ข้อคิดจากวันอาสาฬหบูชา


วันอาสาฬหบูชา ถือกันว่าเป็นวันของพระรัตนตรัยโดยแท้จริง เพราะเป็นวันที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนาโปรดปัญจวัคคีย์ จนเกิดมีพระสงฆ์รูปแรกขึ้นในพระพุทธศาสนา ซึ่งทำให้พระรัตนตรัยมีองค์ประกอบครบ 3 ประการอย่างสมบูรณ์แบบ คือ พุทธะ ธรรมะ และสังฆะ

สถานีความคิด  :

ข้อคิดจากวันอาสาฬหบูชา

 






       วันอาสาฬหบูชา เป็นวันสำคัญวันหนึ่งในบรรดาวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาที่มีอยู่ 3 วัน คือ วันมาฆบูชา วันวิสาขบูชา และวันอาสาฬหบูชา โดยวันอาสาฬหบูชาปีนี้ตรงกับวันพฤหัสบดีที่ 2  สิงหาคม  2555  ซึ่งเป็นวันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำเดือน 8 หรืออาสาฬหมาส

            กล่าวกันว่า ภายหลังจากที่เจ้าชายสิทธัตถะได้ตรัสรู้สัมมาสัมโพธิญาณเป็นสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว พระองค์ทรงเสวยวิมุติสุขอยู่ ณ ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม(เมืองพุทธคยา รัฐพิหาร ประเทศอินเดีย ในปัจจุบัน) เป็นเวลา 7 สัปดาห์ จากนั้นก็ทรงเสด็จออกโปรดเวไนยสัตว์ โดยบุคคลกลุ่มแรกที่เป็นเป้าหมายในการเสด็จไปเทศนาโปรด ก็คือ กลุ่มปัญจวัคคีย์ทั้ง 5 ประกอบด้วย โกณทัญญะ วัปปะ ภัททิยะ มหานามะ  และอัสสชิ ซึ่งเป็นสหายเก่าที่เคยติดตามพระองค์มาก่อน  โดยปัญจวัคคีย์ทั้งหมดได้พากันไปพักอยู่ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ใกล้เมืองพาราณสี

            ครั้นเมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จไปถึงป่าอิสิปตนมฤคทายวันแล้ว พระองค์ได้ทรงแสดงปฐมเทศนา ชื่อว่า ธัมมจักกัปปวัตนสูตร โปรดเหล่าปัญจวัคคีย์ ซึ่งเป็นพระธรรมเทศนากัณฑ์แรกที่พระองค์ทรงแสดงให้ผู้อื่นฟัง ภายหลังจากที่ทรงแสดงพระธรรมเทศนาจบลงแล้ว ท่านโกณทัญญะมีความเข้าใจและหยั่งรู้ในสิ่งที่พระองค์ได้แสดงมา และได้ทูลขออุปสมบทเป็นพระภิกษุดำเนินตามรอยบาทของพระศาสดา ซึ่งถือว่าเป็นพระสาวกหรือพระสงฆ์รูปแรกในพระพุทธศาสนา

            วันอาสาฬหบูชา ถือกันว่าเป็นวันของพระรัตนตรัยโดยแท้จริง เพราะเป็นวันที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนาโปรดปัญจวัคคีย์ จนเกิดมีพระสงฆ์รูปแรกขึ้นในพระพุทธศาสนา ซึ่งทำให้พระรัตนตรัยมีองค์ประกอบครบ 3 ประการอย่างสมบูรณ์แบบ คือ พุทธะ ธรรมะ และสังฆะ

            ในโอกาสที่วันอาสาฬหบูชาได้เวียนมาบรรจบครบรอบอีกครั้งหนึ่ง เราทั้งหลายในฐานะที่เป็นพุทธศาสนิกชน จึงควรที่จะพากันบำเพ็ญบุญกุศลในรูปแบบต่างๆ เพื่อน้อมถวายเป็นพุทธบูชา และเพื่อเป็นการพัฒนาชีวิตของตนเองให้มีความสุข ความเบิกบานร่มเย็น และเจริญก้าวหน้าสืบต่อไป

            อย่างไรก็ตาม นอกเหนือจากการบำเพ็ญบุญกุศลในรูปแบบต่างๆ แล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่พุทธศาสนิกชนทั้งหลาย ควรที่จะตระหนักและใส่ใจให้มาก ก็คือ  การนำเอาหลักธรรมหรือข้อคิดที่เกี่ยวข้อกับวันอาสาฬหบูชาไปประพฤติปฏิบัติเพื่อเสริมสร้างความสุข สะอาด สว่าง และสงบ ให้เกิดขึ้นกับชีวิตของตนเอง ซึ่งหลักธรรมที่เกี่ยวข้องกับวันอาสาฬหบูชานี้ ก็คือ มัชฌิมาปฏิปทา หรือ ทางสายกลาง ซึ่งเป็นแนวทางที่จะนำชีวิตของผู้ปฏิบัติไปสู่ความดับปัญหาหรือความทุกข์ทั้งปวงได้

            พระพุทธเจ้าทรงแสดงพระธัมมจักกัปปวัตนสูตรขึ้น เพื่อชี้ให้ปัญจวัคคีย์ได้มองเห็นโทษภัยและหลีกเลี่ยงจากการปฏิบัติที่สุดโต่ง 2 รูปแบบ ที่บรรดานักพรตนักบวชอินเดียในสมัยนั้นกำลังนิยมปฏิบัติกันอยู่ นั่นคือ  การทรมานตนให้ได้รับความทุกข์ลำบากในรูปแบบต่างๆ (อัตตกิลมถานุโยค) และการประพฤติตนที่หย่อนยาน โดยปล่อยให้กิเลสหรือความอยากต่างๆ เข้าครอบงำชีวิต (กามสุขัลลิกานุโยค) ซึ่งทั้งสองรูปแบบนี้ ไม่ใช่หนทางที่จะนำคนเราไปสู่ความหลุดพ้นจากทุกข์ได้ ในขณะเดียวกันพระพุทธองค์ก็ยังทรงแนะนำมรรควิถีที่จะทำให้ทุกคนได้หลุดพ้นจากความทุกข์และพบสุขอันเกษมศานต์ให้ด้วย นั่นคือ มัชฌิมาปฏิปทา หรือหลักการดำเนินชีวิตโดยทางสายกลาง หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า มรรค 8 นั่นเอง

            หากจะกล่าวเพื่อให้เข้าใจง่ายขึ้น หลักมัชฌิมาปฏิปทาหรือทางสายกลาง ก็คือ หลักคำสอนที่สอนให้ทุกคนดำเนินชีวิตด้วยสติปัญญาและใช้ชีวิตในทางที่ถูกต้อง  งดเว้นจากการทำความชั่วในรูปแบบต่างๆ  ให้ใช้ชีวิตแบบเรียบง่าย เข้าใจโลก เข้าใจชีวิต และเข้าใจสรรพสิ่ง  เรียกว่า เป็นอยู่อย่างต่ำ แต่คิดและทำอย่างสูง (Simple living, Thinking higher)” นั่นเอง  ซึ่งเป็นอุดมการณ์หรือแนวทางของทางพระพุทธศาสนา

            ทายสายกลางในที่นี้ มีอยู่ 8 ประการ ด้วยกัน กล่าวคือ:

            1สัมมาทิฎฐิ      การมีความเห็นที่ถูกต้อง มีความเห็นที่ตรงกับความเป็นจริงที่กำลังเป็นอยู่ การเชื่อถูกต้อง การเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวการเรื่องทุกข์ และการดับทุกข์ รวมทั้งการเข้าใจโลก เข้าใจชีวิต และเข้าใจสรรพสิ่งตามความเป็นจริงที่ปรากฏอยู่

            2. สัมมาสังกัปปะ   การคิดในทางที่ถูกต้อง การมองโลกในแง่ดี การไม่คิดพยาบาทหรือปองร้ายผู้อื่น การมีความรักความปรารถนาดีต่อผู้อื่นอยู่เสมอ

            3.  สัมมากัมมันตะ   การกระทำในสิ่งที่ถูกต้อง การไม่เบียดเบียน ไม่ทำร้าย ไม่ทำลาย หรือสร้างความเดือดร้อนให้เกิดแก่ตนเองหรือผู้อื่น การไม่ลักขโมย ไม่ผิดลูกผิดเมียคนอื่น

            4.   สัมมาวาจา     การพูดถูกต้อง พูดความจริง ไม่โกหกมดเท็จ ไม่พูดหยาบคาย ไม่นินทาว่าร้าย ไม่ตำหนิติเตียน ไม่พูดส่อเสียดหรือทำให้คนอื่นเจ็บใจ แต่พูดในสิ่งที่ดีๆ พูดแล้วมีประโยชน์ เกิดความสามัคคี เย็นกายเย็นใจ และพูดให้กำลังใจซึ่งกันและกันอยู่เสมอ

            5.  สัมมาอาชีวะ   การทำมาหากินหรือการประกอบอาชีพที่สุจริตถูกต้อง ไม่ทุจริตคดโกง ไม่ทำงานผิดกฎหมาย ไม่เอารัดเอาเปรียบคนอื่น   ประกอบอาชีพที่เรียบง่าย แบบพอดี พอมี พอกิน และพอใช้ ไม่ฟุ้งเฟ้อฟุ่มเฟือย หรือหลงไหลไปตามกระแสของวัตถุนิยม

            6สัมมาวายามะ     การพยายาม ขยัน และหมั่นเพียรในการกระทำสิ่งที่ถูกต้องดีงามอยู่เสมอ การพยายามละความชั่วที่มีอยู่ออกไปจากชีวิต และสร้างสรรค์ความดีหรือบุญกุศลให้เกิดขึ้นกับตนเองและผู้อื่นอยู่ตลอดเวลา

            7.  สัมมาสติ     การระลึกถึงในทางที่ถูกต้อง การมีสติอยู่ตลอดเวลา การดำเนินชีวิตอย่างมีสติรู้เท่าทันเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น  มีความระมัดระวัง ไม่ประมาท การรู้จักดูแลรักษาและควบคุมตนเองโดยไม่ปล่อยให้กิเลสตัณหาต่างๆ เข้ามาครอบงำต่อจิตใจได้

            8  สัมมาสมาธิ     การมีสมาธิถูกต้อง มีความมั่นใจในตนเอง การมีจิตใจที่แน่วแน่มั่นคง  ไม่หวั่นไหวต่ออารมณ์ต่างๆ ที่เข้ามากระทบ

            หลักคำสอนเรื่องทางสายกลางหรือมัชฌิมาปฏิปทา ทั้ง 8 ประการ ที่กล่าวมาข้างต้นนี้ มีสาระสำคัญอยู่ที่การสอนให้ทุกคนรู้จักการใช้ชีวิตอย่างมีศีลธรรม มีความมั่นใจในตนเอง และรู้จักการใช้สติปัญญามาเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตอย่างถูกต้อง โดยมีเป้าหมายหลักอยู่ที่การนำตนไปสู่การพ้นทุกข์ ซึ่งเป็นเป้าหมายและความปรารถนาสูงสุดของมนุษย์ทุกๆ คน

 

 

            ในยุคสมัยปัจจุบัน มีเรื่องราวและปัญหาต่างๆ มากมายที่เกิดขึ้น ทั้งกับชีวิตของปัจเจกบุคคลและสังคมบ้านเมือง โดยมีสาเหตุมาจากการประพฤติปฏิบัติในสิ่งที่ไม่ถูกต้องตามหลักกฏหมายของบ้านเมืองหรือหลักศีลธรรมของทางศาสนา ต่างคนต่างก็ขาดความห่วงใยปรารถนาดีต่อกัน มองมนุษย์ด้วยกันเป็นเพียงฝ่ายตรงข้ามที่ตนเองจะต้องเอาชนะให้ได้ ต่างก็มุ่งที่จะกอบโกยผลประโยชน์ให้กับตนเองอย่างหน้ามืดตามัว จนมองไม่เห็นความเดือดร้อนของคนอื่น ชอบใช้ความรุนแรงแก้ไขปัญหา  ในขณะที่อีกกลุ่มหนึ่งก็ใช้ชีวิตอย่างไร้สาระ ด้วยการเที่ยว การเล่น และการแสวงหาความสุขทางรูป รส กลิ่น เสียงและกามารมณ์อย่างไร้ขอบเขต ขาดสติในการดำเนินชีวิต  เมื่อมีปัญหาชีวิตหรือสังคมเกิดปัญหาขึ้นมา จึงไม่สามารถที่จะแก้ไขได้ เพราะปัญหาที่เกิดขึ้นแต่ละอย่างนั้น ช่างหนักหนาสาหัสจนเกินที่จะเยียวยาเสียแล้ว

            การหลีกเลี่ยงจากการดำเนินชีวิตอย่างเคร่งเครียดด้วยการสร้างความทุกข์ความเดือดร้อนให้กับตนเองหรือผู้อื่น และการใช้ชีวิตแบบไร้สาระ ไม่รู้จักคุณค่าของกาลเวลา และการปล่อยชีวิตให้เป็นไปตามโชคชะตา จึงเป็นสิ่งที่ทุกคนควรจะเรียนรู้และตระหนักให้มาก พร้อมๆ กับเริ่มต้นดำเนินชีวิตแบบทางสายกลางขึ้น ซึ่งเป็นทางเลือกใหม่(Alternative) ที่สามารถจะนำชีวิตไปสู่การหลุดพ้นจากความทุกข์และดับสิ้นปัญหาได้อย่างแท้จริง

           

             กล่าวโดยสรุป วันอาสาฬหบูชา เป็นวันแห่งพระรัตนตรัยและเป็นวันที่พระพุทธเจ้าทรงประกาศหนทางแห่งอิสรภาพทางจิตวิญญาณให้แก่มวลมนุษยชาติ  พระองค์ได้ประกาศหนทางแห่งความถูกต้องให้มนุษย์ได้ประพฤติปฏิบัติตาม เพื่อนำชีวิตไปสู่สันติภาพ ความดีงาม ความสุขร่มเย็น  และมีความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์แบบ นั่นคือ การเข้าใจถูกต้อง คิดถูกต้อง กระทำถูกต้อง พูดถูกต้อง มีอาชีพถูกต้อง เพียรถูกต้อง มีสติถูกต้อง และมั่นใจถูกต้อง 

             แม้ว่ากาลเวลาจะผ่านไปแล้วหลายพันปี แต่ธรรมะที่พระพุทธองค์ได้ตรัสไว้ กลับหาได้สูญสลายไปตามสายธารของกาลเวลาแต่อย่างใดไม่ หากแต่จะดำรงอยู่ตราบนิรันดร์ เพราะหลักธรรมที่พระพุทธองค์ได้ประกาศและตรัสสอนเอาไว้นั้น เป็นสัจจธรรมที่เป็นความจริงและมีความสอดคล้องกับยุคสมัยอยู่ตลอดเวลา(อกาลิโก)นั่นเอง

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ภาพประกอบทุกภาพนำมาจากอินเทอร์เน็ต

 

 

หมายเลขบันทึก: 496912เขียนเมื่อ 1 สิงหาคม 2012 17:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 สิงหาคม 2012 18:16 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

สวัสดีครับ อาจารย์ kwancha

 

ผมบวชนาน(18 ปี) เลยอดไม่ได้ที่จะเขียนเกี่ยวกับธรรมะธัมโม

หวังว่าคงจะทำให้ทุกท่านได้ข้อคิดบ้าง ไม่มากก็น้อยนะครับ

  • เป็นอยู่อย่างต่ำ แต่คิดและทำอย่างสูง (Simple living, Thinking higher)”
  • สาธุค่ะ

สวัสดีครับ คุณ Sila Phu-Chaya

 

ขอบคุณมากๆ ครับ ที่กรุณาแวะเข้ามาเยี่ยมและให้กำลังใจ

ขอให้มีความสุขและเบิกบานในธรรมตลอดเวลานะครับ

ขอบคุณข้อคิดดีๆ สำหรับวันดีๆค่ะ (แฮะ แฮะ ไม่ต้องคิดเอง)

 

สวัสดีครับ คุณ kunrapee

 

อย่าลืมส่งกัณฑ์เทศน์มาให้ผมทางไปรษณีย์ด้วยนะครับ 555

สาธุ ขอแชร์นะครับคุณโยม

กราบนมัสการครับ ท่าน Nitipat

 

โยมอนุญาตให้ท่านนำไปเผยแผ่เป็นวิทยาทานได้ตามสบายและด้วยความยินดีอย่างยิ่งนะครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท