Knowledge for Deep South
โครงการพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารและองค์ความรู้จังหวัดชายแดนภาคใต้ K4DS

เกี่ยวกับโครงการ การพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารและองค์ความรู้จังหวัดชายแดนใต้


ชื่อโครงการ
การพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารและองค์ความรู้จังหวัดชายแดนใต้

หัวหน้าโครงการ
ดร. นพ. วรสิทธิ์ ศรศรีวิชัย อาจารย์ หน่วยระบาดวิทยา คณะเเพทยศาสตร์

  • รองผู้อำนวยการ สถาบันวิจัยและพัฒนาสุขภาพภาคใต้ (วพส.)
  • คณะกรรมการดำเนินงานสถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

ระยะเวลา
4 ปี

วัตถุประสงค์

  1. เพื่อให้มีระบบข้อมูลข่าวสารและองค์ความรู้จังหวัดชายแดนใต้ เพื่อเป็นฐานในการสังเคราะห์องค์ความรู้ใหม่ที่เป็นประโยชน์ในการพัฒนาและแก้ไขปัญหาจากความรุนแรงในจังหวัดชายแดนใต้
  2. เพื่อผลิตและพัฒนาบุคลากร ส่งเสริมและสนับสนุนทางเทคนิควิชาการให้แก่หน่วยงานต่าง ๆ ในการนำข้อมูลข่าวสารและองค์ความรู้ดังกล่าวไปใช้ประโยชน์

หลักการและเหตุผล
ตั้งแต่ปี 2550 ระบบเฝ้าระวังการบาดเจ็บจากความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ (Violence-related Injury Surveillance-VIS) ได้เก็บข้อมูลของผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจากสาเหตุภายนอกแบบตั้งใจ (Intentional injury) ทุกราย ที่มารับการรักษาหรือชันสูตรพลิกศพที่โรงพยาบาลของรัฐทุกแห่งในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้รวม 49 แห่ง ข้อมูลนี้ได้นำไปใช้ในการเตรียมพร้อมด้านความปลอดภัย การควบคุมป้องกันการบาดเจ็บ การพัฒนาระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉิน และการกำหนดนโยบายและวางแผนจัดสรรทรัพยากรสาธารณสุข และได้ถูกนำไปเชื่อมโยงกับข้อมูลจากกรมแพทย์ทหารบกศูนย์ปฏิบัติการสำนักงานตำรวจแห่งชาติส่วนหน้า ยะลา และสื่อมวลชน ที่ศูนย์ประสานงานวิชาการให้ความช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุความไม่สงบจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศวชต.) เพื่อใช้ในการติดตามช่วยเหลือเยียวยาแก่ผู้สูญเสียและครอบครัว และได้นำไปประกอบการทำวิทยานิพนธ์ของนักศึกษาปริญญาเอก 5 ราย ปริญญาโท 4 ราย การฝึกงาน (practicum) ของนักศึกษาปริญญาโท 1 ราย และแพทย์เฉพาะทาง 1 ราย
ความพยายามในการรวบรวมข้อมูลจากแหล่งข้อมูลต่างๆ แล้วนำมาจัดการเชื่อมโยงเข้าด้วยกันเป็นระบบฐานข้อมูลสถานการณ์ความไม่สงบ และผู้ได้รับผลกระทบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของหน่วยระบาดวิทยาและเครือข่ายอื่น ๆ เพื่อนำมาวิเคราะห์เป็นข้อมูลข่าวสารเพื่อใช้อธิบายปรากฏการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น อาจนับเป็นก้าวแรกอันเป็นรากฐานที่สำคัญในความพยายาม ที่จะทำความเข้าใจกับปัญหาเฝ้าระวังสถานการณ์ ให้การช่วยเหลือเยียวยา และสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องแก่สาธารณะด้วยหลักฐานข้อมูล ข้อเท็จจริง ก้าวต่อไปที่นับเป็นความท้าทายอย่างยิ่งต่อการแก้ไขวิกฤตการณ์นี้ คือ การสังเคราะห์องค์ความรู้เพื่อใช้แก้ไขปัญหาความรุนแรงและความขัดแย้งในพื้นที่ชายแดนใต้ ซึ่งต้องอาศัยการเชื่อมโยงข้อมูลข่าวสารทั้งเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพในด้านต่าง ๆ ทั้งด้านประชากร เศรษฐกิจ สังคม การศึกษา สาธารณสุขการเมืองการปกครอง เข้ากับแนวคิดทฤษฎี ประสบการณ์ ภูมิปัญญา และการบูรณาการระหว่างองค์ความรู้เดิมในศาสตร์แขนงต่าง ๆ ที่มีอยู่เข้าด้วยกัน เพื่อเป็นฐานในการสังเคราะห์องค์ความรู้ใหม่ หรือสร้างองค์ความรู้ต่อยอดที่เป็นประโยชน์ในการพัฒนา และแก้ไขปัญหาจากความรุนแรงในจังหวัดชายแดนใต้

วิธีการดำเนินงาน
โครงการนี้จะพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารและองค์ความรู้จังหวัดชายแดนใต้ ที่มีความเชื่อมโยงเป็นระบบ และผู้ใช้สามารถเข้าถึงได้ง่ายและเหมาะสม สืบค้นได้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพ เพื่อเป็นฐานในการสังเคราะห์องค์ความรู้ใหม่หรือสร้างองค์ความรู้ต่อยอดที่เป็นประโยชน์ในการพัฒนาและแก้ไขปัญหาจากความรุนแรงในจังหวัดชายแดนใต้ และมุ่งผลิตและพัฒนาบุคลากร เป็นแกนในการประสานงานและสนับสนุนทางเทคนิควิชาการ เพื่อส่งเสริมการใช้ข้อมูลข่าวสารและองค์ความรู้เหล่านี้ในการวิจัยและพัฒนาเพื่อการพัฒนา และแก้ไขปัญหาจากความรุนแรงในจังหวัดชายแดนใต้
ในเบื้องต้นข้อมูลข่าวสารและองค์ความรู้เกี่ยวกับจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีความเป็นไปได้ในการนำมาเชื่อมโยงกัน ได้แก่

  1. งานวิจัยเกี่ยวกับจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ (Research publication)
  2. วิทยานิพนธ์ระดับบัณฑิตศึกษา เกี่ยวกับจังหวัดชายแดนภาคใต้ (Thesis)
  3. งานวิชาการ โครงการ และนวัตกรรมด้านสุขภาพ เกี่ยวกับจังหวัดชายแดนภาคใต้ (Project)
  4. บรรณนิทัศน์หนังสือเกี่ยวกับจังหวัดชายแดนภาคใต้ (Bibliography)
  5. ข่าวเกี่ยวกับจังหวัดชายแดนภาคใต้ (News)

โครงการนี้จะรวบรวมรายชื่อแหล่งข้อมูล (Mapping) และระดมความคิดเห็น (Brainstorming) จากผู้ผลิตและผู้ใช้ข่าวสารและองค์ความรู้เกี่ยวกับจังหวัดชายแดนใต้ เช่น สื่อมวลชน นักวิชาการ และผู้ปฏิบัติ จากหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและภาคประชาสังคม เป็นระยะ ๆ อย่างสม่ำเสมอ เพื่อรวบรวมและทบทวนข้อมูลข่าวสารและองค์ความรู้เหล่านี้อย่างเป็นระบบ (Systematic review) แล้วเก็บข้อมูลทั้งแบบอิเล็คโทรนิคและตัวเล่มเอกสารมาจัดทำดัชนี (Index) และคำสำคัญ (Keywords) ที่มีความเชื่อมโยงกันเป็นระบบตามข้อสรุปจากการระดมความเห็น แล้วจัดเก็บเป็นฐานข้อมูล (Database) ที่มีช่องทางในการเข้าถึงทางอินเตอร์เนต เพื่อให้ผู้ใช้สามารถสืบค้น (Search) ข้อมูลได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ และเข้าถึง (Access) ข้อมูลข่าวสารและองค์ความรู้ทั้งแบบอิเล็คโทรนิคและตัวเล่มเอกสารได้ง่ายและเหมาะสมตามสิทธิในการเข้าถึงข้อมูล (Access right) นอกจากนี้โครงการนี้จะมุ่งผลิตและพัฒนาบุคลากรให้มีความสามารถในการจัดการข้อมูลข่าวสาร และจัดการความรู้ เป็นแกนในการประสานงานและสนับสนุนทางเทคนิควิชาการ เพื่อส่งเสริมการผลิตและใช้ข้อมูลข่าวสารและองค์ความรู้เหล่านี้ในการวิจัยและพัฒนาเพื่อการพัฒนา และแก้ไขปัญหาจากความรุนแรงในจังหวัดชายแดนใต้

คลิกที่นี่เพื่อดาวน์โหลดหนังสือแนะนำโครงการ 

หมายเลขบันทึก: 496478เขียนเมื่อ 30 กรกฎาคม 2012 13:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 กรกฎาคม 2012 13:52 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

 

 

ขอบคุณมากๆ ค่ะ กับ การพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารและองค์ความรู้จังหวัดชายแดนใต้

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท