ตอนที่ ๖


ลูกชาย : แสดงว่าที่หมู่บ้านหมีขาวล่มสลายก็มาจากเหตุนี้ด้วยเหมือนกัน

พ่อดี : เป็นเพียงส่วนหนึ่ง ซึ่งอาจจะถือได้ว่าเป็นปัจจัยภายนอก แต่จริง ๆ แล้วมีปัจจัยภายในหลายมิติ ทั้งทางด้านปัญหาการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมภายในที่บั่นทอนสะสมมานานที่เป็นสาเหตุหลักเมื่อมาประกอบกับจุดเล็ก ๆ ก็ทำให้พังได้ ก็เหมือนกับภาพจิ๊กซอร์ที่พ่อบอก ถึงแม้จะเป็นเพียงชิ้นเล็ก ๆ เมื่อไปรวมกับชิ้นใหญ่ก็จะได้ภาพที่สมบูรณ์ยิ่งขึ้น เรื่องนี้ก็เป็นอีกมุมมองหนึ่งที่สะท้อนออกมาในหลาย ๆ แง่มุม ซึ่งจะว่าไปแล้วแม้แต่กลุ่มหมู่บ้านที่มีแนวความคิดทางด้านสังคมนิยมก็ยังมีขัดแย้งกันเองเลย

ลูกชาย : ขัดแย้งทางด้านความคิดหรือครับ?

พ่อดี : ใช่ลูก เพราะว่าหลังจากที่สังคมนิยมพัฒนาจากหมู่บ้านเดียว (หมู่บ้านหมีขาว) ขยายเป็นหลายหมู่บ้านแล้ว ก็นำไปสู่ประเด็นปัญหาที่ว่า จะจัดความสัมพันธ์กันอย่างไรดีระหว่างหมู่บ้านสังคมนิยมด้วยกันเอง โดยที่ความสัมพันธ์ระยะแรกเริ่มของกลุ่มหมู่บ้านที่ใช้แนวทางสังคมนิยมด้วยกันจะถูกครอบงำทางความคิดจากพรรคคอมมิวนิสต์หมู่บ้านหมีขาวอย่างมาก เสมือนว่าเป็นการแทรกแซงการเมืองของหมู่บ้านอื่น ๆ ซึ่งต่อมาก็ก่อให้เกิดความไม่พอใจต่อการครอบงำของพรรคคอมมิวนิสต์หมู่บ้านหมีขาวขยายวงกว้างออกไป เนื่องจากกลุ่มหมู่บ้านเหล่านั้นมองว่าพรรคคอมมิวนิสต์หมู่บ้านหมีขาววางตัวเป็น “พรรคพ่อ” ต่อหมู่บ้านอื่น ๆ มาตลอด

ลูกชาย : การที่พรรคคอมมิวนิสต์ของหมู่บ้านหมีขาววางตัวอย่างนั้นมีสาเหตุหลักมาจากอะไรบ้างครับพ่อ

พ่อดี : มีสาเหตุจากหลายประการ เริ่มจาก

          ประการแรก อาจจะเป็นเพราะว่าพรรคคอมมิวนิสต์หมู่บ้านหมีขาวทำทฤษฎีทางด้านสังคมนิยม (ที่ถูกมองว่าเพ้อฝัน) ให้กลายเป็นระบอบสังคมนิยมที่ปฏิบัติได้จริงเป็นหมู่บ้านแรก ซึ่งเกิดขึ้นหลังจากการปฏิวัติเดือนสิบของหมู่บ้านหมีขาวโดยเลนิน ทำให้แนวคิดต่าง ๆ ของระบอบสังคมนิยมของหมู่บ้านมีขาวถือได้ว่าเป็นแบบจำลองที่หลาย ๆ หมู่บ้านที่ดำเนินตามแนวสังคมนิยมนำไปเป็นต้นแบบ และพรรคคอมมิวนิสต์หมู่บ้านหมีขาวก็เข้าไปครอบงำทางความคิดของหมู่บ้านอื่น ๆ ทำให้ถูกมองว่าเข้าไปแทรกแซงหรือเป็น พรรคพ่อ และที่สำคัญคือ สืบทอดวิธีการของสากลคอมมิวนิสต์ ถึงแม้ว่าสากลคอมมิวนิสต์ได้ยุบไปนานแล้วก็ตาม แต่ในด้านความคิดและการปฏิบัติยังคงค้างคาอยู่ในสมัยสากลคอมมิวนิสต์ ในสมัยสากลคอมมิวนิสต์ สตาลินได้เน้น “หนึ่งบรรทัดฐาน” และ “หนึ่งศูนย์อำนาจ” โดย “หนึ่งบรรทัดฐาน” ก็คือ ใครก็ตามที่พิทักษ์หมู่บ้านหมีขาวอย่างมั่นคง ไม่โลเลแม้แต่น้อยและอย่างไม่มีเงื่อนไขแล้ว เขาผู้นั้นก็คือ นักลัทธิสากลนิยม “หนึ่งศูนย์อำนาจ” คือ ใครก็ตามที่ปฏิเสธสิทธิ์อำนาจการนำของสากลคอมมิวนิสต์ ด้วยเหตุนี้จึงปฏิเสธสิทธ์อำนาจการแทรกแซงของเขา นั่นก็คือ กำลังทำงานรับใช้ศัตรูของลัทธิคอมมิวนิสต์

         ประการที่สอง เกิดจากลัทธิเห็นแก่ตัวและลัทธิคลั่งหมู่บ้าน ของมหาชนชาวหมู่บ้านหมีขาว หมู่บ้านหมีขาวเคยให้ความช่วยเหลือบางประการต่อหมู่บ้านอื่น แน่นอนที่สุดต้องมีด้านที่เพื่อผลประโยชน์ของหมู่บ้านตน แล้วอีกอย่างพร้อมทุกเมื่อที่จะทำลายผลประโยชน์ของหมู่บ้านอื่น ดังเช่น ในทศวรรษที่ ๑๙๕๐ ความสัมพันธ์ระหว่างหมู่บ้านหมีขาวกับหมู่บ้านแพนด้าค่อนข้างไปด้วยดี โดยเฉพาะการช่วยกันจัดการปัญหาการเทียบค่าเงินตราของ ๒ หมู่บ้าน ปัญหาขุดเจาะน้ำมันในมณฑลซินเกียง แต่หมู่บ้านหมีขาวก็ได้แสดงความโน้มเอียงในลัทธิคลั่งหมู่บ้านและเห็นแก่ประโยชน์ของหมู่บ้านของตนเองอย่างเห็นได้ชัด  ในสมัยครุสชอฟ ความคิดที่จะควบคุมและครอบงำหมู่บ้านแพนด้ายิ่งแสดงออกอย่างเด่นชัดทั้งในด้านการเมืองและการทูต หมู่บ้านหมีขาวปรารถนาให้พรรคคอมมิวนิสต์ทั้งหมดขึ้นตรงต่อความต้องการของการต่อสู้ทางการทูตของตน เป็นการเริ่มต้นจากผลประโยชน์เฉพาะตัวของหมู่บ้านหมีขาวมากกว่า พรรคคอมมิวนิสต์หมู่บ้านหมีขาวยังแทรกแซงกิจการภายในของพรรคอื่นและหมู่บ้านอื่นในด้านการจัดตั้งด้วย และ

         พ่อดีหยุดเว้นระยะก่อนพูดต่อ...

         ประการที่สาม การปฏิบัติและจัดการต่อความเห็นที่แตกต่างกันในรูปการจิตสำนึกอย่างผิด ๆ ใช้อิทธิพลที่เหนือกว่า (เสียงข้างมาก) กดให้ผู้อื่นยอม ถึงแม้ว่าหากสัจธรรมกุมอยู่ในมือของพรรคคอมมิวนิสต์หมู่บ้านหมีขาวก็เถอะ (ซึ่งความจริงไม่ใช่) พรรคคอมมิวนิสต์หมู่บ้านหมีขาวก็ไม่ควรวางตนในฐานะ “ศูนย์กลางนำ”  ของขบวนการคอมมิวนิสต์สากล โดยปฏิบัติต่อพรรคคอมมิวนิสต์ของหมู่บ้านอื่นที่มีความเห็นแตกต่างกับตนอย่างไม่เหมาะสม ซึ่งถือว่าเป็นปฏิบัติการที่ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างหมู่บ้านสังคมนิยมด้วยกันเองเลวร้ายลงไปอีก

ลูกชาย : ความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มหมู่บ้านสังคมนิยมด้วยกันเองที่ภายนอกดูเหมือนจะไม่มีปัญหาอะไร แต่ลึกลงไปภายใน (ความคิด) แล้วดูเหมือนจะมีความแตกต่างกันมากทีเดียวเลยนะครับ แล้วมูลเหตูที่สำคัญที่ทำให้แนวความคิดสังคมนิยมของหมู่บ้านหมีขาวและกลุ่มหมู่บ้านยุโรปตะวันออกเกิดการเปลี่ยนแปลงเฉียบพลันชนิดที่ว่าที่ฝ่ายทุนนิยมเรียกว่าเป็น “การล่มสลายของสังคมนิยม” มีสาเหตุมาจากอะไรบ้างครับ

พ่อดี : หลังจากที่กำแพงเบอร์ลินของหมู่บ้านเบียร์พังลง รวมไปถึงการล่มสลายของหมู่บ้านหมีขาว (มหาอำนาจทางสังคมนิยม) ทำให้หลายฝ่ายโดยเฉพาะฝ่ายทุนนิยมมองว่าแนวคิดทางสังคมนิยมถึงกาลอวสานแล้ว กลุ่มที่สนับสนุนและเป็นสาวกของลัทธิทุนนิยมแบบสุดโต่งต่างออกมาเฉลิมฉลองกันอย่างถ้วนหน้า ซึ่งถ้าจะพูดถึงสาเหตุนั้นมีอยู่หลายปัจจัยด้วยกัน แต่ถ้าจะสังเคราะห์ลงไปให้ลึกแล้วก็อาจแยกได้เป็นปัจจัยเหตุหลัก ๆ ๒ ปัจจัย คือ

         ปัจจัยทางด้านโครงสร้างทางการเมือง ซึ่งจะว่าไปแล้วก็คือตัวของพรรคคอมมิวนิสต์เอง ความคิดภายในพรรคสับสนโดยที่พรรคไม่ได้ให้ความสำคัญในการนำลัทธิมาร์กซ์มาประสานกับสภาพความเป็นจริงทางสังคมของหมู่บ้าน ไม่ให้ความสำคัญกับการสืบทอดและพัฒนาแก่นแท้ของทฤษฎีมาร์กซ์ บุคคลและเหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์ของพรรคและรัฐไม่ได้ทำการประเมินค่าอย่างยุติธรรมและหาสัจธรรมจากสภาพความเป็นจริงที่เกิดขึ้น ระบอบประชาธิปไตยรวมศูนย์ภายในพรรคถูกทำลาย โดยการหันไปยึดติดและให้อำนาจเบ็ดเสร็จในการตัดสินปัญหาเพียงคนเดียว ซึ่งไม่เพียงแต่ทำให้พรรคสูญเสียพลังความสามารถของกองบัญชาการสู้รบเท่านั้น รวมถึงความขัดแย้งภายในของตัวเองก็แก้ไม่ได้ด้วย และที่สำคัญ ผู้ปฏิบัติงานของพรรคความคิดเสื่อมโทรมเหินห่างมวลชนอย่างหนักใช้อภิสิทธิ์ในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อให้ได้มาเพื่อผลประโยชน์ของตนและพวกพ้อง และ

        ปัจจัยทางด้านเศรษฐกิจ คือระบบโครงสร้างเศรษฐกิจการเมืองแข็งตัว เป็นเหตุให้ประชาธิปไตยสังคมนิยมบิดเบี้ยวผิดเพี้ยนอย่างหนัก การพัฒนาเศรษฐกิจอืดอาดยืดยาด ปฏิวัติชนะแล้วหลายสิบปี แต่ปัญหาโครงสร้างพื้นฐานความเป็นอยู่ของประชาชนกลับไม่ได้รับการแก้ไขไปด้วย ต้องมีชีวิตที่อัตคัดขาดแคลนเป็นเวลายาวนาน เมื่อประชาชนนำเอาสภาพของภายในหมู่บ้าน (สังคมนิยม) ไปเปรียบกับหมู่บ้านตะวันตก (ทุนนิยม) ที่มีสินค้าอุปโภคบริโภคหลากหลายชนิดกว่า ทำให้ประชาชนโดยส่วนใหญ่ชื่นชอบวิถีชีวิตแบบกลุ่มทุนนิยมมากกว่า ทำให้มวลชนจำนวนมากถูกหลอกและยอมเดินตามกระแสความคิด “ปฏิรูปเปลี่ยนระบบ” โดยง่าย มีรายงานชิ้นหนึ่งบอกว่า สหายเซาอูเซสคูได้ถามกรรมกรผู้หนึ่งในระหว่างทางหลบหนีว่า “ทำไมต้องโค่นล้มพวกเขาด้วย” กรรมกรผู้นั้นตอบว่า “ก็ทำไมเราจะไม่โค่นล้มพวกท่านละ เพราะว่า ขนมปังไม่พอกิน และ ฤดูหนาวอากาศหนาวเหน็บไม่มีไออุ่นให้ความอบอุ่นแก่ร่างกาย  เมื่อองค์ประกอบทั้งสอง ทั้งปัจจัยทางด้านอุดมการณ์ความคิดทางด้านการเมืองกอร์ปกับปัจจัยทางด้านโครงสร้างเศรษฐกิจมาบรรจบและถึงเวลาสุกงอมของปัญหาจึงทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้น

ลูกชาย : ไม่ว่าจะเป็นแนวความคิดแบบไหนถ้าหากว่าผู้นำหรือผู้ที่มีอำนาจเห็นแก่ประโยชน์ของตนเองและพวกพ้องแล้วท้ายที่สุดก็จะถูกโค่นล้มโดยมวลชน... เอ่อที่ตอนนั้นพ่อบอกว่าจากพันธมิตรของหมู่บ้านอินทรีแล้วกลายมาเป็นหัวหน้าผู้ก่อการร้ายศัตรูหมายเลขหนึ่งได้อย่างไรครับ?

 

*******************************************************

 

 

คำสำคัญ (Tags): #พ่อ#ลูกชาย
หมายเลขบันทึก: 496983เขียนเมื่อ 2 สิงหาคม 2012 17:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 สิงหาคม 2012 10:39 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

เป็นบทสนทนาพ่อ-ลูก ที่ชวนติดตาม ชวนคิด ในประเด็นเปรียบเทียบ...ล้อเรื่องราว บนสเกลใหญ่ระดับโลก..รออ่านต่อไปว่าจะมีหมู่บ้านอะไรอีกค่ะ ชอบที่ช่างเลือกสัญญลักษณ์ตั้งชื่อหมู่บ้าน......สื่อได้ชัดเจนดี .ที่คิดนานหน่อยเห็นจะเป็น..หมู่บ้านฝอยทอง.. แต่ก็แป๊บเดียวหล่ะที่คิดได้ แฮ่ๆ ..ความรู้แต่ก่อนร่อนชะไร ยังพอหลงเหลือยู่บ้าง . หมู่บ้านอื่นๆก็นึกออกทันทีเช่น หมีขาว นกอินทรี สิงห์โต ไก่ แพนด้า กระทิง ทำให้ไพล่นึกถึง ประวัติศาสตร์ การเมือง การปกครอง สังม สมัยนั้น และสมัยนี้ที่พอจะประติดประต่อเรื่องราวได้..ขอบคุณค่ะ :-))

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท