อย่าไปกลัวความดี...



ถึงเวลาทำสมาธิตอนเย็นก็ให้ทุกท่านทุกคนเข้ามานั่งสมาธิกัน อย่าไปรอจนใกล้จะทำวัตรจึงจะมา ธรรมดาความเห็นแก่ตัวของเราน่ะถึงเวลานั่งสมาธิมันไม่อยากมามันรอจนใกล้จะสวดมนต์มันจึงมา ส่วนใหญ่มันเป็นอย่างนี้แหละทุก ๆ คน มันกลัวปวดแข้งปวดขา กลัวจิตใจไม่สงบ สัญชาติญาณมันมีความกลัว อย่างคนจะมาอยู่วัดจะมาถือศีลจะมาทานอาหารมื้อเดียวมันก็กลัว มันกลัวหิว กลัวเหน็ด กลัวเหนื่อย กลัวไม่ได้เล่นสรวลเสเฮฮา กลัวไม่ได้ดูโทรทัศน์ กลัวไม่ได้เล่นเกม กลัวไม่ได้โทรศัพท์ ความกลัวอย่างนี้เป็นสิ่งที่ไม่ดีเลย

 


แม้แต่เด็กนักเรียนจะเข้าห้องเรียนหนังสือมันก็กลัว ไปเรียนหนังสือมันไปด้วยภาคบังคับ มันไม่ได้ไปด้วยความเลื่อมใส ไม่ได้ไปด้วยความศรัทธา เรียนหนังสือไปก็ทุกข์ไปหันหน้าหันหลังไป ขาดความเชื่อมั่นในการเรียน มองหาแต่ความรู้รอบตัว ความรู้รอบโต๊ะกลับมาบ้านก็กลัวอีกแล้ว กลัวได้กวาดบ้าน กลัวได้ถูบ้าน กลัวได้ล้างถ้วยล้างชาม


มันไม่ได้กลัวแต่นักเรียนนะ พระเราก็กลัวเหมือนกันนะ กลัวเดินจงกรม เดินย๊อก ๆ แย๊ก ๆ นิด ๆ หน่อย ๆ มันก็บอกตัวเองว่าพอแล้ว ๆ พอสมควรแล้ว จะทำความเพียรก็กลัวผอม กลัวเหน็ดกลัวเหนื่อย กลัวตัวดำ แต่ไม่ได้กลัวว่าใจมันจะดำ ไม่ได้กลัวว่าใจมันจะสกปรกเลย วัด ๆ ไหนปฏิบัติเคร่งครัดทำกิจวัตรต่าง ๆ มันก็กลัว ต้องไปหาอยู่วัดไหนที่สบาย ๆ ทำอะไรฟรีสไตล์ “ความคิดอย่างนี้ความเห็นอย่างนี้เป็นความคิดที่ใช่ไม่ได้ หาความเจริญให้กับตัวเองก็ไม่ได้ให้กับผู้อื่นก็ไม่ได้...”


พระพุทธเจ้า ครูบาอาจารย์ท่านไม่ให้เรากลัวความดี ถึงเวลานั่งสมาธิก็ให้เข้ามาเร็ว ๆ ถึงเวลาทำอะไรก็ให้ทำเร็ว ๆ มีธุระอะไรมีปัญหาอะไรก็ให้วางไว้ก่อน ให้ถือว่าข้อวัตรกิจวัตรนี้เป็นสิ่งสำคัญ


ปฏิบัติธรรมมันต้องเหน็ดมันต้องเหนื่อยมันต้องหิว สิ่งที่เราไม่ต้องการ ไม่พึงปรารถนามันมาหาเราหมด เราอย่าไปสนใจมัน ให้ทุกท่านทุกคนรู้ตัวเองว่า ขณะนี้เรากำลังทำความดี เรากำลังบำเพ็ญบารมี เรากำลังบริโภคความดีทางจิตใจ


คนเรามันปรุงแต่งมากมันจึงมีปัญหา คิดหนักคิดมากไว้ก่อนแล้วไม่อยากให้มันปวดแข้งไม่อยากให้มันปวดขา มันทุกข์ทางกายยังไม่พอมันยังไปทุกข์ทางใจอีก


พระพุทธเจ้าท่านตรัสรู้ว่ามันเป็น “ทุกข์ซ้อนทุกข์” เราอย่าไปคิดมัน มันจะสุขก็เรื่องของมัน มันจะเป็นทุกข์ก็เรื่องของมัน พอถึงเวลาเขาก็จะพาเราหยุดเอง
คนเรานี้จะนั่งสมาธิทั้งคืนก็ไม่มีทุกข์ถ้าเราไม่ปรุงแต่ง จะทำงานทั้งวันก็ไม่ทุกข์ถ้าเราไม่ปรุงแต่ง จะเดินจงกรมทั้งวันทั้งคืนก็ไม่มีทุกข์ถ้าเราไม่ปรุงแต่ง ถ้าเราปรุงแต่งนี้มีทุกข์แน่ อยากให้มันเป็นอย่างนี้ อยากให้มันเป็นอย่างนั้น ไม่อยากให้มันเป็นอย่างโน้น อย่างนี้แหละ


ถ้าเราหนีข้อวัตรปฏิบัติอย่างนี้เราก็ยิ่งแย่...!


ความแก่ความเจ็บความตายทุกคนมันหนีไม่ได้หรอก อาการอย่างนี้แหละเป็นอาการของจิตที่เราปฏิเสธสัจธรรม ปฏิเสธความเป็นจริง เรากำลังหนีความเป็นจริง หนีเวทนา หนีสิ่งแวดล้อม จนเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เราขาดโอกาส ให้เราพลาดโอกาสที่จะได้ภาวนา ที่จะพัฒนาจิตใจให้เจริญ พลาดโอกาสสร้างคุณธรรมความดีเหมือนพระพุทธเจ้าท่านบำเพ็ญมา เพราะเราเป็นคนชอบหนี คนประเภทนี้ พระเณรประเภทนี้ถือว่าไม่ดี ถือว่าเป็นพระกลัว เป็นเณรกลัว เป็นโยมกลัว ถ้าพูดตามภาษาบาลีท่านเรียกว่า “หัวใจอสุรกาย”อสุรกายมันกลัว อสุรกายมันอยู่ในใจของเรา มันสิงอยู่ในใจของเรามันจึงกลัว


ตีสามให้เราตื่นขึ้นมาทำวัตรสวดมนต์นั่งสมาธิภาวนา อย่าไปกลัวเหน็ดเหนื่อย กลัวผอม กลัวความทุกข์ มันทุกข์มากมันทรมานมาก มันง่วงเหงาหาวนอน พระพุทธเจ้าท่านให้เราทนให้เราฝืน “ขันติคือความอดทน ท่านตรัสว่าเป็นธรรมเผากิเลสอย่างยิ่ง”


ถ้าเราไม่มีความอดทน ถ้าเราไม่มีความเพียร ศีลของเราจะเกิดได้อย่างไร สมาธิของเราจะเกิดได้อย่างไร ปัญญาของเราจะเกิดได้อย่างไร...? เพราะเรามันทำตามใจของตัวเอง ทำตามกิเลสของตัวเอง

 


สงบหรือไม่สงบก็ช่างหัวมัน ให้เราเอาระเบียบเอาวินัยก่อน ใจของเรายังไม่เป็นก็ให้กายมันเป็นก่อน การที่เราฝึกอย่างนี้ต้องฝืนกิริยาทางจิตใจของเราเองทิฐิมานะของเราเอง นิวรณ์ของเราเองที่มันไยอมตื่นขึ้นมานั่งสมาธิ ตื่นขึ้นมาทำวัตรสวดมนต์ นิวรณ์อย่างนี้เราต้องข้ามมัน ถึงว่าจะเหน็ดจะเหนื่อยจะทุกข์จะยากสักเท่าไหร่ เราก็ต้องตื่น ถ้าเราไม่ตื่น เรานอนสบาย ๆ ถามว่าดีไหม ตอบว่ามันไม่ดีเลย จะไปฉันข้าวก็อายเพื่อน หน้าซีดหน้าเซียวหน้าจ๋อยแล้ว


เราอยู่ในสังคมที่เขาปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ เราทำไม่ได้เราก็อายเขา เราไม่ได้ให้กำลังใจแก่ตนเอง และไม่ได้ให้กำลังใจแก่คนอื่น


ทำวัตรสวดมนต์ตอนเช้า ให้ตั้งใจสวดให้ดี ๆ อย่าไปคิดว่าจะนั่งทำใจสงบแล้วฟังเขาสวด เราต้องว่าให้มันดี ๆ ว่าให้มันเพราะ ๆ ให้จิตใจมันเบิกบาน


ทุกท่านทุกคนมันก็อยากจะนั่งหลับนั่งสัปหงก...


พระพุทธเจ้าท่านให้เราฝืน ฝึกกลั้นลมหายใจเข้า กลั้นลมหายใจออก ให้ใจมันตื่น ให้ใจมันสบาย ช่วงเช้าลมของเรามันละเอียด มันอยากแต่จะนอน มันไม่อยากหายใจแล้ว มันอยากจะนอนอย่างเดียว เราต้องฝึกฝนอดทน อย่าไปล่อยให้เราง่วงเหงาหาวนอนตลอดกาล


ตั้งใจให้มันดี ๆ ให้ฝึกเข้าสมาธิให้ได้ ที่เรานั่งสัปหงกอยู่เรากำลังอยู่ในขั้นนิวรณ์ครอบงำ พระพุทธเจ้า ครูบาอาจารย์ท่านให้เราข้ามตัวนี้ไป ความง่วงเหงาหาวนอนมันจะได้หมดไป


คนง่วงเหงาหาวนอนมันเป็นทุกข์มาก มันเป็นทุกข์หลาย จิตใจมันต้องอยู่เหนือพวกนี้ ฝึกเข้าไป ๆ จนมันไม่มีทุกข์ ให้ใจมีปีติ มีสุข มีเอกัคตา ให้ใจเบิกบาน


การนั่งสมาธินี้ต้องพยายามฝึกเข้าสมาธิให้ได้ ผ่านด่านตัวง่วงเหงาหาวนอน ด่านตัวนี้มันเป็นทัพใหญ่ ถึงทัพนี้ทีไรเราทำความเคารพเขาทุกที ทำความนอบน้อมมันทุกที ไม่กล้าตี ไม่กล้าสู้ ไม่กล้าผ่าน


พระพุทธเจ้าท่านให้เราทำจิตใจให้เข้มแข็ง อย่าไปกลัวด่านนั้น ถ้าไม่มีด่านตัวง่วงเหงาหาวนอนเราก็ไม่ได้ฝึกใจ


ความรู้สึกที่มันเป็นเวทนานี้มันติดมาก พยายามอย่าไปคิดมันอย่าไปปรุงแต่งมัน อย่าไปสนใจมัน อุเบกขาการวางเฉยต่อความรู้สึกนึกคิดต่ออารมณ์ให้เราเอามาใช้งานเยอะ ๆ


“สะจิตตะ ปะริโยทะปะนัง การทำจิตใจของตนให้ขาวรอบ” นิวรณ์มันมาเกาะจิตใจของเรา มันมืด


ให้รู้จักแยกใจออกจากสมมติ แยกใจออกจากกาย ฝึกจิตใจของตนให้มันขาวรอบอย่างนี้ เมื่อจิตใจของเรามันเข้าถึงความว่าง เข้าถึงความสงบ เราจะได้สัมผัสว่าความดับทุกข์จริง ๆ มันอยู่ที่ใจ แต่ก่อนเราไปเน้นแต่ทางกายอย่างเดียวแย่เลย ไม่ได้พัฒนาทางจิตใจเลย


เรามีโอกาสมีเวลา ให้เราถือว่าเราเป็นคนโชคดี อย่าได้ไปกลัวข้อวัตรปฏิบัติ กลัวศีลธรรมที่มีค่าสูงส่งที่เราทุกท่านทุกคนควรจะได้ ควรจะถึง...

 

พระธรรมคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ที่องค์พ่อแม่ครูอาจารย์เมตตาให้นำมาบรรยาย
ค่ำวันจันทร์ที่ ๒๑ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๕๔

หมายเลขบันทึก: 496917เขียนเมื่อ 1 สิงหาคม 2012 18:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 สิงหาคม 2012 19:38 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

สุข สงบ มากครับกับบันทึกนี้ครับ

อยากมีโอกาสได้ทำอย่างนี้บ้างค้าบ เคยทำกิจกรรมกลุ่ม พลังรักพลังสุข ได้แง่คิดหลายอย่างเหมือนกัน ขอบคุณที่นำมาถ่ายทอดให้ได้รับรู้นะค้าบ

ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท