ถอดบทเรียน การบริหารสถานศึกษาพอเพียง


สร้างคนก่อนสร้างงานด้วยการบริหารแบบมีส่วนร่วม
โรงเรียนจิระศาสตร์วิทยา เป็นโรงเรียนเอกชน สายสามัญศึกษา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน กระทรวงศึกษาธิการ ตั้งอยู่ ณ เลขที่ 45 หมู่ 1 ถนนชีกุน ตำบลประตูชัย อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2502  บนที่เช่าราชพัสดุ เนื้อที่  9  ไร่  2  งาน  91  ตารางวา โดยมี ดร.จิระพันธุ์ พิมพ์พันธุ์ เป็นผู้รับใบอนุญาต เริ่มแรกมีอาคารเรียน 1 หลัง   นักเรียน 108  คน   ครู 8 คน    เปิดสอนระดับอนุบาล  ถึงมัธยมศึกษาปีที่  3  ปัจจุบัน (ปี 2555) มีอาคารเรียนและอาคารประกอบ 9 หลัง  มีนักเรียนทั้งสิ้น  3,544 คน  ครูอาจารย์ 215 คน (ครูต่างชาติ 21 คน) พนักงานขับรถ 36  คน  คนงาน  ภารโรง  28  คน  รถรับ-ส่งนักเรียน  36  คัน

 

             โรงเรียนได้ปรับปรุงโครงสร้างการบริหารงานในโรงเรียนโดยคำนึงถึงศักยภาพ ความรู้ ความสามารถของครูและบุคลากร บนพื้นฐานความเชื่อที่ว่า “ถ้าให้ทุกคนได้ทำงานตามความถนัด ความสามารถ ความสนใจแล้ว ทุกคนจะทำงานอย่างเต็มใจและมีผลงานเป็นที่พอใจ” ฉะนั้นจึงได้แบ่งฝ่ายรับผิดชอบงานโรงเรียนออกเป็น  8 ฝ่าย โดยเปิดโอกาสให้ครูและบุคลากรทุกคนเลือกเป็นกรรมการฝ่ายตามที่ตนเองถนัดและสนใจ เช่น ฝ่ายวิชาการ กิจการนักเรียน บริการ บุคลากร อาคาร-สถานที่ ธุรการ-การเงิน นโยบายและแผน และฝ่ายความสัมพันธ์กับชุมชน    ทำให้ครูและบุคลากรทุกคนพึงพอใจและให้ความร่วมมือในการทำงานอย่างดียิ่ง

 

                   โรงเรียนจิระศาสตร์วิทยา ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการกระจายอำนาจการบริหารงานและ   การเปิดโอกาสให้บุคลากรทุกฝ่ายในโรงเรียนมีส่วนร่วมในการบริหารงานโรงเรียน โดยมีคณะกรรมการทำหน้าที่รับผิดชอบในการบริหารงานโรงเรียน  

                ปรัชญาโรงเรียน ความว่า “ฉลาดและมีคุณธรรม”  หมายความว่า ทุกคนที่อยู่ในโรงเรียน        จิระศาสตร์วิทยา  ไม่ว่าจะเป็นผู้บริหาร ครู บุคลากร และนักเรียนต้องเป็นผู้ที่มีความเฉลียวฉลาด มีปฏิภาณไหวพริบ รู้จักแก้ปัญหาโดยวิถีแห่งปัญญา มีคุณธรรม จริยธรรมกำกับในการทำงานและการใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่นในสังคมอย่างมีความสุข

                วิสัยทัศน์โรงเรียน ความว่า “โรงเรียนจิระศาสตร์วิทยา บริหารงานแบบมีส่วนร่วม มุ่งมั่นพัฒนานักเรียนให้มีคุณธรรม เลิศล้ำวิชาการ สืบสานวัฒนธรรมไทย ก้าวไกลสู่สากล”

                อัตลักษณ์โรงเรียน ความว่า “ยิ้มไหว้ ใฝ่เรียนรู้”

          จากผลของการกระจายอำนาจและ“การบริหารงานแบบมีส่วนร่วม”ของคณะครู ผู้ปกครอง ชุมชนตลอดจนบุคลากรผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ทำให้การดำเนินงานประสบผลสำเร็จก้าวหน้ามาโดยลำดับ ดังจะเห็นได้จากผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนที่สูงขึ้น และเกียรติยศรางวัลต่างๆที่ทางโรงเรียนได้รับ เช่น นักเรียนได้รับรางวัลชนะเลิศในการประกวด/แข่งขันความสามารถทางวิชาการ ระดับเขตพื้นที่ ระดับภาค และระดับประเทศ  นักเรียนดีเด่นได้รับรางวัลพระราชทาน 3 ครั้ง สถานศึกษาดีเด่นได้รับรางวัลพระราชทาน 4 ครั้ง และสถานศึกษายังผ่านการประเมินรอบที่สอง จากสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) ระดับดีมากเป็นต้น

 

1.กรอบความคิด หรือสาระของบทเรียนในภาพรวม

          ก่อนอื่นขอทำความเข้าใจคำว่า “การบริหารแบบมีส่วนร่วมทั่วทั้งองค์กร” ซึ่งหลายหน่วยงาน สถานศึกษาอาจจะมีบริบทที่คล้ายคลึงกันหรือแตกต่างกัน     สำหรับโรงเรียนจิระศาสตร์วิทยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยานั้น อาจารย์จิระพันธุ์ พิมพ์พันธุ์     ในฐานะเจ้าของและผู้รับใบอนุญาตจัดตั้งโรงเรียนเล่าว่า ในปี พ.ศ. 2499 เคยรับราชการเป็นครูผู้สอนและเป็นหัวหน้าฝ่ายวิชาการโรงเรียนประจำจังหวัดสมุทรปราการ ต่อมาปี พ.ศ. 2501 จึงได้ย้ายมาสอนที่โรงเรียนอยุธยาวิทยาลัย และในปี พ.ศ. 2502 ได้เป็นผู้รับใบอนุญาตจัดตั้งโรงเรียนจิระศาสตร์วิทยา

             ต่อจากนั้น ในปี พ.ศ. 2507 ได้เดินทางไปศึกษาต่อระดับปริญญาโทสาขาการบริหารการศึกษา     ที่มหาวิทยาลัย อลาบามา (Alabama University) ประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นเวลา 2 ปี  เมื่อเรียนจบปริญญาโท ก็ได้ลงทะเบียนศึกษาต่อ ระดับปริญญาเอก 30 หน่วยกิต  แต่ยังเรียนไม่สำเร็จเพราะท่านอาจารย์        ดร. ก่อ  สวัสดิพาณิชย์ อธิบดีกรมสามัญศึกษาในสมัยนั้นเรียกตัวกลับเสียก่อนดังนั้น อาจารย์จิระพันธุ์      พิมพ์พันธุ์     จึงได้กลับมาทำหน้าที่สอนหนังสือต่อและได้ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยอาจารย์ใหญ่โรงเรียนอยุธยาวิทยาลัย   จนกระทั่งปี พ.ศ. 2512 จึงลาออกมาบริหารงานโรงเรียนจิระศาสตร์วิทยา ซึ่งได้ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2502 บนที่เช่าราชพัสดุ เนื้อที่ 9 ไร่ 2 งาน 91 ตารางวา เริ่มแรกมีอาคารเรียน 1 หลัง นักเรียน 108 คน ครู 8 คน เปิดทำการสอนระดับชั้น ป.1-ป.5 โดยระยะแรกได้ให้ญาติเข้ามาบริหารงาน “เป็นครูใหญ่” เมื่ออาจารย์         จิระพันธุ์ ลาออกจากราชการจึงได้มาบริหารโรงเรียนเต็มตัว ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2513 ได้ขยายเปิดสอนระดับ ชั้นอนุบาลถึง ม.3 และได้สร้างอาคารเรียน อาคารประกอบเพิ่มขึ้น (ปัจจุบัน พ.ศ.2555) มีอาคารเรียน และอาคารประกอบ 9 หลัง รถรับ-ส่งนักเรียน 36 คัน นักเรียน 3,565 คน ครูไทย 197 คน         ครูต่างชาติ 20 คน

              ในระยะเริ่มแรกเมื่อลาออกจากราชการมาทำหน้าที่บริหารโรงเรียนด้วยตนเองนั้น อาจารย์จิระพันธุ์  พิมพ์พันธุ์ ได้บริหารงานในระบบราชการ โดยมีการสั่งการในลักษณะ “รวบอำนาจอยู่ที่ผู้บริหารเพียงผู้เดียวตามที่เคยมีประสบการณ์ในสมัยนั้น  เพราะคิดว่าเคยประสบความสำเร็จในโรงเรียนภาครัฐมาแล้วสามารถนำมาใช้กับโรงเรียนเอกชนได้ ปรากฏว่าล้มเหลวโดยสิ้นเชิง จำนวนนักเรียนค่อยๆลดลงๆทำให้เกิดความกลุ้มใจ นอนไม่หลับต้องกินยานอนหลับหลายขนาน อาจารย์จิระพันธุ์ พยายามตั้งหลักวิเคราะห์หาปัญหาสาเหตุความล้มเหลวของการทำงานเป็นเวลานาน   อยู่มาวันหนึ่งประมาณปี พ.ศ. 2518 ได้มีโอกาสเข้าอบรมเรื่อง QCC. (Quality Control Circle) จึงได้นำหลักการแนวคิด นำมาประยุกต์ใช้ในการบริหารงานโรงเรียน โดยได้ประชุมชี้แจง “สร้างความเข้าใจ ให้ความสำคัญ และผลักดันคุณภาพ” ให้ครูและบุคลากรทุกฝ่ายในโรงเรียนมีความรู้สึกเป็นเจ้าของโรงเรียนร่วมกัน ซึ่งได้พบความจริงว่า “การบริหารงานโรงเรียนเอกชนไม่เหมือนการบริหารงานโรงเรียนรัฐบาล” เพราะธรรมชาติของโรงเรียนทั้งสองแตกต่างกัน ดังนั้นจึงได้ริเริ่มปรับระบบการบริหารงานโรงเรียนแบบใหม่โดยจัดให้มีระบบ “การบริหารสถานศึกษาแบบพอเพียงเปิดโอกาสให้ทุกคนมีส่วนร่วมทั่วทั้งองค์กร นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน

 

2. วัตถุประสงค์หรือสาเหตุ หรือแรงบันดาลใจ

              ความสำเร็จของการบริหารงานไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานหรือสถานศึกษาใดๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน  ถ้าขาด “ความร่วมมือร่วมใจ” และ “ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน” ของบุคลากรในองค์กรนั้น ย่อมเป็นการยากที่จะทำให้การดำเนินงานประสบความสำเร็จ  หรือสำเร็จได้อย่างไม่สมบูรณ์แบบ  หรือไม่มีคุณภาพ  หรืออาจถึงกับล้มเหลวอย่างน่าเสียดาย

              คงจะเป็นที่ยอมรับว่า “ตัวจักรที่สำคัญ” ที่ทำให้การบริหารจัดการศึกษาประสบความสำเร็จหรือบรรลุจุดประสงค์ได้ คงจะต้องเป็นความร่วมมือร่วมใจของ “ครูและบุคลากรทางการศึกษา”   หากเราได้เปิดโอกาสให้ มีการบริหารงานแบบมีส่วนร่วมทั่วทั้งองค์กร โดยทุกคนมีส่วนร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมแก้ปัญหา ร่วมพัฒนา และร่วมรักษาเกียรติคุณความดีแล้ว    ย่อมทำให้การดำเนินงานเป็นไปตามที่หน่วยงาน/สถานศึกษาตั้งเป้าหมายไว้อย่างแน่นอน โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญคือ 1) ส่งเสริมประชาธิปไตยในโรงเรียน โดยผู้บริหารได้มีการกระจายอำนาจและเปิดโอกาสให้ครูและบุคลากรในโรงเรียนมีส่วนร่วมในการบริหารงานโรงเรียนในลักษณะองค์คณะบุคคล 2) เสริมสร้างความรัก ความสามัคคี และความสัมพันธ์อันดีต่อกันระหว่างคณะครู ผู้บริหาร และบุคลากรทุกฝ่าย    ในโรงเรียน 3) เสริมสร้างขวัญกำลังใจในการปฏิบัติงานของครูและบุคลากรในโรงเรียน

 

3. ขั้นตอนการทำงานหรือการพัฒนางาน

              ในการทำงานร่วมกันของคนหมู่มากซึ่งต่างเพศต่างวัย ต่างประสบการณ์ความรู้ อาจมีปัญหาข้อขัดแย้งกันบ้างเป็นธรรมดา บางครั้งผู้บริหารไม่จำเป็นจะต้องตัดสินปัญหาเอง ควรให้ฝ่ายบุคลากร และคณะกรรมการสภาครู (ซึ่งจะกล่าวถึงรายละเอียดต่อไป) ได้มีบทบาทส่วนร่วมในการดำเนินการ นับตั้งแต่การกำหนดแนวทาง  ในการแก้ปัญหา ตลอดจนการตัดสินใจแก้ไขปัญหาข้อขัดแย้งต่างๆ ให้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดีในลักษณะ “ชนะ ชนะ” หรือ “ Win Win”หรือบัวไม่ให้ช้ำ น้ำไม่ให้ขุ่น โดยโรงเรียนได้จัดให้มีการประชุมร่วมกันเป็นประจำ เพื่อสร้างความเข้าใจ ให้ความสำคัญ และผลักดันคุณภาพการทำงานของทุกๆฝ่าย เช่น การประชุมสภาครู และการประชุมครูระดับมัธยมศึกษาปีที่ 1- 3 ทุกวันจันทร์ , การประชุมครูระดับอนุบาล 1-3 ทุกวันอังคาร , การประชุมครูระดับประถมศึกษา 1-3 ทุกวันพุธ , การประชุมครูระดับประถมศึกษา 4-6 ทุกวันพฤหัสบดี และการประชุมหัวหน้าสายชั้นทุกวันศุกร์ เป็นต้น

 

4.วิธีการนำสู่การปฏิบัติ

              การบริหารงานแบบมีส่วนร่วมทั่วทั้งองค์กรต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกๆฝ่าย ทั้งคณะผู้บริหาร ครู  ผู้ปกครอง ชุมชนและนักเรียน

              การบริหารงานแบบพอเพียงโดยการมีส่วนร่วมทั่วทั้งองค์กรของโรงเรียนจิระศาสตร์วิทยาสามารถนำไปสู่การปฏิบัติโดยผู้บริหารได้มีการกระจายอำนาจการบริหารไปยังคณะครูและบุคลากร    ในโรงเรียนให้มีส่วนร่วมรับผิดชอบในการบริหารงานโรงเรียนในลักษณะ “ร่วมคิด ร่วมปฏิบัติ ร่วมแก้ปัญหา ร่วมพัฒนา” โดยใช้กระบวนการบริหารจัดการตามวงจรเดมมิ่ง (PDCA) ซึ่งประกอบด้วยองค์คณะบุคคล ดังนี้ คือ

1. คณะผู้บริหารโรงเรียน ประกอบด้วย ผู้อำนวยการโรงเรียน รองผู้อำนวยการ ผู้จัดการโรงเรียนและรองผู้จัดการ มีหน้าที่บริหารงานตามขอบข่ายหน้าที่ความรับผิดชอบ กล่าวคือ ผู้อำนวยการโรงเรียนรับผิดชอบการบริหารงานฝ่ายวิชาการ ฝ่ายบุคลากร ฝ่ายกิจการนักเรียน และฝ่ายกิจกรรมพิเศษ ส่วนผู้จัดการโรงเรียนรับผิดชอบฝ่ายธุรการ-การเงิน ฝ่ายอาคาร-สถานที่ ฝ่ายความสัมพันธ์ชุมชน และฝ่ายนโยบายและแผน

2. คณะกรรมการบริหารโรงเรียน ได้แก่ คณะกรรมการบริหารโรงเรียนตามตราสารจัดตั้งนิติบุคคลของโรงเรียนจิระศาสตร์วิทยา พ.ศ. 2551 ประกอบด้วย ผู้รับใบอนุญาต ผู้อำนวยการโรงเรียน ผู้จัดการโรงเรียน เป็นกรรมการโดยตำแหน่ง และผู้แทนผู้ปกครอง  1 คน ผู้แทนชุมชน 1 คน ผู้แทนครู 1 คน และผู้ทรงคุณวุฒิ 2 คน ได้มาจากการสรรหา รวม 7 คน มีหน้าที่ออกระเบียบข้อบังคับของโรงเรียน ให้ความเห็นชอบนโยบายและแผนพัฒนาการศึกษาของโรงเรียน ให้คำแนะนำการบริหารและการจัดการโรงเรียน กำกับดูแลให้มีระบบการประกันคุณภาพภายในโรงเรียน ติดตามตรวจสอบและประเมินผลการปฏิบัติงานของผู้อำนวยการ ผู้จัดการและบุคลากรอื่นตามที่เห็นสมควร ให้ความเห็นชอบการกู้ยืมเงินครั้งเดียวหรือหลายครั้งรวมกันเกินร้อยละยี่สิบห้าของมูลค่าทรัพย์สินที่โรงเรียนมีอยู่ในขณะนั้น ให้ความเห็นชอบการกำหนดค่า
ธรรมเนียมการศึกษาและค่าธรรมเนียมอื่นของโรงเรียน ให้ความเห็นชอบรายงานประจำปี งบการเงินประจำปี และการแต่งตั้งผู้สอบบัญชี พิจารณาคำร้องทุกข์ของครู ผู้ปกครองนักเรียนและบุคลากรอื่นในโรงเรียน ให้ความเห็นชอบในการเปลี่ยนแปลงตราสารจัดตั้ง ให้ความเห็นชอบในการเปลี่ยนแปลงรายการในรายละเอียดเกี่ยวกับกิจการโรงเรียน และดำเนินการอื่นๆตามที่เห็นสมควร

3. คณะกรรมการที่ปรึกษา ได้แก่ผู้เชี่ยวชาญหรือผู้ทรงคุณวุฒิที่โรงเรียนเชิญมาเป็นที่ปรึกษาของโรงเรียน มีหน้าที่นิเทศการสอนและให้คำแนะนำในการบริหารงานโรงเรียนด้านการเรียนการสอน

4. คณะกรรมการสภาครู ประกอบด้วยคณะกรรมการ 12 คน ซึ่งมาจากการเลือกตั้งของครูและบุคลากรในโรงเรียน มีหน้าที่เป็นผู้แทนครูและบุคลากรในการบริหารงานร่วมกับคณะผู้บริหาร ร่วมกำหนดกฎระเบียบปฏิบัติของบุคลากร พิจารณาความดีความชอบ การจัดสวัสดิการ และแก้ไขปัญหาของครูและบุคลากรร่วมกับผู้บริหารโรงเรียน

5. คณะกรรมการสายชั้น ประกอบด้วยผู้แทนสายชั้นอนุบาล ประถมศึกษา และมัธยมศึกษา   มีหน้าที่ติดตามประสานงานการดำเนินงานตามแผนงาน/โครงการ/กิจกรรม ของคณะกรรมการฝ่ายต่างๆในสายชั้น เช่น ฝ่ายวิชาการ กิจการนักเรียน บุคลากร อาคาร-สถานที่ และความสัมพันธ์กับชุมชน และรายงานให้ผู้บริหารทราบ

6. คณะกรรมการกลุ่ม STAR (Small Team Activity Relationship) ประกอบด้วยกลุ่มครูผู้สอนที่ทำการสอนในสายชั้น หรือกลุ่มสาระการเรียนรู้ที่ใกล้เคียงกันจำนวน 3-5 คน   มีหน้าที่วางแผน ร่วมมือกันในการแก้ปัญหา และพัฒนาการเรียนการสอนหรือพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ของนักเรียน

7. คณะกรรมการครอบครัวสัมพันธ์ ประกอบด้วยครู บุคลากร และพนักงาน กลุ่มละประมาณ 15-20 คน รวมกลุ่มกันเพื่อพบปะพูดคุยปรึกษาหารือ สอบถามทุกข์สุขและช่วยเหลือซึ่งกันและกันพร้อมทั้งร่วมมือกันดูแล แก้ไขปัญหาการดำเนินงานในครอบครัวให้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี

8. คณะกรรมการฝ่ายต่างๆ ประกอบด้วยฝ่าย 8 ฝ่าย ได้แก่ ฝ่ายวิชาการ ฝ่ายบุคลากร ฝ่ายกิจการนักเรียน ฝ่ายกิจกรรมพิเศษ ฝ่ายธุรการ-การเงิน ฝ่ายอาคาร-สถานที่ ฝ่ายความสัมพันธ์ชุมชน และฝ่ายนโยบายและแผน ซึ่งครูและบุคลากรทุกคนในโรงเรียนจะเป็นกรรมการฝ่ายตามความถนัดและความสนใจคนละ 1 ฝ่าย

 

 

5. การประเมินผลบทเรียน

              จากการสังเกตและสอบถามคณะครูและบุคลากรในโรงเรียนจิระศาสตร์วิทยาเกี่ยวกับบทเรียนการบริหารแบบมีส่วนร่วมทั่วทั้งองค์กร พบว่าในระยะเริ่มต้นบุคลากรส่วนใหญ่มีความรู้ ความเข้าใจและสามารถปรับตัวดำเนินงานไปได้ด้วยดี แต่จะมีเพียงส่วนน้อยไม่ถึง 1 เปอร์เซ็นต์ซึ่งเป็นครูใหม่ยังขาดความรู้ ความเข้าใจ  ในการดำเนินงาน โรงเรียนจึงได้มีการจัดระบบ “เพื่อนช่วยเพื่อน และพี่ช่วยน้อง”เพื่อให้คำแนะนำปรึกษารวมทั้งเป็นกำลังใจในการทำงาน ซึ่งปรากฏว่าเป็นผลดี ทำให้การปฏิบัติงานมีประสิทธิภาพและประสบผลสำเร็จมากขึ้น

 

6. การขยายผลบทเรียน

              เนื่องจากโรงเรียนได้จัดให้มีระบบการประชุมของคณะกรรมการเป็นประจำอย่างต่อเนื่องทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันของคณะครู และบุคลากรภายในโรงเรียน และขยายผลไปสู่โรงเรียนเครือข่ายที่มาศึกษาดูงานการบริหารจัดการของโรงเรียนจิระศาสตร์วิทยา เป็นประจำทุกปีๆละไม่น้อยกว่า 1,000 คน

 

 

7. การทำให้เป็นแบบปฏิบัติในการทำงาน

              บทเรียนนี้สามารถทำให้เป็นแบบปฏิบัติในการทำงานโดยมีโครงสร้างการบริหารงานและขอบข่ายอำนาจหน้าที่ ความรับผิดชอบของแต่ละฝ่ายที่ชัดเจน ทุกคนในองค์กรมีการรับรู้ เข้าใจถูกต้อง ตรงกัน จากการที่ได้มีการพบปะ แลกเปลี่ยนเรียนรู้และประชุมร่วมกันอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ  

              อาจกล่าวได้ว่าการบริหารงานแบบมีส่วนร่วมทั่วทั้งองค์กรเป็นวัฒนธรรมการทำงานของคณะครูผู้บริหารและบุคลากรทุกคนในโรงเรียนจิระศาสตร์วิทยา

 

8.ปัจจัยแห่งความสำเร็จ

              ความสำเร็จของการบริหารงานแบบมีส่วนร่วมทั่วทั้งองค์กร เกิดจากการที่ผู้บริหารมีความรู้ ความเข้าใจเต็มใจในการกระจายอำนาจและเปิดโอกาสให้ครูและบุคลากรมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการอย่างแท้จริง นอกจากนี้ยังจะต้องได้รับความร่วมมือร่วมใจจากคณะครูและบุคลากรทุกฝ่ายในการทำงาน โดยมีคณะผู้บริหาร ให้คำแนะนำปรึกษาและเสริมสร้างขวัญ กำลังใจในการปฏิบัติงาน

 

9. การทบทวนประสบการณ์

              ถ้าสามารถย้อนกลับไปเริ่มต้นใหม่ได้คิดว่าสิ่งที่ควรจะมีการปรับปรุงแก้ไขในการดำเนินงานคือการสร้างวิสัยทัศน์ร่วม โดยให้คณะครูและบุคลากรทุกคนมีส่วนร่วมคิดวางแผนการดำเนินงาน ร่วมปฏิบัติงานตามความรู้ความสามารถและความสนใจของตนเอง  ร่วมติดตามประเมินผลแก้ไขปัญหาหรือพัฒนางานที่ตนรับผิดชอบ และร่มรับผลที่เกิดจากการกระทำของตนเองซึ่งอาจเป็นตัวเงินหรือเป็นขวัญกำลังใจในการปฏิบัติงาน  เป็นต้น

 

10.ข้อเสนอแนะในการนำบทเรียนไปใช้ประโยชน์ หรือต่อยอดบทเรียน

              ดังจะเห็นได้ว่าการกระจายอำนาจและบริหารงานแบบมีส่วนร่วมเป็นทิศทางของการบริหารจัดการแนวใหม่ซึ่งได้รับความนิยมทั้งในหน่วยงาน องค์กรทั้งภาครัฐและเอกชน  อย่างไรก็ตามแต่ละองค์กรควรคำนึงถึงการประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับบริบทหรือข้อจำกัดขององค์กรนั้นๆ ทั้งนี้ควรจะมีการสร้างความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้องตรงกัน ให้ความสำคัญกับผู้ที่เกี่ยวข้องทุกๆฝ่ายอย่างเสมอภาคกันโดยเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และพยายามผลักดันคุณภาพการทำงานให้เกิดขึ้นในองค์กรอย่างเป็นระบบและต่อเนื่องยั่งยืน

หมายเลขบันทึก: 497355เขียนเมื่อ 6 สิงหาคม 2012 13:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 สิงหาคม 2012 13:56 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท