กัมพูชา ; ความทรงจำร่วม เรื่องการอพยพเคลื่อนย้ายของผู้เฒ่าใน อาเซียน ตอน 2


กัมพูชา ; ความทรงจำร่วม เรื่องการอพยพเคลื่อนย้ายของผู้เฒ่าใน อาเซียน (ตอน 1)


 

6.วิธีการดำเนินการวิจัย

                เมื่อถึงเวลาจริง ๆ มีผู้ตั้งคำถามว่า “ความทรงจำร่วม”  มันควรมีลักษณะ ในเบื้องต้นก็ต้องตอบว่าไม่รู้เหมือนกัน เพราะยังไม่ได้ทำความเข้าใจและศึกษา แต่เมื่อถึงเวลานี้ ความสำคัญดังกล่าว จึงต้องการคำอธิบายและการแสวงหาคำตอบที่เป็นประเด็นทางสังคมและจะก่อให้เกิดการขับเคลื่อนในตัวมันเอง อย่างมีความหมายและมีความสำคัญ

                วิธีการดำเนินวิจัย ก็จะเป็น 2  ส่วนคือ [ก] ในส่วนข้อมูลคือการเข้าไปเก็บข้อมูลจากแหล่งที่กำหนดไว้เป็น กลุ่มการศึกษา [ข] ส่วนแนวคิดที่จะใช้ในการวิจัย ในเบื้องต้นได้รับคำแนะนำจากนักวิจัยร่วมในโครงการว่าควรใช้ทฤษฎี คือ

          (1) แนวคิดทฤษฎีการอพยพเคลื่อนย้าย  ที่ใช้หลักคิดเหตุผล และปัจจัยในการอพยพเคลื่อนย้ายมาเป็นกรอบในการมอง (2) แนวคิดทฤษฎีความทรงจำร่วม ซึ่งมีผู้ให้คำนิยาม ความทรงจำทางสังคม (social memory) ว่า แยกออกจากกระบวนการสร้างใหม่ทางประวัติศาสตร์ (historical reconstruction) ในแง่ที่ว่าเป็นการเลือกสรรประวัติศาสตร์ นักวิชาการบางท่าน เช่น Fentress และ Wickham ได้ชี้ให้เห็นว่า ไม่ใช่แค่นักประวัติศาสตร์เท่านั้นที่รื้อฟื้นประวัติศาสตร์ได้ คนในสังคมทั้งหมดสามารถสร้างอดีตขึ้นใหม่ได้  และอันที่จริง ประวัติศาสตร์คือกระบวนการลืมอย่างเป็นระเบียบ คำถามสำคัญน่าจะเป็นว่าอดีตถูกทำให้ลืมอย่างไร กระบวนการที่ทำให้ลืมจนไม่รู้สึกตัวนี้เอง มีความสำคัญ ตามแนวคิดของ Halbswachs ความทรงจำส่วนตัวและความทรงจำทางสังคมจะเชื่อมต่อกัน ดังนั้น ประเพณีทางสังคมและคุณธรรมศีลธรรมเองก็นับเป็นการลืมแบบมีระเบียบชนิดหนึ่ง  ความทรงจำทางสังคมอาจจะไปปรากฏในตำนาน นิทาน สำนวนภาษา และการแสดงออกอื่นในภาษาพูดหรืองานเขียนมากพอๆ กับที่ปรากฏในพิธีกรรมและการตกแต่งร่างกาย ดังที่ Connerton ได้เสนอไว้ ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่จะมีการเปลี่ยนแปลงจากระบบศีลธรรมเชิงนิสัยที่เรียนรู้อย่างไม่รู้สึกตัว (habitual morality) ไปสู่ระบบศีลธรรมที่ผ่านกระบวนการคิด ดังเช่นกรณีการอพยพเคลื่อนย้ายจากที่หนึ่ง ไปอยู่ในอีกที่หนึ่ง ภายใต้บริบทของการเคลื่อนย้ายจากสถานที่สู่สถานที่ จากสังคมเกษตรยังชีพ เป็นสังคมเกษตรในเชิงพาณิชย์ และการแข่งขัน เปลี่ยนจากบ้านเพื่อไปสู่ความเป็นชุมชน หรือชุมชนแบบเมือง จากท้องถิ่น ไปสู่โลกาภิวัตน์ ซึ่งมีนัยยะของกระบวนการทำให้ระบบศีลธรรมเป็นสากลมากขึ้น เกิดการเปลี่ยนรูปของทัศนคติในหมู่อดีตที่สวยงามน่าโหยหา ความทรงจำทางสังคมจึงไม่ได้แสดงออกเพียงปฏิบัติการทางกายภาพและไม่ได้เป็นการช่วงชิงเรื่องราวในวรรณกรรมของผู้แข็งแรงกว่า แต่เรื่องราวเหล่านั้นประดิษฐ์อดีตใหม่ในวิถีทางซึ่งเหมาะสมกับภาวะปัจจุบันและอนาคต ดังนั้น มันจึงเป็นการสร้างใหม่ทางประวัติศาสตร์ และความทรงจำทางสังคมจึงเป็นเหมือนการจัดระบบการลืมของอดีตด้วย สำหรับแนวคิดเรื่องศีลธรรม ศีลธรรมไม่ใช่เพียงพฤติกรรมในชีวิตประจำวันที่มีมาอยู่แล้ว หรือเป็นศีลธรรมสมบูรณ์ที่สามารถตัดสินว่าอะไรถูกผิด อะไรดีเลวได้อย่างชัดเจน แต่สัมพัทธ์และผันแปรไปตามบริบทที่ซับซ้อน  สัมพัทธ์กับโครงสร้างสังคม และผันแปรอย่างสอดคล้องกับระยะห่างทางสังคม

          ดังนั้นวิธีวิทยาในการทำวิจัยคือการเข้าไปยังแหล่งข้อมูล คือการเก็บข้อมูลเชิงพื้นที่ โดยการสังเกตการณ์ สัมภาษณ์ และวิเคราะห์วิภาษด้วยวิธีวิทยาตามกรอบทฤษฎีที่ได้นำเสนอมา เพื่อสะท้อนต่อข้อเท็จจริงตามกรอบการวิจัยต่อไป

7.ความคาดหวังต่อการวิจัย

                ความคาดหวังเป็นธรรมดาของมนุษย์ มีทำการวิจัย ก็ต้องบอกว่าแล้วหวังอะไรล่ะ ก็ต้องตอบไปว่าหวังต่อองค์ความรู้ที่จะได้จากการอพยพของผู้เฒ่า ที่จะเป็นคนต้นเรื่อง แหล่งข้อมูล ที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรม หรือเป็นตัวนำวัฒนธรรม เพราะจากประสบการณ์ที่เคยเห็นมาก่อนหน้านั้น “ผู้เฒ่า” คือผู้นำพาวัฒนธรรม ความเชื่อ ศาสนาที่ตัวเองเคยปฏิบัติมาแต่เดิมมาด้วย เช่นการกระทำพิธีบุญเกี่ยวกับบรรพบุรุษ ที่เรียกว่า แสนโดนตา หรือบุญประชุมเบญ ซึ่งตรงกับสาร์ทเดือนสิบของไทย หรือหลังออกพรรษา วิถีเหล่านี้ถึงไม่มีวัดไม่มีศาสนา ชาวชุมชนสถาโป ก็ยังคงดำเนินพิธีกรรมเหล่านี้ ซึ่งสะท้อนถึงความเชื่อเกี่ยวกับท้องถิ่น พิธีกรรม และความเชื่อต่อบรรพบุรุษ มีที่มาจากศาสนาในเรื่องความกตัญญู แปลให้ง่ายเข้า ก็คือว่าเป็นความเคลื่อนไหวทางวัฒนธรรม ความเชื่อ วิถีศาสนาที่มาพร้อมกับคน วัด   พิธีกรรมที่เนื่องกับศาสนาจึงเกิดขึ้นมาพร้อมกันด้วย

 

8.บทสรุป

                บทเขียนนี้เพื่อให้เห็นภาพร่างว่า งานวิจัย “เรื่องเล่าของผู้เฒ่าต่อการอพยพเคลื่อนย้าย “ในกัมพูชา” นี้ จะมีภาพลักษณ์อย่างไร และในเวลาเดียวกันจะได้เป็นจุดเชื่อมต่อต่องานวิจัยในภาพใหญ่ว่าจะทำอย่างไรต่อไป เพื่อให้เห็นว่าเมื่อถึงที่สุดการเลื่อนไหลทางวัฒนธรรม ที่มีมนุษย์จากช่วงสู่ช่วง จากยุคสู่ยุคเป็นผู้ส่งต่อเชื่อมต่อให้เกิดมีการสร้างพลวัฒน์ร่วมกันทางวัฒนธรรมมีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่า ภาพใหญ่ที่จะกระจายไปสู่จุดเล็ก ๆ ในสังคม การขับเคลื่อนสังคมจากภาพเล็กสู่ภาพใหญ่ หรือจากภาพใหญ่สู่จุดเล็ก ๆ ล้วนอธิบายเรื่องราวของความเป็นมนุษย์ผู้ขับเคลื่อนไปสู่ช่วงเวลาผ่านช่วงเวลา ให้เกิดแรงขับและการกระจายตัวของความรู้ ต่อสิ่งที่น่าจะรู้ ให้เป็นจุดเชื่อมต่อในมิติที่ใหญ่กว่า ภาพกว้างกว่า แต่ก็ยากที่จะละเลยรายละเอียดที่ปรากฏอยู่ได้  

                เรื่องเล่าของผู้เฒ่าจากกัมพูชา เป็นชีวิตที่เคลื่อนย้ายจากที่หนึ่งไปสู่ที่หนึ่ง และในเวลาเดียวกันชีวิตที่เคลื่อนย้ายนั้นเป็นเมล็ดพันธุ์ของกาลเวลาที่จะบ่มเพาะส่งต่อวัฒนธรรมจากช่วงสู่ช่วงซึ่งจะทำให้เห็นภาพของกาลเวลาได้เป็นอย่างดี ความคาดหวังลึก  ๆ  ต่องานวิจัยของผู้ให้ทุนจากแหล่งทุนที่สำคัญ จึงเป็นประหนึ่งน้ำมันหล่อลื่นที่ก่อให้เกิดการขับเคลื่อน เน้นย้ำ สร้างองค์ความรู้ทางวัฒนธรรม และนำไปสู่ความเข้าใจวัฒนธรรมของประชาชาติผ่านชีวิตมนุษย์และเรื่องเล่า คนเกิดมาต้องตายพระพุทธศาสนาบอกไว้อย่างนั้น ประวัติศาสตร์บอกต่อไปอีกว่า จะหลงเหลือเพียงคำเล่าขานและความทรงจำ ให้คนรุ่นหลังได้ระลึกและกล่าวขานอย่างนั้นกระมัง

                งานวิจัยเกี่ยวกับผู้เฒ่าในกัมพูชาจึงจะเป็นเรื่องเล่า ที่ช่วยบันทึกประวัติจากความทรงจำของคนหนึ่ง ๆ เพื่อไปเชื่อมต่อกับประวัติศาสตร์ในภาพรวมได้อีกครั้ง ทั้งรอเวลาและจะส่งต่อเป็นพัฒนาการในสังคมต่อไป

 

(บันทึกเล่าเรื่อง เมื่อ ๒๘ ก.ค.๒๕๕๕  / รอการเล่าถึงในคราวต่อไป)
หมายเหตุ : ภาพจากเน็ต

หมายเลขบันทึก: 497352เขียนเมื่อ 6 สิงหาคม 2012 12:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 สิงหาคม 2012 14:04 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท