อาเซียน : คนรู้จัก เพื่อน หรือมิตร (๑)


 

เมื่อวันพฤหัสบดีที่แล้ว (๒๖ ก.ค.๕๕) ดิฉันมีโอกาสได้ไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับกลุ่มครูสอนดีที่มาเข้าร่วม “การฝึกอบรมและการพัฒนาเครื่องมือการจัดการความรู้เพื่อพัฒนาทักษะแห่งศตวรรษที่ ๒๑ ของเด็กและเยาวชนไทยในการเตรียมความพร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียน” ที่ศูนย์ประชุมอิมแพ็คฟอรั่ม เมืองทองธานี จ.นนทบุรี

 

ทาง สสค. และ มูลนิธิสยามกัมมาจล ที่เป็นองค์กรร่วมจัด ได้ให้โจทย์มาว่าให้ดิฉันช่วยออกแบบกระบวนการเรียนรู้ให้ครูได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ เพื่อนำครูสู่ความเข้าใจในเรื่องของการใช้ PBL มาช่วยสร้างให้ผู้เรียนมีทักษะการเรียนรู้ของศตวรรษที่ ๒๑”

 

ดิฉันจึงกลับมาใคร่ครวญว่า ครูจะพาให้ศิษย์รู้จักกับอาเซียนได้แค่ไหน และ การรู้จักอาเซียนในฐานะประชาคมการค้าจะเกิดประโยชน์อะไร

 

“อาเซียน : คนรู้จัก เพื่อน หรือมิตร”  จึงเป็นประเด็นชวนคิดที่ผุดขึ้นในความคิดคำนึงในเช้าวันหนึ่ง

 

ระดับของการ “คบค้า”สมาคม

 

  • คนรู้จัก  ยิ้มให้กัน  ทักทายกัน  รู้จักหน้าค่าตากัน  กล่าวคำทักทายกัน เหมือนที่เรารับรู้ว่าประเทศสมาชิกอาเซียนมีกี่ประเทศ แต่ละประเทศตั้งอยู่ที่ไหน เมืองหลวงชื่ออะไร ใช้สกุลเงินอะไร ฯลฯ  การพาให้ศิษย์รู้จักประเทศอาเซียนในระดับนี้จึงเป็นไปเพียงแค่การรู้จำรู้จักเท่านั้น

 

  • เพื่อน  คบหากัน พึ่งพากันได้ รู้ว่าเขามีดีอะไร เรามีดีอะไร รู้ว่าชอบอะไร ไม่ชอบอะไร  เป็นการรู้จักกันในระดับที่ลึกซึ้งมากขึ้น ในอดีตที่ผ่านมาก่อนที่จะมีกลุ่มประเทศอาเซียนเกิดขึ้น เราเคยใช้วรรณคดี ดนตรี และนาฏศิลป์ เป็นสื่อในการทำความรู้จักกับประเทศเพื่อนบ้าน อิเหนา พระอภัยมณี ราชาธิราช สามก๊ก เป็นตัวอย่างของวรรณคดีที่ช่วยสะท้อนแง่งามในการทำความรู้จักเพื่อนบ้านอย่างลึกซึ้งและแยบยล  
 

หลังจากนั้นเราทำความรู้จักกันผ่านเพลงป๊อป ที่เป็น“เพลงของประชาชน” ยกตัวอย่างเช่น เพลงบัวขาว ที่ประพันธ์โดย ม.ล.พวงร้อย  อภัยวงศ์  (ในปี พ.ศ. ๒๕๒๒  ศูนย์วัฒนธรรมแห่งเอเชียของยูเนสโก ประเทศฟิลิปปินส์ ได้คัดเลือก "เพลงบัวขาว" เป็น "เพลงแห่งเอเชีย" นักร้องยอดนิยมของฮ่องกง "ฟรานซิส ยิป" ได้นำเพลงนี้ไปขับร้องบันทึกแผ่นเสียง - ข้อมูลจากวิกิพีเดีย)

 

  • มิตร  เกื้อกูลกัน ดูแลกัน เข้าใจกันอย่างลึกซึ้ง เห็นคุณค่าของกันและกัน

 

 

ส่วน ประชาคมการค้า (AEC)  เป็นมุมที่มองจากประโยชน์ของการเป็นเพื่อนร่วมค้า ดูเหมือนว่าในความรับรู้ของคนส่วนใหญ่ อาเซียนจะเกิดขึ้นมาเพื่อวัตถุประสงค์นี้  “One Vision, One Identity, One Community” จึงเป็นมุมของการรวมกันเพื่อสร้างกลุ่มสมาชิก ที่จะเข้ามาเป็นประชาคมหนึ่งในประชาคมโลกที่มีอยู่ด้วยกันหลายประชาคม

 

แต่หากขยับเข้ามาใกล้อีกนิด เราก็จะมองเห็นความแตกต่างของมุมอื่นๆ ที่มีเรื่องน่าเรียนรู้ น่าเข้าไปสัมผัสอีกมากมายไม่รู้จบ

 

ในวิถีทางของการค้า  One Vision, One Identity, One Community = (one) Asian Way ที่เป็นผลประโยชน์ร่วมกัน แต่ในวิถีของประชา เรามี (many) Asian Ways ที่เกิดขึ้นจากความแตกต่างหลากหลายของพหุวัฒนธรรมอันงดงามยิ่ง

 


หมายเลขบันทึก: 496989เขียนเมื่อ 2 สิงหาคม 2012 18:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 สิงหาคม 2012 13:43 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท