ปัญหาการขอรับชำระหนี้ ศึกษาเฉพาะกรณีเจ้าหนี้ภายในประเทศและเจ้าหนี้ต่างประเทศในคดีล้มละลาย


พระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช 2483, พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พุทธศักราช 2542, บันทึกประกอบร่างพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช 2483, Bankruptcy Act 1914, Insolvency Act 1986, Insolvency Rules

ปัญหาการขอรับชำระหนี้ ศึกษาเฉพาะกรณีเจ้าหนี้ภายในประเทศและเจ้าหนี้ต่างประเทศในคดีล้มละลาย [1]

จณนันท์  แสงบัว [2]

บทนำ

การขอรับชำระหนี้เป็นกระบวนการพิสูจน์หนี้หรือสิทธิเรียกร้องของเจ้าหนี้ภายในประเทศและเจ้าหนี้ต่างประเทศในคดีล้มละลาย เจ้าหนี้ภายในประเทศและเจ้าหนี้ต่างประเทศที่ได้ผ่านกระบวนการขอรับชำระหนี้จะได้รับชำระหนี้ในคดีล้มละลายด้วยวิธีการแบ่งเฉลี่ยทรัพย์ของลูกหนี้ตามสัดส่วนแห่งหนี้ และจะได้รับสิทธิเข้าร่วมกระบวนการจัดการทรัพย์สินของลูกหนี้ในคดีล้มละลาย ดังนั้น การขอรับชำระหนี้ถือเป็นระบบการบังคับชำระหนี้ตามระบบของกฎหมายล้มละลาย

เมื่อลูกหนี้ถูกพิทักษ์ทรัพย์แล้ว กฎหมายล้มละลายได้กำหนดให้เจ้าหนี้ภายในประเทศและเจ้าหนี้ต่างประเทศที่ประสงค์จะได้รับชำระหนี้จะต้องมาขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลาย ซึ่งกฎหมายล้มละลายกำหนดให้ในกรณีที่เป็นเจ้าหนี้มีประกันอาจไม่ต้องขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลาย  ทั้งนี้เพราะเจ้าหนี้มีประกันเป็นผู้มีทรัพย์สินของลูกหนี้เป็นประกันการชำระหนี้ละมีสิทธิที่จะบังคับชำระหนี้เอาจากทรัพย์สินที่เป็นหลักประกันได้ก่อนเจ้าหนี้ไม่มีประกัน ดังนั้น กฎหมายล้มละลายจึงไม่เข้าไปแทรกแซงการใช้สิทธิของเจ้าหนี้มีประกัน  แต่ถ้าเป็นกรณีเจ้าหนี้ไม่มีประกัน  กฎหมายล้มละลายกำหนดให้เจ้าหนี้ไม่มีประกันทุกราย มีฐานะเท่าเทียมกันในการได้รับชำระหนี้ด้วยวิธีการแบ่งเฉลี่ยทรัพย์สินของลูกหนี้ตามสัดส่วนแห่งหนี้  ดังนั้น  เจ้าหนี้ไม่มีประกันทุกรายจึงต้องขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลาย  ทั้งนี้เพราะเจ้าหนี้ไม่มีประกันไม่มีสิทธิที่จะบังคับชำระหนี้เอาจากทรัพย์สินของลูกหนี้ได้เช่นเดียวกับเจ้าหนี้มีประกัน  โดยหนี้ที่อาจขอรับชำระหนี้ได้จะต้องเป็นหนี้ที่มีมูลแห่งหนี้เกิดขึ้นก่อนการล้มละลายของลูกหนี้  แม้ว่าหนี้นั้นจะเกิดขึ้นในปัจจุบันหรือในอนาคต หรือเป็นหนี้ที่มีความแน่นอนหรือไม่แน่นอน หรือเป็นหนี้ที่มีเงื่อนไขก็ตาม  โดยเจ้าหนี้ภายในประเทศและเจ้าหนี้ต่างประเทศจะต้องขอรับชำระหนี้ภายในกำหนดเวลาที่กฎหมายกำหนด  โดยในกรณีที่เป็นเจ้าหนี้ภายในประเทศต้องมายื่นคำขอรับชำระหนี้ภายในกำหนดเวลาสองเดือน นับแต่วันโฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด และในกรณีเจ้าหนี้ต่างประเทศต้องมายื่นขอรับชำระหนี้ภายในเวลาสองเดือนนับแต่วันที่โฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดเช่นกัน  แต่กฎหมายล้มละลายให้ดุลพินิจเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ขยายระยะเวลาให้เจ้าหนี้ต่างประเทศอีกไม่เกินสองเดือน รวมระยะเวลาในการยื่นคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้ต่างประเทศไม่เกินสี่เดือน  จะเห็นว่ากำหนดเวลาการขอรับชำระหนี้ตามกฎหมายล้มละลายของประเทศไทยไม่มีความยืดหยุ่น  เพื่อให้สามารถรวบรวมและกำหนดจำนวนเจ้าหนี้ภายในประเทศและเจ้าหนี้ต่างประเทศผู้มีสิทธิได้รับการแบ่งเฉลี่ทรัพย์สินของลูกหนี้ในคดีล้มละลายได้อย่างแน่นอนและรวดเร็ว

สำหรับการพิจารณาวินิจฉัยคำขอรับชำระหนี้นั้น กฎหมายล้มละลายได้จัดตั้งองค์กรกลางเข้ามาทำหน้าที่พิสูจน์หนี้แทนศาล ซึ่งอาจเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เรียกว่า "เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์" โดยองค์กรดังกล่าวจะต้องเป็นบุคคลที่ไม่มีส่วนได้เสียในการจัดการทรัพย์สินของลูกหนี้  แม้ว่าองค์กรดังกล่าวจะจัดตั้งขึ้นเป็นพิเศษแยกต่างหากจากศาล  แต่ศาลก็มีอำนาจควบคุมการปฏิบัติงานของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้  โดยถือว่าเจ้าพนักงานพิทักทรัพย์เป็นผู้ดำเนินกระบวนการพิจารณาในคดีล้มละลายในฐานะที่เป็นตัวแทนของศาล เสมือนศาลเป็นผู้กระทำด้วยตนเอง

ตามกฎหมายล้มละลายของประเทศอังกฤษนั้น  วิธีดำเนินกระบวนพิจารณาคำขอพิสูจน์หนี้ในคดีล้มละลายจะบัญญัติในลักษณะของกฎหมายลำดับรองที่เรียกว่า "Insolvency Rules 1986" ซึ่งออกตาม Insolvency Act 1986 โดยจะมีบทบัญญัติที่กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการยื่นคำขอพิสูจน์หนี้  ตลอดจนวิธีการดำเนินกระบวนพิจารณาคำขอพิสูจน์หนี้โดยละเอียดในลักษณะที่มีความยืดหยุ่นสอดคล้องกับสภาพสังคมในปัจจุบัน  โดยมิได้นำหลักเกณฑ์และวิธีการคดีแพ่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้ในการพิจารณาวินิจฉัยคำขอพิสูจน์หนี้ในคดีล้มละลายเพื่อให้คู่ความและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งศาลสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างสะดวกรวดเร็ว

สำหรับกฎหมายล้มละลายของประเทศไทย คือพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช 2483 ได้บัญญัติหลักเกณฑ์และวิธีการขอรับชำระหนี้ไว้แต่เพียงโครงสร้างเท่านั้น  แต่ไม่ได้บัญญัติถึงรายละเอียดการดำเนินกระบวนพิจารณาเกี่ยวกับการขอรับชำระหนี้ที่ชัดเจนเพียงพอ  นอกจากนี้ พระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช 2483 ยังได้มุ่งให้ศาลเป็นผู้ควบคุมตรวจสอบและวางแนวปฏิบัติให้แก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์  ทั้งนี้เพราะมาตรา 139 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช 2483 ได้กำหนดให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เป็นเจ้าพนักงานศาล  โดยให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เป็นผู้ช่วยศาลในการดำเนินกระบวนพิจารณาคดีล้มละลาย  แม้ในการดำเนินกระบวนพิจารณาคำขอรับชำระหนี้ในชั้นเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ตามมาตรา 105 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช 2483 กฎหมาล้มละลายจะกำหนดให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีอำนาจสอบสวนคำขอรับชำระหนี้  แล้วทำรายงานความเห็นทั้งข้อกฎหมายและข้อเท็จจริงเสนอต่อศาล เพื่อให้ศาลวินิจฉัยยอมรับคำขอรับชำระหนี้  แต่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ก็ไม่มีอำนาจวินิจฉัยคำขอรับชำระหนี้ เนื่องจากกฎหมาล้มละลายของประเทศไทยมีแนวความคิดที่ว่า การพิจารณาคำขอรับชำระหนี้ก็เท่ากับการพิจารณาคดีแพ่งคดีหนึ่ง  ดังนั้น กฎหมายจึงกำหนดให้ศาลทำหน้าที่วินิจฉัยชี้ขาดคำขอรับชำระหนี้  ทั้งนี้ก็เพื่อเป็นหลักการประกันแก่คู่ความยิ่งขึ้น  แต่หลักการดังกล่าวจะทำให้การพิจารณาคำขอรับชำระหนี้เกิดความล่าช้าและเป็นการเพิ่มภาระแก่ศาล

 

ปัญหา

จากการศึกษาการขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายตามกฎหมายล้มละลายของประเทศไทยพบว่า  มีบทบัญญัติบางประการที่ทำให้เกิดปัญหาข้อกฎหมายขึ้น  ซึ่งผู้เขียนได้ทำการศึกษาแนวความคิดและวิธีการขอพิสูจน์หนี้ตามกฎหมายล้มละลายของประเทศอังกฤษ  เพื่อเป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาที่เกิดจากการขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายตามกฎหมายล้มละลายของประเทศไทยต่อไป โดยผู้เขียนขอเสนอแนะแนวทางในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในกระบวนการขอรับชำระหนี้  เพื่อหาแนวทางที่เหมาะสมมารองรับปัญหากรขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้ภายในประเทศและเจ้าหนี้ต่างประเทศในคดีล้มละลาย ดังนี้

1. แนวทางแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นจากวิธีการประกาศโฆษณาคำสั่งเกี่ยวกับการขอรับชำระหนี้ให้เจ้าหนี้ภายในประเทศและเจ้าหนี้ต่างประเทศทราบ

วิธีการประกาศโฆษณาคำสั่งเกี่ยวกับการขอรับชำระหนี้ ตามมาตรา 28 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช 2483 ได้กำหนดให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์นำคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ไปประกาศโฆษณาในราชกิจจานุเบกษาและหนังสือพิมพ์รายวันไม่น้อยกว่าหนึ่งฉบับ และถ้าเป็นคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะต้องกำหนดเวลาให้เจ้าหนี้ภายในประเทศและเจ้าหนี้ต่างประเทศยื่นคำขอรับชำระหนี้  ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับวิธีการประกาศโฆษณาคำสั่งเกี่ยวกับการขอพิสูจน์หนี้ตามกฎหมายล้มละลายของประเทศอังกฤษแล้วจะพบว่า กฎหมายล้มละลายของประเทศอังกฤษได้กำหนดวิธีการประกาศโฆษณาคำสั่งเกี่ยวกับการพิสูจน์หนี้เช่นเดียวกับกฎหมายล้มละลายของประเทศไทย  นอกจากนี้กฎหมายล้มละลายของประเททศอังกฤษยังได้กำหนดให้ผู้จัดการทรัพย์ต้องส่งหนังสือแจ้งให้เจ้าหนี้ภายในประเทศและเจ้าหนี้ต่างประเทศทุกรายที่ผู้จัดการทรัพย์ทราบหรือที่ปรากฏรายชื่ออยู่ในบัญชีเจ้าหนี้ เพื่อให้ทราบถึงกำหนดเวลายื่นคำขอพิสูจน์หนี้  พร้อมทั้งจัดส่งแบบคำขอพิสูจน์หนี้ให้เจ้าหนี้ภายในประเทศและเจ้าหนี้ต่างประเทศทุกรายด้วย

สำหรับแนวทางแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นจากวิธีการประกาศโฆษณาคำสั่งเกี่ยวกับการขอรับชำระหนี้ให้เจ้าหนี้ภายในประเทศและเจ้าหนี้ต่างประเทศทราบตามาตรา 28 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช 2483 นั้น  จะเห็นได้ว่า แม้หลักการตามกฎหมายล้มละลายของประเทศอังกฤษที่กำหนดให้ผู้จัดการทรัพย์ส่งหนังสือแจ้งให้เจ้าหนี้ภายในประเทศและเจ้าหนี้ต่างประเทศทุกรายทราบถึงกำหนดเวลายื่นคำขอพิสูจน์หนี้  จะทำให้เจ้าหนี้ภายในประเทศและเจ้าหนี้ต่างประเทศทุกรายทราบถึงกำหนดเวลายื่นคำขอพิสูจน์หนี้  จะทำให้เจ้าหนี้ภายในประเทศและเจ้าหนี้ต่างประเทศทุกรายได้ทราบขั้นตอนการขอพิสูจน์หนี้ได้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียมกัน แต่หลักการดังกล่าว  ก็ไม่สามารถนำมาใช้กับกฎหมายล้มละลายของประเทศไทยได้  ทั้งนี้ เพราะกรมบังคับคดีมีอัตรากำลังเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไม่เพียงพอที่จะทำหน้าที่จัดส่งหนังสือแจ้งให้เจ้าหนี้ภายในประเทศและเจ้าหนี้ต่างประเทศทุกรายทราบกำหนดเวลาขอรับชำระหนี้ได้ทันกำหนดเวลา  นอกจากนี้ จะเสียค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการจัดส่งหนังสือแจ้งให้เจ้าหนี้ภายในประเทศและเจ้าหนี้ต่างประเทศทราบเป็นจำนวนมาก  ซึ่งจะต้องตกเป็นภาระแก่กองทรัพย์สินของลูกหนี้  และในกรณีที่มีเจ้าหนี้ภายในประเทศและเจ้าหนี้ต่างประเทศจำนวนมาก เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ก็อาจดำเนินการจัดส่งหนังสือไม่ทันเวลาที่กฎหมายล้มละลายกำหนดตามมาตรา 91 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช 2483 ดังนั้น  วิธีการประกาศโฆษณาคำสั่งเกี่ยวกับการขอรับชำระหนี้ให้เจ้าหนี้ภายในประเทศและเจ้าหนี้ต่างประเทศทราบตามมาตรา 28 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช 2483 นั้น  อาจกระทำได้โดยการกำหนดให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์นำคำสั่งเกี่ยวกับการขอรับชำระหนี้ไปประกาศโฆษณาในหนังสือพิมพ์รายวันที่มีจำหน่ายแพร่หลาย โดยให้เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์เป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการประกาศโฆษณาคำสั่งเกี่ยวกับการขอรับชำระหนี้  ทั้งนี้เพราะเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์จะฟ้องคดี  เพื่อประโยชน์ของเจ้าหนี้ทั้งหลาย  ดังนั้นเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์จึงต้องมีภาระหน้าที่มากกว่าเจ้าหนี้ทั่วไปออรวมทั้งกำหนดให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์นำคำสั่งเกี่ยวกับการขอรับชำระหนี้ไปติดประกาศไว้  ณ  ที่อยู่อาศัยของลูกหนี้หรือสถานที่ทำงานของลูกหนี้  เพื่อให้เจ้าหนี้ภายในประเทศและเจ้าหนี้ต่างประเทศมีโอกาสทราบคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ลูกหนี้เด็ดขาดได้อย่างทั่วถึงยิ่งขึ้น  นอกจากนี้ควรกำหนดมาตรการในการบังคับให้ลูกหนี้ผู้ล้มละลายเปิดเผยจำนวนเจ้าหนี้และจำนวนหนี้ที่แท้จริง  โดยการเพิ่มโทษจำคุกและโทษปรับแก่ลูกหนี้ที่ปกปิดข้อเท็จจริงเกี่ยวกับจำนวนเจ้าหนี้และจำนวนหนี้ที่แท้จริง  หรืออาจมีบทบัญญัติห้ามมิให้ลูกหนี้ที่ปกปิดข้อเท็จจริงขอปลดจากการล้มละลายได้

และเพื่อให้เจ้าหนี้ต่างประเทศรับทราบข้อมูลว่าลูกหนี้ของตนถูกศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด  จึงควรมีการแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติ มาตรา 28 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช 2483 โดยวิธีการประกาศโฆษณาคำสั่งเกี่ยวกับการขอรับชำระหนี้ให้เจ้าหนี้ต่างประเทศทราบนั้น  อาจกระทำได้โดยกำหนดให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์นำคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดไปประกาศในหนังสือพิมพ์ที่มีการจำหน่ายอย่างแพร่หลายอย่างน้อยหนึ่งฉบับ และไม่น้อยกว่าสองครั้งห่างกันไม่เกินเจ็ดวัน และให้นำคำสั่งไปลงประกาศในหนังสือพิมพ์ที่เป็นภาษาสากลที่มีจำหน่ายอย่างแพร่หลายอีกอย่างน้อยหนึ่งฉบับ และไม่น้อยกว่าสองครั้งห่างกันไม่เกินเจ็ดวัน

2. แนวทางแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นจากการที่กฎหมายล้มละลายไม่ได้กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีขยายกำหนดเวลาขอรับชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ภายในประเทศและเจ้าหนี้ต่างประเทศ

มาตรา 91 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช 2483  ไม่ได้กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการขยายกำหนดเวลาขอรับชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ภายในประเทศและเจ้าหนี้ต่างประเทศ ที่ไม่อาจขอรับชำระหนี้ได้ทันกำหนดเวลา เพราะมีเหตุจำเป็น

ดังนั้น  จึงควรกำหนดหลักเกณฑ์ในการขยายกำหนดเวลาขอรับชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ภายในประเทศและเจ้าหนี้ต่างประเทศให้ชัดเจน  โดยกำหนดให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีอำนาจขยายกำหนดเวลาขอรับชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ภายในประเทศและเจ้าหนี้ต่างประเทศ  ในกรณีที่มีเหตุจำเป็น  โดยพิจารณาเป็นรายคดีตามความเหมาะสม  โดยกฎหมายไม่ต้องบัญญัติตายตัวว่าให้ขยายได้ไม่เกินอีกกี่เดือนอย่างเช่นที่กำหนดไว้ในปัจจุบัน  และให้เจ้าหนี้ภายในประเทศและเจ้าหนี้ต่างประเทศ มีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ต่อศาลได้  ซึ่งจะทำให้หลักเกณฑ์ในการขยายกำหนดเวลาขอรับชำระหนี้ให้แก่จ้าหนี้ภายในประเทศและเจ้าหนี้ต่างประเทศมีความแน่นอนชัดเจนยิ่งขึ้น

3. แนวทางแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นจากการที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไม่มีอำนาจหน้าที่ในการดำเนินการพิจารณาคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้ภายในประเทศและเจ้าหนี้ต่างประเทศในคดีล้มละลาย

จากการศึกษาพบว่า มาตรา 105 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช 2483   กำหนดให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีอำนาจสอบสวนเอาความจริงเรื่องหนี้สินแล้วทำรายงานความเห็นทั้งข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายเสนอต่อศาล เพื่อประกอบการพิจารณาวินิจฉัยคำขอรับชำระหนี้ของศาลโดยที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะไม่มีอำนาจวินิจฉัยยอมรับ หรือปฏิเสธคำขอรับชำระหนี้  ทำให้กระบวนการพิจารณาคำขอรับชำระหนี้ตามกฎหมายล้มละลายของประเทศไทยยังไม่รวบรัดเท่าที่ควร  เพราะสำนวนคำขอรับชำระหนี้ทุกสำนวนจะต้องผ่านการพิจารณาของศาล  แม้ว่าคำขอรับชำระหนี้นั้นจะไม่มีผู้โต้แย้งคัดค้านก็ตาม  ซึ่งในทางปฏิบัตินั้น  ส่วนใหญ่ศาลจะมีคำสั่งวินิจฉัยตามที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เสนอความเห็นขึ้นมา

ดังนั้น  เพื่อให้การพิจารณาคำขอรับชำระหนี้ตามกฎหมายล้มละลายของประเทศไทยมีความรวดเร็วมากยิ่งขึ้น  จึงสมควรขยายขอบเขตอำนาจของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ออกไป  โดยให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีอำนาจวินิจฉัยชี้ขาดยอมรับคำขอรับชำระหนี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วน  แต่ถ้าหากเจ้าหนี้ภายในประเทศและเจ้าหนี้ต่างประเทศรายใด  ไม่พอใจคำวินิจฉัยของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ให้เจ้าหนี้ภายในประเทศและเจ้าหนี้ต่างประเทศรายนั้นมีสิทธิอุทธรณ์คำวินิจฉัยของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ต่อศาล เพื่อให้ศาลมีคำสั่งกลับ แก้ไข หรือยกเลิกคำวินิจฉัยของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์  ซึ่งการกำหนดให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีอำนาจวินิจฉัยชี้ขาดยอมรับคำขอรับชำระหนี้จะทำให้กระบวนการพิจารณาคำขอรับชำระหนี้ตามกฎหมายล้มละลายของประเทศไทยมีความรวบรัดและรวดเร็วยิ่งขึ้น  เพราะคำขอรับชำระหนี้บางส่วนจะเสร็จสิ้นลงในชั้นการพิจารณาของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ และเป็นการลดภาระของศาล เพราะศาลจะไม่ต้องพิจารณาวินิจฉัยคำขอรับชำระหนี้ที่ไม่มีผู้โต้แย้งคัดค้าน  นอกจากนี้จะทำให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีอิสระอย่างเต็มที่ในการพิจารณาคำขอรับชำระหนี้

 

สรุป

เมื่อได้มีการกำหนดให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีอำนาจวินิจฉัยชี้ขาดยอมรับคำขอรับชำระหนี้แล้ว

(1) ควรกำหนดให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีการทำงานแบบ Check and Balance กล่าวคือ  กำหนดให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์อีกกองหนึ่งที่มีความรู้และความสามารถในการพิจารณาคำขอรับชำระหนี้เป็นผู้ดำเนินการวินิจฉัยยอมรับคำขอรับชำระหนี้  ทั้งนี้ เพื่อให้การทำคำสั่งวินิจฉัยคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีการตรวจสอบและกลั่นกรองจากผู้มีความรู้และความสามารถในระดับที่เจ้าหนี้และลูกหนี้สามารถให้ความเชื่อถือไป  และ

(2) ควรมีการกำหนดคุณสมบัติของผู้ที่จะจัดการทรัพย์สินของลูกหนี้  ซึ่งไม่จำเป็นจะต้องเป็นเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ที่เป็นข้าราชการสังกัดกรมบังคับคดี  แต่จะต้องเป็นบุคคลที่เจ้าหนี้ภายในประเทศและเจ้าหนี้ต่างประเทศและลูกหนี้ให้ความเชื่อถือในความรู้ความสามารถและความซื่อสัตย์สุจริต

 

เอกสารอ้างอิง

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

พระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช 2483

พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พุทธศักราช 2542

บันทึกประกอบร่างพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช 2483

Bankruptcy Act 1914

Insolvency Act 1986

Insolvency Rules

 

เอกสารเพื่อการค้นคว้าอ้างอิงเพิ่มเติม

อภิณ์รัตน์ สารากรบริรักษ์, พ.ต.ท., สภ.ลำสนธิ จ.ลพบุรี. “พ.ร.บ.ล้มละลาย 2483.” [Online]. Available  URL :

http://www.chaibadancrime.com/index.php?lay=show&ac=article&Id=538695384&Ntype=2

“สรุปผลการประชุมคณะกรรมาธิการแก้ไขปัญหาหนี้สินแห่งชาติสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ ๘.” วันพุธที่ ๑๑ มกราคม ๒๕๕๕ ณ ห้องประชุมคณะกรรมาธิการหมายเลข ๒๑๙ ชั้น ๒ อาคารรัฐสภา ๒. [Online]. Available  URL :

http://www.parliament.go.th/ewtcommittee/ewt/debt/download/article/article_20120116140346.pdf



[1] บทความนี้เรียบเรียงจากการศึกษาอิสระเรื่อง ปัญหาการขอรับชำระหนี้ ศึกษาเฉพาะกรณีเจ้าหนี้ภายในประเทศและเจ้าหนี้ต่างประเทศในคดีล้มละลาย โดยมีอาจารย์ที่ปรึกษาคือรองศาสตราจารย์ จตุพร  วงศ์ทองสรรค์ และคณะกรรมการสอบ คือรองศาสตราจารย์จรัล  เล็งวิทยา รองศาสตร์จารย์ดร.สมชัย  ศิริสมบูรณ์เวช.

[2] นักศึกษาปริญญาโท หลักสูตรนิติศาสตรมหาบัณฑิต วิทยาเขตบางนา สาขาวิทยบริการเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสมุทรปราการ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง.

 

หมายเลขบันทึก: 497285เขียนเมื่อ 5 สิงหาคม 2012 18:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 สิงหาคม 2012 20:12 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

เรื่องกฏระเบียบ เป็นเหมือน โรคเรื้อรังของสังคมไทย นะคะ

ขอบคุณบทความดีดีนี้นะคะ

ขอบคุณบทความนี้มากๆค่ะ มีสาระ และเป็นประโยชน์ ขออนุญาตแชร์นะคะ ให้เครดิตแน่นอนค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท