การันต์ และทัณฑฆาต


ความยาก = พื้นๆ

**เขียนขึ้นในวาระ วันภาษาไทยแห่งชาติ ๒๙ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๕**

 

ในคำศัพท์ภาษาไทยแท้มักจะไม่มีไม้การันต์ เรามักจะใช้ไม้การันต์กับคำที่มาจากภาษาต่างประเทศ เช่นภาษาบาลี ภาษาสันสกฤต แม้แต่ภาษาอังกฤษ คนไทยจึงคุ้นเคยกับเครื่องหมายนี้เป็นอย่างดี แต่นักเรียนอาจสับสนระหว่างคำว่า "การันต์" กับ "ทัณฑฆาต"

คำว่า "การันต์" เป็นศัพท์ภาษาบาลี มาจาก คำว่า "การ" แปลว่าตัวอักษร และ "อันตะ" (อนฺต) หมายถึงที่สุด ปลายสุด


ความหมายของคำว่าการันต์

               การ เป็นทั้งภาษาบาลีและภาษาสันสกฤต (ออกเสียง การะ) มีหลายความหมาย เช่น งาน แต่ในที่นี้ หมายถึง อักษร เช่น โองการ หมายถึง อักษรตัวโอํ (สันสฤตเรียก โอม, บาลีเรียก โอง) ลการ หมายถึง อักษรตัว ล หรือ คำที่ขึ้นต้นด้วย ล ในตำราไวยากรณ์สันสกฤต พบการใช้คำว่า การ ที่หมายถึงพยัญชนะอยู่บ่อยครั้ง

               อันตะ (อนฺต) เป็นทั้งภาษาบาลีและภาษาสันสกฤต หมายถึง สุด ที่สุด ปลายสุด ขอบเขต (ตรงกับคำว่า end ในภาษาอังกฤษนั่นเอง) ส่วนคำว่า นิรันดร์ มาจากคำว่า นิร กับ อันตร แปลว่าไมมีที่สิ้นสุด ในศาสนาฮินดูมีคัมภีร์เวทานตะ หมายถึงที่สุดแห่งพระเวท (เวท + อนฺต)

               เมื่อนำสองคำนี้มาสมาสกัน เป็น “การันตะ” (การนฺต) เสียงท้ายไม่ออก ก็ใส่เครื่องหมายกำกับไว้ เป็น “การันต์”

การสมาสกันนี้มีการกลืนเสียงโดยใช้หลักสนธิแบบบาลี คือ รวบเสียง ท้ายของคำว่า การะ กับเสียงต้นของคำว่า อันตะ  แต่หากใช้สนธิแบบสันสกฤต อะ กับ อะ จะกลายเป็นอา คำนี้ในภาษาสันสกฤตจึงใช้ว่า การานต์ (การานฺต)

               สรุป บาลีเรียก "การนฺต" สันสกฤตเรียก "การานฺต" คนไทยใช้แบบบาลีว่า "การันต์"

 

ความหมายของคำว่าทัณฑฆาต

               ส่วนคำว่า "ทัณฑฆาต" นั้น เป็นคำสมาสเช่นกัน จากคำว่า "ทัณฑ" (ทณฺฑ) หมายถึงโทษ และ "ฆาต" หมายถึง การฆ่า หรือ ฆ่าแล้ว ดังนั้นคำว่า ทัณฑฆาต มีความหมายตามศัพท์ว่า การฆ่าเพื่อการลงโทษ (หรือแปลว่า สิ่งที่ถูกฆ่าเพื่อลงโทษ ก็ได้) แต่ความหมายจริงๆใช้เรียกเครื่องหมายนี้ “  ์ ” บูรพาาจารย์ท่านแปลว่า เครื่องหมายที่ใช้เพื่อฆ่าเสียง นั่นคือ กำกับว่าพยัญชนะหรือสระตัวนั้นไม่ต้องออกเสียง

แต่อันที่จริงเครื่องหมายนี้เรียกชื่อเต็มๆ ว่า ไม้ทัณฑฆาต หมายถึง ไม้ หรือเครื่องหมาย สำหรับหยุดเสียงหรือห้ามเสียงนั่นเอง

               (โปรดสังเกต ทัณฑฆาต เสียงทอตัวแรกใช้ ท ทหาร เสียง  ท ตัวหลังใช้ ฑ มณโฑ)

 

อ่านเพิ่มเติม

     ๑. ความหมายของคำว่า การันต์ และ ทัณฑฆาต จากพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒

  • ทัณฑฆาต [ทันทะ-] น. ชื่อเครื่องหมายสําหรับฆ่าอักษรที่ไม่ต้องการออกเสียง มีรูปดังนี้  ์.
  • การันต์ [กา รัน] น. “ที่สุดอักษร”, ตัวอักษรที่ไม่ออกเสียง ซึ่งมีไม้ทัณฑฆาตกํากับไว้ เช่นตัว “ต์” ในคําว่า “การันต์”, (ปาก) เรียกตัวอักษรที่มีไม้ทัณฑฆาตกำกับ เช่น ล์ ว่า ล การันต์ ค์ ว่า ค การันต์.

     ๒. การใช้การันต์ http://www.royin.go.th/th/knowledge/detail.php?ID=1139

หมายเลขบันทึก: 496481เขียนเมื่อ 30 กรกฎาคม 2012 13:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 สิงหาคม 2012 20:55 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

สวัสดีคะอาจารย์หมู มาถามอีกแล้วคะ ฮ่าๆ

เรื่องวิสรค ยังไม่จบ สํธาน อันนี้พออ่านได้ ดูตัว ธ เอา

แต่ถ้าเปนแบบท่อนนี้ละคะ คือมันไม่มีตัวต่อไปให้เราดู จะอ่านแบบไหนดี ฮ่าๆ หนูถามเหมือนคนโง่ไหมคะ ^^

ปศูนํา ปตึ ปาปนาศํ ปเรศํ - พระผู้เป็นปศุบดี ผู้ทำลายบาป เป็นพระเจ้าสูงสุด

หรือ มเหศํ สุเรศํ สุราราตินาศํ - บางทีหนูก็เดาไว้ก่อนว่าอ่านว่า ศัม แต่ไม่รู้ที่มาที่ไปว่าเพราะอะไรถึงอ่านแบบนั้น

รบกวนอาจารย์หมูให้อรรถาธิบายด้วยคะ อิอิ

สวัสดีครับ

ง่ายนิดเดียว ถ้าไม่มีอะไรตามมา ก็อ่านเป็น อัม เลย

ปศูนํา = ปศูนามฺ

ปตึ = ปติมฺ

ฯลฯ

เพราะเสียงปกติของอนุสวาระ คือ มฺ

เมื่อไม่มีพยัญชนะ ตามมา ให้เปลี่ยน อนุสวาระ เป็น มฺ (เช่น เมื่ออยู่ท้ายสุดของประโยค)

แต่้ถ้ามีสระตามมา ก็เปลี่ยนเป็น ม แล้วประสมกับสระที่ตามมานั้นเลย...

ครับ พยัญชนะ คือตัวการันต์ ส่วนเครื่องหมายข้างบนเรียกทัณฑฆาต เช่น วันศุกร์ ตัวการันต์ คือ ร.เรือ ส่วนเครื่องหมายที่กำกับอยู่บนตัว ร.เรือ เรียกว่าไม้ทัณฑฆาต ไม้ทัณฑฆาต ใช้กำกับอยู่บนพยัญชนะตัวที่ไม่ต้องการให้ออกเสียง อาจมี ๑ หรือ ๒ ตัวก็ได้ ๑ ตัวเช่น วันอาทิตย์ (ไม่ออกเสียง ย.ยักษ์) ๒ ตัว เช่น วันจันทร์ ไม่ออกเสียง ท.ทหาร และ ร.เรือ ทัณฑฆาต จึงแปลตรงๆ ว่า "ถูกลงโทษโดยการฆ่าให้ตาย" ในที่นี้ ไม่ให้ออกเสียงพยัญชนะตัวที่ถูกไม้ทัณฑฆาตกำกับ ดังนั้น ผมจึงสอนเด็กให้อ่านสะกดคำ วันเสาร์ ว่า สอ - เสือ - สะ - หระ - เอา - รอ - กา - รัน - ทัน - ทะ - คาด คือ จะเพิ่ม คำว่า "ทัณฑฆาต" เข้าไป เพื่อเน้นให้นักเรียนเห็นความแตกต่าง จะเหมาะสมหรือไม่ประการใดครับ?..

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท