักรยานแทน    แต่สาวน้อยสั่งห้าม บอกว่าอย่างน้อยให้มั่นใจว่าเลือดหยุดแน่นอนก่อน


          ลูกสาว ๒ คนที่อยู่บ้านเดียวกัน และสาวน้อย รู้ใจว่าผมเป็นคนแก่ไฮเปอร์    เขาจึงช่วยกันหาทางเกลี้ยกล่อมให้ผมพักสายตาให้ได้


          ผมทดลองสมมติว่าผมตาบอดทั้งสองข้าง ผมจะใช้ประสาทหูเพื่อการรับรู้และเรียนรู้แทนได้แค่ไหน   ผมรู้ว่าหากสมมติเป็นจริง งานทั้งหลายก็หายวับไป    ผมจะกลายเป็นคนแก่อยู่กับบ้าน เดาว่าคงมีคนคอยดูแล    ผมจะต้องหาความสุขจากประสาทสัมผัสอื่น ซึ่งตัวสำคัญคือโสตประสาท    ผมจึงทดลองหัดฟังเสียงต่างๆ ให้ได้สุนทรีย มากกว่าที่ได้ในชีวิตตามปกติ ที่มีช่องทางรับรู้หลายช่องทาง    ซึ่งก็คือการฝึกสมาธิอย่างหนึ่งนั่นเอง    ไม่ทราบว่าอุปาทานหรือไม่ ผมฟังเพลงได้ไพเราะขึ้น   ผมฝึกแยกเสียงเครื่องดนตรี และฝึกสัมผัสความไพเราะของเสียงเครื่องดนตรีแต่ละชนิด   ชีวิตสนุกไปอีกแบบ


          ๗ กรกฎาคม ๕๕ (วันที่ ๓ ของอาการ) อาการตาขวามัวยังคงเดิม   ไม่ดีขึ้นหรือเลวลง    แต่สังเกตว่า สิ่งที่บังตาขวาเป็นขยุ้มเส้นๆ มันหนาตัวขึ้น และช่องว่างระหว่างเส้นกว้างขึ้น   ผมพยายามจำภาพสิ่งนี้ เพราะเข้าใจว่าคือก้อนเลือดที่ออกไปอยู่ในวุ้นตา    ผมต้องการสังเกตการเปลี่ยนแปลงภายในตาขวา


          ผมเอา iPod เก่า 80GB มาเลือกฟังเพลง   เพลงในนี้ส่วนใหญ่ได้มาจากความกรุณาของ รศ. ดร. สุกรี เจริญสุข ให้เจ้าหน้าที่ของวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ใส่ให้ เมื่อ ๕ - ๖ ปีที่แล้ว   ผมคิดว่า iPod ให้เสียงเพลงที่ไพเราะกว่า iPhone 4   ไม่ทราบว่าหูของผมฝาดไปหรือไม่ 


          ตอนเช้าอากาศดี ผมไปนั่งที่ระเบียงหน้าบ้านเพื่อซึมซับธรรมชาติสีเขียวของต้นไม้   สลับกับออกไปนั่งในสนามหญ้าข้างบ้าน   ฟังเพลงและรับลมอ่อน ยามเช้าด้วยความสดชื่น   ช่วงหนึ่งนกปรอดเขามาร้องบนต้นไม้เสียงขรม   เดาว่าเป็นเสียงเชียร์ของพ่อแม่นก ให้ลูกนกขยันหัดบิน   เพราะวันก่อนผมเห็นตัวลูกนกที่บ้านลูกสาว    เขาทำรังที่ระเบียงบ้านลูกสาว 


          ผมลองเข้าไปฟังเพลงจาก YouTube ด้วย iPad   ฟังเพลงของ Vanessa Mae ที่เคยอ่านพบว่าร่ำรวยมาก   ได้เห็นหน้าตาและการแต่งตัวทั้งตอนเริ่มดัง กับเดี๋ยวนี้ ซึ่งเปลี่ยนไปมาก    และเพลงและดนตรีก็เปลี่ยนไปเป็น stage show มากขึ้น   เดาว่าการแสดงดนตรีของเขาคงจะมีฝ่ายต่างๆ มากำหนดมากมาย   โดยฝีมือสีไวโอลินของเธอก็นับว่าขั้นเทพ (ธิดา)   ผมฟัง Beethoven Symphony No. 9 ใน YouTube เทียบกับฟังใน iPod พบว่า ใน iPod ไพเราะกว่า 


          ผมได้โอกาสฝึกตนเอง ให้มีชีวิตอยู่กับโสตสัมผัส มากกว่าจักษุสัมผัส




                                                                        วิจารณ์ พานิช

                                                                                  ๘ ก.ค. ๕๕

หมายเลขบันทึก: 497384เขียนเมื่อ 6 สิงหาคม 2012 15:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 สิงหาคม 2012 16:39 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

มาให้กำลังใจค่ะ..คุณหมอเล่าเอง ชัดเจนกว่าเสียงร่ำลือ..

ขอให้อาจารย์หายไวไวนะคะ แล้วใครพิมพ์ให้อาจารย์คะ บันทึกนี้น่ะค่ะ

คนแก่ไฮเปอร์ ==> เก่งจริงๆ ในการใช้ เครื่องเล่น IT เยี่ยมมากค่ะ

ขอบคุณมากค่ะ

  • ขอให้อาจารย์หมอหายไวๆนะครับ
  • พักผ่อนมากๆครับ
  • เอานกมาฝากครับ

ขอให้หายไวไวครับอาจารย์

หายเป็นปกติเร็วๆนะคะ ความผิดปกติของร่างกายทำอะไรอาจารย์ไม่ได้จริงๆ ยังมีบทเรียนให้พวกเราได้เรียนรู้ได้อีก ขอบพระคุณค่ะ

สงสัย Gotoknow ต้องทำฟังก์ชั่นอัดเสียงเป็นบันทึกด้วยแล้วนะคะ เชื่อว่าอาจารย์น่าจะหายได้เร็วกว่า 1 เดือนค่ะ ขอเป็นกำลังใจให้อาจารย์ได้ใช้เวลานี้กับประสาทหูอย่างสุนทรีย์นะคะ หนูเคยคิดว่าถ้าไม่มีตาคงแย่แน่ๆแต่พออ่านบันทึกนี้แล้วก็คิดว่ามันอยู่ที่มุมมองของเราเองมากกว่านะคะ ขาดอะไรก็ไม่เป็นไร ตราบใดที่เราไม่ขาดกำลังใจ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท